สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

QueQ Startup ที่ฆ่าการรอคิว

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ Thai Startup Cafe โดย พงศ์พีระ ชวาลาธวัช www.facebook.com/thaistartupcafe

ผมเขียนคอลัมน์ Thai Start Cafe มาได้สักพัก มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความรู้กับคนทำ Startup มากหน้าหลายตาก็เริ่มมีความเห็น ว่าความรู้ของผมหลาย ๆ อย่าง เริ่มจะไม่เซ็กซี่แล้ว ผมจึงดำริโครงการที่จะออกไปสัมภาษณ์ Startup ที่มีความน่าสนใจ และจะนำเรื่องและเทคนิคการทำ Startup ของคนเหล่านั้นมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องราวสดใหม่กว่าฟังจากคอลัมนิสต์คนเดียวแน่นอน ถ้ามี Startup คนไหนใจกล้า อยากขึ้นเขียงสัมภาษณ์กับผม กระซิบผ่านเฟซบุ๊กเพจผมได้นะครับ

วันนี้ผมขอนำเสนอ Startup รายหนึ่ง ผู้ซึ่งเป็นทั้งรุ่นพี่ที่สวนกุหลาบ เป็นทั้งพี่ใหญ่คนหนึ่งในวงการ Startup ผู้ซึ่งไต่ขึ้นมาจากการสร้างผลงานที่แก้ปัญหาในการ "รอคิว" ได้อย่างแท้จริง และเป็น Startup ที่มีอนาคตมาก ผมเชื่อเหลือเกินว่าเวลาเราเดินเข้าห้าง เราต้องได้เห็นชื่อ Startup ของเขาแน่นอน คนคนนั้นคือ "โจ้-รังสรรค์ พรหมประสิทธิ์" CEO ของบริษัท YMMY และ Master Chef แห่ง QueQ App ฆ่าคิว ที่เราคุ้นตาตามหน้าร้านอาหารในห้างนั่นเอ



การนัดหมายพูดคุยกันนั้น ผมยิงคำถามเริ่มต้น "QueQ คืออะไร และสามารถทำอะไร หรือทำงานยังไงบ้าง ?"

คำตอบจาก รังสรรค์ พรหมประสิทธิ์ บอกว่าเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการเข้าคิว ที่จริง ๆ แล้วมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนเมืองมาเนิ่นนาน ระบบ Queing System แบบเก่าพยายามจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกดบัตรคิว บางทีมีแบบที่เรียกว่า Pager เป็นตัวเล็ก ๆ ที่เกิดอาการสั่นเมื่อตอนถึงคิวของเรา แต่ช่องทางนั้นตอบโจทย์แค่การทำงานของฝั่งร้านค้าเท่านั้นเอง ขณะที่ฝั่งลูกค้าเกิดคำถาม "ทำไมเราต้องไปรอหน้าร้าน" "ทำไมเราต้องยืนรอคิว" ฝั่งลูกค้ายังมีความรู้สึกตรงนี้อยู่ จึงทำให้เกิดหลาย ๆ Solution ที่พยายามจะแก้ปัญหาต่อไปอีก ไม่ว่าการใช้ sms การโทร. หรือ ivr callout ซึ่งใช้ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง ไม่เหมาะกับบางร้านบ้าง เป็นต้น

ความคิดพยายามแก้ปัญหาเรื่องคิวดังที่กล่าว ทำให้กลายเป็นบริการ QueQ - No more queue line -- ระบบการจองคิวแบบใหม่ผ่าน Mobile Application จองได้ไม่ต้องไปหน้าร้าน จองเสร็จเดินเล่น

ชิล ๆ ไม่ต้องกลัวพลาดคิว ระบบจะแจ้งเตือนเมื่อใกล้ถึงคิวของคุณโดยอัตโนมัติ


สิ่งที่คุณ รังสรรค์อธิบายต่อเกี่ยวกับวันแรกที่เกิดไอเดียคิดจะทำQueQเป็นสภาพที่ต้อง ไปรอคิวที่ธนาคารแห่งหนึ่งซึ่งวันนั้นเป็นวันก่อนปีใหม่พอดีและในวันรุ่ง ขึ้น ผู้คนทั้งหลายจะแห่แหนเดินทางออกต่างจังหวัด ธนาคารจึงมีคนแน่นเป็นพิเศษ ทำให้ต้องรอคิวนานถึงสองชั่วโมงเต็ม ที่ทรมานสุด ๆ คือต้องรอคิวด้านนอกเข้าไปในธนาคารไม่ได้ ทุกคนอารมณ์เสียเดินไปเดินมาอยู่หน้าธนาคาร เพราะไปไหนไม่ได้

เมื่อเกิดไอเดียแล้ว สิ่งที่ตามมาคือส่วนของ Business Model ของ QueQ ที่ทำให้ QueQ เติบโตขึ้นมาได้ถึง 10 เท่าภายในระยะเวลาสั้น ๆ มาจากคำ ๆ เดียว คือ "โดน" แต่กว่าจะโดนได้ต้องใช้เวลาพักใหญ่ ระบบของ QueQ ไม่ได้มีแค่แอป แล้วจบเลย แต่มีระบบที่เข้าไปช่วยให้ระบบการจัดการที่ร้านทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย ส่วนการเลือกตลาดของ QueQ ได้เลือกตลาดแรกเป็น "ร้านอาหาร" เพราะเห็นว่าคนใช้งานร้านอาหารถี่กว่าการไปธนาคาร คนไปใช้บริการธนาคารไม่กี่ครั้งต่อเดือน แต่ร้านอาหารคนไปทุกสัปดาห์ และยังเจาะจงลงไปอีกว่ากลุ่มที่เข้าต้องเป็น Top Chain Restaurant และต้องอยู่ในห้างด้วย ซึ่งทำให้คนไปเดินเล่นได้ระหว่างรอคิว และเลือกทำเฉพาะในกรุงเทพฯก่อน จะได้ควบคุมคุณภาพได้

QueQ ของรังสรรค์กว่าจะให้สำเร็จโดนใจร้านอาหารได้ ต้องใช้เวลาถึงหกเดือนเศษ !! กับการทดลองและปรับปรุงที่สาขาแรกของชาบูชิ เซ็นทรัลลาดพร้าว ต้องใกล้ชิดคลุกคลีถึงขนาดไปช่วยทางร้านเสิร์ฟอาหาร และรับคิวลูกค้า เพื่อให้รู้ถึงวิธีการทำงานและจุดที่จะเข้าไปเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการคิว จนได้ช่องทางที่ถูกใจร้านอาหารในที่สุด จากนั้นจึงขยายจำนวนร้านที่ใช้ QueQ ได้อย่างรวดเร็ว ครอบคลุมในทุกห้างใน กทม. อย่างทุกวันนี้

แต่ยังไม่หมดปัญหาง่าย ๆ ยังมีอีก "โดน" ที่ทำให้ยังต้องทำงานหนักคือทำยังไงให้ "โดนใจ" ฝั่งผู้ใช้งานด้วย ซึ่งทีมงานต้องใช้ความพยายามในการทำงานกันอย่างหนัก เพราะไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของ UX/UI, Branding, PR, การตลาด และอื่น ๆ อีกสารพัด ซึ่งถือว่าเริ่มต้นได้ดีกับกลุ่มผู้ใช้งาน 2 แสนรายในวันนี้ เมื่อเทียบจาก 2 หมื่นรายเมื่อปีที่แล้ว อีกทั้งยอดการใช้งานผ่านทางแอปต่อเดือน ไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นครั้งเลยทีเดียว

ผมถามเขาอีกว่าตอนนี้ QueQ มองว่าตัวเองอยู่ในตลาดอะไร ซึ่งคุณรังสรรค์ก็ตอบทันทีว่า QueQ model เป็นแบบ 2 side market หรือ B2B2C รายได้หลักมาจากฝั่งร้านค้า แต่กลุ่มเป้าหมายการใช้บริการคือลูกค้าของร้านค้า สรุปคือทำบริการให้ลูกค้าของลูกค้าเรา ซึ่งไม่ใช่ตลาดแบบตรง ๆ หรือระบบการจัดการคิวแบบเดิม ๆ ที่ทำกันมา แต่เป็นแค่บันไดก้าวแรกเท่านั้น ยังมีอีกหลายขั้นที่พยายามก้าวต่อไป

สำหรับ QueQ แล้ว ข้อได้เปรียบที่เหนือกว่าคู่แข่งนั้น ถ้ามองคู่แข่งจากตลาดดั้งเดิม จะได้เปรียบจากการนำเสนอบริการที่เข้าไปแก้ปัญหาทั้งสองฝั่ง คือฝั่งร้าน และผู้ใช้ ที่ระบบดั้งเดิมแก้ไม่ได้ แต่ถ้า มองจากคู่แข่งที่พยายามนำเสนอการแก้ปัญหาแบบใกล้เคียงกัน จะได้เปรียบจาก "แบรนด์" ที่สร้างความน่าเชื่อถือ ระบบที่เสถียร และจำนวนของร้านค้าที่สามารถใช้บริการ

แต่นี่เฉพาะในกรุงเทพฯ เท่านั้น ยังมีภารกิจอีกมากในการขยายตลาดไปยังจังหวัดอื่น ๆ และในต่างประเทศ ซึ่งพยายามสร้างข้อได้เปรียบจากกลุ่มคู่ค้าทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ เพื่อรองรับการขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว

กลุ่มร้านอาหาร Chain ในไทย ที่มีร้านมากกว่า 10 ร้านขึ้นไป ใช้บริการ QueQ แล้วประมาณ 40% อยู่ในช่วงทดสอบระบบอีกประมาณ 30% และอีก 10% อยู่ในช่วงเจรจาต่อรอง แต่ถ้านับเฉพาะร้านที่ใช้บริการระบบคิวแบบใหม่ ส่วนแบ่งทางการตลาดของ QueQ มีถึง 95 เปอร์เซ็นต์ และจำนวน User หรือ ผู้ใช้บริการของสูงกว่าคู่แข่งในตลาดถึง 10 เท่า และระยะห่างยิ่งมากขึ้นทุก ๆ วัน

ส่วนในอนาคตอีก 3 ปีข้างหน้า ซีอีโอ QueQ ถือว่าเริ่มต้นได้ดีแล้ว แต่ยังต้องเดินกันอีกไกล ภารกิจคือการขยายบริการออกไปยังตลาดเป้าหมายต่อไปในจังหวัดอื่นที่เป็นจังหวัดใหญ่ ๆ อาจจะได้ใช้บริการ QueQ กันในไม่ช้า รวมทั้งในต่างประเทศ ซึ่งเวลานี้เริ่มเดินเครื่องแล้ว โดยขยายการบริการไปยังภาคธนาคารที่หลายคนอาจเห็นกันบ้างแล้ว

ภารกิจที่เป็นเป้าหมายใหญ่กว่านั้นเป็นการเปลี่ยนConceptของการเข้าคิวให้เป็นแบบ QueQ ไปเลย และครอบคลุมไปถึงต่างประเทศ มีเริ่มบ้างแล้วที่อินโดนีเซีย ตามด้วยมาเลเซีย และอีกหลายประเทศ เร็ว ๆ นี้ โดยการจับมือกับคู่ค้าทางธุรกิจคนสำคัญจากไต้หวัน คือบริษัท Advantech ที่จะช่วยให้การยึดพื้นที่ของบริการเป็นไปอย่างรวดเร็ว และยังช่วยในเรื่องความเข้าใจพฤติกรรมผู้ใช้งานในแต่ละพื้นที่ การตลาด และประชาสัมพันธ์อีกด้วย

ที่น่าสนใจ คือไม่จำกัดเฉพาะเรื่องการแก้ปัญหาการรอคิวเท่านั้น แต่ยังขยับไปเรื่องอื่น ๆ ทั้งเรื่อง O2O (Online to Offline), Payment และ Big Data อีกด้วย แต่ทั้งนี้ ยังคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ใช้งานเป็นอันดับแรก ดังนั้นหากให้พูดถึงอนาคต สิ่งที่คุณรังสรรค์ฝันไว้ คืออยากจะมี QueQ บริการจากประเทศไทยไปปักธงบนประเทศที่การเข้าคิวคือวัฒนธรรมอย่างประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเขาว่าคงเจ๋งน่าดู

มาถึงท้ายสุดของการสัมภาษณ์ พี่โจ้-รังสรรค์ ขออนุญาตกล่าวขอบคุณทีมงาน QueQ ทุกคน ที่ได้ร่วมหัวจมท้ายมาด้วยกัน เริ่มจากการทำโปรเจ็กต์พิเศษในวันเสาร์ที่ไม่มีใครได้ OT สักบาทสักคน ทั้ง ๆ ที่งาน Project ของแต่ละคนล้นมืออยู่แล้ว, ทีมสตาฟที่ไปช่วยเป็นพนักงานเสิร์ฟอยู่หน้าร้านหลายเดือน, หน่วย S.E.A.L ที่รับภาระหนักสุดในการดูแลบริการ ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไร ติดตั้งที่ไหน ดึกแค่ไหนก็ไม่บ่น, ทีม Thinks ที่ทำทุกเรื่องที่เกี่ยวกับแบรนด์, คุณสตีเว่น กัลยาณมิตร ที่คอยให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาในทุกเรื่อง และขอบคุณทุก ๆ ส่วนทุก ๆ คน ที่พา QueQ เติบโตมาได้จนถึงทุกวันนี้ แม้จะอยู่ท่ามกลางความเคลือบแคลงของคนในวงการหลายคนในช่วงต้น

ส่วนหนึ่งที่ไม่ใช่ทีมงาน แต่ถ้าไม่มีคนเหล่านี้ ก็ไม่สามารถมาถึงจุดนี้ได้ ได้แก่ AIS The Startup, บริษัท Advantech และ SI company ในประเทศต่าง ๆ, คุณกระทิง พูนผล และผองเพื่อนจาก Disrupt University, Techsauce และ Hubba, สวทช NIA และ Software Park, Line Thailand, ยังมี Mentor และ Advisor ผู้ไม่ประสงค์ออกนามและอยู่เบื้องหลัง

แล้วมาถึงตัวพี่โจ้-รังสรรค์ เองที่บอกว่า "ก่อนที่คิดจะลงมือทำ Startup อย่าไปคิดว่ามันเท่ นิยามที่พี่กระทิงให้ไว้กับเหล่าสตาร์ตอัพ ก็คือ..."งานควาย รายได้ไม่ดี แต่ (โคตร)มีอนาคต..." เพราะฉะนั้นถ้าไม่ถึก ไม่อดทน และทนอดได้ คิดใหม่ก่อนจะมาทำครับ"

แต่ถ้าคิดจะมาทำ StartUp แน่แล้ว ท่องวลีนี้ที่พี่กระทิงให้กับนักเรียน Disrupt U ทุกคนตั้งแต่นาทีแรกที่เจอกัน "Dream High, Fight Hard and Never Give up" โดยเฉพาะคำสุดท้ายพวกเราใช้กันบ่อยมาก

สำหรับผมเอง สิ่งที่อยากฝากไว้ส่วนตัวคือผมเห็นน้อง ๆ รุ่นใหม่มีไอเดียแล้วสนใจแค่ตลาดบ้านเรา ไม่คิดไกลไปถึงการขยายไปยังตลาดต่างชาติ ซึ่งต่างกับสิ่งที่ต่างประเทศปลูกฝังให้ Startup รุ่นใหม่คิดกันตั้งแต่ตอนเริ่มต้น ทั้งที่อะไรหลายอย่างในบ้านเขาสู้บ้านเราไม่ได้เลย จึงทำให้นักลงทุนสนใจมากกว่าบ้านเรา โดยนักลงทุนเลือกเอาเงินไปลงกับ Startup ต่างชาติที่เป็นคู่แข่งกับเราเพื่อมาตีตลาดบ้านเรา แย่งชิงส่วนแบ่ง และครอบครองตลาดให้ได้ด้วยแท็กติกหลายอย่าง สุดท้าย Startup สัญชาติไทยแท้ อาจล้มหายตายจากไปก่อนจะมีฟองสบู่ฟองแรกแตกซะอีก

อันนี้คือความน่ากลัวของจริงครับ


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : QueQ Startup ฆ่าการรอคิว

view