สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คนรุ่นเก่า กับ คนรุ่นใหม่

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์คนเดินตรอก โดย วีรพงษ์ รามางกูร

เวลาจะเอ่ยถึงคนรุ่นเก่ากับคน รุ่นใหม่ มักจะมีคำอธิบายแตกต่างกันไปอยู่เสมอว่า หมายถึงคนอายุมากกับคนอายุน้อย หรือจะหมายถึงคนที่มีความคิด หรือวิสัยทัศน์ หรือการยึดถือคุณค่าแบบเก่า การยึดถือว่าอะไรคือคุณค่าของสังคม แบบไหน เก่าหรือใหม่ ซึ่งไม่เหมือนกัน บางทีอาจจะตรงข้ามกันก็ได้

การยึดถือเอาอายุเป็นเส้นแบ่งอย่างหยาบ ๆ ก็น่าจะพอไปได้ เพราะกลุ่มคนที่มีอายุค่อนข้างสูงกับคนที่มีอายุต่ำกว่าที่ห่างกันประมาณ 20-25 ปี ก็อาจจะถือว่าคน 2 กลุ่มนี้เป็นคนที่สังกัดอยู่คนละรุ่นกัน และมักจะมีการยกมาเป็นข้ออ้างว่า คน 2 กลุ่มนี้มีช่องว่างระหว่างวัยหรือ "Generation Gap" หรือเป็นคนรุ่นพ่อกับคนรุ่นลูก หรือคนรุ่นแม่กับคนรุ่นลูก ซึ่งมักจะมีปัญหาในการมองโลกมองชีวิต หรือมีโลกทัศน์ที่แตกต่างกัน แม้จะมีชาติกำเนิดในชนชั้น มีทรัพย์ศฤงคารหรือชนชั้นทางเศรษฐกิจที่เหมือนกันหรือใกล้เคียงกัน

เหตุที่คนที่มีอายุแตกต่างกันจนกลายเป็นคนละรุ่นมักจะมีความคิดทางการเมืองทางสังคม ก็เพราะเติบโตมาคนละช่วงเวลากัน ในขณะที่ประเทศชาติหรือโลกมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา การสาธารณสุข เทคโนโลยีในการสื่อสารและอื่น ๆ ที่แตกต่างกัน ซึ่งก็น่าจะเป็นอย่างนั้นกับทุก ๆ สังคม ไม่เว้นแม้แต่สังคมที่ปิด ที่ไม่ยอมให้วัฒนธรรมข่าวสารและอื่น ๆ หลั่งไหลเข้ามาในประเทศ โดยอ้างว่าไม่ต้องการ "มลพิษทางวัฒนธรรม" จากต่างประเทศ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีนสมัยท่านประธาน เหมา เจ๋อตง หรือสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า หรือเมียนมา สมัยนายพลเน วิน เป็นประธานาธิบดี มาจนถึงยุคประชาธิปไตยสมัยออง ซาน ซู จี ที่ยังหลงเหลืออยู่ในขณะนี้ก็มีเกาหลี และคิวบา

ลองนึกถึงคนรุ่นเก่าในสังคมไทยที่เกิดก่อน พ.ศ. 2500 และคนที่เกิดหลัง พ.ศ. 2500 ก็จะเห็นว่าคน 2 รุ่นนี้เติบโตมาในบรรยากาศ ในสิ่งแวดล้อมทางการเมืองเศรษฐกิจ และสังคมที่แตกต่างกัน คนที่เกิดก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 น่าจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้รัฐธรรมนูญมาเป็นข้ออ้างเพื่อจะอยู่ในอำนาจ เป็นยุคของคณะราษฎร และต่อมาเมื่อมีรัฐประหารปี 2490 คณะรัฐประหารก็กลับไปเชิญ จอมพล ป. พิบูลสงคราม มาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ยังยึดหลัก "รัฐธรรมนูญนิยม" เช่นเดิม วันชาติก็เป็นวันคล้ายวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือวันที่ 24 มิถุนายน คำขวัญก็นำเอาคำขวัญสมัยรัชกาลที่ 6 มาเพิ่มอีกคำหนึ่ง คือ รัฐธรรมนูญ เป็น "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ"

แบบเรียนวิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม ที่เป็นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธประวัติและธรรมะบางบท ก็ต้องเรียน ต้องท่อง รวมทั้งต้องมีการสวดมนต์ฉบับแปลเป็นภาษาไทยทุกสัปดาห์ สมัยนั้นคือวันเสาร์ครึ่งวัน แล้วจึงมาเปลี่ยนเป็นวันศุกร์สมัยหลัง พ.ศ. 2500 ส่วนวิชาอื่น เช่น คณิตศาสตร์ ธรรมชาติวิทยา สุขศึกษา ภาษาไทย ประวัติศาสตร์ ฉบับกรมพระยาดํารงราชานุภาพก็ต้องเรียน ที่สำคัญคือมีวิชาฝึกคิดเอง คือ เลขคณิตคิดในใจ มีสิ่งต้องท่องจำคือ สูตรคูณตั้งแต่ 2 ถึงแม่ 12 ต้องท่องพร้อมกันทั้งห้องก่อนเลิกกลับบ้าน และมีวิชาที่ฝึกความจำหรือฝึกท่องจำ คือบทอาขยาน ซึ่งมีตั้งแต่มัธยมปีที่ 1 ถึงมัธยมปีที่ 6 สมัยนั้น หรือถึง ม.4 สมัยนี้ สำหรับผู้ที่นับถือศาสนาอื่นที่ไม่ใช่ศาสนาพุทธ เข้าเรียนในโรงเรียนของศาสนานั้นก็มีการสวดมนต์และพิธีกรรมตามศาสนาของโรงเรียน แต่ถ้าอยู่ในโรงเรียนรัฐบาล ไม่ว่าชั้นประถมหรือมัธยมก็ต้องสวดมนต์ และร่วมพิธีกรรมตามเพื่อน ๆ ที่เป็นชาวพุทธ จะนั่งหรือจะยืนทำปากมุบมิบไปกับเพื่อนก็ได้ คนรุ่นเก่ารุ่นนี้จึงยังพอจะยึดถือหลักการปกครองโดยรัฐธรรมนูญ และยังจำวันชาติ 24 มิถุนายน งานฉลองรัฐธรรมนูญที่สวนลุมพินี ในวันที่ 10 ธันวาคมได้

หลังจากจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้ายึดอำนาจแล้วก็ได้ล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่สืบเนื่องต่อ ๆกันมาเรื่อยตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 ต่อมาแก้ไขเพิ่มเติม 2495 ซึ่งยังมีหลักการเรื่อง "รัฐธรรมนูญนิยม" จึงเป็นอันยกเลิกวันที่ 24 มิถุนายน ไม่เป็นวันชาติต่อไป คำขวัญก็ตัดคำว่า "รัฐธรรมนูญ" ออก เหลือเพียง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะบัญญัติหลักการประชาธิปไตย ระบบรัฐสภา แต่ก็จะมีบทเฉพาะกาลให้อำนาจวุฒิสภามีอำนาจร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรีเสมอ

ในช่วงระยะเวลาจากปี2500ถึงปี พ.ศ. 2520 เป็นยุคของคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนในทางการเมืองที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ อยู่พอสมควร อันเป็นผลมาจากการลุกฮือขึ้นล้มระบอบเผด็จการทหารโดยจอมพล ถนอม กิตติขจรและจอมพล ประภาส จารุเสถียร แม้จะมีรัฐประหารในปี 2519 และมีการใช้รัฐธรรมนูญปี 2520 และมีนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาลในปี 2522 เรื่อยมาจนถึงปี 2531 ก็ตาม ความรู้สึกว่าจะต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ต้องมีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งก็ยังมีอยู่

ผู้คนในรุ่นหลังจากการทำรัฐประหาร 2500ดูจะเป็นคนละรุ่นกับผู้คนในยุคก่อนหน้านั้นจอมพลสฤษดิ์เน้นประสิทธิภาพของระบบข้าราชการ คณะรัฐมนตรีเกือบทั้งหมดมาจากข้าราชการ เป็นระบอบการปกครองโดยข้าราชการ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Bureaucratic Polity เริ่มระบบการพัฒนาแบบมีแผน 5 ปี โดยการจัดทำและนำโครงการพัฒนาต่าง ๆ มากำหนดไว้เป็นหมวดเป็นหมู่ เพื่อให้สอดคล้องประสานกัน

การบริหารจัดการรัฐบาลของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ คือการให้โอกาสข้าราชการที่มีความรู้ความสามารถ มีความซื่อสัตย์สุจริต ได้มีโอกาสเข้ามาทำงานในระบบราชการ ในยุคจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เราจะได้ยินชื่อข้าราชการคนดีมีฝีมือได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรี เป็นปลัดกระทรวง รวมทั้งเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หลายท่านได้ฝากผลงานการพัฒนาให้ได้รับการจดจำมาจนถึงทุกวันนี้

ในยุค ปฏิวัติรัฐประหาร ระหว่างปี 2500 ถึงปี 2506 เป็นยุคจอมพลสฤษดิ์เรืองอำนาจ รัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งจากทหารที่ได้ร่วมกันทำรัฐประหาร มีแต่เฉพาะกระทรวงที่เกี่ยวกับความมั่นคง เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย เป็นหลัก ส่วนกระทรวงที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคมนั้นก็ได้แต่งตั้งจากข้าราชการที่ ถือว่ามีความรู้ความสามารถในสมัยนั้นไม่ใช่แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีเพื่อ เป็นการตอบแทนที่ได้ร่วมงานการทำรัฐประหารเหมือนในสมัยหลัง ๆ

ความรู้สึกนึกคิดที่แตกต่างกันระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่อย่างหนึ่งที่แปลกก็คือ คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยให้ความสนใจกับเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ความเป็นประชาธิปไตยของระบอบการปกครอง สนใจแต่เรื่องการหาเงิน การใช้เงินเป็นหลัก กล่าวคือความคิดความอ่านแกว่งกลับไปย้อนยุคที่ค่อนข้างไกล คุณค่าของสังคม หรือ Social Value ของคนรุ่นใหม่ก็ไม่เหมือนกับระบบคุณค่าที่คนรุ่นเก่ายึดถือ

จะได้ยินอยู่เสมอ สำหรับคนรุ่นเก่าที่ไม่ค่อยพอใจคนรุ่นลูกที่ไม่ให้ความสนใจกับสิ่งที่เคยยึดถือกันมา สำหรับคนรุ่นเก่าเป็นความสำคัญของศาสนา การเคารพนับถือผู้ใหญ่ผู้อาวุโส ดังสุภาษิตที่ว่า "เดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด" สิ่งที่คนรุ่นใหม่ยึดถือคือสิทธิเสรีภาพของตัวเองในฐานะปัจเจกชน เช่น การเลือกการศึกษาด้วยตนเอง การเลือกคู่ครองด้วยตนเอง การแต่งกาย ความเป็นอิสระส่วนตัว แต่ไม่ให้ความสนใจหรือให้น้ำหนักกับสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียมกันของสังคมโดยส่วนรวม คุณค่าของสังคมที่เคยยึดถือมาถูกทำลายหมดไปอย่างสิ้นเชิง

ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ถ้าคนรุ่นใหม่ไม่มีอะไรเป็นสิ่งยึดถือ มองไม่เห็นว่าอะไรเป็นคุณค่าของสังคม ไม่ว่าจะเป็นศาสนา ปรัชญาสำคัญของชีวิตหรือของส่วนรวม โดยมุ่งแต่แข่งขันกันในทุกด้าน ตั้งแต่การศึกษา การทำงาน การลงทุน และการไต่เต้าทางชนชั้นในสังคม

อนาคตของประเทศจะเป็นอย่างไร


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่

view