สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Britain Exit กับการท่องเที่ยวไทย

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ช่วยกันคิด โดย ดร.ปภาภรณ์ ชุณหชัชราชัย ดร.พิชัย ชลวิหารพันธ์

ตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาหลาย ๆ คนคงได้ยินแต่ข่าวเรื่องBrexit โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสพูดคุยกับเพื่อนอาจารย์ และได้ยินเสียงสะท้อนว่านักศึกษาบางกลุ่มยังไม่ทราบถึงว่า Brexit คืออะไร ? วันนี้จึงอยากจะเล่าเรื่อง Brexit แบบเบา ๆ เป็นประเด็นสบาย ๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับคนไทยในด้าน ธุรกิจการท่องเที่ยว

หากถามว่า Brexit คืออะไร ?


คำตอบคือ Brexit มาจากคำว่า Britain กับ Exit โดยเป็นคำถามจากชาวอังกฤษส่วนหนึ่ง ว่าอังกฤษได้ประโยชน์คุ้มค่าจากการจ่ายงบประมาณสนับสนุนให้กับ EU หรือไม่ นอกจากนี้ยังมีเรื่องค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการแก่ผู้ลี้ภัยที่เข้ามาอยู่ในอังกฤษ ตามข้อผูกพันที่มีต่อ EU ดังนั้น จึงมีแนวคิดในการออกจากการเป็นสมาชิก EU ของชาวอังกฤษ และมีการบัญญัติเป็นคำศัพท์ว่า Brexit นั่นเอง

แล้วที่มาของการโหวตออกจาก EU เกิดขึ้นได้อย่างไร


เนื่องจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปีที่แล้ว พรรคการเมืองคู่แข่งขันกับพรรคอนุรักษนิยมของ นายเดวิด คาเมรอน (อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ) ได้เสนอประเด็นการแยกตัวของอังกฤษออกจาก EU จนทำให้นายเดวิด คาเมรอน ให้สัญญา หากเขาชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ เขาจะให้มีการลงประชามติในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ อังกฤษก็มีการเข้าเจรจากับคณะกรรมาธิการ EU เพื่อขอผ่อนปรนเงื่อนไขที่อังกฤษจะไม่เปลี่ยนมาใช้สกุลเงินยูโร และอังกฤษขอลดเงินอุดหนุนใช้จ่ายด้านสวัสดิการค่าใช้จ่ายของผู้ลี้ภัยใน EU เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ชาวอังกฤษลงประชามติให้ประเทศอังกฤษอยู่ในกลุ่ม EU ต่อไป

ผลการโหวต Brexit ปรากฏว่า


จากผลการลงประชามติ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าเสียงข้างมากต้องการให้อังกฤษออกจาก EU โดยพบว่าผู้ออกเสียง 17,410,742 คนหรือร้อยละ 51.9 ออกเสียงให้ออกจาก EU ในขณะที่ผู้ออกเสียงจำนวน 16,141,241 คน หรือร้อยละ 48.1 ไม่ต้องการให้อังกฤษออกจาก EU นอกจากนี้มีจำนวน 26,033 คน ไม่ได้ออกเสียง

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าผลการลงประชามติต้องการให้อังกฤษออกจาก EU แต่ยังไม่สามารถออกได้ทันที เนื่องจากมาตรา 50 ภายใต้สนธิสัญญากรุงลิสบอน กำหนดให้อังกฤษมีเวลา 2 ปี (หรืออาจจะนานกว่านั้น เนื่องจากมาตรา 50 นี้ไม่เคยถูกใช้มาก่อน) ในการเจรจาเรื่องการค้า การลงทุน การเดินทาง และอื่น ๆ ระหว่างอังกฤษกับประเทศสมาชิก EU อื่น ๆ

สิ่งที่อังกฤษได้ประโยชน์และสูญเสียประโยชน์จากการเป็นสมาชิก EU

ปัจจุบันจากการเป็นสมาชิก EU ของอังกฤษนั้น อังกฤษสามารถลดต้นทุนทางการค้ากับประเทศสมาชิกอื่น ๆ ใน EU ดังนั้น การออกจาก EU ของอังกฤษจะเป็นการเพิ่มต้นทุนทางการค้า โดยอังกฤษจะไม่ได้รับสิทธิอัตราภาษีที่ต่ำ และสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ด้านภาษีจากสหภาพยุโรป

นอกจากนี้ การเดินทางเข้าไปทำงานใน EU ของชาวอังกฤษ จะได้รับผลกระทบจากการออกจาก EU คือชาวอังกฤษที่มีทักษะชั้นสูงที่ต้องการเข้าไปทำงานในลักษณะของ "Non EU Citizens" จะต้องสมัคร Blue Card ซึ่งกลายเป็นการเพิ่มขั้นตอนการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี ซึ่งการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการค้าและขั้นตอนการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี จะส่งผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของอังกฤษและรายได้ครัวเรือนของชาวอังกฤษที่หดตัวลง

อีกอย่างก็คือค่าเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลงหลังจากการลงประชามติให้อังกฤษออกจากEU โดยอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับเงินยูโรและดอลลาร์

ผลกระทบที่ตามมาต่อด้านการท่องเที่ยวและอาจส่งผลถึงการท่องเที่ยวไทย


จาก"ค่าเงินปอนด์"ที่อ่อนค่าลง ส่งผลต่อ "ต้นทุน" ของนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ โดยทำให้แลกเปลี่ยนเงินสกุลต่างชาติยูโร ดอลลาร์ หรือบาทได้น้อยลง ก่อให้เกิดต้นทุนการท่องเที่ยวที่สูงขึ้น ทั้งค่าที่พัก ตั๋วเครื่องบิน และอาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษมาพักที่เมืองไทยลดลง

การท่องเที่ยวไทยของชาวอังกฤษในช่วงปี 2558 (ช่วงมกราคม-พฤษภาคม) มีนักท่องเที่ยวอังกฤษเข้ามาท่องเที่ยวที่เมืองไทยประมาณ 397,000 คน สร้างรายได้เข้าประเทศไทยประมาณ 27,000 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 8 เป็นรองแค่ประเทศในกลุ่มยูโร ได้แก่ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ และชาวอังกฤษมีค่าใช้จ่ายสูงถึงประมาณ 70,000 บาท/คน/ทริป

บทวิเคราะห์


จากสถิติที่ผ่านมา พบว่านักท่องเที่ยวอังกฤษส่วนใหญ่จะใช้เวลาท่องเที่ยวอย่างน้อย 10-14 วัน โดยชาวอังกฤษวางแผนใช้จ่ายในการท่องเที่ยวแต่ละครั้ง 2,081 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 60,000-70,000 บาท ชาวอังกฤษจะเป็นนักท่องเที่ยวที่ยินดีจ่ายเงินเพิ่มขึ้น สำหรับการรับประทานอาหารมากที่สุด รองลงมาคือเรื่องการสัมผัสวัฒนธรรมที่แตกต่าง และสถานที่ที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย เช่น การท่องเที่ยวทางทะเล และวัดวาอาราม เป็นต้น

ส่วนการใช้บริการโรงแรมนั้น นิยมใช้บริการโรงแรมระดับ 4 ดาวที่สุด แต่เนื่องจากผลกระทบของ Brexit ที่ส่งผลต่อค่าเงินปอนด์ที่ลดลง อาจมีความเป็นไปได้ที่จะส่งผลให้การตัดสินใจของนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษในการเดินทางออกนอกประเทศลดลง และหันกลับไปท่องเที่ยวในประเทศอังกฤษแทน


ดังนั้น หากธุรกิจท่องเที่ยวจะตั้งรับต่อผลกระทบของ Brexit นั้น การวางแผนการตลาดท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษยังคงอยากมาเที่ยวเมืองไทยนั้น ควรจะต้องเพิ่มแรงจูงใจสำคัญมากขึ้น อาทิ การโปรโมตสถานที่แปลกใหม่ หรือแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ ที่จะพบได้ต้องมาเมืองไทยเท่านั้น หรือการวางกลยุทธ์สร้างความแตกต่างให้ผลิตภัณฑ์ (Product Differentiation Strategy) นั่นเอง

ซึ่งกลยุทธ์นี้คงไม่เพียงแต่ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษเพียงชาติเดียว แต่อาจรวมถึงหลาย ๆ ประเทศ อาทิ นักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลีย และหลาย ๆ ชาติในยุโรป ที่มีสไตล์การเลือกสถานที่ท่องเที่ยวที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : Britain Exit การท่องเที่ยวไทย

view