สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พลวัตมนุษย์เงินเดือน

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์สามัญสำนึก โดย ชลาทิพย์ ถิรสุนทรากุล

ในโลกการทำงานปัจจุบันที่ เริ่มเห็นคนรุ่นใหม่ยุคสหัสวรรษ หรือมิลเลนเนียลทยอยเข้ามาเป็นแรงงานในระบบ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ได้ยินประจำเกี่ยวกับช่องว่างระหว่างเจเนอเรชั่นมนุษย์ ทำงานที่มียุคสมัย มีวัย และ "ค่านิยม" ที่ยึดถือต่างกัน

แนวคิดจำพวกปรับตัว จูนเข้าหาของคนแต่ละยุคสมัยมีมาให้อ่านกันตาลายทำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ไม่ว่าสถานที่ทำงานหลายแห่งจะปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานกลุ่มใหม่นี้อย่างไร

อย่างไรซะปัญหาระหว่างเจเนอเรชั่นย่อมมีอยู่แบบ "เป็นไปตามธรรมชาติ" ของพลวัตสังคมมนุษย์ทำงาน และนับวันยิ่งเวลาผ่านไป เรายิ่งพบปัญหาความไม่สมดุลในระบบแรงงานอยู่ดี


นอกจากสัดส่วนสังคมผู้สูงอายุที่มีมากกว่าแล้ว ยังหมายรวมถึงค่านิยมที่ต่างกันของคนยุคใหม่ต่อมุมมองการทำงานในทุกวันนี้

คนรุ่นใหม่หลายคนไม่ได้ให้ความหมายและคุณค่าการทำงานในแบบคนรุ่นก่อน ปัจจุบันเด็กจบใหม่มาด้วยแนวคิดและสไตล์การทำงานที่มุ่งตอบโจทย์ตัวเองมากกว่า นั่นทำให้การปรับเปลี่ยนโยกย้ายงานเป็นเรื่องปกติ

เมื่อแนวคิดคนทำงานเปลี่ยนแปลงไป ผลคือบางสายงานต้องเผชิญสภาวะ "ขาดแคลน" บุคลากรที่เป็นทักษะหรือความเชี่ยวชาญบางด้าน เพราะงานเหล่านี้หลายครั้งไม่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ แม้กระทั่งงานรูทีนบางอย่างที่คนรุ่นใหม่ปฏิเสธที่จะทำ

นี่เป็นหนึ่งในความไม่สมดุลในระบบแรงงาน

ด้านหนึ่งที่มีการผลักดันให้จ้างผู้สูงอายุ หรือบุคคลที่เกษียณเกินวัย 60 ปีไปแล้ว แต่ยังมีศักยภาพสามารถทำงานได้ กลับมาทำงานในระบบ

ขณะที่งานบางอย่างไม่เป็นที่สนใจของคนรุ่นใหม่แล้ว เช่น ทำงานประจำกำหนดเวลาตายตัว แบบ "9 ถึง 5" หรือ 09.00-17.00 น. ว่าเป็นเรื่อง "ล้าสมัย"

หลายบริษัทปรับตัวเรื่องการยืดหยุ่นเวลางานมากขึ้นเพื่อให้พนักงานสบายใจและหวังผลิตผลทางการงานให้เกิดขึ้น เพราะมีรายงานหลายชิ้นที่ชี้ว่า การลดชั่วโมงการทำงานลงสามารถเพิ่มประสิทธิผลของการทำงานได้จริง

ผลสำรวจ PwC ร้อยละ 63 มองการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน คือการหมดเวลาในงานเอกสารทั่วไป และ 68% คาดหวังที่จะทำงานนอกออฟฟิศได้ในบางวัน

การยืดหยุ่นเพื่อให้พนักงานบริหารเวลาตัวเองได้อิสระบ้าง บนฐานความรับผิดชอบ จึงถือเป็นการเปิดโอกาสที่ดี

วันนี้แนวคิดจำพวก Work Life Balance การรักษาสมดุลชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัวของมนุษย์ทำงานแพร่กระจายไปทั่วสังคมชาวออฟฟิศ

ผนวกกับโซเชียลมีเดียที่เป็นตัวเร่งเร้าจนทำให้คนรุ่นใหม่บางคนยึดถือเอาตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตทำงาน

แต่ข้อเท็จจริงคือ คำนิยาม Work Life Balance แบบรูปธรรม เขาใช้พูดกับมนุษย์ "บ้างาน" หรือหมกหมุ่นกับการทำงานหนักแบบสุดโต่ง เช่นคนอย่าง "สตีฟ จ็อบส์" ที่รู้กันว่าหลงใหลกับการทำงานจนขาดการสร้างสมดุลให้ชีวิตส่วนตัวและครอบครัว

แต่เมื่อปัจจุบันคำนี้ถูกตีความมาเป็นคำนิยามกับมนุษย์ทำงานทั่วไป...จึงดูลักลั่นไปบ้าง

ตลาดแรงงานในบางทักษะวิชาชีพต้องการบุคลากรที่ต้องใช้เวลาอดทน เรียนรู้ บ่มเพาะทักษะให้ตัวเอง บางอาชีพต้องการมนุษย์ทำงานที่มีความสม่ำเสมอและทุ่มเท แต่พอนิยาม Work Life Balance แพร่กระจายไปในทัศนคติแบบไม่ถ่องแท้ ทำให้บางคนถวิลหารูปแบบดังกล่าวจนดูฉาบฉวย

เวลาใครพูดถึงความสุขแบบ Work Life Balance จึงต้องดูให้ดี บางคนผ่านการถูกขับเคี่ยวหรือทำงานแบบ Tradition มาก่อนจะเข้าสู่จุดสมดุล

ได้ฟังเรื่องเล่า Work Life Balance แบบนี้จึงมีทั้งความหวังและพลังใจ มากกว่ากลุ่ม Work Life Balance ผิวเผินที่พยายามขายแนวคิดฉาบฉวยผ่านเรื่องเล่าในโซเชียลมีเดีย กลายเป็นสุขนิยมที่อ่อนประสบการณ์


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พลวัตมนุษย์เงินเดือน

view