สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

12 ข้อเท็จจริงการศึกษาไทย

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ นอกกรอบ โดย เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ สถาบันอนาคตไทยศึกษา

การปฏิรูปการศึกษามีการพูดกันมานานแล้ว และหยิบยกประเด็นปัญหาขึ้นมามากมาย แต่หลายเรื่องเป็นนามธรรมมาก

บางครั้งก็ฟังเป็นเรื่องไกลตัว ปัญหาการศึกษาทำให้โอกาสของเด็กไทยเสียไปอย่างไรบ้าง รวมถึงผลกระทบที่จะตกกับพ่อแม่ นายจ้าง ภาครัฐ และสุดท้ายส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร

ข้อเท็จจริงที่ 1 : 1 ใน 5 ของเด็กก่อนวัยเรียนมีพัฒนาการต่ำกว่าวัย


จากการคัดกรองพัฒนาการเด็กอายุ 3.5 ปีทั่วประเทศ สัดส่วนนี้ลดลงจากปี 2557 ที่พบเกือบ 1 ใน 3 เด็กพัฒนาการต่ำกว่าวัยนี้แตกต่างกันไปตามพื้นที่ เช่น กทม.มีสัดส่วนเด็กพัฒนาการช้าราว 10% ภาคตะวันตกมีสัดส่วนสูงสุด 47% ในห้องเรียนชั้นประถม สิ่งที่เจอคือนักเรียนบางคนยังอ่านเขียนหนังสือไม่ได้ไปจนจบชั้น ป.6

ข้อเท็จจริงที่ 2 : เด็กนักเรียนชั้นประถม 1-6 ราว 140,000 คน อ่านหนังสือไม่ออก และ 270,000 คนเขียนหนังสือไม่ได้

จากผลการสำรวจของกระทรวงศึกษาธิการเมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 แม้ว่าจะตั้งเป้าเป็นปีปลอดนักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ก็ตาม

ข้อเท็จจริงที่ 3 : เด็กมัธยมที่อายุ 15 ปีราว 1 ใน 3 ไม่สามารถอ่านจับใจความได้


จากผลการสอบนานาชาติ (PISA) พบว่าการสอบการอ่านมีเด็กไทยสอบตก 1 ใน 3 คะแนนเฉลี่ย PISA ด้านการอ่านของเด็กไทยต่ำกว่าเวียดนาม และอยู่ในระดับเดียวกับเด็กจากประเทศคอสตาริกาและชิลี เด็กไทยส่วนใหญ่เข้าถึงการศึกษาในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ อาจเป็นเพราะนโยบายเรียนฟรีของรัฐก็เป็นได้ จากเด็ก 10 คนที่เรียน ป.1 พร้อมกันมา จะมี 6 คนที่ยังเรียนอยู่จนจบ ม.6

ข้อเท็จจริงที่ 4 : มีเด็ก 6 ใน 10 คน ที่เรียนจบ ม.6 หรือ ปวช.

เด็กที่เข้าเรียน ม.1 ราว 1 ล้านคนจะเรียนจนจบ ป.6 ราว 92% เรียนต่อจนจบม.3 มี 83% และเรียนจนจบชั้น ม.6 ประมาณ63% เท่ากับมีเด็กที่เลิกเรียนกลางคันและมีวุฒิการศึกษาต่ำกว่า ม.6 อยู่ 337,000 คนในรุ่นเดียวกัน

ข้อเท็จจริงที่ 5 : ใน 50 โรงเรียนที่คะแนนสอบโอเน็ตสูงสุด 34 โรงเรียนอยู่ในกรุงเทพฯ

50 โรงเรียนนี้กระจายอยู่ใน 9 จังหวัดเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดหัวเมืองทั้งสิ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่สัดส่วนการเรียนต่อปริญญาตรีของเด็กในกรุงเทพฯ สูงถึง 65% ขณะที่สัดส่วนทั้งประเทศอยู่ที่ 28% เท่านั้น

ข้อเท็จจริงที่ 6 : ค่าใช้จ่ายในการเรียนพิเศษ ติวเข้ามหาวิทยาลัยคิดเป็น 1.3 เท่าของค่าใช้จ่ายในการเรียนตามปกติ

จากผลสำรวจของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ พบว่า 60% นักเรียนชั้น ม.ปลายเรียนกวดวิชา โดยเฉลี่ย 2-3 วิชาในการเตรียมตัวเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย มีค่าใช้จ่ายในการเรียน ค่าเดินทางและค่าที่พัก 22,592 บาทต่อปี หรือคิดเป็น 1.3 เท่าของค่าใช้จ่ายในการไปโรงเรียนตามปกติ

ข้อเท็จจริงที่ 7 : 2 ใน 3 ของครอบครัวไทยไม่มีเงินเก็บมากพอจะส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัย

แม้ว่าสามารถกู้เงินจาก กยศ.ได้ก็ตาม ค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ตลอดการเรียนมหาวิทยาลัย 4 ปี เฉลี่ยประมาณ 502,000 บาท ส่วนที่เหลือสามารถกู้ กยศ.ได้ส่วนหนึ่ง แต่ครอบครัวจะต้องมีเงินเก็บอีกราว 326,400 บาท ซึ่งมีถึง 65% ของครัวเรือนที่มีเงินเก็บไม่เพียงพอ และยังพบว่ามีครอบครัวเพียง 27% ที่มีเงินเก็บมากพอโดยไม่ต้องกู้ยืม อีก 8% ต้องกู้ กยศ. ส่วนอีก 65% ของครัวเรือนถึงจะกู้ กยศ.แล้ว ก็ยังมีเงินเก็บไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายในส่วนที่เหลือ

การเรียนมหาวิทยาลัยรัฐอันดับต้น ๆค่าเทอมตก 130,000 บาทตลอดหลักสูตร ขณะที่มหาวิทยาลัยเอกชนอยู่ที่ 310,000 บาท

ข้อเท็จจริงที่ 8 : มีที่นั่งในมหาวิทยาลัยมากกว่าจำนวนเด็กที่เข้าสอบ

มหาวิทยาลัยเปิดรับนักศึกษาผ่านการสอบแอดมิสชั่นทั้งหมด1.51แสนคนแต่มีนักเรียนมาสมัครสอบเพียง 1.24 แสนคน และสุดท้ายมีเด็กผ่านการคัดเลือก 91,813 คนในปี 2558 แม้ตัวเลือกดังกล่าวจะยังไม่รวมเด็กที่ผ่านการคัดเลือกแบบอื่น ๆเช่นการรับตรงและโควตา แต่สะท้อนให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยเปิดรับนักศึกษาล้นเกินความต้องการ 4 ปีผ่านไปมีบัณฑิตจบจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ 260,000 คน เด็กจบคณะสายสังคมคิดเป็น 2:1 ของเด็กที่จบสายวิทยาศาสตร์

ข้อเท็จจริงที่ 9 : มีเด็กจบใหม่ที่ตกงานเกิน 6 เดือนเพียง 1%


อัตราการว่างงานของเด็กที่จบใหม่ระดับปริญญาตรีมีอยู่ 15% แต่เมื่อดูสัดส่วนของคนที่ว่างงานเกิน 6 เดือนกลับพบว่ามีเพียง 1% โดยสาขาที่หางานยากที่สุด คือ วิทยาศาสตร์ นิติศาสตร์ และบริหารธุรกิจ แต่ปัญหาคือมีโอกาสไม่น้อยที่จะได้งานไม่ตรงกับสาขาที่เรียนมา หรืองานที่ใช้ความสามารถต่ำกว่าวุฒิที่มี

ข้อเท็จจริงที่ 10 : 40% ของเด็กจบใหม่ระดับปริญญาตรีได้งานเสมียน พนักงานขายของ


มีเพียง 24% ที่ได้ทำงานสายวิชาชีพ อีก 22% ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ด้านเทคนิค สัดส่วนของเด็กจบใหม่ที่ได้งานเสมียนและพนักงานขายของเพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2548 ที่เคยอยู่ที่ 36% เงินเดือนของเด็กจบใหม่ระดับปริญญาตรีจะได้เม็ดเงินเฉลี่ย 14,500 บาท แต่ถ้าดูตามแยกอาชีพ จะพบว่าเด็กที่ได้งานในสายอาชีพจะได้เงินเดือนมากกว่าเด็กที่จบไปเป็นเสมียนราว 2,500-4,500 บาท ขึ้นอยู่กับว่าจะได้งานที่ไหน ขณะที่เด็กจบ ปวส.แล้วทำงานเป็นเสมียนจะมีรายได้เฉลี่ย 10,330 บาท

ข้อเท็จจริงที่ 11 : 1.5 ล้านล้านบาท คือต้นทุนค่าเสียโอกาสสะสมที่เกิดจากการปฏิรูปการศึกษาไม่สำเร็จ


เมื่อปี 1999 คิดเป็น 11% ของจีดีพีปี 2016 อัตราการเติบโตจีดีพีที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปี 2000-2016 อยู่ที่ 0.14% ถ้าคิดเป็นระดับจีดีพีที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 1.1 แสนล้านบาทต่อปี ผลในวันนี้อาจจะดูไม่มาก แต่จะยิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

เพราะการปฏิรูปต้องใช้เวลา ถ้ายังไม่เริ่มต้นทำอะไรในวันนี้ ต้นทุนค่าเสียโอกาสจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นมาก

ข้อเท็จจริงที่ 12: ถ้าเริ่มปฏิรูปในวันนี้ต้องใช้เวลากว่า 30 ปีกว่าแรงงานชุดใหม่ที่มีทักษะจะดีขึ้น จะกินสัดส่วนเป็นครึ่งหนึ่งของกำลังแรงงานประเทศ

ต้องใช้เวลาสิบปีกว่าจะปฏิรูปสำเร็จ และอีก 20 ปีถึงจะเห็นผลสำเร็จ แรงงานที่มีทักษะดีขึ้นเต็มที่จะเริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงาน ปีแรก ๆ แรงงานชุดใหม่ยังเป็นส่วนน้อยกว่าจะเข้าไปแทนที่แรงงานชุดเก่า ซึ่งถ้าเริ่มทำวันนี้ก็ต้องรอถึงปี 2049 ที่แรงงานทักษะดีขึ้นกินสัดส่วนเป็นครึ่งหนึ่งของกำลังแรงงาน

เป็นการสะท้อนว่า ต้องรีบและเร่งการปฏิรูปการศึกษาให้เร็ว เพราะกว่าจะเห็นผลต้องใช้เวลานาน และวิธีนี้จะเป็นวิธีกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว ต่อเนื่อง และยั่งยืนที่สุด


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : 12 ข้อเท็จจริงการศึกษาไทย

view