สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แห่ขอชดเชยว่างงานพุ่ง โดนนายจ้างลอยแพ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวการเงินโพสต์ทูเดย์

แห่ขอชดเชยว่างงานพุ่ง โดนนายจ้างลอยแพ

หลังจากมีการรายงานตัวเลขการว่างงานประจำเดือน พ.ค. 2559 ที่มีจำนวน 4.53 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.2% ของประชากรวัยทำงาน ถือว่าสูงเกินกว่า 1% เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ด้านสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ก็ได้รายงานสถานการณ์เลิกจ้าง พบว่ามีผู้ประกันตนตกงานแห่ยื่นขอเงินชดเชยการว่างงานเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้นถึง 17.42% สาเหตุหลักมาจากนายจ้างลดจำนวนพนักงานลง

ทั้งนี้ สปส.ระบุว่า สถิติผู้ประกันตนที่มาขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเดือน พ.ค. 2559 มีจำนวน 71,036 คน เพิ่มขึ้น 10,537 คน จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยจำนวนผู้ถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้น 2,467 คน หรือ 42.67% และผู้ที่ลาออกเพิ่มขึ้น 8,070 คน หรือ 14.74%

โดยกรณีที่ผู้ประกันตนถูกเลิกจ้างงาน สาเหตุเนื่องมาจากการที่นายจ้างลดจำนวนพนักงานมากที่สุด คิดเป็น 40.50% รองลงมา คือ นายจ้างปิดกิจการคิดเป็น 31.27% สาเหตุอื่นๆ เช่น สุขภาพไม่ดี หยุดกิจการชั่วคราว คิดเป็น 25.02% ไม่ผ่านการประเมิน/ทดลองงานคิดเป็น 2.35% มีความผิดคิดเป็น 0.74% นายจ้างใช้เครื่องจักรที่ทันสมัยคิดเป็น 0.12%

สำหรับผู้ที่ลาออกจากงานสาเหตุเนื่องมาจากต้องการเปลี่ยนงานมากที่สุดคิดเป็น 87.09% รองลงมาเป็นสาเหตุอื่นๆ เช่น ประกอบธุรกิจส่วนตัว ประกอบอาชีพอิสระ ค้าขาย ทำไร่/ทำนา ดูแลคนในครอบครัวคิดเป็น 6.05% ต้องการพักผ่อนคิดเป็น 3.82% สิ้นสุดโครงการ/หมดสัญญาจ้าง คิดเป็น 2.96% เกษียณอายุคิดเป็น 0.04% และไม่ระบุ 0.02%

ด้านผลสำรวจภาวะการทำงานของประชานั้น สำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานว่า เดือน พ.ค. ผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป มีจำนวน 55.57 ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่ในวัยกำลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อมที่จะทำงาน 37.77 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วย ผู้มีงานทำ 36.81 ล้านคน ผู้ว่างงาน 4.53 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 5.02 แสนคน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานหรือผู้ที่ไม่พร้อมทำงาน 17.80 ล้านคน ได้แก่ แม่บ้าน นักเรียน คนชรา เป็นต้น

สำหรับจำนวนผู้มีงานทำ 36.81 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรม 10.27 ล้านคน ลดลง 1.16 ล้านคนจากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการลดลงในการปลูกข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ยางพาราและอ้อย และนอกภาคเกษตรกรรม 26.54 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นในสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 2.1 แสนคน สาขาการก่อสร้าง 1.3 แสนคน สาขาการผลิต 1 แสนคน เป็นต้น

หากพิจารณาถึงจำนวนผู้ที่ทำงาน แต่ยังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ คือยังมีเวลาและต้องการที่จะทำงานเพิ่ม หรือเรียกว่าผู้ทำงานต่ำกว่าระดับ (Underemployment Workers) ผลการสำรวจพบว่ามีผู้ที่ทำงานต่ำกว่าระดับ 2.68 แสนคน คิดเป็น 0.7% ของจำนวนผู้ทำงานทั้งหมด ซึ่งคนกลุ่มนี้ต้องการที่จะทำงานเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับตัวเอง

สำหรับจำนวนผู้ว่างงานในเดือน พ.ค. 2559 มีทั้งสิ้น 4.53 แสนคน หรือ 1.2% จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 9.8 หมื่นคน จากช่วงเดียวกันปีก่อนและเพิ่มขึ้น 5.7 หมื่นคน จากเดือนก่อนหน้า โดยอัตราการว่างงาน 1.2% เพิ่มขึ้นจาก 0.9% ในเดือนก่อนหน้า และจำนวนผู้ว่างงานเป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 1.82 แสนคน และผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน 2.71 แสนคน ซึ่งในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น 1.27 แสนคน จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นผู้ว่างงานจากภาคการผลิต 1.11 แสนคน ภาคการบริการและการค้า 1.08 แสนคน และภาคเกษตรกรรม 5.2 หมื่นคน ตามลำดับ

ที่น่าสังเกตคือ หากจำแนกการว่างงานตามกลุ่มอายุ พบว่ากลุ่มวัยเยาวชนหรือผู้มีอายุ 15-24 ปี มีอัตราการว่างงาน 6.4% ซึ่งปกติในกลุ่มนี้อัตราการว่างงานจะสูง แต่ก็ถือว่าเพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 4.3% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่กลุ่มวัยผู้ใหญ่ (อายุ 25 ปีขึ้นไป) มีอัตราการว่างงาน 0.6% เพิ่มขึ้นจาก 0.5% ในช่วงเดียวกันปีก่อนเช่นกัน

นอกจากนี้ หากจำแนกตามระดับการศึกษา พบว่าผู้ว่างงานในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเพิ่มสูงถึง 8.3 หมื่นคน เป็น 1.19 แสนคน หรือเพิ่มขึ้น 230% รองลงมา คือ ผู้จบประถมศึกษาว่างงานเพิ่ม 1.5 หมื่นคน เป็น 6 หมื่นคน หรือเพิ่มขึ้น 33% ขณะที่ผู้จบอุดมศึกษาว่างงานลดลง 1.7 หมื่นคน โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้ว่างงานสูงสุด 1.31 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.4% รองลงมา คือ ภาคกลาง 1.28 แสนคน คิดเป็น 1.1%

วิไลลักษณ์ ชุลีวัฒนกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลได้ออกนโยบายให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชในหน้าแล้งจากข้าวนาปรังไปสู่พืชใช้น้ำน้อย และการเลี้ยงปศุสัตว์แทน ผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรตั้งแต่เดือน มี.ค.-พ.ค. 2559 พบว่าจำนวนผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรมลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด โดยเดือน พ.ค. ลดลงจาก 11.43 เป็น 10.27 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นการลดลงในการปลูกข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ยางพารา และอ้อย ซึ่งพืชต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นพืชที่ใช้น้ำปริมาณมากทั้งสิ้น จึงสามารถสะท้อนให้เห็นว่าเกษตรกรปรับตัวขานรับนโยบายของรัฐบาลและให้ความร่วมมือในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชฤดูแล้ง


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แห่ขอชดเชยว่างงานพุ่ง โดนนายจ้างลอยแพ

view