สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทำงานให้เหมือนเล่นเกม : เคล็ดลับของชายผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ Pokemon GO

จากประชาชาติธุรกิจ

Pop Teen
นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ kenshiro843@gmail.com
ที่มา นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์
ที่มาภาพ blog.refer-me-please.com


ถึงวันนี้คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธอีกแล้วว่า Pokemon Go คือเกมแห่งยุคสมัย คือผู้ผลิกวงการ Augmented Reality คือแอพพลิเคชันที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในรอบหลายปี คือปรากฏการณ์ที่สั่นสะเทือนไปทั้งโลก และคือเกมแห่งโลกเสมือนที่ข้ามมาปั่นป่วนโลกแห่งความจริง สร้างผลกระทบสนั่นหวั่นไหวไปทั่ว

สำหรับผม Pokemon GO คือวัฒนธรรมป๊อปแห่งปี และเผลอๆ อาจพูดได้ว่าปรากฏการณ์นี้คือหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่สุดแห่งยุค ไม่ต่างจากตอนที่ สตีฟ จ็อบส์ เปิดตัวไอโฟน หรือ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก คิดค้นเฟซบุ๊ก

Pokemon GO ทำลายสถิติและสร้างตัวเลขมหัศจรรย์ไว้มากมาย ไล่ตั้งแต่จำนวนยอดผู้ใช้ต่อวันสูงสุด 23 ล้านคนต่อวัน ยิ่งใหญ่กว่าเกม Candy Crush

มียอดดาวน์โหลดกว่า 100 ล้านครั้ง โดยถ้านับแค่สัปดาห์แรกที่เปิดตัว มีคนดาวน์โหลด 10 ล้านครั้ง ถือว่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ app stores เคยเปิดใช้บริการ

ยอดคนใช้เวลาอยู่ในแอพ 43 นาทีต่อวัน มากกว่าเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และทวิตเตอร์

ทำรายได้ไปแล้วรวมมากกว่า 200 ล้านดอลลาร์ และยังคงปั๊มเงินได้ 10 ล้านดอลลาร์ต่อวัน

แต่ท่ามกลางสถิติเหล่านี้ มีใครทราบไหมครับว่าใครคือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านี้?

เขาชื่อ John Hanke ครับ

และมันไม่ใช่ความสำเร็จเพียงชั่วข้ามคืน แต่คือการสะสมประสบการณ์ ต่อสู้ผ่านด่านนานนับ 2 ทศวรรษ!

อะไรคือปัจจัยที่ทำให้เขาสร้างปรากฏการณ์ Pokemon GO ได้สำเร็จ?

John Hanke คือนักธุรกิจชาวอเมริกันวัย 49 ปี เขาคือผู้ก่อตั้ง Niantic, Inc. บริษัทที่ผลิตเกม Pokemon GO

จอห์นเป็นเด็กเนิร์ดบ้าเกมที่มีความฝันตั้งแต่เด็กว่าอยากสร้างเกมเป็นของตัวเอง เกมแรกที่เขาเล่นคือ Climber ในเครื่องเล่นอาตาริ เล่นไปเล่นมา เขาก็เอาความคลั่งไคล้นั้นเขียนโค้ดเกมอาตาริ 400 เอง

หลังจากเรียนจบจาก University of Texas และ Haas Business Schoo ที่ University of Cali-fornia เขาจับมือกับเพื่อนเปิดบริษัทเกมชื่อ Archetype Interactive สร้างเกม Meridian 59 ซึ่งถือเป็นเกมสามมิติ MMO (massively multiplayer online role-playing game) หรือเกมออนไลน์แบบเล่นตามบทบาทเป็นเกมแรกของโลก

แต่แล้วเขาก็ขายบริษัทเกมนี้ไป เพื่อทำตามความฝันที่ใหญ่กว่านั้น

ปี 2000 จอห์นก่อตั้งบริษัท Keyhole ที่สร้างแผนที่เชื่อมต่อกับภาพถ่ายทางอากาศจากดาวเทียม จนกลายเป็นแผนที่ GPS ที่อนุญาตให้เรามองเห็นตัวเองจากมุมท็อปได้แบบออนไลน์ตัวแรกของโลก ผลิตภัณฑ์นี้ไปเตะตา Sergey Bin ผู้ร่วมก่อตั้ง Google จนในที่สุดในปี 2004 กูเกิลก็ทำการซื้อกิจการของ Keyhole และพัฒนาต่อมาเป็น Google Earth ในเวลาต่อมา

ช่วงเวลานี้เองที่จอห์นเริ่มมองเห็นลู่ทางและความเป็นไปได้ที่จะเติมเต็มแพชชั่นในวัยเด็กของเขา ด้วยการทำเกมที่เชื่อมต่อกับแผนที่ในโลกความจริง

แต่ในเกมมีเลเวลให้เราต้องก้าวข้ามฉันใด ชีวิตจริงก็มีด่านให้เราต้องเก็บประสบการณ์ฉันนั้น

จากตอนแรกที่ตั้งใจจะอยู่กับกูเกิลไม่กี่เดือน กลายเป็นจอห์นทำงานกับกูเกิลนานนับทศวรรษ

จอห์นดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าทีม Google Geo พัฒนาผลิตภัณฑ์สนั่นโลกอย่าง Google Earth และ Google Maps เขาเป็นผู้ต่อรองกับ สตีฟ จ็อบส์ ให้นำแผนที่ของกูเกิลฝังลงไปในเครื่องไอโฟนด้วย นอกจากนี้ ยังมีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้กูเกิลแม็ปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดรองจากเสิร์ชเอนจิ้นของกูเกิล

ปี 2010 จอห์นริเริ่มความฝันการทำเกมที่เชื่อมต่อกับแผนที่ด้วยการก่อตั้งสตาร์ตอัพที่ได้ทุนจากกูเกิลชื่อ Niantic Labs โดยชื่อ Niantic นั้นมาจากชื่อของเรือล่าปลาวาฬที่พาคนงานเหมืองมาถึงอ่าวซานฟรานซิสโกในช่วงตื่นทองปี 1849 โดยในปัจจุบันเรือนี้จมอยู่ใต้เกาะซานฟรานซิสโก

จอห์นชอบชื่อนี้มากเพราะอาจะพูดได้ว่าเมืองซานฟรานซิสโกก็ถูกค้นพบและสร้างขึ้นจากการเดินทางของเรือเหล่านี้

ทว่า ผลิตภัณฑ์แรกของ Niantic Labs กลับไม่ใช่เกม แต่คือ Field Trip แอพพลิเคชั่นที่ใช้เทคโนโลยี Augmented Reality เพื่อช่วยให้คนสามารถรู้ประวัติศาสตร์และรายละเอียดสำคัญๆ ของสถานที่ท่องเที่ยว

จอห์นเล่าว่าเขาไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อไปได้บ้าง เพียงแต่เขามองเห็นแล้วว่าโทรศัพท์มือถือกำลังเริ่มมีบทบาทมากต่อคนในยุคนั้น

"ตอนนั้นผมคิดว่านี่คือจังหวะที่เหมาะสมที่สุดแล้วที่จะทำเกมเจ๋งๆ ที่อยู่บนพื้นฐานของโลกแห่งความจริง"

ปี2012 จอห์นพัฒนาเกม MMO ที่เชื่อมต่อกับแผนที่ GPS ได้สำเร็จเป็นเกมแรกของโลก (เกมนั้นชื่อ In-gress) แม้ว่าจะได้รับความนิยมมีผู้เล่นกว่า 7 ล้านคนและเป็นที่ฮือฮาในหมู่นักเล่นเกม แต่สำหรับกูเกิลแล้ว เกมนี้ถือว่าไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนัก

จอห์นอยากนำระบบพื้นฐานหรือโครงสร้างสำคัญๆ ในเกมของ Ingress ที่พัฒนามาอย่างดี มาปรับใช้กับเกมที่ได้รับความนิยมอยู่แล้ว ในตอนนั้นเกมมาริโอและดองกี้คองก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกด้วย ก่อนจะถูกปัดตกไป เพราะ Pokemon กลายเป็นคนมาวินที่สุด ด้วยแฟรนไชส์ที่ฮิตระเบิดในหมู่คนยุคมิลเลนเนียลส์ ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอเกม เกมการ์ด ภาพยนตร์ และการ์ตูนทางโทรทัศน์ โดยถ้านับถึงเดือนพฤษภาคมปี 2016 Pokemon ทำรายได้แล้วไปทั้งหมด 45 พันล้านดอลลาร์

ดูเหมือนโชคชะตาช่างเล่นตลก เพราะ Tatsuo Nomura ลูกน้องชาวญี่ปุ่นของจอห์นสมัยทำงานอยู่กูเกิล ก็มีความคิดอยากทำเกมโปเกมอนที่เชื่อมต่อกับ Google Maps เช่นกัน แม้ว่าจะด้วยวิธีการที่ต่างออกไป เพราะ Tatsuo Nomura เพียงแค่อยากทำเป็นคลิปไวรัลขำขันเพื่อแกล้งคนในวัน April"s Fool day

Tatsuo Nomura ทำการติดต่อกับ Pokemon Company อย่างลับๆ จนได้ออกมาเป็นคลิปไวรัลที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในวันที่ 1 เมษายน ปี 2014 เหล่าบรรดาเกมเมอร์และแฟนโปเกมอนต่างออกมาเรียกร้องว่าอยากจะจับโปเกมอนในโลกแห่งความจริง

ตอนนั้นเองที่จอห์นเริ่มมีความคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องทำเกมนี้ออกมาจริงๆ

จอห์นรีบขอให้ Tatsuo Nomura นัดประชุมอีกครั้งกับทาง Pokemon Company และก็ช่างเป็นเรื่องน่าบังเอิญอีกเช่นกันว่าซีอีโอของบริษัทโปเกมอน Tsunekazu Ishihara นั้นเป็นแฟนเกมที่จอห์นที่สร้างขึ้นอย่าง Ingress ตัวยง (เขามีเลเวลสูงกว่าจอห์นด้วยซ้ำ!) ซึ่งนั่นทำให้การเจรจาเป็นไปอย่างราบรื่น

เมื่อบวกกับวิสัยทัศน์ของซีอีโอของนินเทนโด้ Satoru Iwata ที่อยากทำเกมบนมือถืออยู่แล้ว ก็ยิ่งทำให้ดีลนี้จบลงอย่างรวดเร็ว

Pokemon GO จึงเกิดจากความร่วมมือ 3 บริษัท ได้แก่ Niantic (ที่อยู่ภายใต้กูเกิลในตอนนั้น), Pokemon Company และ Nintendo

ภายหลังในช่วงปลายปี 2015 กูเกิลทำการปรับโครงสร้างภายใน โดยตั้งบริษัทแม่อย่าง Alphabet มาควบคุมอีกที เพื่อทำให้องค์กรมีขนาดเล็กลงและเคลื่อนตัวได้สะดวก จอห์นจึงตัดสินใจนำ Niantic ออกจากกูเกิลโดยสมบูรณ์ เขาทำการระดมทุนได้ 30 ล้านดอลลาร์โดยก็ยังได้ทุนหลักๆ มาจาก Google, Pokemon Company และ Nintendo นั้นเอง

จอห์นเล่าว่า สิ่งที่เขาบอกกับทีมงานให้คิดตลอดเวลาในช่วงที่พัฒนาเกม Pokemon GO มีอยู่ 3 อย่างคือ ต้องทำให้คนได้ออกกำลังกาย ต้องทำให้คนในมองเห็นโลกในมุมใหม่หรือพาคนไปเจอสถานที่แปลกๆ ที่ไม่เคยเห็น และสุดท้ายคือต้องเป็นเกมที่ช่วย "breaking the ice" หรือทำลายกำแพงระหว่างคนแปลกหน้าให้ได้คุยกันและรู้จักกัน

และแล้วในวันที่ 6 กรกฎาคม ปี 2016 Pokemon GO ก็เปิดตัวเป็นครั้งแรกใน 3 ประเทศคือ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา

หลังจากนั้น ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของ Pokemon GO ก็ถูกจารึกขึ้น และกำลังก้าวต่อไปอย่างไม่มีจุดจบ...

จะเห็นได้ว่า ความสำเร็จของ Pokemon GO ที่เหมือนจะได้มาแบบชั่วข้ามคืนนั้น จริงๆ แล้วก็มาจากการทำงานมาร่วม 20 ปีของจอห์น

ที่สำคัญมันไม่ใช่การทำงานแบบข้ามขั้นอย่างก้าวกระโดด แต่เป็นการทำงานไปทีละขั้น ผ่านไปทีละด่าน

จอห์นไม่รู้หรอกว่าเขาต้องเจอกับอุปสรรคอะไรบ้าง และเขาก็ไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่เขาทำในแต่ละช่วงนั้นจะมีประโยชน์อย่างไรในอนาคต แต่สิ่งที่เขารู้คือเขามีเป้าหมายหรือ "บอสใหญ่" ในใจว่าต้องสร้างเกมที่เชื่อมต่อกับแผนที่ให้ได้ ส่วนระหว่างทางในแต่ละเลเวลแต่ละขั้นบันได เขาแค่โฟกัสให้ดีที่สุด เพื่อพาตัวเองก้าวข้ามด่านนั้นมาให้ได้

ทุกด่านที่เขาผ่านมาได้ในแต่ละช่วงชีวิต มันคือการค่อยๆ สะสมประสบการณ์ เก็บหอมรอมริบต้นทุน สร้างคอนเน็กชันและทีมงาน กว่าจะมาถึงจังหวะเวลาที่เหมาะสม

พูดภาษาเกมก็คือการเก็บเลเวลไปเรื่อยๆ จนถึงด่านสุดท้าย

เมื่อผ่านด่านยากขึ้น เราก็เก่งขึ้น

หากขาดด่านใดไป จอห์นจะไม่มีวันเดินมาถึงจุดนี้ได้

หากไม่ได้ก่อตั้ง Keyhole เขาก็จะไม่ได้ทำงานกับกูเกิล หากไม่ได้ทำงานกับกูเกิลเขาก็จะไม่ได้พัฒนา Google Maps หากไม่ได้พัฒนา Google Maps เขาก็จะไม่สามารถสร้างเกม Ingress ได้ และหากเขาไม่ได้สร้างเกม Ingress เขาก็จะไม่มีวันสร้างเกม Pokemon GO ได้เลย

สิ่งที่ผมเรียนรู้จากจอห์นคือ

ตั้งเป้าหมายไว้ในใจ แต่อย่าไปยึดติด ขอเพียงโฟกัสกับสิ่งที่ทำในทุกๆ วัน และพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ สักวันย่อมไปถึง

ที่สำคัญคืออย่าหยุด

ถ้าหยุด เกมโอเวอร์ทันที

เพราะชีวิตจริงไม่มีคำว่าเกมโอเวอร์ มีแต่เราเท่านั้นที่กำหนดว่าจะหยุดหรือไปต่อ

น่าเสียดายที่หลายครั้งในชีวิตจริง เราหมกมุ่นกับอนาคตมากไปจนลืมสิ่งที่ต้องทำในปัจจุบัน หรือบางครั้งเราก็ถอดใจกลางทาง ทั้งๆ ที่ลืมไปว่าเรากำลังอยู่ในเลเวลที่ 10 แล้ว เหลืออีกนิดก็จะถึงบอสใหญ่ที่ตั้งไว้

การทำงานจึงไม่ต่างอะไรกับการเล่นเกม

แล้วคุณล่ะครับ อยู่เลเวลไหนกันแล้ว?


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ทำงานให้เหมือนเล่นเกม เคล็ดลับ เบื้องหลังความสำเร็จ Pokemon GO

view