สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ข้อคิดและการป้องกันตามกฎหมาย

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ช่วยกันคิด โดย อนุรัญ โมรารัตน์ อัยการจังหวัด การบังคับคดี จ.สุราษฎร์ธานี

การฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือการทุจริตคอร์รัปชั่น ดูเหมือนเป็นปัญหาโลกแตกที่ยากต่อการแก้ไข และนับวันมีแต่จะทวีความเลวร้ายมากยิ่งขึ้น ครั้งหนึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย เคยกล่าวว่า "หากประเทศไทยปราศจากการทุจริตของนักการเมืองและข้าราชการแล้ว ป่านนี้ถนนทุกสายในประเทศไทยคงปูด้วยทองคำ" สะท้อนให้เห็นว่าการทุจริตได้ผลาญงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นภาษีของพี่น้องประชาชนไปเข้ากระเป๋าส่วนตัวของนักการเมือง ข้าราชการ และนักธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในแต่ละปีจำนวนมหาศาล จนส่งผลให้ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 76 ของโลก และเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคอาเซียน จากผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดคอร์รัปชั่นโลก (World CorruptionIndex) เมื่อปี พ.ศ. 2558

โดยข้อเท็จจริงแล้ว ปัญหาการทุจริตส่วนใหญ่มาจากการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Procurement Management) ทั้ง ๆที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ได้กำหนดวางแนวทางป้องกันการทุจริตที่ชัดเจนในหลาย ๆ วิธี ไม่ว่าจะเป็นวิธีตกลงราคา วิธีสอบราคา วิธีประกวดราคา วิธีพิเศษหรือวิธีประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยในแต่ละประเภทกำหนดขั้นตอนและวิธีปฏิบัติที่รัดกุม แต่ข่าวทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กลับถูกนำเสนอผ่านสื่อมวลชนแทบทุกวัน และเรามักจะมีคำถามเสมอว่า ทำไมถนนสายนี้เพิ่งราดยางใช้ได้ไม่ถึงสองเดือนก็ชำรุดแล้วทำไมอุปกรณ์สนาม กีฬาฟุตซอลถึงไม่ได้มาตรฐาน ทำไมการปรับปรุงห้องทำงานของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจึงมีราคาสูงถึง 16 ล้านบาท ทำไมราคาไมโครโฟนยี่ห้อที่รัฐจัดซื้อถึงแพงกว่าที่วางจำหน่ายทั่วไปในท้อง ตลาด ทำไมอาคารราชการหลังนี้จึงสร้างไม่ได้มาตรฐาน ทั้งที่ใช้งบประมาณในการก่อสร้างจำนวนมากทำไมสะพานข้ามถนนจึงมีเสาไฟฟ้าโผล่ มาขวางทางเดินตรวจรับงานกันได้อย่างไรทำไมถึงซื้อเครื่องมือตรวจวัตถุระเบิด ที่ไม่มีคุณภาพ และอีกสารพัดกรณีตัวอย่างที่ไม่มีวันแจกแจงได้หมด

ภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามหาหนทางป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม จนล่าสุด กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้จัดทำ "ร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ..." ขึ้นมา โดยกำหนดกรอบมาตรฐานกลางใช้เป็นแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุของภาครัฐ ซึ่งจะทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน (Single Procurement Standard)

โดยเน้นหลักการเรื่องของความคุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และสามารถตรวจสอบได้


ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีข้อดีหลายประการ เช่น มีคณะกรรมการกำกับราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการตามสาขาต่าง ๆ เพื่อกำหนดราคากลางและกำกับดูแลราคากลางให้เหมาะสม มีคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต และเพื่อประโยชน์ในการป้องกันการทุจริต โดยที่หน่วยงานของรัฐ อาจจัดให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ขั้นตอนหนึ่งขั้นตอนใดก็ได้ แต่จากการประมวลสถิติข้อมูลการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของหน่วยงานด้านการตรวจสอบที่ผ่านมา

พบข้อมูลเชิงประจักษ์ที่สำคัญอย่างมากนั่นคือการทุจริตจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อหน่วยงานภาครัฐ ผู้จ้าง และเอกชนผู้รับจ้างร่วมมือกัน หากมีผู้เข้าเสนอตัวหลายราย ก็จะมีการฮั้วแบ่งงานกัน เอกชนได้งาน ผู้บริหารหน่วยงานรัฐได้รับสินบนเป็นเปอร์เซ็นต์จากมูลค่างาน ซึ่งเป็นที่รู้กันโดยทั่วไป แต่ไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้ที่ร่วมกันทุจริตได้ เนื่องจากไม่มีใครร้องเรียน ไม่มีใครให้ข้อมูล และทุกคนที่เกี่ยวข้องต่างสมประโยชน์แล้ว

การทุจริตจึงเกิดขึ้นแทบทุกหน่วยงานภาครัฐ โดยมีรูปแบบและลักษณะพฤติการณ์ที่คล้าย ๆ กัน โดยข้อเท็จจริงแล้ว การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทุกประเภทต้องมีการทำสัญญา เมื่อทำงานเสร็จตามสัญญาและต้องส่งมอบงานเพื่อการเบิกเงินแล้ว กระบวนการตรวจรับงาน ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการป้องกันการทุจริต และให้ได้งานที่มีคุณภาพและคุ้มค่ากับงบประมาณที่จ่ายไป ในทางปฏิบัติแล้ว การป้องกันการทุจริตตั้งแต่ต้นทาง กระทำได้ยาก เพราะมีปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมหลาย ๆ อย่าง เช่น การสมยอมราคา ฮั้วประมูล ล็อบบี้ไม่ให้ผู้รับจ้างรายอื่นเข้าประกวดราคา การล็อกสเป็ก เป็นต้น ด้วยเหตุดังกล่าวจึงส่งผลทำให้ภาครัฐได้เข้าทำสัญญากับผู้รับงานหรือผู้รับเหมาที่เข้ามาเสนอตัวในวงจำกัด

ถึงแม้จะมีการจัดตั้ง คณะกรรมการกำหนดราคากลางตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยพัสดุ แต่ก็ยังไม่อาจป้องกันการทุจริตได้ (เต็มที่) ดังนั้น จึงควรจะต้องมีกระบวนการตรวจรับงานสองชั้น (Double Check) ชั้นแรก โดยคณะกรรมการตรวจรับงานปกติของหน่วยงาน และในชั้นที่สองให้มีการตรวจรับงานจ้างโดย คณะกรรมการตรวจรับงานกลาง
อีกชั้นหนึ่ง

โดยช่วงเริ่มต้นควรใช้กับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างตั้งแต่2 แสนบาทขึ้นไป ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจรับงานกลาง ต้องเป็นหน่วยงานส่วนกลางที่มีความเป็นอิสระ มีองค์ประกอบจากคณะกรรมการสภาวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญด้านนั้น ๆ องค์กรอิสระเกี่ยวกับการตรวจสอบ และกระทรวงการคลัง ควรมีหลายคณะและสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันทุกครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดการล็อกสเป็ก การให้สินบนตัวคณะกรรมการตรวจรับงานกลาง หรืออาศัยความสนิทสนมส่วนตัว

ทั้งนี้ การคัดสรรตัวผู้ที่จะเป็น คณะกรรมการตรวจรับงานกลาง ควรจะเลือกบุคคลซึ่งไม่ได้มีถิ่นที่หรือสถานที่ทำงานในเขตพื้นที่เดียวกับสถานที่ต้องทำการตรวจรับงาน เพื่อป้องกันการติดต่อ (ลับ ๆ) หรือเจรจาต๊ะอ่วยกันก่อนที่จะมาตรวจรับงาน

ขั้นตอนต่อมา คือ การจัดตั้งหน่วยงานรับแจ้งโครงการที่พร้อมรับการตรวจไว้ที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เพียงแห่งเดียวเท่านั้น และแจ้งให้คณะกรรมการตรวจรับงานกลางที่จะไปทำหน้าที่ตรวจรับงาน โดยคณะกรรมการตรวจรับงานแต่ละชุด จะต้องปกปิดเป็นความลับไม่เปิดเผยว่าเป็นใครบ้าง เพื่อปิดช่องทางหรือโอกาสการวิ่งเต้น คล้ายกับระบบการจ่ายสำนวนศาลอุทธรณ์ (ซึ่งไม่มีบุคคลใดทราบเลยว่าในแต่ละคดีจะมีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ท่านใดเป็นผู้พิจารณาสำนวน) ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีการแทรกแซงจากผู้บังคับบัญชา ผู้รับจ้างและฝ่ายการเมือง

การตรวจรับงานอย่างเคร่งครัดและมีมาตรฐานกลาง ถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในการป้องกันการทุจริต
เพราะฉะนั้นแล้ว กรณีเกิดปัญหามีการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์มาด้วยราคาแพงกว่าปกติหรือสูงเกินจริง มีการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์มาด้วยราคาถูกไม่ตรงตามสเป็กที่กำหนดไว้ในแบบสัญญาหรือใช้ของตรงตามสเป็ก แต่เป็นอุปกรณ์ที่ด้อยคุณภาพ เช่น ใช้ของเกรดบี หรือเกรดซี มาแทน หรือโครงการมีมูลค่าสูงแต่ส่งมอบงานด้วยคุณภาพที่ต่ำ

หากมีการตรวจรับงานที่ได้มาตรฐานเดียวกันทั่วทั้งประเทศโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน ย่อมสร้างหลักประกันได้ในระดับหนึ่ง ว่าการจัดซื้อจัดจ้างในแต่ละครั้งนั้นคุ้มค่ากับงบประมาณที่จ่ายไป ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจรับงานจ้างกลาง จะสามารถตรวจรับงานที่ได้มาตรฐานเดียวกันทั่วทั้งประเทศ และมีความชำนาญมากพอที่จะสามารถตรวจสอบด้วยความเคร่งครัด และทำให้ได้อุปกรณ์ตรวจตามที่กำหนดไว้ในแบบสัญญาได้ และหากการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าวไม่ผ่านมาตรฐานการตรวจรับงาน เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจรับงานย่อมมีสิทธิที่จะไม่อนุมัติการตรวจรับงานในครั้งนั้นได้

หากภาครัฐเน้นการป้องกันการทุจริตด้านการตรวจรับงานอย่างเข้มงวดจริงจังย่อมทำให้คู่สัญญากับภาครัฐ ไม่ว่าจะได้งานจัดซื้อจัดจ้างมาโดยวิธีใด เมื่อถึงกำหนดส่งมอบงานเพื่อเบิกเงินจากภาครัฐ ย่อมต้องมีความเกรงกลัว ว่างานของตนจะไม่ผ่านมาตรฐานการตรวจรับงาน จึงต้องทำงานให้เข้าเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อจะสามารถเบิกเงินจากภาครัฐได้

แต่ในทางกลับกัน หากส่งมอบงานไม่เป็นไปตามมาตรฐาน และไม่ยินยอมแก้ไขให้ถูกต้อง ก็จะกลายเป็นฝ่ายผิดสัญญาและอาจถูกภาครัฐฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ รวมทั้งถูกขึ้นบัญชีดำ ไม่ให้เข้าร่วมประมูลงานของภาครัฐอีกต่อไป ซึ่งทำให้การใช้จ่ายงบประมาณมีความคุ้มค่ามากขึ้น และป้องกันการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แม้ว่าร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภา จะไม่ให้กำหนดเรื่องหน่วยงานตรวจรับงานกลางไว้ แต่การกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐมาตรา 17 มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 22 ที่จะเสนอแนะนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุต่อคณะรัฐมนตรี รวมถึงเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ต่อคณะรัฐมนตรีในการตรวจตราพระราชกฤษฎีกาและการออกกฎกระทรวง

คณะกรรมการชุดนี้ จึงจะเป็นความหวังของสังคมไทย ที่ต้องการเห็นมาตรการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพมากที่สุด ท้ายที่สุดนี้ การป้องกันการทุจริตที่กล่าวมาข้างต้น ยากจะสัมฤทธิผลได้ ตราบใดที่ประชาชนยังไม่ตระหนัก ว่างบประมาณเหล่านั้นคือเงินภาษีของพวกเราทุกคน ที่จะต้องร่วมกันช่วยสอดส่องดูแล เพื่อให้ภาครัฐใช้เงินภาษีของพวกเราอย่างคุ้มค่า


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ทุจริต การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ข้อคิดและการป้องกันตามกฎหมาย

view