สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชำแหละพฤติการณ์ ทหาร-ตำรวจเก มิจฉาชีพในเครื่องแบบ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

ข่าวการจับกุมผู้ต้องหาแต่งกายเลียนแบบเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหาร ปรากฎให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง  

พฤติการณ์ของคนกลุ่มนี้คือ จะแต่งชุดเครื่องแบบสีเขียวสีกากี ติดยศปลอม วางก้ามอวดเบ่ง ข่มขู่รีดไถประชาชน จนมีผู้ตกเป็นเหยื่อสูญเสียทรัพย์สินรายแล้วรายเล่า เพราะความหวาดกลัว

คำถามก็คือ วันที่ตำรวจ-ทหารเก๊อาละวาดไปทั่วเมือง ประชาชนตาดำๆอย่างเราจะรับมือ"มิจฉาชีพในเครื่องแบบ"เหล่านี้อย่างไร 

มีเงิน2,000ก็ปลอมเป็นตำรวจ-ทหารได้?

รับรู้กันดีว่า เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เครื่องหมายระบุยศตำแหน่ง ตราประทับ จนถึงสติ๊กเกอร์ของหน่วยงานราชการ มีวางจำหน่ายให้แก่บรรดาข้าราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม โดยเฉพาะบริเวณด้านหลังกระทรวงกลาโหม ถนนอัษฎางค์ เขตพระนคร ถือเป็นแหล่งกระจายสินค้าประเภทเครื่องแบบข้าราชการที่ใหญ่ที่สุด

เจริญ ถาเเก้ว ผู้ดูเเลร้าน “สยามภัทร 2”  เปิดเผยว่า คนขายที่มีประสบการณ์มาอย่างยาวนานจะทราบดีว่า คนไหนตัวคือเจ้าหน้าที่ตัวจริง คนไหนเป็นตัวปลอม 

“บางคนเข้ามาซื้อปลอกใส่ปืน แต่ดันหยิบปืนอัดลมขึ้นมาโชว์ พวกนี้มันส่อพฤติการณ์ กลิ่นไม่ค่อยดี บางคนมาซื้อกุญแจมือ แต่ดันพูดว่า 'ขอซื้อที่ล็อกหน่อย' ซึ่งเป็นคำศัพท์ไม่ใช่ตำรวจทหารพูดกัน อีกจุดสังเกตคือถุงเท้า ตำรวจตัวจริงขาดถุงเท้าไม่ได้ต้องใส่ตลอด หรือข้าราชการตัวจริง เวลามาซื้อของมักมากัน 2-3 คนหรือมาเป็นกลุ่ม พูดจาฉะฉาน รู้เรื่อง บอกความต้องการชัดเจน เอาเสื้อพราง ชุดเกราะ เปลสนาม อะไรก็ว่าไป ไม่อึกอัก ขณะที่ตัวปลอม บางคนเราถามว่าต้องการอะไรครับ เอาไปใช้ทำอะไร เป็นตำรวจ ทหาร หรือข้าราชการ มักจะชะงัก คิดนาน ตอบไม่ถูก พวกมิจฉาชีพจะมีพิรุธ แต่ไม่ค่อยเจอบ่อยหรอกครับ"

ผู้ซื้อบางรายแม้ไม่ใช่ทหาร ตำรวจ แต่ต้องการสินค้าเพื่อนำไปใช้ในกองถ่ายละคร หรือกองถ่ายภาพยนตร์ แม้กระทั่งงานเลี้ยงที่จัดตามธีมของผู้จัด คนขายไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธความต้องการของผู้ซื้อได้อยู่แล้ว 

“เราไม่ทราบเจตนาที่ผู้ซื้อได้ทุกคน ถึงแม้จะรู้ว่าคนนี้ไม่ใช่ตำรวจ ไม่ใช่ทหาร แต่ห้ามไม่ได้หรอก ของซื้อของขาย อย่างพวกกองถ่ายเขาซื้อทีเป็นสิบๆชุด คนทั่วไปก็ซื้อกันได้ เรื่องแอบอ้างมันไม่ใช่หน้าที่คนขายในการคัดกรอง”

พ่อค้าหนุ่มใหญ่วัย 44 มองว่า แม้การเข้าถึงชุดเครื่องแบบทหาร-ตำรวจจะไม่ใช่เรื่องยาก แต่การนำไปใช้หลอกลวงเพื่อก่อเหตุในสถานการณ์จริง ถือเป็นเรื่องยากที่จะเลียนแบบท่าทีลักษณะของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหารได้อย่างแนบเนียน

“ตัวปลอมมันทำไม่เหมือนหรอก เราต้องขอดูบัตร ถามเยอะๆมันก็ลนแล้ว พวกนี้ท่าทางจะกร่างกว่าปกติ และทำตัวรู้มาก อ้างโน่น อ้างนี่ รู้จักคนนั้น คนนี้ ...สงสัยกลัวคนไม่รู้มั้ง (หัวเราะ) "

พลกฤต บาลมงคล เจ้าของร้าน "3 พลพานิชย์" ให้ความเห็นว่า ผู้ค้ามีหน้าที่ขายของ จะให้คอยตรวจสอบผู้ซื้อคงเป็นเรื่องยุ่งยากและไม่คุ้มที่จะทำ เขาเชื่อว่ามิจฉาชีพที่แอบแฝงมาซื้อชุดไปก่อเรื่องนั้นมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น 

“เราไม่รู้หรอกว่า คนที่มาซื้อเขามีวัตถุประสงค์อะไร บางคนเห็นเสื้อผ้าทหารเป็นแฟชั่น งานประจำปีหลากหลายบริษัทก็ฮิตจัดธีมเครื่องแบบทหารกัน บางคนไปเดินป่าหรือออกค่ายก็มาหาซื้อรองเท้า หาเสื้อผ้าที่ดูแข็งแกร่งใส่ มันลำบากในการตรวจสอบ จะขอดูบัตรก่อนซื้อก็ไม่ใช่หน้าที่เรา หรือให้ขายแต่เฉพาะคนที่ใส่เครื่องแบบอย่างเดียวก็คงไม่ได้ ในฐานะผู้ขายก็ขาย เราไม่ใช่หน่วยงานที่จะมาตรวจสอบ”

เจ้าของร้านหนุ่มรายนี้ให้ข้อมูลว่า ราคาค่างวดของชุดเครื่องแบบทหาร-ตำรวจเต็มยศ อยู่ที่ ไม่เกิน 2,000 บาท

"เลิกกลัว กล้าถาม"วิธีรับมือกับทหาร-ตำรวจเก๊ 

สำหรับประชาชนทั่วไป หากเจอเจ้าหน้าที่ราชการเข้ามาแสดงท่าทีไม่สุภาพ อวดเบ่ง หรือข่มขู่กรรโชก  

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก บอกเสียงเข้มว่า หากไม่มั่นใจว่ากำลังเผชิญหน้ากับทหารหรือตำรวจตัวจริงหรือไม่ ให้เริ่มจากขอดูบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ และขอถ่ายภาพบัตรเก็บไว้เพื่อนำส่งหน่วยงานพิสูจน์ต่อไป

“ประชาชนไม่ต้องกังวล หรือเกรงกลัวเจ้าหน้าที่ หากถูกปฏิบัติอย่างไม่ถูกต้อง ก็มีสิทธิ์ขอดูบัตรประจำตัว ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ตัวจริงเขาพร้อมยืนยันแสดงตัวตนอยู่แล้ว ตามหลักเกณฑ์หากเป็นทหาร ทุกครั้งที่ลงพื้นที่เข้าตรวจค้นสิ่งกฎหมาย เขาจะมีหนังสือระบุคำสั่งชัดเจน สังกัดหน่วยงานใด ได้รับมอบหมายให้ทำเรื่องอะไร เพื่อแสดงตัวตนและอำนาจหน้าที่ ไม่เช่นนั้นก็แยกไม่ออกใครเป็นใคร และใคร ทุกคนสามารถแอบอ้างทำหน้าที่ได้หมด” 

พ.อ.วินธัย ยืนยันว่า ทหารไม่มีสิทธิ์ไปข่มขู่หรือกร่างกับประชาชน หากพูดจาไม่สุภาพ หรือแสดงท่าทีที่มีลักษณะเสื่อมเสียต่อความเป็นเจ้าหน้าที่ แม้กฎหมายไม่ได้ระบุความผิด แต่ในทางระเบียบวินัยของราชการนั้นทำไม่ได้ ถือว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และผู้บังคับบัญชาไม่ปกป้องคนพวกนี้แน่นอน เพราะกองทัพต้องเป็นที่พึ่งของประชาชน 

ส่วนประเด็นเรื่องการเข้าถึงเครื่องแบบเจ้าหน้าที่และตราสัญลักษณ์ได้ง่ายนั้น โฆษกกองทัพบก เห็นว่าไม่ใช่ปัญหา เนื่องจากตามกฎหมาย ประชาชนไม่มีสิทธิ์แต่งเครื่องแบบอยู่แล้ว เชื่อว่ามีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่กล้าตัดสินใจซื้อเครื่องแบบทหารมาใส่เพื่อแอบอ้างหาผลประโยชน์โดยมิชอบ 

ขณะที่ พล.ต.ต.ทรงพล วัธนะชัย รองโฆษกสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ยอมรับว่า การลอกเลียนแบบบุคลิกท่าทางของนายตำรวจและทหาร โจรผู้ร้ายสามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้จึงยากที่ประชาชนจะจับได้ว่า ‘ใครจริง ใครปลอม’

“ถ้าเป็นตำรวจด้วยกันเอง คงดูกันออก และสอบถามจนหาความผิดปกติได้ แต่ประชาชนทั่วไปดูยาก ทั้งตำเเหน่ง ยศ สัญลักษณ์ต่างๆ ฉะนั้นวิธีรับมือคือ ตั้งสติ อย่ากลัว ยิ่งกลัวมันยิ่งทำใครคนนั้นเข้ามากร่าง มาเบ่งใส่ ขอดูบัตร สอบถามเขาเลย นอกเครื่องแบบก็ถามได้ คุณมาด้วยวัตถุประสงค์อะไร สังกัดไหน ผู้บังคับบัญชาชื่ออะไร มีหนังสือคำสั่งมาไหม อย่ากลัวตำรวจถ้าไม่ผิด เรามีสิทธิ์ที่จะถาม คนบริสุทธิ์ใจเขาตอบได้อยู่แล้ว”  

อย่างไรก็ตาม กองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แนะวิธีสังเกตตำรวจปลอม เอาไว้ดังนี้ 

1. ดูจากการแต่งกาย บุคลิกท่าทางไม่มีมาดลุกลี้ลุกลน

2.พูดจากร่างเกินไปมักแสดงตนและนำเสนอว่าเป็นตำรวจบ่อยครั้ง

3.ติดเครื่องหมายประดับหน้าอกแพรแถบและป้ายชื่อไม่เรียบร้อย

4.ใส่เครื่องแบบเต็มยศบ่อยครั้งผิดปกติแม้กระทั่งใส่ไปเที่ยว

5.ทรงผมยาวกว่าปกติไม่ใช่รองทรงต่ำแบบไม่ยาวมาก

6.หน้าตา อายุ วัย ไม่สัมพันธ์กับยศหรือตำแหน่งที่อ้างถึง

7.ตอบคำถามรุ่นหรือหลักสูตรที่จบไม่รู้เรื่อง

8.บัตรข้าราชการเป็นบัตรกระดาษ นำรูปถ่ายมาติดและเคลือบพลาสติก

9.ตอบคำถามเกี่ยวกับการทำงานที่ต้นสังกัดแบบอ้อมค้อมหรือปกปิด

10.ตรวจสอบชื่อ-นามสกุล ตำแหน่ง เบอร์โทรศัพท์ ได้ทางเว็บไซต์ของกองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

แต่งกายเลียนแบบเจ้าหน้าที่ ...โทษถึงคุก

คนส่วนใหญ่อาจไม่รู้ว่า การแต่งการเลียนแบบเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจนั้นมีความผิดตามกฎหมาย  

โดย พ.ร.บ.เครื่องแบบทหาร พ.ศ. 2477 มาตรา 6 ระบุ ว่า

“ผู้ใดแต่งเครื่องแบบทหารตามพระราชบัญญัตินี้ หรือแต่งเครื่องแบบทหารที่ทหารยังคงใช้ในราชการอยู่ โดยไม่มีสิทธิจะแต่งได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน - 5 ปีและถ้าการกระทำเช่นว่ามานี้ได้กระทำภายในเขตซึ่งประกาศใช้กฎอัยการศึกก็ดี ในเวลาสงครามก็ดี ในเวลาบ้านเมืองมีเหตุฉุกเฉินก็ดี หรือเพื่อกระทำผิดทางอาญาก็ดี ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี”

นอกจากความผิดฐานจงใจแต่งเครื่องแบบทหารโดยพลการแล้วใน พ.ร.บ.เครื่องแบบทหารยังระบุถึงความผิดของผู้ที่แต่งกายเลียนแบบทหาร จนสร้างความเสื่อมเสียและเกิดความเกลียดชังกับทหาร โดยในมาตรา 6 ทวิ (แก้ไขเพิ่มเติมในปี 2485) ระบุว่า

“ผู้ใดแต่งกายโดยใช้เครื่องแต่งกายคล้ายเครื่องแบบทหารตามพระราชบัญญัตินี้ หรือคล้ายเครื่องแบบทหารที่ทหารยังคงใช้ในราชการอยู่ อันอาจนำความดูหมิ่นเกลียดชัง หรือความเสื่อมเสียมาสู่ราชการทหารก็ดี อันอาจทำให้บุคคลอื่นหลงเชื่อว่าเป็นทหารก็ดีผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200 บาท และถ้าการกระทำเช่นว่านี้ได้กระทำภายในเขตซึ่งได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกก็ดี ในเวลาสงครามก็ดี ในเวลาบ้านเมืองมีเหตุฉุกเฉินก็ดี หรือเพื่อกระทำความผิดทางอาญาก็ดี ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี”

ขณะที่ พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ประกาศเอาไว้ดังนี้

มาตรา 108 ผู้ใดแต่งเครื่องแบบตำรวจโดยไม่มีสิทธิ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงห้าปี 

มาตรา 110 ผู้ใดแต่งกายโดยใช้เครื่องแต่งกายคล้ายเครื่องแบบตำรวจ และกระทำการใดๆ อันทำให้ ราชการตำรวจถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง หรือทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่ราชการตำรวจ หรือทำให้บุคคลอื่นหลงเชื่อว่าตนเป็นตำรวจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 146 ระบุด้วยว่า ผู้ใดไม่มีสิทธิที่จะสวมเครื่องแบบ หรือประดับเครื่องหมายของเจ้าพนักงาน...หรือไม่มีสิทธิใช้ยศ ตำแหน่ง... กระทำการเช่นนั้น เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

แม้ทุกวันนี้จะมีมิจฉาชีพบางกลุ่มแต่งเครื่องแบบคนมีสีไว้หากินในทางมิชอบ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าประชาชนจะยอมให้คนเหล่านี้มาหลอกลวงกันได้ง่ายๆอีกต่อไปแล้ว


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ชำแหละพฤติการณ์ ทหาร ตำรวจเก๊ มิจฉาชีพในเครื่องแบบ

view