สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

4 เรื่องที่ Startup สามารถเรียนรู้จาก SMEs

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ Thai Startup Cafe โดย พงศ์พีระ ชวาลาธวัช www.facebook.com/thaistartupcafe

ผมโชคดีครับที่มีคนให้โอกาสและช่วยเหลือให้ความรู้ความเห็นเกี่ยวกับการทำธุรกิจ ทั้งภาคส่วนของ Startup, SMEs และ Enterprise แต่ในวันนี้ผมขอนำเสนอสิ่งที่ Startup เองควรจะเรียนรู้จาก SMEs บ้าง เผื่อว่าจะเป็นรูปแบบของ Startup ที่คุณอยากจะได้ก็ได้นะครับ เรียนรู้ไว้หลาย ๆ แบบ เป็นการดี และจะไม่ทำตามผมก็ไม่ว่ากันครับ อย่างน้อยเราจะได้รู้ว่ามี Startup แบบนี้อยู่ด้วย

สิ่งที่ต้องเรียนรู้จาก SMEs มี 4 ข้อ ดังนี้

1.พยายามโฟกัสเรื่องการหาเงินมากกว่าการระดมทุน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ผมพูดคุยกับเพื่อน ๆ ทั้ง VC, Angel, Startup จากหลากหลายประเทศและวงการ ซึ่งก็มีความเห็นออกมาแตกต่างกันเยอะมาก เช่น เพื่อน VC ที่สิงคโปร์คนหนึ่งให้ความเห็นว่าเขาไม่ค่อยเห็นด้วยกับการโฟกัสเรื่อง การหาเงิน มากกว่า การระดมทุน เพราะถ้าคุณไม่วางแผนการระดมทุน ถึงเวลา BurningRate ถึงจุดที่ Burn เงินจนหมดแล้ว คุณเองจะไม่สามารถไปรอด และต้องปิดกิจการแน่นอน



ขณะที่เพื่อนทำ Startup ทางอเมริกา ให้ความเห็นว่าเขาเบื่อเต็มทีกับการต้องออกไประดมทุนบ่อย ๆ ทำให้มีเวลาน้อยมากที่จะมาพัฒนาเรื่องสินค้าและตลาดเพื่อหาเงินจริง ๆ สุดท้ายแล้วเขากลัวว่า บริษัทอาจจะพบจุดจบคล้าย ๆ Startup ที่ชื่อ Theranos ที่มูลค่าสูงลิ่ว เพราะ Founder เก่งมากในการระดมทุน แต่เผอิญว่าเพลินไปนิด มารู้สึกตัวอีกทีคู่แข่งที่ตั้งใจพัฒนาสินค้าและตลาดมากกว่า ได้ยึดพื้นที่ไปเรียบร้อยแล้ว ทำให้ Theranos มีแต่มูลค่า ไม่มีตัวเงินจริง ๆ ที่จับต้องได้ สุดท้ายจึงกลายเป็นเรื่องน่าเศร้าของวงการ Startup ไป

จากความเห็นทั้งสองด้านข้างต้น ผมขอสรุปว่า เราอาจจะมองสองสิ่งก่อนจะกำหนดกลยุทธ์การทำ Startup ดังนี้ หนึ่ง-มองว่าธุรกิจเรา Burning Rate หนักไหม ถ้าหนักให้วางตัวคนระดมทุนกับคนพัฒนาสินค้าและตลาดออกจากกันไปเลย เพื่อกระจายความเสี่ยงและแบ่งงานกันทำแบบคู่ขนาน สอง-พยายามรักษาสมดุลในการทำธุรกิจเพื่อสร้างเงินกับมูลค่าไปในเวลาเดียวกัน เพื่อการรับแรงกระแทกในความเสี่ยงธุรกิจใด ๆ ที่จะเกิดขึ้น เช่น วันดีคืนดี Facebook เปลี่ยน Algorithm ซึ่งต้องทำให้คุณเปลี่ยนกลยุทธ์มาเป็นการซื้อโฆษณา Facebook เพิ่มขึ้น ไม่อย่างนั้นธุรกิจคุณอาจจะไม่รอด ซึ่งถ้าเราคำนวณ Burning Rate ไว้แน่นเกิน แน่นอนว่าคุณจะพบจุดจบอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าธุรกิจคุณเป็นธุรกิจที่หาเงินได้อยู่แล้ว Operational Cost ในแต่ละเดือนก็จะมีความสมเหตุสมผลในการใช้เงินเพื่อสร้าง Member, Traction หรือยอดขายที่มากขึ้นได้อย่างมีความสัมพันธ์กัน

2.อย่าดึงดูดทรัพยากรมนุษย์โดยเอาเงินเข้าล่อ
Startup เป็นธุรกิจที่ต้องใช้คนเก่งในการสร้างมูลค่าบริษัทให้ขึ้นเร็วที่สุดเพื่อ แข่งกับคู่แข่งการหมดอายุของเทคโนโลยีเวลาของBurningRate และ Time to Market อีกมากมาย เพราะฉะนั้น Startup (ที่มีเงิน) ก็จะ เน้นซื้อตัว แต่การซื้อตัวนั้นไม่ได้ซื้อกันได้นาน เพราะคนเก่งนั้นก็ต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง (ซึ่งงานนี้ไม่มีใครผิด) แต่มันทำให้ Startup เองก็มีความเสี่ยงและความไม่มั่นคง และจ่ายแพงด้วย

เพราะฉะนั้นจะดีกว่าไหมถ้าเราเน้นขายที่มูลค่า และ Vision ของบริษัท ในเรื่องปัญหาที่ Startup กำลังเข้าไปแก้ และมูลค่าของตลาดที่รออยู่ ซึ่งผมเข้าใจว่ายาก แต่มันจะทำให้ Startup ของคุณนั้นสบายกระเป๋าขึ้น และคุณยังได้คนที่มีความ "อิน" กับธุรกิจของคุณมากขึ้นด้วย ซึ่งเมื่อ Passion ตรงกัน ก็จะทำให้ธุรกิจโตเร็วขึ้นด้วย

3.อย่าพยายามจ้องจะ Exit
ตอนนี้มีนักลงทุนบางรายในอเมริกา เริ่มเปลี่ยนเทรนด์รีบเพิ่มมูลค่าของ Startup ว่าเป็นความเสี่ยง และกลับมองว่า Startup แบบ Cockroach หรือแบบแมลงสาบนั้น กลับมีมูลค่าที่สูงกว่า เนื่องจากใช้เงินน้อยกว่า มั่นคงสูงกว่า ปรับเปลี่ยนตัวได้ดีกว่า และสามารถขึ้นรูปให้เข้ากับธุรกิจใหญ่ได้ดีกว่าในเวลา Exit เพราะฉะนั้นนักลงทุนเหล่านี้จะโฟกัสในปัญหาที่คุณแก้ มากกว่ากลยุทธ์ที่คุณจะ Exit ครับ เพราะเขาอยากให้คุณสร้างมูลค่า และ Cash Performance มากกว่าที่คุณจะเน้นปั้นกลยุทธ์ที่น่าฟังและรอ Exit

4.พยายามเลี่ยงการซื้อทรัพย์สิน ผมต้องขอออกตัวก่อนว่า การซื้อหรือไม่ซื้อนั้นเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี คุณต้องดู Startup ของคุณด้วยว่าเหมาะกับ Concept นี้หรือไม่ เพราะบาง Startup ที่ผมรู้จัก ก็ไม่สามารถใช้ได้ในกรณีที่คุณต้องควบคุมคุณภาพของสินค้าหรือบริการนั้น ๆ อย่างมาก Sharing Economy ก็จะเป็นทางเลือกรองลงมานั่นเอง

แต่ในการเริ่มต้นธุรกิจใหม่นั้น การวางเงินจำนวนมาก ๆ ไว้กับทรัพย์สินนั้น จะทำให้การโตของ Startup นั้นมันช้าลงเยอะ แทนที่จะเอาเงินมาจ้างคน กลับต้องไปจมทุนในทรัพย์สินที่เมื่อเอามาสร้างเงินแล้วกลับได้น้อยกว่าจ้างคนหรือเช่าสินทรัพย์นั้น ๆ ไปก่อนที่จะขยายกิจการ

ยกตัวอย่างคลาสสิก เช่น Uber เองทุกวันนี้ก็ไม่ได้มีรถเป็นของตัวเอง เป็น Concept Sharing Economy ล้วน ๆ เลย ผมเข้าใจว่าคนทำธุรกิจจะสามารถแยกแยะออกได้ว่า Style การทำธุรกิจไหนเหมาะกับตัวเราหรือประสบการณ์ของเรามากที่สุด ไม่ได้มีอะไรดีที่สุดหรือแย่ที่สุด เพราะทุกวันนี้คนที่ผมเห็นว่าประสบความสำเร็จนั้น ก็มาได้จากการทำธุรกิจทุก ๆ Style ที่ว่ามา

แล้วคุณละคิดว่าเหมาะกับการทำธุรกิจ Style ไหน ? เข้ามาในหน้าเพจ Facebook ผม แล้วมาแชร์ประสบการณ์ให้ฟังกันบ้างครับ


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : 4 เรื่องที่ Startup สามารถเรียนรู้ SMEs

view