สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่! แต่ถ้าช้างเผือกไม่มีหาง จะเป็นช้างคู่บ้านคู่เมืองได้หรือไม่

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

      ช้างเผือก ถือกันว่าเป็นช้างคู่บ้านคู่เมือง เกิดขึ้นในรัชกาลใดก็คือว่ามีบุญญาธิการ บ้านเมืองจะอยู่ร่มเย็นเป็นสุข
       
        ลักษณะของช้างเผือกที่ต้องตามตำรับโบราณกำหนดไว้ว่า จะต้องมีคชลักษณ์เกินกว่าครึ่งของ ๗ ประการ คือ ตาขาว เพดานขาว เล็บขาว ขนขาว พื้นหนังขาวหรือสีหม้อใหม่ ขนหางขาว อัณฑโกศขาวหรือคล้ายสีหม้อใหม่ ...หม้อดินนะครับ ไม่ใช่หม้ออลูมิเนียม
       
        การดูลักษณะช้างเผือกนั้น นอกจากดูตามเนื้อตามตัวแล้ว ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า “หูหางสรรพ” คือหูไม่แหว่งฉีก หางต้องมีขน ถ้าหางไม่มีขนถือว่าเป็นช้างไม่ดี
       
        แต่ถ้าไม่มีหางล่ะ! จะถือว่าเป็นช้างดีหรือช้างเผือกได้หรือไม่?
       
        พงศาวดารรัชการที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บันทึกไว้ว่า ในปี พ.ศ. ๒๓๓๗ พระยานครราชสีมาได้มีใบบอกเข้ามาว่า มีชาวภูเขียวคล้องช้างพังได้เชือกหนึ่งมีสีประหลาด คือเมื่ออาบน้ำขึ้นมาใหม่ๆ พอตัวแห้งผิวจะเป็นสีนวลเหมือนสีใบตองแห้ง ตา เล็บ ขนตัว ขนหางเป็นสีขาว เจ้าของฝึกให้เชื่องและเอาไว้ใช้งาน ใครเห็นก็มักจะทักกันว่าเป็นช้างสำคัญ ไม่ธรรมดาแน่ เจ้าของกลัวว่าทางการจะมายึดเอาช้างไป จึงตัดหางให้ด้วนเสีย
       
        พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้ส่งช้างมาให้ทอดพระเนตร เมื่อทรงพิจารณาตามหลักคชลักษณ์แล้ว จึงดำรัสว่าเป็นช้างเผือกตรี แต่น่าเสียดายที่หางถูกตัดไป ทรงพิโรธเจ้าของช้างมาก จึงไม่ได้พระราชทานสิ่งใดให้ ส่วนหางที่ด้วนนั้นก็ให้เอาหางโคมาผูกต่อเข้าเป็นช้างโคบุตร นำเข้าพิธีสมโภชน์ ขึ้นระวางเมื่อวันอาทิตย์ขึ้น ๙ ค่ำ ปีขาล จุลศักราช ๑๑๕๖ (พ.ศ.๒๓๓๗) พระราชทานนามว่า
       
        “พระอินทรไอยรา รัตนาเคนทร์ คเชนทรบดินทร์ อนันตคุณ สมบูรณ์เลิศฟ้า”
       
        ต่อมารัชกาลที่ ๒ พระราชทานนามให้ใหม่ว่า
       
        “พระอินทรไอยรา คชาชาติฉัททันต์ ผิวพรรณเผือกตรี สียอดตองตากแห้ง วิษณุแกล้งรังรักษ์ มงคลลักษณ์เลิศฟ้า”
       
        ถึงหางด้วน ก็ยังเป็นช้างคู่บ้านคู่เมืองอยู่ดีนั่นแหละ...เผือกซะอย่าง!


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ดูช้างให้ดูหาง  ดูนางให้ดูแม่ ช้างเผือกไม่มีหาง ช้างคู่บ้านคู่เมือง ได้หรือไม่

view