จากประชาชาติธุรกิจ
คนไทยที่มีความคิด (Thinking Thais)หลายคน ซึ่งมีความอัดอั้นตันใจในสถานภาพของเศรษฐกิจแห่งชาติในปัจจุบัน ได้พยายามสะท้อนความรู้สึกนึกคิดออกมาในรูปแบบของ ความฝัน (Dream) อยากจะได้เห็นความดีกว่า, ความสดใสกว่า และความเจิดจรัสกว่าของเศรษฐกิจแห่งประเทศไทยในอนาคตอันไม่ไกลนัก และอีกไม่นานเกินรอ
"ความฝัน" ที่ใคร่จะสัมผัสกับสิ่งที่ดี ๆ เป็น สุนทรียภาพ ส่วนบุคคล ที่ไม่อาจก้าวล่วงได้ และอยู่นอกเหนือข้อวิจารณ์ใด ๆ เพราะเป็นอิสรภาพแห่งความคิดอันเป็นเสรีภาพส่วนบุคคลเพียงประการเดียวที่ปรากฏอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ทั้งนี้ตราบเท่าที่ยังเป็นเพียง "ความฝัน"
หากเมื่อใดที่บรรดาสิ่งที่เป็น "ความฝัน" มีการแปรสภาพเป็น "วัตถุประสงค์แห่งนโยบาย" (Policy Objectives) ซึ่งอาจส่งผลกระทบในวงกว้าง ก็เป็นธรรมดาที่อาจมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสภาพความเป็นจริง หรือความน่าจะเป็นจริงของ "ความฝัน" เพื่อป้องกันมิให้เกิดความสับสนกันต่อ ๆ ไป
เพราะสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจไทยมีความเข้าใจที่ค่อนข้างจะสับสนเป็นอย่างมากอยู่แล้ว
มีความเข้าใจกันว่าเกษตรกรรมของประเทศไทยได้ผ่าน"การอภิวัตน์"เป็นผลสำเร็จมานานแล้วสามารถผลิตพืชผลได้มากมายหลายชนิด โดยแต่ละชนิดสามารถผลิตได้เป็นจำนวนมาก และเป็นสินค้าส่งออกทำรายได้ให้แก่ประเทศ ขณะที่ "ข้าว" ก็ยังคงความเป็นสินค้าส่งออกอันดับต้น ๆ ในตลาดโลก
แต่โดยความเป็นจริงแล้ว เกษตรกรรมของไทยเราก็ยังเป็นปัญหาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของผลิตภาพ คุณค่าทางโภชนาการ เสถียรภาพของผลผลิตและราคา ซึ่งโยงไปถึงขีดความสามารถทางเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ ความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำ และการบริหารจัดการที่สะท้อนให้เห็นในการลดสัดส่วนความสำคัญในรายได้ประชาชาติ อีกทั้งการลดลงของมูลค่าผลผลิตต่อเกษตรกรเป็นรายบุคคล อันนำไปสู่สภาพการเสียสมดุลทางเศรษฐกิจในพื้นที่ชนบท ที่ได้กลายเป็นปรากฏการณ์ถาวร
เกษตรกรรมของไทยยังต้องการความเอาใจใส่ดูแล แก้ไขและพัฒนาอีกมาก ก่อนที่จะ "ฝัน" ไปถึงเรื่องอื่น ๆ
สำหรับการอุตสาหกรรมนั้น แม้ว่าประเทศไทยจะมีการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวาง เป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมแทบทุกประเภท จำนวนนับแสนโรง และสร้างงานให้คนไทยได้ทำหลายล้านคน อีกทั้งมีสัดส่วนเป็นล่ำเป็นสันในรายได้ประชาชาติ แต่กระนั้นประเทศไทยก็ยังอยู่ห่างไกลจากความเป็นประเทศอุตสาหกรรม อันเนื่องมาจากขีดความสามารถในการพึ่งตนเองทางเทคโนโลยียังต่ำกว่าเกณฑ์ และยังไม่ได้ให้ความเอาใจใส่อย่างจริงจังต่อการถ่ายทอดเทคโนโลยี
อุตสาหกรรมไทยจึงเปรียบเสมือนต้นไม้ที่ปราศจากรากแก้ว
ยิ่งประเภท"อุตสาหกรรมหนัก"ที่ปรากฏให้เห็นทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในนิคมอุตสาหกรรมใกล้ทะเลและอื่น ๆ ความเป็น "อุตสาหกรรมไทย" จริง ๆ เกือบจะไม่มี หรือเป็นเพียงภาพลวงตา อุตสาหกรรมเหล่านี้คืออุตสาหกรรมต่างประเทศที่มาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย เพื่อทำการผลิตวัตถุดิบให้แก่อุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองไทย และเพื่อช่วยสร้างตัวเลขการส่งออกให้แก่ประเทศไทย ทั้งในปริมาณและมูลค่า
ความจริงการที่โรงงานอุตสาหกรรมในเมืองไทยพึ่งเทคโนโลยีจากต่างประเทศ หรือการที่ต่างประเทศนำเทคโนโลยีมาทำการผลิตในเมืองไทย มิใช่เรื่องเสียหาย แต่เป็นเรื่องที่ดี เพราะอย่างน้อยก็ทำให้คนไทยมีงานทำ มีโอกาสเรียนรู้และสัมผัสกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย และเป็นกลไกที่ช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อน
ประเด็นในเรื่องนี้ก็คือ ไทยเรายังไม่มี "หลักคิด" ในเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์แห่งนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
เพียง2-3ตัวอย่างของ"จุดอ่อน"ในสภาพความเป็นจริงตามที่ได้กล่าวมานี้ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของคำอธิบายว่า เพราะเหตุใดเมืองไทยจึง "ติดกับดัก" เป็นประเทศรายได้ปานกลางมาหลายทศวรรษ ถ้าหากจะมีผู้ใด "ฝัน" ใคร่ขอได้เห็นเมืองไทยหลุดพ้นจาก "กับดัก" ดังกล่าว ก็อย่าเพิ่งไปคิดถึงอะไรต่ออะไรให้ฟุ้งซ่าน และหันมาพิจารณาดูแลแก้ไขบรรดา "กับดัก" ในเรื่องเหล่านี้เสียก่อน แล้วประเทศไทยก็จะเคลื่อนไหวไปสู่ความเป็นประเทศรายได้สูงโดยอัตโนมัติ
โดยแท้จริงแล้ว สิ่งที่ต้องการจากบุคคลที่เป็นนักคิด (Thinkers) คงจะมิใช่ "ความฝัน" (Dream) หากน่าจะเป็น "ความมุ่งมาดปรารถนา" (Aspiration) มากกว่า ทั้งนี้ เพราะหากประสงค์ที่จะได้เห็นสิ่งใดจริง ๆ ก็จำเป็นจะต้องวิเคราะห์สาเหตุหรืออุปสรรคที่ขวางกั้น แล้วคิดหาทางขจัดสาเหตุและอุปสรรคเหล่านั้นให้จงได้ ก่อนที่จะ "ฝัน" ถึงอะไรต่ออะไรเรื่อยเปื่อยต่อไป
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน