สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ย้อนวาทะ ร.5 กับความท้อพระทัยเรื่องคน เสนาบดีทุกวันนี้ เหมือนควายที่หีบอ้อย...

จากประชาชาติธุรกิจ

ย้อนวาทะ ร.5 กับความท้อพระทัยเรื่องคน "เสนาบดีทุกวันนี้ เหมือนควายที่หีบอ้อย..."

Prev
1 of 1
Next

คลิกภาพเพื่อขยาย

updated: 02 ส.ค. 2559 เวลา 21:28:20 น.

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ในหนังสือ "วาทะเจ้านาย เล่าประวัติศาสตร์" โดยศิลปวัฒนธรรม (ฉบับพิเศษ) สำนักพิมพ์มติชน ได้เล่าถึงวาทะหนึ่งที่ว่า

"--- เสนาบดีทุกวันนี้เหมือนควายที่หีบอ้อย ถ้าหยุดเตือนแซ่เตือนกรตัก ก็หยุดบดเอื้องกันเสียหมด จะผลัดเปลี่ยนก็ไม่มีคน พ่อเห็นเมืองไทยจะล้มเสียเพราะเรื่องนี้เป็นแน่แล้ว ---"

เป็นข้อความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ขณะทรงศึกษาอยู่ในทวีปยุโรป

ข้อความในพระราชหัตถเลขาบ่งบอกถึงความหนักระคนท้อพระทัยเกี่ยวกับเรื่อง "คน" ที่จะรู้เรื่องและสามารถปฏิบัติงานตามพระบรมราโชบายอันเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศชาติในขณะนั้น เพราะเป็นเวลาที่ประเทศไทยตกอยู่ในภยันตรายด้านเอกราช สาเหตุจากการคุกคามของพวกจักรวรรดินิยมตะวันตก ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านรอบตัว ต้องสูญเสียเอกราชตกเป็นอาณานิคมของชาติทางตะวันตก เช่น พม่าและมลายูบางส่วนตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ญวน เขมร และลาวตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ประเทศมหาอำนาจทั้งสองกำลังพยายามจะขยายอิทธิพลเข้าครอบคลุมไทย
    
ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ ใกล้ชิดต่างชาติก็ทรงตระหนักถึงภัยอันตรายใหญ่หลวงที่จะเกิดขึ้นกับประเทศ ชาติ และทรงพยายามอย่างยิ่งในอันที่จะหาหนทางให้รอดพ้นจากภัยคุกคามนั้นเต็มสติ กำลัง ดังจะเห็นได้จากพระราชดำริเกี่ยวกับเรื่องนี้ปรากฏในพระราชหัตถเลขาที่มีพระ ราชทาน พระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ราชทูตพิเศษที่โปรดให้เดินทางไปฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2410 ความตอนหนึ่งว่า
   
"---ในเมื่อสยามถูกรังควานโดยฝรั่งเศสด้านหนึ่ง โดยอาณานิคมอังกฤษอีกด้านหนึ่ง---เราต้องตัดสินใจว่าเราจะทำอย่างไร จะว่ายทวนน้ำขึ้นไปเพื่อทำตัวเป็นมิตรกับจรเข้ หรือว่ายออกทะเลไปเกาะปลาวาฬไว้---"

   
วิธีหนึ่งที่ทรงเร่งดำเนินการแก้ไขวิกฤตการณ์นี้คือ การพัฒนาประเทศให้มีความเจริญทัดเทียมนานาอารยประเทศในทุก ๆ ด้าน เพื่อจะได้ไม่มีข้ออ้างในการที่จะเข้ายึดครองประเทศ และจะได้มีการเจรจาต่อรองกันอย่างประเทศที่มีความเสมอภาคกัน ทรงเริ่มด้วยการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นกลไกในการพัฒนาบ้านเมืองตามพระบรมราโชบาย ทำให้เกิดงานที่ยุ่งยากซับซ้อนกว่าเดิม ก่อให้เกิดความไม่พอใจกับเสนาบดีโดยเฉพาะเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งเคยชินกับการทำงานแบบเดิมครั้งบ้านเมืองสงบสุข คือไม่รีบเร่งเรื่อยเฉื่อย สบาย ๆ ไม่มีวัตถุประสงค์ใด ๆ ชัดเจน เมื่อจะต้องเปลี่ยนแปลงจึงเป็นเรื่องยากลำบากที่จะต้องปรับตัวเรียนรู้ทำความเข้าใจตลอดจนต้องทำงานหนักขึ้น
   
นอกจากความไม่เข้าใจและไม่พอใจแล้ว บางคนยังเกิดความเข้าใจผิดเมื่อมีสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากพระบรมราโชบาย เช่น เมื่อครั้งตั้งโรงเรียนให้การศีกษาแก่เด็กชายชาวบ้าน เพื่อจะได้มีความรู้ความเข้าใจและความสามารถในการพัฒนาประเทศ คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่ารัฐบาลจะเกณฑ์เด็กไปเป็นทหาร เป็นต้น
   
ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้พระบรมราโชบายในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ ที่ทรงกำหนดเพื่อต่อสู้กับมหาอำนาจตะวันตกต้องหยุดชะงักหรือดำเนินไปอย่างเชื่องช้า ซึ่งเป็นที่น่าหวั่นเกรงว่าจะไม่ทันกับภัยอันตรายที่กำลังคืบคลานเข้ามาไม่หยุดยั้ง ทำให้ทรงกังวลพระทัย และยิ่งกังวลพระทัยเพิ่มขึ้นเมื่อทรงประจักษ์ว่า คนเข้าใจพระบรมราโชบาย คนรู้ถึงภัยของชาวตะวันตก และคนมีความรู้ในงานที่ต้องทำนั้นมีน้อยมาก และยิ่งกังวลพระทัยขึ้นเป็นทวีคูณเมื่อทรงพบว่าประเทศชาติในขณะนั้นไม่มีทั้งกำลังเงิน กำลังอาวุธ และแม้แต่กำลังคน ดังที่ทรงกล่าวไว้ในพระราชหัตถเลขาฉบับเดียวกันนี้ว่า
   
"---ถ้าหากว่าเราพบบ่อทองในประเทศเรา--- พอที่จะใช้ซื้อเรือรบจำนวนร้อย ๆ ลำก็ตาม เราก็คงไม่สามารถจะสู้กับพวกนี้ได้ เพราะเราจะต้องซื้อเรือรบและอาวุธจากประเทศเหล่านี้ พวกนี้จะหยุดขายให้เราเมื่อไรก็ได้---อาวุธชนิดเดียวซึ่งจะเป็นประโยชน์ อย่างแท้จริงต่อเราในอนาคตก็คือวาจาและหัวใจของเราอันกอร์ปด้วยสติและ ปัญญา---"
   
อาวุธในพระราชดำริที่ว่า "หัวใจ" นั้นน่าจะทรงหมายถึงคนทั้งประเทศที่ต้องร่วมมือร่วมใจเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวทุ่มเทแรงกายแรงใจฟันฝ่าอุปสรรคให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้ แต่หลายครั้งก็ทรงท้อพระทัยอันเนื่องมาแต่คนรุ่นเก่า ซึ่งก็คือเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ที่ไม่มีความรู้ในวิทยาการสมัยใหม่ ไม่ยอมรับรู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ไม่ใส่ใจถึงภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและยังไม่ใส่ใจที่จะหาความรู้เพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเอง ดังที่ทรงกล่าวเปรียบเทียบสถานการณ์ของบ้านเมืองกับการปฏิบัติงานของเสนาบดีเหล่านี้ไว้ว่า
   
"---ถ้าจะเปรียบด้วยเรือก็เหมือนกับเมื่อก่อนเอาขึ้นทิ้งไว้ในอู่ คงอยู่แต่รูปเรือ ท้องนั้นผุรั่วจวนจะลอยน้ำไม่ได้ เมื่อจำเป็นต้องเข็นลงน้ำก็เอาโคลนปะแทนชัน คนพายก็ไม่เป็น คนหนึ่งยกคนหนึ่งจ้วงตุ๋ม ๆ ติ๋ม ๆ น้ำก็เชี่ยวลมก็จัด เวลาว่าง ๆ ค่อยปะยาเปลี่ยนไม้ไปทีละแผ่น 2 แผ่น ตอกหมันยาชันพอเป็นรูป แต่คนที่จะพายล้วนแต่เป็นโรคไภยต่าง ๆ ตาบอดบ้าง หูหนวกบ้าง การที่จะหาฝีพายให้เต็มลำเป็นการยากยิ่ง---"
   
ด้วยเหตุดัง กล่าว จึงต้องทรงว่าจ้างชาวต่างประเทศที่มีความรู้ในวิทยาการสมัยใหม่ในแต่ละแขนง มาเป็นผู้วางพื้นฐานในหน่วยงานต่าง ๆ ความหวังเพียงประการเดียวของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในเวลา นั้นคือการรอคอยคนรุ่นใหม่ที่ทรงส่งเสริมให้ได้รับการศึกษาทั้งในประเทศและ ต่างประเทศ นำวิทยาการสมัยใหม่เข้ามาพร้อมกับความรู้เท่าทันเหตุการณ์บ้านเมืองในเวลา นั้น เข้าใจในพระราชวิเทโศบาย และสามารถที่จะปฏิบัติงานให้เป็นไปตามแนวพระราชวิเทโศบายที่ทรงวางไว้ได้ อย่างคล่องแคล่วถูกต้อง ระหว่างการรอคอยจำเป็นที่จะต้องใช้คนรุ่นเก่า ซึ่งมีแนวทางการปฏิบัติราชการตามที่เคยเป็นมาแต่โบราณ ซึ่งมีลักษณะดังที่ทรงกล่าวไว้ว่า
   
"--คิดหาความชอบด้วยปาก พอได้เงินได้ทองในปรจุบัน แลหมายจะเป็นสมเด็จเจ้าพระยาในภายน่า---"
   
ด้วยเหตุที่มีวัตถุประสงค์ดังกล่าว ทำให้การปฏิบัติราชการของเสนาบดีผู้ใหญ่ในสมัยนั้นเป็นไปตามที่ทรงเปรียบเปรยไว้ว่า
   
"----เหมือนควายที่หีบอ้อย ถ้าหยุดเตือนแซ่เตือนกรตัก ก็หยุดบดเอื้องกันเสียหมด--"

[จากศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 32 ฉบับที่ 4 (กุมภาพันธ์ 2554)]


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ย้อนวาทะ ร.5 ความท้อพระทัยเรื่องคน เสนาบดี ทุกวันนี้ เหมือนควายที่หีบอ้อย...

view