สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ดูโอ ศูนย์วิจัยทีเอ็มบี ปอกเปลือกเศรษฐกิจไทยโตเป็นส่วนๆ

จากประชาชาติธุรกิจ

สัมภาษณ์

ผ่านไปแล้วครึ่งแรกของปี 2559 แต่ดูเหมือนมู้ดทางเศรษฐกิจไทยยังไม่เห็นสัญญาณสดใส ยิ่งล่าสุดตัวเลขส่งออกของไทยเดือน พ.ค. มูลค่าการส่งออก (ไม่นับรวมทองคำ) ยังหดตัวถึง 6.3% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ช่วง 5 เดือนแรกของภาคส่งออกติดลบ 1.9% สะท้อนทิศทางการค้าโลกที่ยังคงชะลอตัว และยิ่งนับจากนี้ไปเศรษฐกิจโลกจะมีความผันผวนมากขึ้น หลังสหราชอาณาจักรมีการลงประชามติออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ยิ่งสร้างความปั่นป่วนต่อการค้าการลงทุนโลกในระยะยาวอีกไม่ต่ำกว่า 2 ปีแน่ วันนี้แต่ละประเทศต่างประคองตัวเพื่อให้ฝ่ามรสุมความเสี่ยงทางเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยจะประคองตัวอย่างไร "ประชาชาติธุรกิจ" ได้พูดคุยกับ ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารกลยุทธ์องค์กร ธนาคารทหารไทย และ นายนริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ซึ่งวิเคราะห์แง่มุมต่าง ๆ ให้เตรียมรับมือกัน ดังนี้

- มองเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมานี้เป็นอย่างไรบ้าง


เบญจรงค์
: เมื่อพิจารณาการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยในช่วงไตรมาส 1 ที่อยู่ 3.2% อาจจะไม่สอดคล้องกับตัวเลขต่าง ๆ ของภาคธุรกิจนัก โดยเฉพาะตัวเลขผลประกอบการของแต่ละบริษัท ไม่ได้สะท้อนเหมือนตัวเลขจีดีพีที่โตเลย ซึ่งเป็นเพราะมีการขยายตัวจาก "ฐานที่แคบ" เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว ก็กระจุกตัวอยู่ใน 10 จังหวัด จากทั้งหมดกว่า 70 จังหวัด ซึ่งในจำนวนนี้จะมีเพียง 5 จังหวัดที่นักท่องเที่ยวใช้เวลาส่วนใหญ่ในการพักอาศัย แสดงว่ารายได้จากภาคการท่องเที่ยวยังไม่กระจายตัวเท่าที่ควร

ด้านกาลงทุนภาครัฐกลับมีการกระจายตัวที่ดีกว่า แต่ก็จะเป็นการลงทุนเฉพาะหมวด เช่น หมวดการก่อสร้างและเครื่องจักร สำนักงาน ที่ทำให้ผู้รับเหมาในพื้นที่ได้รับอานิสงส์มากกว่า แต่ยังไม่ได้กระจายไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ

ส่วนไตรมาส 2 นี้ยังเห็นเรื่องปัญหาภัยแล้งที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 1 ยิ่งช่วงรอยต่อไตรมาส 1 กับ 2 จัดเป็นช่วงที่มีปัญหาภัยแล้งหนักมากที่สุด เนื่องจากฝนทิ้งช่วงถึงปัจจุบัน พบว่าปริมาณน้ำในเขื่อนลดลงอยู่ที่ระดับ 30% ซึ่งปัญหาภัยแล้งส่งผลต่อรายได้เกษตรกรหายไปแน่นอน ทำให้กำลังซื้อในภูมิภาคจากเดิมที่ประสบปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำอยู่แล้ว ก็ยิ่งได้รับผลกระทบมากขึ้นไปอีกจากภัยแล้ง จึงมองว่ามีความกังวลในเรื่องของจังหวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยปกติแล้ว ควรเอา "การบริโภคภาคเอกชน" มาเป็นพระเอกทดแทนภาคส่งออกที่ยังมีปัญหาอยู่ เพราะสัดส่วนการบริโภคมีสูงถึง 50% ของจีดีพีรวม

- มองส่งออกตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

เบญจรงค์
: ค่อนข้างน่ากังวล เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรกภาคส่งออกถือว่าไม่ได้เป็นตัวช่วยเลย และคาดว่าในปี 2559 นี้การส่งออกยังคงเป็นปัจจัยที่จะฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยมากกว่าที่จะหนุนการฟื้นตัว สังเกตได้จากตัวเลขการส่งออกที่ติดลบต่อเนื่องมา 3 ปีแล้ว และปีนี้น่าจะติดลบเป็นปีที่ 4 ซึ่งเราคาดว่าภาคส่งออกปี 2559 จะติดลบ 4.5% และยังมีทิศทางที่จะฉุดรั้งเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ยังโชคดีที่มีการค้าชายแดนเข้ามามีบทบาทสำคัญ

อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขการส่งออกโดยรวมไม่ดี แต่ก็ยังดีที่ไทยมีการค้าชายแดนเข้ามามีบทบาทสำคัญ เพราะสามารถขยายตัวได้ถึง 6-7% ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยได้ และช่วยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรและภัยแล้ง ซึ่งการค้าชายแดนที่ได้รับอานิสงส์จริงๆ ได้แก่ แม่สอด สระแก้ว หนองคาย สงขลา

นริศ : การค้าชายแดนไทยในปัจจุบัน มีมาร์เก็ตแชร์อยู่ไม่น้อย ซึ่งก็หมายความว่าในระยะต่อไป ยังมีพื้นที่เหลือให้ขยาย ถ้าใครสามารถขยายมาร์เก็ตแชร์ได้ ก็จะได้ประโยชน์จากส่วนนี้ เพียงแต่ขอให้เศรษฐกิจกลุ่ม CLMV โตปีละ 10% สุดท้ายเราก็จะเข้าไปครองตลาดนี้ได้

- จากนี้เศรษฐกิจไทยจะโตอย่างไร


เบญจรงค์
: เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้แข็งแกร่งจะต้องมาจาก "ฐานที่กว้าง" ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องมีการขยายตัวสูงมาก แต่ขอให้ขยายตัวได้ทุกส่วน ทั้งการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐและการส่งออก แต่เราพบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไทยขยายตัวเป็นหมวด ๆ เช่นปีไหนส่งออกขยายตัวดีแล้วก็จะดันส่งออกไปโต 10-20% พอส่งออกหายไปก็หันมากระตุ้นด้านบริโภคให้โตสูง ๆ แต่พอบริโภคหายไปเช่นตอนนี้ รัฐก็มาเน้นการท่องเที่ยวและการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นตัวเลขการขยายตัวที่ดี แต่ไม่มีคุณภาพ

ดังนั้น ในปี′59 การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะโตเฉพาะส่วน ๆ ซึ่งคนส่วนใหญ่มองว่าไตรมาส 2 จะเป็นจุดต่ำสุดของปีนี้ เพราะเผชิญภัยแล้งและนโยบายภาครัฐที่เริ่มหมดในเดือนเมษายน ซึ่งนโยบายภาครัฐไม่มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ แต่จะเน้นไปที่นโยบายพยุงรายได้ของเกษตรกรหรือแก้ปัญหาขุดบ่อบาดาล


- ภาคเอกชนจะต้องทำอย่างไร

เบญจรงค์ : ในครึ่งปีหลัง ภาคเอกชนคงจะลำบาก และคงจะมีความติดขัดอยู่บ้าง ดังนั้น จะต้องปรับตัวแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน ทั้งการดูแลสภาพคล่อง สินค้าคงคลัง การบริหารต้นทุน ซึ่งเป็นสิ่งหลักๆที่ต้องทำ และการหาตลาดใหม่ ๆ เพื่อประคองตัวไป ซึ่งก็ไม่ใช่ปีแรกที่ภาคเอกชนไทยทำ (ช่วยตัวเอง) เพราะที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยชะลอตัวมาอย่างต่อเนื่อง

ส่วนภาคธุรกิจเอสเอ็มอี ปีนี้คิดว่าจะลำบากกว่าปีที่ผ่านมา โดยการสำรวจของศูนย์วิจัยทีเอ็มบี พบว่าความเชื่อมั่นของ SMEs ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไม่ค่อยดีนัก แม้บางช่วยที่เริ่มฟื้นตัว แต่ก็ไม่ได้ต่อเนื่อง สะท้อนว่าธุรกิจเอสเอ็มอี ยังมีความยากลำบากอยู่ แต่ก็คาดหวังว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง เอสเอ็มอีจะค่อย ๆ ดีขึ้น หลังจากครึ่งปีแรกมีปัจจัยลบกดดันอยู่มาก ซึ่งสิ่งที่จะทำให้เอสเอ็มอี กลับมาดีขึ้น ก็คือ "กำลังซื้อผู้บริโภค" ต้องกลับมา เราคาดว่าสถานการภัยแล้งที่คลี่คลาย ราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น ถ้าเกษตรกรสามารถประคองตัวอยู่ต่อไปได้ถึงไตรมาส 3 นี้ และเกิดผลผลิตทางการเกษตรขึ้นมาขายได้ ก็จะทำให้มีรายได้เกิดขึ้น ในช่วงปลายไตรมาส 3 ย่างไตรมาส 4 นี้ จะเห็นกำลังซื้อทยอยดีขึ้น

นริศ
: ขณะนี้เห็นเอกชนรายใหญ่ปรับตัวไปลงทุนในต่างประเทศค่อนข้างเยอะ ตั้งแต่ปี 2558 เพื่อใช้ทรัพยากร (Resort) และตลาดในต่างประเทศ และส่วนใหญ่เป็นบริษัทใหญ่ที่มีศักยภาพในการประกอบธุรกิจต่างประเทศ จนล่าสุดเงินลงทุนในต่างประเทศ (TDI) เพิ่มขึ้น 30% ขณะที่เงินลงทุนจากต่างชาติกลับติดลบ 8% เทียบกับปีที่แล้วในต่างประเทศมากขึ้น

- เศรษฐกิจครึ่งปีหลังนี้จะต้องจับตาอะไร

เบญจรงค์ : คงต้องมอง "การลงทุนภาครัฐ" ที่เป็นตัวหลักขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว ซึ่งจะมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (Megaproject) เกิดขึ้น แต่อาจจะมีปริมาณเงินที่ยังไม่มาก เพราะเป็นโครงการลงทุนระยะยาว 7-8 ปี แต่ถ้าเริ่มต้นลงทุนได้ในครึ่งปีหลังก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคธุรกิจเอกชนว่า ต่อจากนี้ 7-8 ปีจะมีการเบิกจ่ายจากโครงการ (Mega project) ออกมาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับภาคการท่องเที่ยวยังมีทิศทางการขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งยังเป็นตัวช่วยพยุงเศรษฐกิจในจังหวัดการท่องเที่ยว แต่โดยภาพรวมของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก็ยังไม่ดี เพราะยังไม่ใช่การฟื้นตัวที่สมบูรณ์ ดูจากสัดส่วนของการลงทุนภาครัฐและการท่องเที่ยวอยู่ที่ 15% ของจีดีพี แม้ว่าทั้งสองส่วนนี้ขยายตัวได้ราว 20% ก็จะทำให้จีดีพีโตได้ถึง 3% แต่ในทางกลับกัน ถ้าขยายตัวได้เพียงครึ่งหนึ่ง (10%) ก็จะทำให้จีดีพีขยายตัวได้แค่ 1.5%


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ดูโอ ศูนย์วิจัยทีเอ็มบี ปอกเปลือกเศรษฐกิจไทย โตเป็นส่วนๆ

view