สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เชื่อใครดี

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์สามัญสำนึก โดย สกุณา ประยูรศุข

เป็นเรื่องเหลือเชื่ออย่างยิ่งในความรู้สึกของนักลงทุนต่างชาติขณะนี้ ที่บริษัท "มินีแบ" ซึ่งเป็นบริษัทลูกของมินีแบ กรุ๊ป บริษัทยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่น ทำธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตตลับลูกปืนระดับโลก ส่งไปขายทั่วทั้งเอเชีย ยุโรป และอเมริกา ถูกศาลฎีกาพิพากษาให้แพ้ "คดีภาษี" ต้องจ่ายภาษีย้อนหลังคืนให้กรมสรรพากร ทั้งที่บริษัททำตามแนวทางการคำนวณภาษีของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แต่ศาลเห็นว่าที่ถูกต้องนั้น บริษัทต้องจ่ายภาษีตามหลักการของกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง

เลยทำให้บริษัทต่างชาติทั้งหลายที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ต้องจับตา "กรณีนี้" อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะบริษัทจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเข้ามาลงทุนในไทยเป็นจำนวนมาก เพราะหากว่ากันตาม บรรทัดฐาน ของกรณีมินีแบแล้ว จะมีบริษัทต่างชาติถูกฟ้องและถูกตัดสินให้แพ้คดีเช่นเดียวกันนี้ ตัวเลขอย่างต่ำ 30 บริษัท

เจอเข้าอย่างนี้ เป็นเราก็ต้องคิดหนัก หากจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในอนาคต เพราะไม่รู้จะยึดหลักของใคร ระหว่าง "กรมสรรพากร" หรือ "บีโอไอ"

หากศึกษาย้อนเวลากลับไป เริ่มทีเดียวก่อนมาตั้งฐานการผลิตในไทย มินีแบมีฐานการผลิตใหญ่สุดอยู่ที่สิงคโปร์ จากนั้นได้ย้ายจากสิงคโปร์มาไทยปี 2525 โดยตั้งโรงงานที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เนื่องจากประเทศไทยค่าแรงถูกกว่าที่อื่นมาก เมื่อเทียบกับสิงคโปร์และญี่ปุ่น จึงเป็นการแก้ปัญหาต้นทุนสินค้า อีกทั้งไทยมีความเหมาะสมในการคมนาคมขนส่ง

ที่สำคัญ คือนโยบายส่งเสริมการลงทุนของไทย ตอนนั้นบีโอไออัดฉีดสิทธิพิเศษหลายประการ เพื่อดึงธุรกิจจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทย มินีแบถือเป็นโชคหลายชั้นที่ไม่รอช้า รีบชิงโอกาสทองเข้ามาลงทุนอย่างรวดเร็ว

สิทธิประโยชน์พิเศษที่ว่ามี ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าและภาษีการค้าสำหรับเครื่องจักรและอุปกรณ์ วัตถุดิบ ที่นำเข้ามาใช้ในการผลิต ได้รับยกเว้นอากรขาออกและภาษีการค้าสำหรับสินค้าสำเร็จรูปที่ส่งออก และได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิเป็นเวลา 8 ปี นับตั้งแต่วันที่มีรายได้จากการประกอบการ ได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำเงินปันผลที่ได้รับจากการส่งเสริมการลงทุนไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้

ต่อมาสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการทบทวนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนให้สอดรับกับสถานการณ์การค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นมายก "ร่างยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ในช่วง 5 ปี (2556-2560)" แต่ยังไปไม่ถึงไหน ก็เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองเสียก่อน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี จึงนำร่างยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่มาพิจารณาอีกครั้ง พร้อมทั้งแต่งตั้ง "บอร์ดบีโอไอ" ใหม่ มี พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.เป็นประธาน

นโยบายใหม่ คือให้บีโอไอ ร่วมกับกระทรวงการคลัง ทบทวนการให้สิทธิประโยชน์บีโอไอ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ โดยจำกัดหรือปรับลดประเภทกิจการที่จะส่งเสริมลง เจตนาเพื่อให้รัฐมีงบประมาณที่จะใช้พัฒนาประเทศเพิ่มมากขึ้น

เพราะจากการตรวจสอบตัวเลขของกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กรมสรรพากรสูญเสียรายได้จาก สิทธิประโยชน์ทางภาษีบีโอไอ ปีละไม่ต่ำกว่า 1.3 แสนล้านบาท รวม 5 ปี ไม่ต่ำกว่า 7.57 แสนล้านบาท แลกกับการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งดูแล้ว ไม่คุ้ม !!

เมื่อประธานบอร์ดสั่งการในที่ประชุมบีโอไอ ไม่รู้ว่าใครกันแน่ที่ไม่เข้าใจการสื่อสาร หรือใครเป็นคนสื่อสารไม่รู้เรื่อง กฎหมายของสองหน่วยงานเลยขัดกันเสียเอง


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เชื่อใครดี

view