สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปตท.กับธุรกิจโรงแรม (1)

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด โดย วิรัตน์ แสงทองคำ viratt.worldpress.com

คำถามสำคัญมีว่า กรณี ปตท.จะดำเนินธุรกิจโรงแรมนั้น เป็นเรื่องสลักสำคัญหรือไม่ อย่างไร

เกี่ยวกับ ปตท.


ปตท.เปิดแผนการธุรกิจโรงแรมเมื่อเดือนที่ผ่านมา โดยผู้บริหารหน่วยธุรกิจน้ำมัน (อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่) ย่อมถือเป็นเรื่องจริงจังพอสมควร

"ปตท.กำลังเจรจากับเครือโรงแรม 3-4 แห่ง เพื่อหาพันธมิตรร่วมพัฒนาธุรกิจโรงแรมราคาประหยัด (Budget Hotel) ในสถานีบริการน้ำมันของ ปตท. ซึ่งมีประมาณ 50 แห่ง จากทั้งหมด 1,400 แห่ง เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพพัฒนาเป็นโรงแรมได้ภายใน 5 ปีข้างหน้า"
นั่นคือ สาระสำคัญ ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ



เมื่อพิจารณาข้อมูลธุรกิจ ปตท.อย่างจริงจัง(จากรายงานประจำปี 2558) พบว่า มีรายละเอียดบางอย่างควรขยายเพิ่มเติมเพื่อให้เห็นภาพความเป็นไปของสถานีบริการน้ำมัน "ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2558ปตท.มีสถานีบริการรวม 1,450 แห่งทั่วประเทศ คิดเป็นร้อยละ 6.1 ของสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ นอกจากนี้ได้ขยายสถานีบริการน้ำมัน ปตท.ในต่างประเทศ จำนวน 26 แห่ง อาทิ PTT Life Station ณ เสียมเรียบ กัมพูชา และ PTT Life Station ณ หลวงพระบางสปป.ลาว เป็นต้น.... ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2558 ปตท.มีการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายในธุรกิจค้าปลีก ได้แก่ ร้านค้าสะดวกซื้อ 7-Eleven 1,245 แห่ง เพิ่มขึ้น100 แห่ง จากปี 2557 ร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอน 1,437 แห่ง เพิ่มขึ้น 240 แห่ง จากปี 2557 ธุรกิจยานยนต์ 121 แห่งลดลง 22 แห่ง จากปี 2557 และในเดือนธันวาคม 2558 ปตท.สามารถบรรลุข้อตกลงกับ Texas Chicken และเริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โดย ปตท.เป็น Master Franchise และได้เปิดตัวสาขาแรกที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต"

ความจริงแล้วในภาพใหญ่ ความสำคัญของหน่วยธุรกิจน้ำมัน พิจารณาจากรายได้ มีเพียง 15-16% ของรายได้ทั้งหมด (ปตท.มีรายได้รวมประมาณสองล้านล้านบาท) แต่ความสามารถในการทำกำไร (พิจารณาอย่างคร่าว ๆ ไม่ได้ตั้งใจเสนออย่างละเอียด) พบว่า ธุรกิจค้าปลีกน้ำมันดูจะมีมากกว่าธุรกิจหลักอื่น ๆ โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมาด้วยแล้ว หน่วยธุรกิจสำคัญอื่น ๆ (โดยเฉพาะ ปตท.สผ. และธุรกิจถ่านหิน) ต้องเผชิญปัญหาสินทรัพย์ด้อยค่าลงอย่างมหาศาล อันเนื่องมาจากการลดลงของราคาน้ำมัน

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน ซึ่งกลุ่มธุรกิจย่อยลงไปอีกของหน่วยธุรกิจน้ำมัน ดูเหมือนว่าจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษจาก ปตท. แม้แต่สารคณะกรรมการ (โดย ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการ และเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่) ซึ่งปรากฏในรายงานประจำปีที่อ้างถึงข้างต้น ยังนำเสนอเรื่องดูไม่ใหญ่โต อย่าง "การเปิดตัวแบรนด์ Texas Chicken การร่วมธุรกิจกับ Daddy Dough และการขยายธุรกิจแฟรนไชส์ของคาเฟ่อเมซอน" เอาไว้ด้วย

เชื่อว่าที่เป็นเช่นนั้น คงมีเหตุผลที่มีน้ำหนักอยู่พอสมควร

กิจการพลังงานของไทย ซึ่งได้ก้าวขึ้นสู่ทำเนียบธุรกิจระดับโลกอย่างแท้จริงไปแล้ว เป็นกิจการขนาดใหญ่ มีกลุ่มธุรกิจเกี่ยวข้องอย่างหลากหลายและกว้างขวาง มีสินทรัพย์และรายได้มากที่สุด อย่างที่ไม่มีบริษัทไทยเคยทำได้มาก่อน แต่ภาพนั้นสัมผัสได้อย่างจำกัด เฉพาะนักลงทุนในตลาดหุ้น และแวดวงธุรกิจ

ภาพใหญ่กว่านั้น ภาพที่เป็นจริงว่าด้วยความสัมพันธ์กับสังคมไทย สาธารณชน หรือผู้บริโภควงกว้าง สัมผัสได้อย่างเป็นรูปธรรม จากการมองผ่านเครือข่ายสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งให้บริการครอบคลุมพื้นที่สำคัญ ๆ ทั่วประเทศ

ปตท.เองดูเหมือนภูมิใจอย่างมาก เกี่ยวกับพัฒนาการสถานีบริการน้ำมัน ด้วยเชื่อว่าให้ภาพความเป็นผู้นำธุรกิจ ผู้นำแนวโน้มใหม่สู่ความทันสมัย โดยเฉพาะให้ภาพความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กับพฤติกรรมผู้บริโภคสมัยใหม่ ภาพลักษณ์สถานีบริการน้ำมัน ปตท.น่าตื่นเต้น และจับต้องได้อย่างแท้จริง

ความพยายามดังกล่าวจึงดำเนินไปอย่างไม่หยุดยั้ง

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

คำว่า"ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย"ปตท.กล่าวถึงไว้อย่างตรึงใจ มาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 15-16 ปีที่แล้ว เมื่อ ปตท.เข้าร่วมประมูลซื้อเครือข่าย Carrefour ในประเทศไทย แต่ต้องเผชิญแรงต้านอย่างหนัก ถึงขั้นลามไปถึงที่ประชุมคณะรัฐมนตรี "เนื่องจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญของ ปตท.หลายราย มีความเห็นว่า ปตท.ไม่ควรเข้าไปประมูลแข่งขันในครั้งนี้ ดังนั้น ปตท.จึงจะไม่เข้าร่วมในการประมูลดังกล่าวต่อไป" บทสรุปจากคำแถลงของ ปตท.ครั้งนั้น (21 กันยายน 2553) ยังจำได้ดี

เป็นที่รู้กันว่า คู่แข่งในการประมูลครั้งนั้น ประกอบด้วยเครือข่ายธุรกิจใหญ่ของไทย ทั้งซีพี ทีซีซี และเซ็นทรัล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ซีพี ถือเป็นพันธมิตรธุรกิจสำคัญของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน ปตท. โดยเครือข่ายร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven (บริษัทซีพี ออลล์) เป็นองค์ประกอบหลักในโมเดลสถานีบริการน้ำมันใหม่ของ ปตท.มาตั้งแต่ต้น

คำแถลงดังกล่าวได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาสถานีบริการน้ำมันไว้อย่างน่าสนใจด้วย เชื่อว่าเป็นความพยายามขยาย "จินตนาการ" ใหม่ ๆ ให้กว้างขึ้นกว่าเดิม

"มีการศึกษาแนวโน้มการทำธุรกิจค้าปลีกน้ำมันในต่างประเทศ เช่น ประเทศฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย พบว่า การทำธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเพียงอย่างเดียว (Stand Alone) มีแนวโน้มลดลง และเริ่มปรับเปลี่ยนเป็นการจัดตั้งสถานีบริการน้ำมันควบคู่ไปกับธุรกิจ Hypermarket เพื่อเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน....ปตท. สามารถใช้เครือข่าย Hypermarket ในการสนับสนุนสินค้าของคนไทย และของชุมชน รวมทั้งส่งเสริมธุรกิจค้าปลีกรายย่อยของคนไทยให้เข้มแข็งและเติบโตไปพร้อมกันได้ด้วย" (บางส่วนของคำแถลง 21 กันยายน 2553)

ว่าด้วยแผนการธุรกิจโรงแรมในสถานีบริการน้ำมัน เชื่อว่า ปตท.ได้ศึกษาแนวโน้มธุรกิจมาอย่างรอบคอบ รวมทั้งบทเรียนมาจากกรณีที่กล่าวถึงข้างต้นด้วย ดังนั้นเป็นไปได้ว่า จึงเป็นที่มาของโมเดลร่วมทุนกับพันธมิตรธุรกิจ โดยเฉพาะกับธุรกิจโรงแรมรายใหญ่ ซึ่ง "มีปากมีเสียง" ในสังคมธุรกิจ

ธุรกิจโรงแรมไทยเองได้ปรับตัวอย่างไม่หยุดยั้งเช่นกัน ท่ามกลางการแข่งขันทางธุรกิจอย่างดุเดือด การเข้ายึดและเบียดเสียดกันในทำเลที่ดีจนแทบไม่มีที่ยืนเหลืออยู่ แนวโน้มการขยายตัวสู่พื้นที่หัวเมืองใหญ่มีมากขึ้น ๆ เป็นลำดับ ซึ่งเป็นไปตามกฎว่าด้วย "ปลาใหญ่กินปลาเล็ก" ด้วย ได้สร้างปรากฏการณ์ สร้างกระแสอย่างเป็นระลอกคลื่นอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่เมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว การสร้างเครือข่ายการค้าด้วยตนเองของธุรกิจยักษ์ใหญ่กรุงเทพฯ เข้าแทนที่ "ตัวแทน" ท้องถิ่น จนมาถึงขบวนการค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) เข้าแทนที่การค้าปลีกดั้งเดิม (ร้านโชห่วย) และเชื่อว่าธุรกิจโรงแรมของผู้ประกอบการท้องถิ่นกำลังเผชิญแรงบีบคั้นดังกล่าวแล้วเช่นกัน

ปตท.กับโมเดลสถานีบริการน้ำมันกำลังเดินตามปรากฏการณ์ข้างต้นไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เช่นเดียวกับความเป็นไปของสถานีบริการน้ำมัน ปัจจุบันได้กลายเป็นพื้นที่ใหม่ โอกาสใหม่ สำหรับบรรดาเครือข่ายร้านค้าแบรนด์ระดับโลกและระดับประเทศ โดยกำลังเข้าแทนที่ร้านค้าย่อย ท้องถิ่น มากขึ้น ๆ "สินค้าของคนไทย และของชุมชน รวมทั้งส่งเสริมธุรกิจค้าปลีกรายย่อยของคนไทย" ถ้อยแถลง ปตท.เคยกล่าวเมื่อปี 2553 (อ้างแล้ว) คงเป็นอดีตไปแล้วเช่นกัน

ส่วนวิสัยทัศน์ปัจจุบันที่ว่า "จะเป็นบริษัทพลังงานไทยข้ามชาติชั้นนำในปี 2563 พร้อมสร้างความสมดุลต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม โดยมีพันธกิจในการจัดหาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติให้คนไทยมีใช้อย่างเพียงพอต่อความต้องการของประเทศในอนาคต พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางปิโตรเลียมให้ประชาชนอย่างทั่วถึง บริหารจัดการให้ราคาเหมาะสมเป็นธรรมเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ประเทศอย่างยั่งยืน พร้อมสร้างศรัทธาและความภูมิใจให้กับประชาชนคนไทยในการเป็นบริษัทพลังงานของชาติ และเติมเต็มกลไกทางธุรกิจที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย" (บางส่วนใน "สารคณะกรรมการ" อ้างแล้ว)

ผมเองไม่แน่ใจนักว่า ภาพลักษณ์ ปตท.เมื่อมองผ่านสถานีบริการน้ำมัน จะสอดคล้องและสัมพันธ์กับคำกล่าวข้างต้นหรือไม่


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปตท.กับธุรกิจโรงแรม (1)

view