สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล: SMEs (2)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย อ.สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ขอนำประเด็นอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการที่เป็นวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม

ที่ไม่เคยมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลา บัญชีเกินกว่า 5 ล้านบาท และหรือไม่เคยมีรายได้จากการขายสินค้าหรือการให้บริการเกินกว่า 30 ล้านบาท ทั้งนี้ นับแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 เป็นต้นมา ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับที่ 583 (พ.ศ. 2558) ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2558 เป็นต้นไป มาปุจฉา - วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้ 

ปุจฉา ขอทราบว่า คำว่า “ขายสินค้า” และ “ให้บริการ” มีความหมายในทางกว้างหรือแคบอย่างไร

วิสัชนา คำว่า “ขายสินค้า” และ “ให้บริการ” มีความหมายในทางแคบ ตามที่กำหนดในมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 ดังนี้

         “ขาย” หมายความว่า จำหน่าย จ่าย หรือโอนสินค้า โดยมีหรือไม่มีประโยชน์หรือค่าตอบแทน และให้หมายความรวมถึงสัญญาให้เช่าซื้อสินค้า สัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อมีการ ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อแล้ว และการส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักร

         “สินค้า” หมายความว่า ทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้ ที่มีไว้เพื่อขายเท่านั้น

         “บริการ” หมายความว่า การกระทำใดๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า

ดังจะเห็นได้ว่า คำว่า “ขายสินค้า” ดังกล่าว จึงมีความหมายในทางแคบ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับคำว่า “ขายสินค้า” ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉะนั้น หากเป็นการขายทรัพย์สินเก่าหรือเศษซากวัสดุ การขายที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพย์สินอื่นใดที่มิได้มีไว้เพื่อขาย เช่น เครื่องจักร เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องใช้ เป็นต้น ก็ไม่นับรวมอยู่ในยอด 30 ล้านบาท แต่อย่างใด

แต่สำหรับคำว่า “ให้บริการ” นั้น กลับมีความหมายในทางกว้างกว่าการบริการให้บริการโดยทั่วไป รวมทั้งในทางภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย กล่าวคือ หากเป็นการกระทำใดๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า ย่อมถือเป็น “บริการ” ทั้งสิ้น อาทิ ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยหุ้นกู้ เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรจากการลงทุนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลหรือกองทุนรวม รวมทั้งกิจการร่วมค้า รางวัลจากการประกวดแข่งขันชิงโชค

นอกจากนี้ การพิจารณาจำนวนรายได้จากการขายสินค้าหรือการให้บริการดังกล่าว นั้น ท่านให้นับรวมทั้งรายได้ที่ได้รับยกเว้นด้วย ทั้งนี้ เพื่อการพิจารณาสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเท่านั้น แต่ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลก็ยังคงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ต่อไปตามปกติ

สำหรับรายได้ที่มิใช่รายได้จากการขายสินค้าหรือการให้บริการ มีอาทิ ค่าปรับเนื่องจากการผิดสัญญา ค่าสินไหมทดแทน เงินรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ ที่ได้จากการส่งเสริมการขาย

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล: SMEs (2)

view