สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไขข้อสงสัย พร้อมเพย์ ปลอดภัยไหม?

ไขข้อสงสัย "พร้อมเพย์" ปลอดภัยไหม?

จากประชาชาติธุรกิจ

"พร้อมเพย์" เป็นโครงการหนึ่งภายใต้แผนยุทธศาสตร์พัฒนา ใช้ระบบชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (เนชั่นแนล อีเพย์เมนต์) เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้อีเพย์เมนต์แพร่หลายมากขึ้นในสังคมไทยที่เน้นการใช้เงินสดเป็นหลัก เป็นการลดต้นทุนให้กับรัฐทางหนึ่ง ผู้ใช้ต้องลงทะเบียนกับธนาคารในการผูกบัญชีกับหมายเลขบัตรประชาชน และ/หรือหมายเลขโทรศัพท์

จนเกิดกระแสกังวลใจว่า ข้อมูลส่วนตัวจะถูกผู้ไม่หวังดีล้วงไปทำประโยชน์ในทางให้ผู้ใช้พร้อมเพย์เสียหายหรือไม่

ขนาดคนที่ชื่อ "บวรศักดิ์ อุวรรณโณ" อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และยังเป็นอดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2558 ยังออกมาติง

ประกาศลั่นว่าจะไม่ใช้เด็ดขาด

ความกังวลมากมายของผู้ที่จะต้องให้ "อนุชิต อนุชิตานุกูล" ที่ปรึกษาคณะทำงานพัฒนาระบบ เนชั่นแนล อีเพย์เมนต์ ต้องอธิบายกันอย่างง่ายๆ ว่า การใช้อีเพย์เมนต์จะทิ้งร่องรอยเสมอ รู้ว่าต้นทางและปลายทางของเงินมาจากไหน สามารถตรวจสอบได้เมื่อพบความผิดปกติ หรือกรณีที่สงสัยว่าจะเกิดเหตุการณ์ขึ้น

"การขาดความเชื่อมั่นที่เกิดขึ้น น่าจะมีพื้นฐานมาจากความขัดแย้งในสังคมไทย เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหรือมีสิ่งใหม่เข้ามาต้องต่อต้านไว้ก่อน ′พร้อมเพย์′ ต้องใช้เลขบัตรประชาชนและหมายเลขโทรศัพท์เป็นองค์ประกอบหลักเพื่อมาใช้แทนเลขบัญชีนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เพราะเวลาที่จะไปเปิดบัญชีกับธนาคาร พนักงานก็จะมีการเรียกหมายเลขบัตรประชาชน เพื่อใช้แสดงตัวตนว่าคนที่มาเปิดบัญชีเป็นเจ้าของบัญชีตัวจริง ไม่ได้ปลอมแปลงบัตรใครมา ส่วนการยืนยันตัวตนว่าเป็นเจ้าของหมายเลขโทรศัพท์จะมีการส่งรหัสครั้งเดียว (OTP) มายังเบอร์โทรศัพท์ที่เราเป็นเจ้าของ"

อนุชิตกล่าวต่อว่า ในทางตรงกันข้าม การใช้เลขบัตรประชาชนหรือหมายเลขโทรศัพท์แทนเลขบัญชีจะมีความปลอดภัยมากกว่าที่จะบอกเลขบัญชีธนาคารต่างๆ ให้คนอื่นรู้ เพราะไม่ว่าจะโอนเงินมายังหมายเลขบัตรประชาชนหรือหมายเลขโทรศัพท์ก็จะไม่รู้ว่าผู้รับเงินมีบัญชีอยู่ในธนาคารใดบ้าง ระบบการโอนเงินของธนาคารพาณิชย์ที่เป็นระบบหลังบ้านนั้นมีความปลอดภัย และมีการพัฒนาระบบมากว่า 20-30 ปีแล้ว การที่รู้ว่าหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลักคืออะไรบ้าง ก็ไม่สามารถที่จะเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว หรือข้อมูลทางการเงินได้

ลองฟังกูรูการเงินอีกคนของแบงก์ชาติ "นางฤชุกร สิริโยธิน" ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงทันทีต่อการแสดงความเห็นของบวรศักดิ์ว่า การใช้บริการพร้อมเพย์เป็นทางเลือกให้ประชาชนมีช่องทางในการชำระเงินเพิ่มมากขึ้น ไม่ได้เป็นการบังคับให้ทำแต่อย่างใด จะลงทะเบียนเมื่อไรหรือยกเลิกเมื่อไรก็ได้ นายบวรศักดิ์มีความเข้าใจแล้วและได้เสนอว่า ประเทศไทยควรจะมีกฎหมายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy Law) จะมีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในทุกด้าน

อย่างไรก็ตาม ธปท.มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ภายใต้กฎหมายธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 มาตรา 154 อยู่แล้ว หากผู้ใดที่ล่วงรู้ข้อมูลความลับของสถาบันการเงินแล้วนําไปเปิดเผยแก่บุคคลอื่น ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

"ที่ผ่านมา ยังไม่เคยพบว่ามีธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (นอนแบงก์) กระทำผิดกรณีนี้แต่อย่างไร" นางฤชุกรกล่าวย้ำว่า "ยืนยันว่าระบบของธนาคารพาณิชย์เป็นระบบ ′ปิด′ เป็นระบบที่มีมาตรฐานสากล ไม่มีการเชื่อมต่อกับระบบอื่นๆ ของภาครัฐแต่อย่างไร ไม่ได้เชื่อมต่อกับระบบทะเบียนราษฎร์ อย่างไรก็ดี การใช้งาน ′พร้อมเพย์′ ต้องทำผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ การตั้งชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน ไม่ควรตั้งเลขซ้ำกัน หรือเลขที่ง่ายต่อการคัดลอก เช่น 1234, 9999 เป็นต้น ในส่วนการใช้งานโทรศัพท์ ควรมีการลงแอนตี้ไวรัส และไม่มีการดัดแปลงโทรศัพท์มือถืออันจะทำให้มีไวรัสหรือเกิดการแฮกข้อมูลได้ง่าย ช่วงที่เปิดให้ลงทะเบียนล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นมา พบว่ามีผู้ลงทะเบียนแล้ว 9.7 ล้านราย" นางฤชุกรระบุ

อีกหนึ่งเสียงที่ยืนยัน "อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความเห็นว่า ความกังวลเรื่องปัญหาความปลอดภัยในการใช้ เนื่องจากมีการเชื่อมกับเลขที่บัตรประชาชนกับว่า หมายเลขบัตรประชาชนเปรียบเสมือนการยืนยันตัวบุคคล การนำบัตรประชาชนไปผูกกับหมายเลขบัญชีเพื่อแสดงความเป็นตัวตนที่แน่ชัดของบุคคลนั้นๆ เพราะบางคนมีชื่อนามสกุลที่ซ้ำกัน แต่เลขที่ประชาชนไม่ซ้ำกันแน่นอน ถ้าบอกว่าต้อง "ส่วนตัว" อย่างนั้นชื่อเราก็ต้องห้ามคนอื่นรู้ด้วย

"กรณีไปรับจ้างงาน ทางบริษัทที่จ้างงานต้องขอเลขที่บัตรประชาชนและเลขที่บัญชีธนาคาร ต่อไปถ้ามีพร้อมเพย์ สามารถให้เลขที่บัตรประชาชนเพียงเลขเดียว เงินถูกโอนเข้าบัญชี ถือว่าปลอดภัยกว่าไหม เพราะคนอื่นไม่รู้เลขที่ธนาคาร เรื่องนี้ยืนยันว่า การที่ต้องนำเลขที่บัตรประชาชนมาผูกเพื่อแสดงตัวตน ธนาคารไม่สามารถเข้าไปดูข้อมูลในบัตรประชาชนได้ และการทำพร้อมเพย์ไม่เกี่ยวกับการไปดูเส้นทางการเงินเพื่อเก็บภาษี เป็นคนละเรื่องกันเลย"

"ยืนยันว่า เงินพร้อมเพย์มีความปลอดภัย และพร้อมเพย์ไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้สถาบันการเงินใช้ระบบชำระเงินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์มานานพอสมควร ทั้งอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง หรือเทเลโฟนแบงก์กิ้ง ระบบ ′พร้อมเพย์′ เข้ามาเสริม เพื่อให้คนเข้าบริการได้ถึงมากขึ้น มีค่าบริการถูกลง ส่วนในเรื่องการรักษาความปลอดภัยนั้น ธปท.และสถาบันการเงินก็ดูแลให้ระบบดังกล่าวมีความมั่นคงและปลอดภัย สำหรับในเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลนั้น ก็ได้ให้ฝ่ายกฎหมายไปดูแล้ว เพราะมีคนทักเรื่องนี้ แต่เบื้องต้นไม่ใช่ปัญหา เพราะไม่ได้เอาข้อมูลในบัตรไปใช้ เพียงแต่เอาเลขบัตรประชาชนหรือหมายเลขโทรศัพท์ไปเชื่อมต่อกับหมายเลขบัญชีธนาคารเท่านั้น" นายอภิศักดิ์กล่าว

ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นด้วยว่า พื้นฐานของพร้อมเพย์นอกจากอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการจ่ายเงิน โอนเงินได้ในทุกที่ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการทำธุรกรรมการเงินของประชาชน เน้นย้ำว่าเป็นทางเลือก ดังนั้น อยู่ที่ความสมัครใจที่ประชาชนจะใช้ เมื่อใช้บริการ "พร้อมเพย์" ข้อมูลธุรกรรมการเงินจะผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ มีการบันทึก และเห็นที่มาของเงินได้ จะลดการคอร์รัปชั่น อย่างไรก็ตาม การเข้าตรวจสอบและการเข้าไปดูข้อมูลการใช้พร้อมเพย์ของประชาชน ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะเข้าไปตรวจสอบขอดูข้อมูลได้ ต้องมีมูลเหตุที่สมควรแก่การตรวจสอบ ต้องวางกรอบกฎระเบียบกฎหมายด้วยว่า การจะขอดูข้อมูล หรือตรวจสอบประวัติการใช้งานพร้อมเพย์ต้องมีคำสั่งศาล

ไม่ว่าจะกังขาหรือเข้าใจ "พร้อมเพย์" ในมุมไหน แต่สุดท้าย ไม่มีใครไปมัดมือชกหรือรัฐบังคับให้เข้าระบบนี้ ขึ้นอยู่กับที่แต่ละบุคคลจะตัดสินใจเอง


ที่มา นสพ.มติชนรายวัน


15 ก.ค.กดปุ่ม "พร้อมเพย์" ก้าวเล็ก ๆ ที่ไม่พร้อม ?

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ โดย วิไล อักขระสมชีพ oilday@yahoo.com

นับถอยหลังเปิดบริการพร้อมเพย์ (PromptPay) สำหรับโอนเงินระหว่างบุคคลด้วยกันอีกรูปแบบหนึ่ง ดีเดย์วันที่ 15 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป ถือเป็นช่วงยกระดับบริการทางการเงินของประเทศไทย

สิ่งที่จะได้จากการ เข้าร่วมพร้อมเพย์ในระยะแรกนี้ คือ สามารถทำธุรกรรมการโอนเงินและรับโอนเงินได้ทั่วประเทศโดยเสียค่าใช้จ่ายถูก ลงในการทำธุรกรรมนอกจากนี้ภาคธุรกิจยังได้ประโยชน์จากการชำระเงินค่าสินค้า ได้สะดวกรวดเร็ว รวมถึงภาครัฐที่อยากจะเพิ่มประสิทธิภาพการโอนเงินถึงมือประชาชนได้โดยตรงและ ทั่วถึงตรงเป้าหมายด้วย

เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ได้ประกาศเปิดให้ประชาชนเลือกลงทะเบียนใช้บริการพร้อมเพย์ เพียงแค่นำบัตรประจำตัวประชาชน (ID) หรือหมายเลขโทรศัพท์มือถือผูกกับบัญชีเงินฝากของธนาคาร ซึ่งจะต้องเป็นบัญชีออมทรัพย์หรือบัญชีกระแสรายวันเท่านั้น โดยในระยะแรกจะมีเพียงธนาคารพาณิชย์ 15 แห่ง และธนาคารของรัฐ 4 แห่งเท่านั้นที่จะเปิดให้บริการพร้อมเพย์ก่อน ฝั่งประชาชนที่ได้ลงทะเบียนพร้อมเพย์ไว้ ก็จะสามารถเลือกใช้เป็นช่องทางรับเงินสวัสดิการต่าง ๆ จากภาครัฐได้เลย จนกว่าจะถึงปลายเดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป "พร้อมเพย์" จึงจะสามารถให้บริการ "โอนและรับโอนเงิน" สำหรับผู้ใช้บริการพร้อมเพย์

โดยวิธีการลงทะเบียน หากจะเลือกใช้บัตรประจำตัวประชาชนก็ควรใช้ผูกกับบัญชีที่ทำธุรกรรมโอนและรับโอนเป็นหลักไว้ เพราะ ธปท.กำหนดให้ผูกได้เพียง 1 บัญชีเท่านั้น ส่วนหมายเลขโทรศัพท์มือถือสามารถนำมาผูกกับบัญชีได้ไม่เกิน 3 เบอร์เท่านั้น ซึ่ง 1 เบอร์โทร.มือถือต่อ 1 บัญชี โดยทั้ง 4 หมายเลขนี้ จะไม่สามารถผูกบัญชีซ้ำได้ เว้นแต่จะมีการแจ้งเปลี่ยนแปลงขอยกเลิกการผูกบัญชีเรียบร้อยก่อน

สำหรับค่าใช้จ่ายที่ถูกลงของผู้ใช้บริการพร้อมเพย์ในช่วงแรกนี้ หากมีการทำธุรกรรมโอนเงินมูลค่าไม่เกินรายการละ 5,000 บาทฟรีทุกรายการ ซึ่งขณะนี้ยังไม่เห็นมีการแจ้งว่าจำกัดจำนวนรายการแต่อย่างไร แต่หากมีการโอนเงินมูลค่ามากกว่ารายการละ5,000-30,000 บาท จะถูกแบงก์เก็บค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) รายการละไม่เกิน 2 บาท และถ้าวงเงินโอนมากกว่ารายการละ30,000-100,000 บาท จ่ายค่าฟีไม่เกิน 5 บาทหากวงเงินมากกว่า 100,000 เป็นต้นไป ถึงวงเงินสูงสุดที่แต่ละธนาคารกำหนด คุณจะเสียค่าฟีรายการละไม่เกิน 10 บาท/รายการ

ส่วนผู้อ่านถามว่า จำเป็นที่ทุกคนจะต้องรีบโดดเข้าลงทะเบียนเพื่อใช้ "บริการพร้อมเพย์" ในเวลานี้หรือไม่ ผู้เขียนก็ขอตอบเลยว่า ต้องขึ้นอยู่กับตัวคุณว่า มีพฤติกรรมการทำธุรกรรมทางการเงินอย่างไร เพราะถ้าต้องทำธุรกรรมโอนเงินหรือชอบช็อปออนไลน์เยอะ ก็เลือกเลยว่าจะใช้ผูกกับบัญชีไหน ถ้าทุกวันนี้ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านอินเทอร์เน็ต หรือโมบายแบงกิ้งอยู่แล้ว ก็สมัครบริการไปเลย เพราะคุณมีพื้นฐานการใช้ดิจิทัลแบงกิ้งอยู่แล้ว ก็เพิ่มอีกช่องทางไปเลย ส่วนคนที่ยังไม่พร้อมปรับตัวหันมาใช้ระบบบดิจิทัลแบงกิ้ง ก็ยังไม่ต้องรีบร้อนไปลงทะเบียน เพราะ ธปท. "ไม่ได้กำหนด" ระยะเวลาสิ้นสุดการลงทะเบียนแต่อย่างใด เว้นแต่ว่าคุณอยากเข้ามาเรียนรู้โลกดิจิทัลแบงกิ้ง ก็สมัครใช้ "พร้อมเพย์" เลย

เพราะช่วงนี้แบงก์ต่าง ๆ แห่กันออกโปรโมชั่นล่อใจลูกค้า มีตั้งแต่ให้คืนเป็นเงินสด จนถึงลุ้นรับรางวัลชิ้นใหญ่สุดคือ "รถยนต์" กันทีเดียวเพราะเป็นนาทีทองของแบงก์จะช่วงชิงฐานลูกค้ารายย่อย เพื่อเข้ามาใช้บริการแล้วยังสามารถต่อยอดให้บริการผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่น ๆ อีก

แต่หากคุณเลือกที่จะเข้ามาใช้บริการ "พร้อมเพย์" แล้ว ก็ต้องทำใจ เพราะในก้าวเริ่มต้น "พร้อมเพย์" ยังไม่มีใครรู้หรือคาดเดาได้ว่า แม้วันนี้สมาคมธนาคารไทยประกาศมีความพร้อมในการให้ลงทะเบียนบริการพร้อมเพย์ แต่ก็ต้องทำใจเผื่อไว้กรณีระบบที่ให้บริการอาจยังไม่สมบูรณ์เสียทีเดียว เพราะนี่เพิ่งก้าวแรกเท่านั้น

และที่สำคัญ เมื่อเกิดปัญหาความเสียหายหากมีการโอนชำระเงินผิดพลาด ถึงแม้ทางสมาคมธนาคารไทยประกาศว่า หากมีกรณีต่าง ๆ ที่เกิดความเสียหายในบัญชีเงินฝากของผู้ใช้ "พร้อมเพย์" ธนาคารจะพร้อมรับผิดชอบทุกกรณี รวมถึงการถูกโจรกรรมข้อมูลทางการเงินจากแฮกเกอร์ด้วย แต่ผู้เขียนก็อยากจะเตือนว่า กว่าจะมาถึงจุดที่แบงก์รับผิดชอบให้นั้น ในทางปฏิบัติแล้ว แบงก์ย่อมจะต้องมีกระบวนการพิสูจน์หรือดูระบบที่บันทึกข้อมูลด้วย ลองคิดง่าย ๆ หลายคนคงเคยกดเงินจากตู้เอทีเอ็มแล้วเงินไม่ออก สิ่งที่ต้องทำคือแจ้งคอลเซ็นเตอร์ของแบงก์ ซึ่งแค่โทร.หาจะเริ่มรับสายก็ยังรอนาน หรือบางแบงก์มีให้บริการโทร.กลับก็ใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง หรือบางกรณีจะต้องวิ่งไปหาเจ้าหน้าที่สาขาแบงก์อีก ขณะที่เราก็ร้อนใจกับความกลัวว่าเงินอาจหายไป

เพราะทุกวันนี้ประสิทธิภาพการให้บริการคอลเซ็นเตอร์ของแบงก์ค่อนข้างอยู่ระดับต่ำมาก เรียกประมาณว่า "ต่อ-ติด-ตาย" ก็ได้ เพราะต่อสายติด แต่บอกว่าเจ้าหน้าที่เต็มทุกคู่สาย กรุณารอสายหรือติดต่อมาใหม่ แบบว่าคนฟัง "ตาย" ไปเลย เพราะร้อนใจกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ แต่ทำอะไรไม่ได้

ถึงเวลาทวงถามบรรดาแบงก์ได้ตระหนักถึงประสิทธิภาพคอลเซ็นเตอร์ ที่เปรียบเหมือนผู้ให้บริการหลังการขายได้แค่ไหน


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ไขข้อสงสัย พร้อมเพย์ ปลอดภัยไหม

view