สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ฟัน เลี้ยบ แก้สัญญาไทยคม ไอซีที รอชง ครม.รื้อใหม่ดึงเข้าสัมปทาน

จากประชาชาติธุรกิจ

ลุ้นระทึกตั้งแต่เช้ากับการอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 25 ส.ค. 2559 ในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง 1.นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เมื่อครั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงไอซีที 2.นายไกรสร พรสุธี อดีตปลัดกระทรวงไอซีที และ 3.นายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ อดีตปลัดกระทรวงไอซีที ขณะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่กรณีการอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมสื่อสารในประเทศ (ฉบับที่ 5) ที่ลดสัดส่วนการถือหุ้นของ บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น (อินทัช) ที่ถือใน บมจ.ชินแซทเทลไลท์ (ไทยคม) จากไม่น้อยกว่า 51% เป็นไม่น้อยกว่า 40% โดยไม่เสนอ ครม. และเป็นการอนุมัติโดยมิชอบ

ศาลฎีกานัดอ่านคำพิพากษา 10.00 น. ก่อนแจ้งเลื่อนเป็น 14.00 น.

และมีมติเอกฉันท์ว่า "นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี" อดีตรัฐมนตรีไอซีที มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ให้จำคุก 1 ปี จำคุกนายไกรสร พรสุธี และนายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ คนละ 1 ปี และปรับคนละ 20,000 บาท แต่พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว จำเลยที่ 2 และ 3 เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา จำเลยที่ 1 และไม่มีอำนาจหน้าที่อนุมัติให้แก้สัญญสัมปทาน โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญา 5 ปี

ชี้ชัดปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ

การอ่านคำพิพากษาศาลได้ย้อนลำดับเหตุการณ์ไปตั้งแต่มติครม.11 ก.ย. 2534 ที่ให้ดำเนินการทำสัญญากิจการดาวเทียม ระหว่างกระทรวงคมนาคมกับบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิชั่นส์ จำกัด (เปลี่ยนชื่อเป็นชินคอร์ปอเรชั่น และอินทัช) กระทั่งมีการขออนุมัติแก้สัญญาลดสัญญาส่วนการถือหุ้นของอินทัชในไทยคม จาก 51% เป็น 40% และมีการเปิดขายหุ้นเพิ่มทุนของไทยคม 208 ล้านหุ้น ในปี 2548 แก่นักลงทุนทั่วไปในตลาดหลักทรัพย์ฯ ราคาหุ้นละ 15.30 บาท ทำให้ได้เงินระดมทุนไป 3,110 ล้านบาท

ศาลฎีการะบุว่า มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย 5 ประเด็น ได้แก่ 1.การกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ผิดตาม ม. 157 ประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าสัดส่วนผู้ถือหุ้นที่ระบุไว้ในข้อ 4 ของสัมปทาน เป็นเงื่อนไขสำคัญยิ่งของสัมปทานที่ต้องนำเสนอเข้า ครม. ทั้งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการกำหนดคุณสมบัติผู้รับสัมปทาน รวมถึงกระทรวงการคลังเคยให้ความเห็นว่าควรกำหนดเงื่อนไขสัญญาว่า หากมีการจำหน่ายหุ้นคราวเดียวหรือหลายคราวที่ส่งผลให้สัดส่วนหุ้นเปลี่ยนแปลงไปทุก 5% ต้องเสนอให้ ครม.พิจารณาก่อน

การที่จำเลยที่ 1 ใช้อำนาจรัฐมนตรีอนุมัติแก้ไขสัญญาจึงฝ่าฝืนระเบียบ ครม.ว่าด้วยการเสนอเรื่องให้ครม.พิจารณา พ.ศ. 2535 ข้อ 7 วรรค 4

2.เป็นการกระทำโดยสุจริตหรือไม่ จำเลยยกข้อต่อสู้ว่ามีการเสนอเรื่องให้เลขาธิการ ครม. พิจารณาบรรจุเข้าเป็นวาระการประชุม ครม.แล้ว แต่ 20 ส.ค. 2547 นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำหนังสือส่งเรื่องคืนกระทรวงไอซีที โดยให้เหตุผลว่าไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ต้องเสนอ ครม.พิจารณา ประกอบกับ ครม.มีนโยบายลดเรื่องที่จะเสนอให้ ครม.พิจารณา ทั้งมีการหารือเรื่องนี้กับอัยการสูงสุดถึง 2 ครั้ง

โดยสำนักงานอัยการสูงสุดได้มีหนังสือตอบกลับเมื่อ 3 มิ.ย. 2547 และ 13 ต.ค. 2547 ว่า เมื่อสำนักเลขาธิการ ครม. เห็นว่าไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะเสนอ ครม. ไอซีทีจึงมีดุลพินิจแก้ไขสัญญาตามร่างที่สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจแก้ไว้ได้

ปกปิดเพื่อสร้างหลักฐานป้องตัว

"แต่ข้อเท็จจริงได้ความจากนายบวรศักดิ์เลขาธิการคณะรัฐมนตรีขณะนั้นว่า เรื่องดังกล่าวไม่อาจนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ได้ เนื่องจากนายกรัฐมนตรขณะนั้น (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) เป็นคู่สัญญา ขัดกับ พ.ร.บ.ระเบียบวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ม.13 โดยตนได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบทางโทรศัพท์ และขอให้ถอนเรื่องออก แต่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธ สำนักเลขาธิการ ครม. จึงมีหนังสือปฏิเสธกลับไปที่ไอซีที ระบุเหตุว่าไม่อยู่ในหลักเกณฑ์การพิจารณาของ ครม. เพื่อรักษาหน้าของรัฐมนตรี และรักษาความสัมพันธ์ระหว่างนายบวรศักดิ์กับนายกรัฐมนตรี แม้จำเลยที่ 1 จะเบิกความยืนยันว่า ไม่เคยมีการโทรศัพท์แจ้งให้ถอนเรื่องตามที่อ้าง แต่ยอมรับว่าวันที่มีหนังสือตอบกลับ จำเลยที่ 1 ตามเรื่องกับเจ้าหน้าที่ และได้รับแจ้งให้ถอนเรื่อง แต่จำเลยที่ 1 ยืนยันว่าจะไม่ถอนเรื่องออก และไม่ได้พูดถึงเหตุผลอื่น"

ศาลเห็นว่า นายบวรศักดิ์ทำหน้าที่กลั่นกรองเรื่องก่อนเข้า ครม. และไม่ปรากฏว่ามีเหตุโกรธเคืองหรือมีมูลเหตุจูงใจให้ต้องปรักปรำจำเลยที่ 1 ทั้งเบิกความยืนยันเช่นนี้มาตลอดตั้งแต่คดียึดทรัพย์อดีตนายกรัฐมนตรี จึงน่าเชื่อว่าเป็นการเบิกความตามความเป็นจริง เมื่อมีการแจ้งให้ถอนเรื่องคืน เนื่องจากผลประโยชน์ทับซ้อนกับนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นเหตุที่มีความชัดเจนและหนักแน่น เพราะจำเลยที่ 1 ต้องทราบว่า นายกรัฐมนตรีขณะนั้นยังมีตำแหน่งเป็นประธานบริษัทผู้รับสัมปทาน แทนที่จำเลยที่ 1 จะคำนึงถึงประโยชน์ประเทศชาติ กลับยืนยันไม่ถอนเรื่องคืน เพื่อหวังให้มีหนังสือตีกลับเพื่อเป็นหลักฐานป้องกันตนเอง หากมีการกล่าวหาในภายหลัง

"การตอบกลับข้อหารือของอัยการสูงสุดอยู่ใต้กรอบที่ระบุว่า ครม.ตีกลับเรื่องมา โดยไม่หารือประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนของนายกรัฐมนตรีกับสัมปทานที่จะแก้ไข เท่ากับมีเจตนาปกปิด"

ข้อเสนอมีพิรุธแต่ไม่ตรวจสอบ

ประเด็นที่ 3 ข้อเสนอแก้ไขสัญญามีพิรุธ อาทิ การขอลดหุ้นโดยมีเอกสารมติบอร์ดบริษัท ระบุเหตุผลที่ขอกำกวมว่าตลาดแข่งขันสูง แต่ไม่มีหลักฐานการเจรจากับพันธมิตร แนวทางการร่วมลงทุนตามวิสัยธุรกิจทั่วไปทั้งเป็นการขายหุ้นเพิ่มทุนให้บุคคลทั่วไป ไม่ใช่พันธมิตรที่มีประสบการณ์ธุรกิจดังที่อ้าง

ประเด็นที่ 4 รัฐเสียหายหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2544 กำหนดให้ผู้ถือใบอนุญาตประกอบกิจการแบบมีโครงข่ายต้องมีสัดส่วนหุ้นไทยไม่น้อยกว่า 75% มีกรรมการไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 สัญชาติไทย เพื่อคุ้มครองไม่ให้ตกเป็นของต่างชาติ

ส่วนการกำหนดสัดส่วนหุ้นไว้ที่ 51% เพื่อต้องการให้มีอำนาจครอบครอง แต่เมื่อลดเหลือ 40% มีโอกาสให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยอีก 60% รวมตัวกันลงมติคัดค้านแนวทางของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ได้ แม้มีโอกาสน้อย แต่ถ้าคงไว้ที่ 51% จะไม่มีโอกาสเป็นไปได้เลย ฉะนั้นการปรับลดสัดส่วนจึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้รัฐที่จะได้รับความเสียหาย

ชงให้เอกชนไม่วิเคราะห์ได้-เสีย

ประเด็นที่5 เอื้อประโยชน์ต่อเอกชนหรือไม่ จากพฤติการณ์เห็นได้ชัดว่าเอื้อประโยชน์ต่อทั้งชินคอร์ปและไทยคม ที่ไม่ต้องลงเงินซื้อหุ้นเพิ่มทุนเพื่อรักษาสัดส่วนหุ้น องค์คณะจึงมีมติเอกฉันท์ว่า "นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลีี" มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 157 แต่ต้องพิจารณาว่า จำเลยที่ 2 และ 3 มีความผิดด้วยหรือไม่ โดยข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อไทยคมทำหนังสือถึงกระทรวงไอซีที เมื่อ ธ.ค. 2546 ขอลดสัดส่วนการถือหุ้นของอินทัช ปลัดกระทรวงไอซีที (คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์) มอบหมายให้นายไชยยันต์ จำเลยที่ 3 ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 8 ว. สังกัดสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินการ แต่มีการสรุปการวิเคราะห์ข้อมูลและนำเสนอกลับมามีเพียง 4 ประเด็น คือ การลดสัดส่วนหุ้นไม่กระทบความรับผิดชอบของบริษัทตามสัญญา ยังคงสัดส่วนผู้ถือหุ้นไทยโดยไม่ขัดกับกฎหมายอื่น ต้องแก้สัญญาเพื่อไม่ให้ขัดกับข้อกำหนดตามสัมปทาน และให้เสนอเรื่องหารืออัยการสูงสุด ฉะนั้นจึงเป็นการวิเคราะห์ข้อกฎหมายตามแนวทางที่บริษัทเสนอ

"ไม่ได้มีการตรวจสอบเหตุผล ความจำเป็น ข้อพิรุธของข้อเสนอ กระบวนการเจรจาหาพันธมิตร และผลกระทบหรือประโยชน์ที่กระทรวงจะได้รับจากการแก้ไขจึงเป็นการวิเคราะห์ที่มีข้อบกพร่อง มุ่งสนับสนุนการแก้ไขสัญญาเอื้อเอกชน"

ขณะที่เมื่อมีข้อท้วงติงจากนิติกรชำนาญการระดับ 9 กระทรวงไอซีที นายไกรสร จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นรองปลัดกระทรวง กลับไม่มีการเรียกมาชี้แจงเพิ่มหรือกำชับให้มีการวิเคราะห์ตามแนวทางที่ปลัดกระทรวงสั่งการไว้ รวมถึงมีความเห็นต่างเกิดขึ้นก็ไม่ได้นำเสนอให้คณะกรรมการกำกับสัมปทาน ตาม ม.22 พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ร่วมพิจารณากลับแค่ลงนามเสนอให้ปลัดกระทรวงตามขั้นตอนต่อไป ศาลจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ พิพากษาว่า จำเลยทั้ง 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 157

ชงครม.เรียกผลประโยชน์เพิ่ม

แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงไอซีที กล่าวว่า ได้พยายามดำเนินการแก้ไขปัญหาสัมปทานไทยคมในประเด็นสัดส่วนการถือหุ้นของ "อินทัช" ให้กลับไปถือหุ้นในไทยคมไม่น้อยกว่า 51% แต่อินทัชมีเทมาเส็กถือหุ้นมากสุด ถ้าบังคับให้ถือมากขึ้นจะกลายเป็นเพิ่มสัดส่วนหุ้นต่างชาติ

ด้าน นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีกระทรวงไอซีที กล่าวว่าจะเสนอแนวทางแก้ปัญหาดาวเทียมไทยคมให้ ครม.โดยในเบื้องต้นอิงแนวทางการศึกษาของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเห็นว่าสัมปทานสิ้นสุดปี 2564 ดังนั้นไม่ว่าเงื่อนไขใดก็ตาม การที่ไทยคมมาขอใช้วงโคจรดาวเทียม ซึ่งเป็นไฟลิ่งเดิม ไม่ว่าจะเป็นไทยคม 7-9 มีประเด็นที่ต้องพิจารณาถึงการเปิดให้บริการโดยรัฐไม่เสียหาย เป็นไปได้ 2 แนวทางคือ 1.ให้ถือว่าไทยคม 7 และ 8 ยังอยู่ภายใต้สัมปทานที่สิ้นสุดปี 2564 ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐ 20.5% หรือ 2.ถือว่า 7-8 ไม่ใช่สัมปทาน ต้องทำสัญญา Deep of Agreements ให้มีการจ่ายค่าตอบแทนให้รัฐเพิ่มเติม รวมถึงเปิดให้บริการกับรัฐเพิ่มขึ้น จากเดิม 6.5% ของความจุดาวเทียม


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ฟัน เลี้ยบ   ทำบัญชี สอบบัญชี #สอบบัญชี #สำนักงานสอบบัญชี #ทำบัญชี #สำนักงานบัญชี #ที่ปรึกษาบัญชี #วางระบบบัญชี #วางแผนภาษี บริษัท สอบบัญชี พี แอนด์ อี จำกัด บริษัท สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล. จำกัดแก้สัญญาไทยคม ไอซีที รอชง ครม.รื้อใหม่ ดึงเข้าส

view