สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทุนข้ามพรมแดน ความเสี่ยงกินรวบทรัพยากร

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน 

หลากหลายทัศนะในเวทีเสวนาหัวข้อ ทุนข้ามพรมแดน ความเสี่ยงกินรวบฐานทรัพยากร? เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้นโดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ล้วนเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุดบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ให้ภาพว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้พูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่เมื่อพิจารณาเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ 7 ส.ค. 2559 กลับมองไม่เห็นความหวัง

บัณฑูร อธิบายว่า กติกาด้านสิทธิมนุษยชนเป็นรากฐานที่จะต่อยอดไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน แต่เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญกลับลดทอนประเด็นดังกล่าวลง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิการพัฒนาและสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีที่ไม่มีการพูดถึงจึงถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่มีความก้าวหน้า

นอกจากนี้ ประเทศไทยต้องการมีรัฐที่เข้มแข็งเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมาย 169 เป้าประสงค์ และอีกกว่า 240 ตัวชี้วัด ซึ่งได้ไปผูกพันในเวทีระหว่างประเทศ แต่จากเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญมีแนวโน้มว่าจะได้รัฐที่ไม่เข้มแข็ง และยังพบเนื้อหาที่ลดทอนกลไกรัฐสภาและลดทอนบทบาทของภาคประชาชนที่จะไปถ่วงดุลกระแสโลกาภิวัตน์อีก

“ผมขอเรียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่ารัฐธรรมนูญถาวรที่เป็นฉบับชั่วคราว คือแม้ว่าจะผ่านประชามติแต่เนื้อหากลับไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและใช้การไม่ได้ สุดท้ายแล้วก็ต้องมีการปรับแก้กันใหม่” บัณฑูร ระบุ

สอดคล้องกับ ผศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ระบุว่า ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดที่สนับสนุนเสรีนิยมใหม่ และเอื้อประโยชน์ต่อนายทุนได้สะใจเท่าฉบับนี้

ท่ามกลางการรุกคืบของทุนจีนเข้ามาในประเทศไทย อาจารย์วรศักดิ์ อธิบายว่า ทุนจีนได้ข้ามพรมแดนมาสู่ประเทศไทยโดยเริ่มจากเกษตรกรรมเพียงเพื่อตอบสนองการบริโภคของตัวเอง เห็นได้จากการเช่าที่ดินทางภาคเหนือปลูกกล้วย ซึ่งทำให้จีนได้ผลผลิตโดยไม่มีต้นทุนสิ่งแวดล้อมคือจะใช้สารเคมีอย่างไรก็ได้

“ทุกวันนี้ประเทศจีนมีปัญหาสิ่งแวดล้อม ในเมืองใหญ่ๆ เต็มไปด้วยหมอกพิษ แต่รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของจีนกลับบอกว่าเพื่อความเจริญทางเศรษฐกิจเราจำเป็นต้องเสียสละสิ่งแวดล้อม” นักวิชาการรายนี้สะท้อนวิธีคิดของทุนจีน

นั่นหมายความว่า หากทุนจีนเข้ามาในประเทศไทยเขาก็สามารถเสียสละสิ่งแวดล้อมได้ เพราะไม่ใช่สิ่งแวดล้อมของเขา ฉะนั้นรัฐบาลต้องรู้เท่าทันจีนคือทำอย่างไรไม่ให้ไทยได้รับผลกระทบจากทุนจีน โดยเฉพาะเมื่อประกาศนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ และมีข้อยกเว้นทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)

นอกจากผลกระทบจากทุนจีนแล้ว ในอนาคตใกล้รัฐบาลมีโอกาสนำประเทศไทยเข้าสู่ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ซึ่ง กรรณิการ์ กิจติเวชกุล เครือข่าย FTA WATCH ระบุว่า เป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก เพราะมีการกำหนดไว้ว่าหากรัฐบาลออกกฎที่ไปกระทบต่อกำไรของบริษัทที่จะเข้ามาลงทุน บริษัทเหล่านั้นสามารถฟ้องร้องรัฐบาลได้

กรรณิการ์ ชี้ประเด็นให้เห็นถึงความเสียเปรียบของประเทศไทยจากการถูกฟ้องร้องภายหลังเข้าร่วมทีพีพี โดยอธิบายว่า เดิมทีหากทุนต่างชาติต้องการฟ้องร้องรัฐบาลไทยต้องใช้กลไกอนุญาโตตุลาการ และยังสามารถเอาคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการมาให้ศาลไทยชี้ขาดได้อีกครั้ง แต่หากไทยเข้าร่วมทีพีพีแล้วกลไกอนุญาโตตุลาการถือเป็นที่สิ้นสุด

“กรณีเหมืองทองคำที่คณะรัฐมนตรีสั่งปิด หากบริษัทแม่ต้องการฟ้องจะต้องร้องต่ออนุญาโตตุลาการ และถ้าอนุญาโตฯ วินิจฉัยคือรัฐบาลไทยผิดเพราะกระทบต่อกำไรของเขา ไทยก็สามารถเอาคำวินิจฉัยนั้นเข้าสู่ศาลปกครองเป็นผู้ชี้ขาดได้อีกครั้ง ซึ่งศาลไทยอาจดูบริบทว่ารัฐมีหน้าดูแลประชาชน ดังนั้นจึงมีสิทธิปิดเหมือง” เธอ อธิบาย

สำหรับกลุ่มทุนไทยเองก็ได้ข้ามพรมแดนออกไปสร้างผลกระทบต่อประเทศใกล้เคียงเช่นกัน ส.รัตนมณี พลกล้า ผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน อ้างอิงข้อมูลจากการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พบ 3 ประเทศ ได้แก่ เม่ียนมา ลาว และกัมพูชา ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการของกลุ่มทุนไทย

ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงไฟฟ้า การซื้อไฟฟ้า การทำเหมืองทองแดง เหมืองลิกไนต์ การทำกิจการโรงน้ำตาล ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วพบว่าประเทศไทยไม่มีกฎหมายควบคุมการลงทุนในต่างประเทศแต่อย่างใด และเมื่อทุนไทยไปละเมิดในต่างประเทศ เขาสามารถมาฟ้องร้องในประเทศไทยได้ แต่ก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าผู้ละเมิดเป็นคนไทยจริงถึงจะเอาผิดได้ ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นเรื่องยากเพราะหากทุนไทยจดทะเบียนเป็นบริษัทเมียนมา ลาว กัมพูชา ก็ไม่ถือว่าไม่ได้เป็นคนไทย


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ทุนข้ามพรมแดน ความเสี่ยง กินรวบทรัพยากร

view