สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โอกาสและความท้าทาย ในตลาดสังคมผู้สูงวัย

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ Smart SMEs โดย วีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ

สวัสดีครับ เนื่องจากเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ผมจึงมีโอกาสได้ดูรายการทีวีอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่องรายการของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีรายการสารคดีที่น่าสนใจและเข้ากับสถานการณ์ทั้งในบ้านเขาและบ้านเรา จนต้องขออนุญาตเก็บมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นอีกมุมมองสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่กำลังอยู่ในธุรกิจหรือสนใจทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย

คงไม่มีใครอยากจะแก่หรือยอมรับว่าตัวเองแก่แต่วัฏจักรของวัยนั้นเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้โดยเฉพาะในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่เข้าสู่ยุคของสังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 26.7 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ (ณ สิ้นเดือนกันยายน 2558) ในขณะที่อัตราการเกิดของประชากรลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 4 ปีติดต่อกันจนถึงสิ้นปี 2557 โดยลดลงราว 0.7% ต่อปี และเพิ่งจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปีที่ผ่านมา

ผลจากการเข้าสู่สังคมผู้ สูงวัยทำให้บริษัทผู้ผลิตสินค้าในญี่ปุ่นต้องปรับตัวอย่างใหญ่หลวงไม่ว่าจะ เป็นผู้ที่อยู่ในธุรกิจค้าปลีกผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคซึ่งพากันนำเสนอ ผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองคนแก่ในสารคดีที่ผมได้ดูนั้น กล่าวถึงธุรกิจอาหารที่แต่เดิมไม่เคยเห็นผู้สูงวัยอยู่ในสายตา แต่ปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์มาผลิตอาหารสำเร็จรูปที่มากด้วยคุณค่าทาง โภชนาการ รับประทานง่าย โดยมีการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เปิดได้สะดวกสำหรับผู้สูงอายุ มีการทดลองรสชาติกับกลุ่มตัวอย่างเพื่อค้นหารสชาติซึ่งเป็นที่ถูกปากสำหรับ คนในวัยที่มีความอยากอาหารลดลง หรือรับประทานอะไรก็ไม่ค่อยอร่อย

ที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับผมก็คือ การนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาตอบสนองการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ ที่ส่วนใหญ่มักจะอยู่บ้านคนเดียว ไม่ว่าจะเป็นระบบไฟส่องสว่าง อุปกรณ์เครื่องครัวที่มีระบบตัดไฟอัตโนมัติ ในกรณีที่ท่านผู้สูงวัยลืมว่าตัวเองได้เปิดเตาไฟหุงต้มอาหารเอาไว้ หรืออินเทอร์เน็ตทีวีที่ลูกหลานสามารถส่งคลิปวิดีโอมาให้ชมยามคิดถึง รวมทั้งระบบเตือนภัยที่ส่งตรงไปยังสถานพยาบาลหรือสถานีตำรวจ เป็นต้น

ด้วยความที่ญี่ปุ่นเป็นชาติที่ลงลึกในรายละเอียด การคิดค้นหรือออกแบบผลิตภัณฑ์จึงมีขั้นตอนและเรื่องราวที่น่าสนใจอย่างยิ่ง แม้กระทั่งการออกแบบอุปกรณ์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน ประเภทถ้วย ชาม ภาชนะใส่อาหาร ก็ยังนำไปทดลองใช้กับผู้สูงวัยในหลากหลายอายุ เพื่อศึกษาว่าจะจับสะดวกไหม จะหก หรือคว่ำง่ายหรือไม่

สิ่งที่ผมเล่ามานี้ก็เพื่อให้ท่านผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยนำไปเป็น แนวคิดต่อยอดธุรกิจว่าการจะสร้างหรือก่อกำเนิดผลิตภัณฑ์ใดๆเราต้องใส่ใจใน ทุกรายละเอียดและคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยและความปลอดภัยของผู้ใช้เป็นสำคัญ

นอกจากจะกล่าวถึงผลิตภัณฑ์เพื่อประชากรผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้น รายการนี้ยังกล่าวถึงการต่อสู้ของผู้ค้าปลีกที่ประสบปัญหาจากอัตราการเกิดที่ลดลง ซึ่งเป็นผลให้ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กมียอดขายตก ไม่ว่าจะเป็นผ้าอ้อม นมผง อาหารเด็ก และอื่น ๆ ดังนั้นเพื่อกระตุ้นยอดขาย ซูเปอร์สโตร์แห่งหนึ่งจึงได้จัดเรียงสินค้าเด็กเสียใหม่ตามช่วงวัย โดยแบ่งเป็น 1-4 เดือน 5-6 เดือน 9 เดือน 1 ปี และอื่น ๆ ปรากฏว่าเป็นที่ถูกใจของคุณแม่บ้าน สามารถเพิ่มยอดขายได้กว่า 10% เป็นวิธีการพัฒนากลยุทธ์ใหม่เพื่อให้สอดรับกับตลาดที่เปลี่ยนแปลง

ในขณะเดียวกัน ก็มีการจับกลุ่มเป้าหมายใหม่ จากเดิมที่ส่วนใหญ่เป็นคุณแม่ ทางห้างพบว่า ปัจจุบันผู้ชายญี่ปุ่นเริ่มจะมีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูกมากขึ้น ดังนั้นทางห้างจึงได้จัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดขาย เพื่อให้คำแนะนำคุณพ่อบ้านที่รับใบสั่งจากคุณภรรยาให้มาซื้อผ้าอ้อม หรือนมผง ได้รู้จักกับสินค้าเด็กประเภทอื่น ๆ รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลเด็ก ท้ายสุดคุณพ่อบ้านก็หอบสินค้าอื่น ๆ นอกจากจากที่ภรรยาสั่งมากลับไปบ้านด้วย สามารถเพิ่มยอดขายได้อีก แม้จะไม่มาก แต่ทางห้างบอกว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจเลยทีเดียว

ท่านผู้ประกอบการครับ นี่คือตัวอย่างที่ธุรกิจในต่างประเทศปรับตัวเพื่อตอบโจทย์บริบททางสังคมที่เปลี่ยนไป ในตอนหน้าผมจะขอเล่าถึงเรื่องราวความเป็นไปของผลิตภัณฑ์เพื่อผู้สูงวัยในประเทศไทย รอติดตามนะครับ


โอกาสและความท้าทาย ในตลาดสังคมผู้สูงวัย (จบ)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

คอลัมน์ Smart SMEs โดย วีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ

สวัสดีครับ ในตอนที่แล้วผมได้เขียนถึงประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นต้นแบบของการพัฒนาสินค้าและนวัตกรรมสำหรับกลุ่มผู้สูงวัย ฉบับนี้ผมขอนำเสนอแนวโน้มตลาดของประเทศไทยบ้าง เนื่องจากเรากำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย (Aging Society) ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยจะมีจำนวนผู้สูงวัยเพิ่มเป็นร้อยละ 14.4 ของประชากรทั้งประเทศ และจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นความท้าทายทั้งสำหรับภาครัฐและผู้ประกอบการไทย

เพื่อ เตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผู้ประกอบการไทยอาจเริ่มด้วยการ วิเคราะห์พฤติกรรมความต้องการของผู้บริโภคเพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดสินค้าให้ สามารถตอบโจทย์รับกับตลาดผู้สูงวัยซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงไม่ ต่างจากกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มคนทำงาน

จากการสำรวจพบว่าตลาดที่น่า จะได้ประโยชน์จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยนี้คือธุรกิจบริการเพื่อสุขภาพโดย เฉพาะการพัฒนาสินค้าที่เกี่ยวกับอุปกรณ์ช่วยชีวิตและดูแลสุขภาพผู้สูงวัย เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผสานกับเทคโนโลยี IOT (In-ternet of Things) เพื่ออำนวยความสะดวกทั้งสำหรับแพทย์และคนไข้ เช่น เครื่องช่วยฟังดิจิทัล นาฬิกาดิจิทัลวัดชีพจร เครื่องตรวจวัดความดัน ฯลฯ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้จำเป็นต้องมีความสามารถในการสื่อสารหรือส่งข้อมูลคนไข้ ให้กับแพทย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้แบบเรียลไทม์

โดยที่ผ่านมาผม ได้อ่านผลงานวิจัยจากหลายสถาบันพบว่าปัจจุบันไทยได้พัฒนาเครื่องไม้เครื่อง มือทางการแพทย์ที่มีความทันสมัยหลากหลายมากขึ้นเช่นหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ ที่สามารถใช้ได้จริง

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะอาหารเพื่อสุขภาพที่มาจากธรรมชาติ ประเภทออร์แกนิกส์ (Organics) ซึ่งเน้นไปที่คุณค่าทางโภชนาการ มีไขมันและคอเลสเตอรอลต่ำ น้ำตาลน้อย เพื่อช่วยป้องกันหรือช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ ผู้ประกอบการร้านอาหาร ร้านกาแฟ หรือซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ ก็สามารถประยุกต์การให้บริการด้วยการเพิ่มเมนูอาหาร เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพสำหรับกลุ่มลูกค้าผู้สูงวัยให้เป็นทางเลือกใหม่ที่จะช่วยเพิ่มยอดขายได้

ในด้านธุรกิจท่องเที่ยวและ บันเทิง ผู้ประกอบการควรหันมาให้ความสำคัญกับการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อรอง รับกลุ่มนักท่องเที่ยวสูงวัย ในขณะที่กลุ่มธุรกิจก่อสร้างหรือนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ก็ควรเน้นการออกแบบ ให้สอดคล้องกับกายภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้สูงวัยให้มากยิ่งขึ้นไม่ว่า จะเป็นเครื่องใช้ไม้สอยภายในบ้านสุขภัณฑ์ภายในห้องน้ำห้องครัวสำหรับผู้สูง อายุปลั๊กไฟโคมไฟกระถางต้นไม้หรือแม้แต่เตียงนอนที่สามารถปรับระดับได้ เนื่องจากกลุ่มผู้สูงอายุมีข้อจำกัดด้านสรีระและความสามารถในการเคลื่อนไหว

ใน ยุคที่การสื่อสารเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตผู้สูงวัยในปัจจุบันนิยมใช้ สมาร์ทโฟนมากขึ้นการพัฒนาแอปพลิเคชั่นด้านบริการสุขภาพผ่านมือถือและแท็บ เลตอย่างที่โรงพยาบาลรามาธิบดีได้พัฒนาขึ้นในชื่อRamaAppointmentให้คนไข้ ใช้สำหรับการนัดหมายเพื่อพบแพทย์ได้ด้วยตนเองผ่านสมาร์ทโฟนและแท็บเลต ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จที่อาจทำให้ผู้ประกอบการสายไอทีเกิดแรง บันดาลใจที่จะพัฒนาแอปพลิเคชั่นอื่นๆเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้สูงอายุได้ เช่นเดียวกัน

ทั้งหมดที่ผมหยิบยกขึ้นมานี้คือตัวอย่างเล็กๆน้อยๆให้ท่านเกิดไอเดียในการสร้างธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ หรือบริการใหม่ ๆ เพื่อตอบรับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ตลาดผู้สูงอายุนับเป็นตลาดใหม่ที่มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก หากท่านสามารถพัฒนาออกมาเป็นสินค้าที่จับต้องได้และเหมาะกับผู้สูงวัย โอกาสคงไม่จำกัดอยู่แค่ในเมืองไทย แต่อาจไปถึงตลาดใหญ่ ๆ ระดับโลกก็ได้นะครับ


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : โอกาส ความท้าทาย ตลาดสังคมผู้สูงวัย

view