สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ยักษ์ใหญ่ในยุคไฮเทค

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ คิด วิเคราะห์ แยกแยะ โดย ชาย มโนภาส (คนขายของ)

หากท่านใดยังจำภาพยนตร์ชื่อ "TITANIC" ซึ่งเป็นเรื่องของ "แจ๊ค" กับ "โรส" บนเรือสำราญที่เดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก โรสพบรักกับแจ๊คในขณะที่ตัวเองมีคู่หมั้นอยู่แล้ว ซึ่งคู่หมั้นของโรสมีฐานะที่เรียกได้ว่าเป็นระดับมหาเศรษฐี และอยู่ในธุรกิจเหล็ก หนังบอกเล่าความมั่งคั่งของคู่หมั้นของโรสผ่านการใช้ชีวิตหรูหราบนเรือสำราญ และการมอบเพชรรูปหัวใจให้แก่หญิงสาวที่เขารัก ในช่วงปี 1912 ซึ่งเป็นปีที่เรือ TITANIC ประสบเหตุไม่คาดฝันนั้น อุตสาหกรรมเหล็กมีการขยายตัวที่สูงมาก แม้ผ่านช่วงสงครามโลกมาถึงสองครั้ง แต่ก็ยังขยายตัวได้ดี ในปี 1955

บริษัทเหล็กอย่าง U.S. Steel เป็นบริษัทที่มีรายได้มากเป็นอันดับสามในสหรัฐ แต่ปัจจุบันมูลค่ากิจการเหลือเพียงแค่ราวหนึ่งในร้อยส่วนของบริษัทค้าปลีกออนไลน์อย่าง AMAZON.COM

ในช่วงปี 2006 หรือเมื่อสิบปีที่แล้ว บริษัทที่มีมูลค่ากิจการสูงสุด 6 บริษัทของโลก มีถึง 3 บริษัทที่มาจากอุตสาหกรรมพลังงาน มี 1 บริษัทเป็นธนาคาร 1 บริษัทเป็นเทคโนโลยี และ 1 บริษัท เป็นลักษณะโฮลดิ้งที่ทำกิจการหลากหลาย แต่พอมาในปีปัจจุบัน ดูเหมือนนักลงทุนจะมีมุมมองที่แตกต่างจากเดิม เพราะล่าสุดจากตัวเลขมูลค่ากิจการ ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2016 บริษัทที่มีมูลค่ากิจการสูงที่สุดในโลก 6 บริษัท เป็นบริษัทเทคโนโลยีถึง 5 บริษัท คือ หนึ่ง Apple สอง บริษัทแม่ของ Google คือ Alphabet สาม Microsoft สี่ AMAZON และห้า Facebook และมีบริษัทพลังงานเหลืออยู่เพียงบริษัทเดียว คือ Exxon Mobil

ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ ? ทำไมบริษัทการบินอย่าง Boeing บริษัทรถยนต์อย่าง TOYOTA หรือบริษัทโฮลดิ้งอย่าง GE ถึงไม่ติดอันดับกับเขา ?

เมื่อพิจารณาบริษัทอันดับ 1 คือ Apple 2 คือ Alphabet และ 3 คือ Microsoft ผมพบว่าทั้งสามบริษัทมีส่วนที่เหมือนกันคือ เป็นเจ้าของ "ระบบปฏิบัติการ (Operating System หรือ OS)" ทั้งสามบริษัท เมื่อพิจารณาจากมุมมองเรื่องความยั่งยืนของบริษัทพบว่า ธุรกิจ OS เป็นธุรกิจที่มีผู้เล่นใหม่น้อยมาก และเนื่องจากบริษัทเป็นเจ้าของโปรแกรมที่เรียกได้ว่าเป็นหัวใจของระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้บริษัทสามารถขยายธุรกิจไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ เช่น อุตสาหกรรมการผลิตแบบอัตโนมัติ, อุตสาหกรรมยานยนต์แบบไร้คนขับ หรืออุตสาหกรรมขนส่ง

ขณะที่คู่แข่งรายเดิมที่อยู่ในอุตสาหกรรมนั้น ๆ ยากที่จะแข่งขันด้วยได้ เพราะไม่มีความรู้ด้าน IT นอกจากนั้น เจ้าของระบบปฏิบัติการยังสามารถทำให้อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ต่อพ่วง ทำงานกันเป็นทีมเดียวกันได้เหมือนดั่งวาทยกรผู้ควบคุมวงออร์เคสตร้า ซึ่งเมื่ออุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ ล้วนเชื่อมต่อกันผ่านอินเทอร์เน็ต ผู้ที่เป็นเจ้าของระบบปฏิบัติการจะมีอิทธิพลอย่างมากต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในอนาคต

นอกจากการวิเคราะห์เชิงความสามารถในการแข่งขันข้างต้นแล้ว ยังพบว่าบริษัทเหล่านี้มีลักษณะที่น่าประทับใจเมื่อมองในแง่ของการวิเคราะห์สถานะทางการเงินด้วย เพราะว่าบริษัทเหล่านี้มีกระแสเงินสดอิสระที่สูงมาก สต๊อกสินค้า หรือสินทรัพย์ที่อยู่ในรูปของโรงงานหรืออาคาร คิดเป็นส่วนน้อย อย่างเช่น Microsoft มีสินทรัพย์ที่เป็นเงินสดหรือใกล้เคียงเงินสดสูงถึง 1.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ แต่มีสินค้าคงคลังเพียง 2 พันล้านเหรียญ และมีที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ราว 2 หมื่นล้านเหรียญ หนี้สินก็อยู่ในระดับต่ำ ทำให้มีโอกาสที่จะซื้อกิจการ หรือลงทุนในการทำวิจัยใหม่ ๆ ได้อีกมาก

นอกจากนั้นทั้งสามบริษัทมีอัตรากำไรสุทธิที่สูงราว 20% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขของบริษัทรถยนต์อย่าง GM ที่ทำได้ 6% บริษัทสินค้าอุปโภค P&G ที่ 12% หรือบริษัทเครื่องดื่มอย่างโค้กที่ 16%

ในยุคที่การผลิตมีความรุ่งเรือง บริษัทที่สามารถทำการประหยัดจากขนาด (Economies of Scales) จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก เพราะบริษัทสามารถสร้างความสามารถในการแข่งขันได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าคู่แข่ง แต่ในโลกที่เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตมีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ บริษัทที่มี Economies of Scope ซึ่งหมายถึง บริษัทที่มีองค์ความรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วสามารถนำมาต่อยอดออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย จะได้เปรียบกว่าบริษัทที่เน้นการเป็นเลิศด้านการผลิตเป็นหลัก ทั้งนี้ เพราะว่าในยุคต่อไป ไม่ว่าจะผลิตได้ถูกขนาดไหน แต่ถ้าไม่สามารถเชื่อมต่อได้กับอุปกรณ์อื่น ๆ แชร์ไปกับ Facebook ก็ไม่ได้ ลูกค้าคงยากที่จะตัดสินใจซื้อ


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ยักษ์ใหญ่ ยุคไฮเทค

view