สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การคมนาคมกับการพัฒนาเมืองตามแนวคิด TOD

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์เปิดมุมมอง โดย วศินี วสุนธราสุข

การคมนาคมเข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนและการพัฒนาเมืองเป็นอย่างมาก ในอดีตผู้คนตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยตามริมแม่น้ำ ลำคลอง เพื่อความสะดวกสบายในการดำรงชีวิต การสัญจรเดินทาง การค้าขายโดยสังเกตได้จากเมืองท่าต่าง ๆ ที่มีความเจริญมากกว่าเมืองที่อยู่ห่างไกลจากแหล่งน้

ต่อมาเมื่อโลกได้พัฒนามากขึ้น การคมนาคมขนส่งทางบกอย่างถนนและระบบรางเริ่มเข้ามามีบทบาทในสังคม ผู้คนเริ่มขยับขยายจากที่เคยอาศัยตามริมแม่น้ำ ลำคลอง มาอาศัยอยู่ตามแนวถนนและบริเวณโดยรอบสถานีรถไฟ จึงเกิดเป็นชุมชนและขยายตัวจนกลายเป็นเมือง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า "ถนนตัดไปถึงไหน ชุมชนก็ขยายไปถึงนั่น"

การที่เมืองขยายตัวตามแนวถนนนั้น เป็นการขยายเมืองในแนวราบที่ห่างไกลจากจุดศูนย์กลางเมือง ถึงแม้จะเป็นการสร้างความเจริญไปสู่พื้นที่ แต่ก็นำมาซึ่งปัญหา เมื่อที่พักอาศัยอยู่ไกลจากเมือง ระยะทางในการเดินทางจึงเพิ่มมากขึ้น ยิ่งโดยเฉพาะในกรณีที่เมืองนั้นไม่มีระบบขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพ และจัดสรรให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้เดินทาง ประชาชนที่ต้องการเดินทางจึงจำเป็นต้องพึ่งพาตัวเองโดยการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคล เมื่อปริมาณการจราจรเพิ่มขึ้นเกินขีดความสามารถในการรองรับของถนน จึงต้องมีการขยายและสร้างถนนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เมืองขยายตัวออกไปไกลกว่าเดิม ระบบขนส่งสาธารณะไม่เพียงพอต่อความต้องการ ประชาชนก็ยิ่งมีความต้องการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคลเพิ่มมากขึ้น

เมื่อ เป็นเช่นนั้นก็ยิ่งทำให้ปริมาณจราจรเพิ่มมากขึ้นนำไปสู่การขยายและสร้างถนน เพิ่มมากขึ้นไปอีกกลายเป็นปัญหาวนเวียนไปเรื่อยๆไม่มีที่สิ้นสุด

นอกจากนี้ ยังส่งผลไปถึงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานอื่น ๆ อย่างเช่น น้ำประปา ไฟฟ้า โรงเรียน โรงพยาบาล

เมื่อเมืองกระจายตัวในแนวราบ ความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่จึงต่ำ การจัดสรรระบบสาธารณูปโภคของทางภาครัฐให้ครอบคลุมทั่วถึงจึงเป็นไปด้วยความ ยากลำบาก และมีค่าใช้จ่ายสูงในระยะยาว สาเหตุดังกล่าวจึงส่งผลกระทบทั้งต่อภาครัฐและประชาชนในแง่ของต้นทุนการก่อ สร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานต้นทุนการเดินทางทั้งค่าใช้จ่ายและระยะเวลาต้น ทุนทางด้านสิ่งแวดล้อมรวมถึงสุขภาวะที่เสียไปไม่สามารถประเมินค่าได้

จากปัญหาที่กล่าวมาสามารถแก้ไขได้ โดยการจัดพื้นที่ใช้สอยในเมืองให้เหมาะสม ตามแนวคิดการออกแบบเมือง โดยการพัฒนาพื้นที่บริเวณรอบจุดเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่ง (Transit Oriented Development หรือ TOD) ซึ่งเป็นแนวคิดที่มุ่งหมายจะเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในเขตเมือง โดยการจัดพื้นที่ให้มีความสะดวก ปลอดภัย และไม่ต้องพึ่งพาการเดินทางมากจนเกินไป

เช่น ในบริเวณพื้นที่ใกล้สถานีในระยะที่สามารถเดินเท้าหรือใช้จักรยานได้นั้น ควรจะต้องมีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ในลักษณะผสมผสาน คือ ควรจะมีทั้งที่พักอาศัย สำนักงาน ร้านค้า สถานที่พักผ่อนหย่อนใจและพื้นที่สีเขียว โดยพื้นที่พักอาศัยนั้น ต้องมีความหนาแน่นสูงเพียงพอที่จะสร้างกำลังซื้อให้แก่ผู้ประกอบการในบริเวณนั้น และส่วนหนึ่งต้องสามารถทำงานในสำนักงาน หรือถูกจ้างให้ดูแลร้านค้าบริเวณนั้นได้

อีกทั้งการเดินทางในรัศมีไม่เกิน 1 กิโลเมตร หรือใช้เวลาเดินประมาณ 10 นาที ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนเดินเท้า หรือผู้ใช้จักรยานอย่างเต็มที่ และเมื่อผู้อยู่อาศัยในบริเวณนั้นต้องการเดินทาง ก็ต้องมีระบบขนส่งที่สะดวก สะอาด และมีประสิทธิภาพมารองรับโดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นรถไฟฟ้าเท่านั้น อาจจะเป็น BRT รถเมล์ หรือท่าเรือก็ได้

หลังจากมีรถไฟฟ้าสายแรกอย่างรถไฟฟ้าบีทีเอส การพัฒนาเมืองตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯได้เปลี่ยนแปลงไป ทั้งอาคารที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงานที่มีความสูงเพิ่มมากขึ้น ห้างสรรพสินค้าที่ผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในลักษณะดังกล่าวได้ขยายตัวออกไปตามแนวรถไฟฟ้า ทั้งที่เปิดให้บริการแล้ว กำลังก่อสร้าง และตามแผนการพัฒนารถไฟฟ้าของทางภาครัฐ อาจจะเห็นว่าแนวโน้มของการพัฒนาเมืองในกรุงเทพฯนั้นสอดคล้องกับแนวความคิด TOD แต่การพัฒนาตามแนวคิด TOD ไม่ได้มีเพียงแค่ความหลากหลายและความหนาแน่นที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น ยังมีปัจจัยสำคัญอีกหลายอย่างที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่การพัฒนาเมืองทั่วไปขาดการคำนึงถึง เช่น สภาพแวดล้อม ทัศนียภาพ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ส่งเสริมให้ผู้ที่ต้องสัญจรหรืออาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ๆ รู้สึกถึงความปลอดภัย ความสะดวกสบายในการเดินเท้า ใช้จักรยาน หรือระบบขนส่งสาธารณะ

การพัฒนาตามแนวคิด TOD นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการเดินทางลง ประชาชนไม่ต้องเผชิญกับปัญหาจราจรบนท้องถนนเป็นเวลานานให้เสียสุขภาพกายและสุขภาพจิต ช่วยลดมลพิษที่เกิดจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ ลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ยังเป็นส่วนในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชนเมืองอีกด้วย ดังนั้น จึงไม่ควรคำนึงถึงเฉพาะเม็ดเงินที่จะได้กลับมา แต่ควรจะมองถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนด้วย อีกทั้งประชาชนทุกคนควรมีสิทธิ์ในการอยู่อาศัยในพื้นที่ ไม่ควรจำกัดว่าจะต้องเป็นเพียงผู้ที่มีรายได้สูงเท่านั้น

ทางภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือในการผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาตามแนวคิดTODเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การคมนาคม การพัฒนาเมือง แนวคิด TOD

view