สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เศรษฐกิจไทยครึ่งปี 2559 ยังเสี่ยง

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ช่วยกันคิด โดย สกุณา ประยูรศุข

เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปีนี้ขยายตัวร้อยละ 3.5 สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3.2 โดยมีค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่เติบโตสูงกว่าที่คาด การลงทุนภาครัฐและการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนหลักต่อเนื่องจากไตรมาสแรก การใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่เติบโตดีกว่าที่คาดนั้นเป็นผลมาจากการบริโภคของ ภาคเอกชนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเชื่อมโยงมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ประกอบกับรายได้ของเกษตรกรที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นภายหลังภาวะภัยแล้งเริ่ม คลี่คลาย

นอกจากนี้แล้วอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไตรมาส2ต่อเนื่องไตรมาส3 ขยายตัวก็คือการซื้อรถยนต์ ที่โตเพิ่มขึ้นเช่นกันหลังจากการหดตัวต่อเนื่องกันมาถึง 11 ไตรมาส และตลาดรถยนต์ในประเทศเริ่มปรับตัวเข้าสมดุล ที่มองข้ามไม่ได้คือการส่งออกภาคบริการที่ยังคงเป็นบวกจากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งหมดนี้ทำให้เศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกของปี 2559 ไม่ขี้เหร่จนเกินไป ยังสามารถขยายตัวได้บ้าง ถึงแม้จะไม่พุ่งปรี๊ดอย่างที่รัฐบาลตั้งใจ

สิ่งที่ต้องเฝ้าจับตาดูต่อไปก็คือ เศรษฐกิจของครึ่งปีหลัง 2559 ซึ่งมีการคาดการณ์ของหลายสำนักออกมาให้เห็นแล้ว เพื่อรับมือและเตรียมตัวในการปรับแผนหรือวางแผนในการดำเนินธุรกิจซึ่งไม่ฉพาะแต่ปีนี้เท่านั้น แต่ยังต่อเนื่องไปจนถึง 2560

สำหรับครึ่งปีหลัง 2559 แม้ว่าจะได้รับปัจจัยบวกจากผลประชามติของการรับร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะช่วยฟื้นบรรยากาศการลงทุนภาคเอกชน ก็ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังจะสดใสและดีกว่าครึ่งปีแรก เพราะเมื่อมองจากสถานการณ์โดยรอบแล้ว แนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มเผชิญกับความท้าทายใน 4 ประเด็นหลัก กล่าวคือ

1.ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก โดยประเด็นเศรษฐกิจโลกที่สำคัญที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเส้นทางการฟื้นตัวของการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี ประกอบด้วย ความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ในห้วงเวลาการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2559 รวมถึงความผันผวนของตลาดเงินของโลกจากแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักของโลก ที่จะฉีกออกจากกันมากขึ้น หากธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เหลือของปี 2559 นี้ ตลอดจนการชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโรป รวมถึงจีน และญี่ปุ่น ที่ยังสร้างความไม่แน่นอนต่อทิศทางการส่งออกของไทยไปยังตลาดหลักเหล่านี้ ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้

2.ประเด็นของการท่องเที่ยว
ซึ่งแต่เดิมมีแนวโน้มสดใสขยายตัวมากขึ้นกว่าเดิม เพราะนักท่องเที่ยวจีนที่ยังหลั่งไหลเข้ามาเที่ยวไทยอย่างต่อเนื่อง แต่จากเหตุการณ์ระเบิดในภาคใต้ และที่อำเภอหัวหิน ในช่วงวันที่ 11-12 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้สถานการณ์พลิกกลับ ยังต้องเฝ้าระวังเพื่อประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการท่องเที่ยว ถึงแม้ว่ารัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะแถลงข่าวเรียกภาพลักษณ์กลับคืนในหลายวันต่อเนื่องกัน ก็ยังไม่อาจเชื่อใจได้ว่าจะได้ผล ประกอบกับความเชื่อมั่นของภาคเอกชนอาจจะลดลงในระยะต่อไป

3.การลงทุนภาคเอกชน
ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม หลังจากที่ขยายตัวอย่างเชื่องช้าในช่วงครึ่งปีแรก และเกิดเหตุการณ์ระเบิดที่กล่าวกันว่าอาจมีผลต่อบรรยากาศการลงทุนในระยะสั้น ซึ่งต้องดูต่อไปว่าผลการสืบสวนสอบสวนถึงสาเหตุการเกิดระเบิดที่ภาคใต้และที่อำเภอหัวหินเกิดจากอะไร รวมถึงการคาดการณ์ว่าการใช้จ่ายภาครัฐในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม จะมีความต่อเนื่องไปยังต้นปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม-ธันวาคม 2559) น่าจะช่วยหนุนบรรยากาศการลงทุนจากเอกชนให้มีการลงทุนตาม ก็เป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูต่อไป

4.การบริโภคภาคเอกชน โดยผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาในไตรมาสที่ 2 คงเริ่มหมดลง ยกเว้นแต่ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมออกมาอีกในช่วงครึ่งปีหลัง นอกจากนี้ในด้านยอดขายรถยนต์ที่กลับมาขยายตัวสูงในไตรมาสที่ 2 นั้น แม้ว่าน่าจะยังรักษาระดับยอดขายในแง่จำนวนคันได้อย่างต่อเนื่อง แต่ในแง่อัตราการขยายตัวอาจเป็นตัวเลขติดลบถึง 2 หลักในไตรมาสที่ 4 เนื่องจากผลของฐานเปรียบเทียบที่มีการเร่งซื้อรถยนต์ในช่วงปลายปี 2558 ก่อนการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์

ขณะเดียวกันมีข้อน่าสังเกตจากหลายสำนักมองว่า ขณะที่ประเทศประสบปัญหาเศรษฐกิจทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ รัฐบาลได้ทำการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ โดยเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐเท่าที่สามารถกระทำได้ ส่งผลให้ใน 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ รัฐบาลมีการใช้จ่ายติดลบถึง 3.9 แสนล้านบาทสูงกว่าดุลงบประมาณติดลบทั้งปีของปีงบประมาณก่อนหน้าถึง 8.6 หมื่นล้านบาท

หากแต่การเร่งใช้งบประมาณในครึ่งแรกของปีงบประมาณอาจทำให้รัฐบาลไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในครึ่งหลังของปีงบประมาณได้

เนื่องจากพระราชบัญญัติงบประมาณปี2559ได้กำหนดวงเงินที่รัฐบาลสามารถกู้ยืมไว้ที่3.9 แสนล้านบาท ซึ่ง ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559 รัฐบาลได้กู้ยืมไปแล้วรวม 2.9 แสนล้านบาท ทำให้เหลือความสามารถในการกู้ยืมเพียง 1 แสนล้านบาท ใน 7 เดือนหลังของปีงบประมาณ ซึ่งอาจจะเป็นผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยชะลอตัวใน 3 ไตรมาสที่เหลือของปี

ดังนั้นการประเมินเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง 2559 จึงยังคงไม่อาจประมาณการได้ว่าจะยังไม่น่าห่วง


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เศรษฐกิจไทยครึ่งปี 2559 ยังเสี่ยง

view