สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ภาษีที่ดินรัฐบาล คสช. (6) วิธีปฏิบัติต้องชัดเจน ลดการตีความ จนท.รัฐ

จากประชาชาติธุรกิจ

เข้มข้นขึ้นทุกทีกับผลสำรวจข้อคิดเห็นเกี่ยวกับ "ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ..." ของรัฐบาล คสช. ที่มีการตั้งเป้าผลักดันให้มีการบังคับใช้ภายในต้นปี 2560 มุมมองที่น่าสนใจวันนี้เป็นของ "พี่มีน-โอภาส ศรีพยัคฆ์" เอ็มดีบริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับฉายาในวงการว่าเป็นเจ้าพ่อคอนโดมิเนียมตลาดกลาง-ล่าง

สืบเนื่องจากกฎหมายภาษีตัวใหม่แบ่งฐานการจัดเก็บภาษีเป็น4ฐานหลักด้วยกันประกอบด้วย ที่ดินเกษตรกรรม, ที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม และที่ดินเปล่า ซึ่งมีประเด็นคาบเกี่ยวระหว่าง "ที่อยู่อาศัย VS พาณิชยกรรม" เพราะอัตราจัดเก็บเริ่มต้นมีความแตกต่างกันถึง 10 เท่า โดยอัตราภาษีที่อยู่อาศัยเริ่มต้น 0.03% หรือล้านละ 300 บาทสำหรับมูลค่าทรัพย์สิน 5 ล้านบาทแรก และภาษีพาณิชยกรรมเริ่มต้น 0.3% หรือล้านละ 3,000 บาทสำหรับทรัพย์มูลค่าไม่เกิน 20 ล้านบาทแรก

ประเด็นของวงการพัฒนาที่ดิน หลัก ๆ อยู่ที่มีการนำที่อยู่อาศัยมาปล่อยเช่า โดยเฉพาะตลาดคอนโดฯทุกระดับราคา ตั้งแต่ห้องละ 1 ล้านต้น ๆ ไปจนถึงหลัก 10 ล้านบาทขึ้นไป โดยที่รัฐบาลประกาศชัดเจนว่า ถ้าอสังหาฯถูกนำมาใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยก็จัดเก็บเริ่มต้นล้านละ 300 บาท (สำหรับบ้านหลังที่ 2 เป็นต้นไป) แต่ถ้าหากอสังหาฯหลังเดียวกันถูกนำมาปล่อยเช่า ตีความว่าเป็นประเภทพาณิชยกรรม ภาษีเริ่มต้นอยู่ที่ล้านละ 3,000 บาททันที

ข้อคิดเห็น คือ "...น่าจะทำตามวัตถุประสงค์ของการสร้างสิ่งปลูกสร้าง เขา (รัฐ) จะตีความได้ยังไงว่าบ้านหลังสองเป็นคอนโดฯ แล้วหมายความว่าจะต้องปล่อยเช่าตลอด"

แนวคิดที่โฟกัสประเด็นให้ชัดขึ้นไปอีก คือ "ทุกวันนี้ถ้าผมปล่อยเช่า เสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดาอยู่ดี ถ้าภาษีที่ดินมาจัดเก็บอัตราพาณิชยกรรมอีกก็ซ้ำซ้อนสิครับ เท่าที่ติดตามวัตถุประสงค์และนโยบายภาษีของรัฐบาล ไหนว่าจะทำให้ความซ้ำซ้อนของภาษีลดลง"

สิ่งที่เป็นกังวลมากที่สุดไม่ใช่การออกแบบภาษี แต่เป็นเรื่องขั้นตอนการปฏิบัติของหน่วยงานผู้รับผิดชอบจัดเก็บเป็นด้านหลัก เพราะในฟากเอกชนดูเหมือนข้อกังวลลึก ๆ สุดก้นบึ้งหัวใจหนีไม่พ้นเรื่องกฎหมายเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้ดุลพินิจในการตีความนั่นเอง


ยกตัวอย่างซื้อคอนโดฯตอนโอนกรรมสิทธิ์ระบุเป็นที่อยู่อาศัยต่อเมื่อมีการนำมาปล่อยเช่าจริงแต่กรณีที่ไม่สามารถปล่อยเช่าได้ทุกเดือน การเรียกเก็บภาษีจะคำนวณบนพื้นฐานอะไร (ที่จะต้องเป็นธรรมกับผู้เสียภาษีด้วย)

หรือกรณีเป็นเจ้าของที่ดินเปล่า ต่อมามีการปล่อยเช่าให้ทำเกษตรกรรม แต่ทำเลนั้น ๆ อาจมีมูลค่าที่ดินสูงมาก การตีความจะให้เป็นที่ดินเกษตรกรรม หรือตีความให้เป็นประเภทพาณิชยกรรม ฯลฯ

แน่นอนว่า ในมุมของภาครัฐเวลาบังคับใช้กฎหมายภาษีขึ้นมาก็มักจะต้องมีการหลีกเลี่ยงภาษีด้วยเช่นกัน "โอภาส" แลกเปลี่ยนมุมมองว่า ถ้านำที่อยู่อาศัยมาปล่อยเช่าก็ต้องไปว่ากันที่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นั่นคือในขั้นตอนปฏิบัติทุกอย่างต้องชัดเจน ปฏิบัติตามได้ง่ายทั้งผู้เก็บภาษีและผู้จ่ายภาษี

"ถ้านำคอนโดฯมา ปล่อยเช่าแล้วรัฐจะจัดเก็บอัตราพาณิชยกรรมไม่เห็นด้วยกับการตีความกฎหมายแบบ นี้เพราะบ้านหรือคอนโดฯเป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าโอน กรรมสิทธิ์เป็นที่อยู่อาศัยกรณีนำมาปล่อยเช่าแล้วมีรายได้ขึ้นมารัฐก็ตามมา เก็บภาษีเงินได้ฯอยู่แล้ว"

ตั้งคำถามตรง ๆ ว่า ถ้านำคอนโดฯมาปล่อยเช่ากระทบกับลูกค้า LPN หรือไม่ คำตอบคือมองว่าไม่กระทบอะไรมากมาย เพราะโมเดลธุรกิจของบริษัทเน้นพัฒนาห้องชุดเจาะตลาดกลาง-ล่าง โดยเฉพาะกลุ่มซื้อเพื่อทดแทนการเช่า ดังนั้น กลุ่มเป้าหมายหลักจึงเป็นผู้ซื้ออยู่อาศัยเอง ในขณะที่กลุ่มนักลงทุนซื้อเพื่อปล่อยเช่ามีประมาณ 10-20%

สำหรับข้อเสนอแนะก็ยังยืนยันข้อกังวลเดิมที่ว่า "กฎหมายภาษีที่ดินหลักการดีหมด แต่ผมมองว่าแนวทางปฏิบัติต้องชัดเจนด้วย เพื่อ (เจ้าหน้าที่รัฐ) จะได้ไม่ต้องมานั่งตีความ"


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ภาษีที่ดินรัฐบาล คสช. (6) วิธีปฏิบัติต้องชัดเจน ลดการตีความ จนท.รัฐ

view