สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แบงก์ชาติชงคลังแก้ พ.ร.บ. ธปท. สร้างกลไกกฎหมาย อุดความเสี่ยงแบงก์ล้ม

จากประชาชาติธุรกิจ

ธปท. ชงคลังแก้ พ.ร.บ. ธปท. มาตรา 19 อุดความเสี่ยงแบงก์ล้ม เตรียมความพร้อม สร้างมาตรฐานแบงก์ไทยเทียบชั้นระดับโลก ลดภาระงบประมาณรัฐหาเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟู

    นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ธปท.ได้ส่งผ่านคำร้องไปยังกระทรวงการคลังเพื่อให้พิจารณาเสนอเรื่องเข้าที่ ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ในมาตรา 19 เพื่อเตรียมการไว้หากเกิดปัญหาเชิงระบบสถาบันการเงิน จะได้สามารถเข้าไปช่วยเหลือแก้ปัญหาสภาพคล่องและเข้าไปดูแล เมื่อเกิดวิกฤตในสถาบันการเงิน
    
    ด้วยเหตุนี้ ธปท.จึงต้องหาวิธีอุดช่องโหว่ที่ดีที่สุด ผ่านกลไกของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือ กองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่ง ธปท. ได้เพิ่มเติมเงื่อนไข 2-3 ประเด็น ได้แก่ รูปแบบการให้ความช่วยเหลือที่จะมีเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม เช่น ตั้งสถาบันการเงิน เพื่อช่วยคัดแยกหนี้ดีกับหนี้เสียออกจากกัน เพื่อให้ขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือธนาคารเร็วขึ้น

     รวมทั้งกำหนดให้ผู้ถือตราสารหนี้ (บอนด์) ของธนาคารมีความรับผิดชอบกับภาระที่เกิดขึ้นในระบบสถาบันการเงิน และจะต้องมีกลไกสถาบันการเงิน ระบบสถาบันการเงิน เพื่อรับผิดชอบต้นทุนการใช้จ่ายในการแก้วิกฤตสถาบันการเงิน   

    ส่วนเรื่องการแก้ไขปรับปรุงเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบ สถาบันการเงินฯ นายวิรไท กล่าวว่า เนื่องจากที่ผ่านมามีบางส่วนใช้งบประมาณจากรัฐบาล ดังนั้นในกฏเกณฑ์ใหม่อาจเปลี่ยนให้สถาบันการเงินจะต้องจ่ายเงินบางส่วนเพิ่ม จากกฎหมายเดิมที่กำหนดให้เป็นภาระของภาครัฐ
  
    "สิ่งที่เราทำ ก็เพื่อปิดช่องโหว่ที่อาจเกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าจะมีความเสี่ยงเกิดขึ้นจึงทำให้เราต้องแก้ไขกฎหมาย แต่เราต้องการต่อจิ๊กซอร์ต่างๆ ให้ครบถ้วนเพื่อดูแลเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ประกอบกับ ธปท. เองมีแผนที่จะให้ระบบสถาบันการเงินไทยเข้าสู่การประเมินที่เป็นมาตรฐานของ กลไกการดูแลระบบสถาบันการเงินของประเทศในระดับชั้นนำของโลก ซึ่งประเทศไทยเคยมีการทดสอบแบบนี้ครั้งล่าสุดเมื่อ 10 ปี ที่แล้ว” นายวิรไทกล่าว

    โดยเมื่อปี 2551-2552 หลังเกิดวิกฤตการเงินในสหรัฐอเมริกาและยุโรป และส่งผลกระทบไปทั่วโลกนั้น การมีข้อกฎหมายในมาตรการ 19 ของ พ.ร.บ. ธปท. ได้ช่วยดูแลในเวลาที่เกิดปัญหาต่อระบบสถาบันการเงินใดสถาบันการเงินหนึ่ง


     ส่วนการแก้กฎหมายครั้งนี้จะเป็นการทำให้มีความครบถ้วนมากขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับกระบวนการออกกฎหมาย อีกด้านก็เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่การประเมินภาคการเงิน หรือ เอฟแซพ (FSAP : Finacial Sector Assesment Program) ในปี 2561

    "ย้ำว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นภายในวันนี้ และไม่ต้องการให้มีการสื่อสารออกไปว่า ธปท. จะเรียกค่าธรรมเนียมเงินนำส่งเข้ากองทุนจากสถาบันการเงินเพิ่ม แต่การทำเรื่องนี้ ก็เพื่อหากมีปัญหาด้านวิกฤตสถาบันการเงินในอนาคต ธปท.จะต้องมีกลไกดูแลและมีความพร้อมตามมาตรฐานสากล แม้ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็น แต่ทำเพื่อรองรับไว้สำหรับอนาคต ซึ่งการแก้กฏหมายนี้ก็คล้ายกับเรื่องเสถียรภาพระบบการเงิน ที่เราย้ำว่า ต้องจับควันให้ไว ดับไฟให้ทัน ป้องกันอย่าให้ลาม" นายวิรไทกล่าว

    พร้อมกับย้ำว่า ในปัจจุบัน กองทุนฟื้นฟูฯ มีศักยภาพ เพราะผ่านประสบการณ์มานาน หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 และมีความเสียหายถึง 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งขณะนั้นคาดว่าผลตอบแทนจากการเข้าถือหุ้นในสถาบันการเงิน และบริหารสินทรัพย์ จะอยู่ที่ประมาณ 40% แต่ปัจจุบันผลตอบแทนที่ออกมากลับมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับ ธปท. ก็มีความรู้ที่สะสมไว้สามารถช่วยแก้ปัญหาของกองทุนฟื้นฟูฯ ได้

    ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ใน พ.ร.บ. ธปท. พ.ศ. 2551 มาตรา 19 ที่ใช้ในปัจจุบัน มีข้อความระบุว่า ธปท. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) อาจเสนอแนะแผน แนวทาง และวิธีการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินต่อคณะกรรมการการจัดการกองทุนของกองทุน เพื่อการฟื้นฟูฯ โดยต้องแสดงให้เห็นว่า การดำเนินการตามแผน แนวทาง และวิธีการดังกล่าว มีประสิทธิผลสูงสุดและเป็นไปอย่างเหมาะสม เมื่อคณะกรรมการจัดการกองทุนพิจารณาเห็นชอบด้วย ให้เสนอรัฐมนตรีเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ
  
    เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้วให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ มีอำนาจดำเนินการเท่าที่จำเป็น เพื่อแก้ไขฟื้นฟูสถาบันการเงินตามความจำเป็นเร่งด่วน ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
  
    1) ให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงิน โดยมีหรือไม่มีประกันตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการจัดการกองทุนของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ กำหนดโดยอนุมัติของรัฐมนตรี

     2) ซื้อหรือเข้าถือหุ้นในสถาบันการเงิน และ 3) ซื้อ ซื้อลด หรือ รับช่วงซื้อลดตราสารแสดงสิทธิในหนี้ หรือรับโอนสิทธิเรียกร้องของสถาบันการเงิน
  
    ส่วนในกรณีที่กองทุนฟื้นฟูฯ มีความจำเป็นต้องกู้ยืมเงินเพื่อดำเนินการตามความจำเป็นดังกล่าว ธปท. อาจให้กู้ยืมเงินแก่กองทุน หรือรัฐบาลอาจค้ำประกันการกู้ยืมเงินของกองทุนได้ ทั้งนี้ ให้กองทุนจัดทำบัญชีสำหรับการดำเนินการดังกล่าวแยกต่างหากจากบัญชีอื่น แล้วให้รัฐบาลใช้คืนเงินที่กู้ยืมจาก ธปท. รวมถึงจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องให้ แก่กองทุนด้วย


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แบงก์ชาติ ชงคลัง แก้ พ.ร.บ. ธปท. สร้างกลไกกฎหมาย อุดความเสี่ยงแบงก์ล้ม

view