สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ธุรกิจอาหารไม่มีหน้าร้าน โตสอดรับเทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่

จากประชาชาติธุรกิจ

เนื่องจากเทคโนโลยีในปัจจุบันก้าวหน้ามากขึ้น จนทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงระบบสื่อสารออนไลน์ได้อย่างกว้างขวาง ที่ไม่เพียงส่งผลให้รูปแบบการซื้ออาหารเปลี่ยนแปลงไป ยังทำให้ผู้ประกอบการหลายคนมองเห็นช่องทางการทำธุรกิจอาหารออนไลน์อีกด้วย

ผลเช่นนี้จึงทำให้ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) หนึ่งในสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนสาขาการจัดการธุรกิจอาหาร เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของประเทศไทยให้มีมาตรฐาน และมีวิธีการบริหารจัดการธุรกิจที่ทันสมัย จึงได้จัดงานสัมมนาการตลาดภายใต้หัวข้อ "Food Online Marketing เผยสูตรลับจับเงินล้าน" เมื่อไม่นานผ่านมา

เบื้องต้น "อ.สุพรรณี วาทยะกร" อาจารย์สาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวถึงแนวโน้มในการทำธุรกิจอาหารว่า แม้เศรษฐกิจปีนี้จะชะลอตัวลง แต่ตลาดธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยกลับคงมีการแข่งขันสูงอย่างต่อเนื่อง โดยจากการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยถึงมูลค่ารวมของตลาดธุรกิจร้านอาหารในปี 2559 ระบุว่า ตลาดธุรกิจร้านอาหารสร้างมูลค่าสูงถึง 382,000-385,000 ล้านบาท เติบโตจากปีที่แล้ว 1.9-2.7 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่ารวมดังกล่าวมาจากมูลค่าตลาดของร้านอาหารทั่วไป และ 30 เปอร์เซ็นต์เป็นมูลค่าจากตลาดของเชนร้านอาหาร



"เนื่อง จากวิถีชีวิตและพฤติกรรมการบริโภคของคนเมืองเปลี่ยนแปลงอาศัยอยู่ อพาร์ตเมนต์และคอนโดมิเนียมมากขึ้นคนเหล่านี้ประกอบอาหารเพื่อรับประทานเอง ลดลง และผู้บริโภคมีความต้องการใช้บริการจัดส่งอาหารมากกว่าการออกจากบ้านไปซื้อ เพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำการค้าให้สามารถตอบโจทย์วิถี ชีวิตดังกล่าว จนปัจจุบันมีเทรนด์ธุรกิจร้านอาหารที่ไม่มีหน้าร้าน ด้วยการขายสินค้าทางออนไลน์ ซึ่งกำลังได้รับความนิยม และเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา"

โดยจุดเด่นของการขายของทางออนไลน์คือ ใช้เงินทุนเริ่มต้นต่ำ ไม่จำเป็นต้องหาทำเลในการเปิดร้าน สามารถขายได้ทุกที่ทุกเวลา ทั้งยังสามารถเจาะเข้าถึงกลุ่ม

เป้าหมายที่ใช้โซเชียลมีเดียอย่างตรงจุด ส่วนด้านความท้าทายที่ผู้ประกอบการต้องเจอคือ การสร้างความแตกต่างของสินค้า, การควบคุมคุณภาพสินค้า, การบริหารการผลิต

ส่วนใหญ่กลุ่มคนที่หันมาประกอบธุรกิจร้านอาหารโดยไม่มีหน้าร้าน ด้วยการขายสินค้าทางออนไลน์ มักเป็นคนรุ่นใหม่ อายุ 20-35 ปี

"สุชัญญา กีรติยุติ" นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาการตลาดวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ตัวแทนโครงการวิจัย "Food Online Marketing เผยสูตรลับจับเงินล้าน" เล่าให้ฟังว่า เราสำรวจผู้ใช้บริการร้านอาหารออนไลน์ พบว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 38 ล้านคนในประเทศไทย ดังนั้นวิธีที่ร้านอาหารแบบไม่มีหน้าร้านใช้เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคคือ เฟซบุ๊ก 56 เปอร์เซ็นต์ เว็บไซต์กูเกิล 17 เปอร์เซ็นต์ และอินสตาแกรม 9 เปอร์เซ็นต์

"ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคสะดุดตากับร้านอาหารออนไลน์คือ รูปภาพ 58 เปอร์เซ็นต์ รีวิวจากคนเคยสั่งซื้อแล้ว 26 เปอร์เซ็นต์ และวิดีโอคลิปสั้น ๆ 9 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกลุ่มผู้บริโภคออนไลน์ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ เป็น Generation Y 76 เปอร์เซ็นต์ และความถี่ในการสั่งต่อเดือน 1-2 ครั้ง"

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ผลสำรวจของโครงการ "สุชัญญา" และเพื่อนนักศึกษาได้สรุปออกมาเป็นกลยุทธ์ SECRETS ที่สามารถช่วยเสริมแกร่งร้านอาหารออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ และลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ ประกอบด้วย

S-Search สร้างคีย์เวิร์ดเพื่อให้ลูกค้าสามารถค้นหาร้านบนอินเทอร์เน็ตง่ายขึ้น

E-Emotional Value สร้างคุณค่าทางอารมณ์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้า

C-Communication สื่อสารด้วยข้อมูลที่น่าสนใจบนพื้นฐานของความจริง

R-Raw Material ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพดี

E-Essential Tools เลือกใช้เครื่องออนไลน์มาช่วยบริหารจัดการร้านให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

T-Team บริหารจัดการและพัฒนาศักยภาพทีมงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเติบโต

S-Service การบริการให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ

สำหรับ "ภูริภัทร์ ปิตกานันท์" ผู้ประกอบการล็อบสเตอร์แก๊งสเตอร์ บริการอาหารทะเลทั้งแบบสดและปรุงสุกพร้อมทานบอกว่า ผมทำธุรกิจร้านอาหารแบบไม่มีหน้าร้านมากว่า 1 ปี 2 เดือน ด้วยการนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศแคนาดาและแถบเอเชีย ขายในราคาที่ทุกคนสามารถลิ้มลองได้ ซึ่งจุดเริ่มของการทำธุรกิจเกิดจากความสงสัยที่ว่าอาหารทะเลทำไมถึงมีราคาสูง ทั้งที่ไปรับประทานถึงทะเล ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบ จึงคิดว่าคงจะดี หากมีอาหารทะเลระดับพรีเมี่ยมส่งตรงถึงบ้านได้ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่อาจควบคุมไม่ได้

"หลังจากเปิดเพจล็อบสเตอร์แก๊งสเตอร์ประมาณ 4 เดือน ได้รับการตอบรับดีขึ้นเรื่อย ๆ ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มครอบครัว และพนักงานออฟฟิศในกรุงเทพฯ สำหรับเหตุผลที่เลือกใช้ออนไลน์ในการทำการตลาดคือ มีความเสี่ยงไม่มากนัก และลงทุนไม่มาก ซึ่งทุกคนสามารถเริ่มต้นใช้เครื่องมือออนไลน์ทำการตลาดได้ไม่ยาก เพราะความรู้การทำการตลาดออนไลน์มีบนอินเทอร์เน็ตมีมากมาย เช่น เฟซบุ๊กบลูพรินต์ ที่สอนการทำตลาดออนไลน์ ดูวิธีการวัดผล และตัวชี้วัดที่ทำให้ประสบความสำเร็จ และจากวันนี้เป็นต้นไปเราจะเห็นการตลาดที่เป็นออนไลน์ดิจิทัลมากขึ้น"

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเพียงบางตัวอย่างจากโครงการวิจัย "Food Online Marketing เผยสูตรลับจับเงินล้าน" ที่นักศึกษาวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) และผู้ประกอบการมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้ฟัง

เพราะธุรกิจร้านอาหารแบบไม่มีหน้าร้านเป็นรูปแบบธุรกิจที่นับวันจะเติบโตขึ้นรื่อย ๆ ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องอย่าหยุดพัฒนาตัวเอง พยายามคิดค้นสินค้าและบริการที่แปลกใหม่ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคให้มากที่สุด ทั้งยังต้องเท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงของเทรนด์ออนไลน์ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างแน่นอน


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ธุรกิจอาหารไม่มีหน้าร้าน โตสอด รับเทรนด์ ผู้บริโภคยุคใหม่

view