สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ฅนโขน 10 ปีโขนพระราชทาน สืบสานมรดกไทย

จากประชาชาติธุรกิจ

ในปี พ.ศ. 2559 นี้ เป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ เป็นปีเดียวกันกับที่โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ หรือโขนพระราชทานเดินทางมาครบ 1 ทศวรรษ คณะกรรมการอำนวยการจัดการแสดงโขนพระราชทานจึงให้ชื่อการแสดงโขนในปีนี้ว่า "พิเภกสวามิภักดิ์" เพื่อความเป็นสิริมงคลและแสดงถึงความจงรักภักดีของคนไทยที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ



สำหรับเนื้อเรื่องของโขนพระราชทานตอน "พิเภกสวามิภักดิ์" เป็นการนำบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ฉบับต่าง ๆ ทั้งบทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 1, รัชกาลที่ 2, รัชกาลที่ 3 และบทโขนของกรมศิลปากรที่เคยจัดแสดงมาประมวลเรียงร้อยปรับปรุงขึ้นใหม่ โดยแบ่งเป็นองก์ที่ 1 สุบินนิมิต ประกอบด้วย ตอนที่ 1 พิเภกถูกขับ, ตอนที่ 2 พิเภกลาชายาและธิดา, ตอนที่ 3 เนรเทศ, ตอนที่ 4 พบนิลเอก, ตอนที่ 5 สวามิภักดิ์ และองก์ที่ 2 ประกอบด้วย ตอนที่ 1 มณโฑทูลตัดศึก,ตอนที่ 2 สนามรบ, ตอนที่ 3 ผูกผมทศกัณฐ์ และ ตอนที่ 4 แก้หอกกบิลพัท

1 ทศวรรษของโขนพระราชทาน นอกจากจะปลุกกระแสความนิยมในการชมโขนแล้ว ยังได้มอบหลายสิ่งหลายอย่างไว้ให้สังคมไทย ดังที่ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯกล่าวถึงความสำเร็จของโขนพระราชทานว่า

"ครบ 10 ปีตั้งแต่ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานให้จัดการแสดงโขนเพื่ออนุรักษ์นาฏศิลป์ชั้นสูงของชาติ ถือเป็นความสำเร็จอย่างมาก ทั้งในแง่การอนุรักษ์และเผยแพร่ให้คนทั่วไปได้ชมการแสดงโขนมากขึ้น และที่สำคัญคือการสร้างช่างฝีมือรุ่นใหม่ขึ้นมาสืบทอดวิชาจากคนรุ่นครู องค์ประกอบหลายอย่างในการแสดงโขนที่เคยสูญหายไปแล้วได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง

เราคิดไม่ถึงว่า 10 ปีแล้ว ทำมาจนเพลิน คณะกรรมการทุกคนดีใจและภาคภูมิใจ เราคิดว่าในสิบปีที่ผ่านมานี้ โขนพระราชทานได้สร้างความพร้อมหลายอย่าง ได้สร้างช่างเอาไว้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ถึงฝีมือช่างโบราณ ไม่ว่าจะเป็นช่างทอผ้า ช่างปัก ช่างทำฉาก ช่างเขียน ช่างแกะต่าง ๆสร้างหัวโขน สร้างเครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย นักร้อง นักดนตรี มีผู้สืบทอดจากคนรุ่นครูเอาไว้ได้มากมาย



ในช่วงระยะเวลา 10 ปีนี้ คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมไทย ดูได้จากคนที่เข้ามาชมโขนพระราชทาน นับวันยิ่งมากขึ้น ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง จากปีแรก ๆ ที่ผู้ชมไม่มาก อายุของผู้ชมก็มีแต่สูงวัย ตอนนี้ผู้ชมอายุน้อยลง จนต่อยอดไปถึงเด็กเยาวชนที่คุณพ่อคุณแม่ส่งไปเรียนโขน นาฏศิลป์ เยาวชนอยากมาเล่นโขนพระราชทาน จากปีแรกมีผู้เข้าคัดเลือกนักแสดง 30 คน เพิ่มเป็น 70-100 คน ปีนี้มากถึงเกือบ 800 คน เป็นที่น่าพอใจแล้วว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่พระองค์ท่านทรงตั้งพระทัยไว้มาถึงจุดที่สำเร็จ และถ้าดูตามงานสังคมของประเทศเรา หรืองานที่นำออกไปแสดงถึงต่างประเทศ ก็เป็นการนำนาฏศิลป์ นำโขน นำการแสดงที่เป็นศิลปวัฒนธรรมของชาติไปเผยแพร่ทั้งสิ้น ถือว่าพระองค์ท่านได้ทรงจุดประกายให้เกิดความรักในศิลปวัฒนธรรม รักในชาติของเรา"

คนโขนรุ่นใหม่

ดังพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมราชินีนาถที่ทรงอยากให้มีการแสดงโขนเพื่อส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ในการแสดงโขนพระราชทานจึงไม่ได้ใช้นักแสดงมืออาชีพหรือคนรุ่นครูบาอาจารย์แต่เปิดให้เยาวชนที่สนใจเข้าคัดเลือกเพื่อเป็นนักแสดง



ม.ล.ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี รองประธานคณะกรรมการอำนวยการและผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ กล่าวถึงรายละเอียดส่วนนี้ว่า ปีนี้ได้รับความสนใจล้นหลาม นักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศพร้อมใจกันมาร่วมสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามของชาติไทย



อาจารย์ประเมษฐ์ บุณยะชัย ผู้กำกับการแสดงโขนพระราชทาน กล่าวว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าหลาย ๆ คนที่ไม่ได้รับคัดเลือกในปีก่อน ๆ จะไปฝึกปรือฝีมือ แล้วกลับมาใหม่ สำหรับผู้ที่ผ่านการคัดเลือกนั้นถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ฝึกฝีมือรับคำแนะนำจากศิลปินอาวุโส จนก้าวขึ้นเป็นผู้ที่มีความสามารถและเป็นกำลังสำคัญของชาติด้านการโขนต่อไป

ฝั่งเยาวชนที่เข้ามาร่วมคัดเลือกนักแสดง"ผักกาด-ณัฐพร แก้วจันทร์" เยาวชนอายุ 18 ปี จากวิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัย บอกว่า "ครั้งแรกที่มาไม่ได้รับคัดเลือก ก็กลับมาใหม่ และได้มีโอกาสได้แสดงชุด ศึกกุมภกรรณ ตอน โมกขศักดิ์ ตอนนั้นก็รู้สึกดีใจและเป็นเกียรติกับชีวิตแล้ว จนตอนปีที่แล้ว พรหมาศก็ได้ทุนการศึกษาเป็นครั้งแรก และปีนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่ได้ทุน ยังรู้สึกดีใจและตื้นตันใจอย่างบอกไม่ถูก หนูรู้สึกว่าเป็นความฝันสูงสุดของคนนาฏศิลป์ที่จะได้มายืนบนเวทีที่ยิ่งใหญ่เวทีนี้ เชื่อว่าประสบการณ์จะช่วยพัฒนาฝีมือได้"

ฉากโขนตระการตา สร้างช่างฝีมือให้ประเทศ

เช่นกันกับฉากและอุปกรณ์ประกอบฉาก ซึ่งอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญในการแสดงโขนที่จะสร้างความตื่นตาตื่นใจให้คนดู ก็ไม่ได้ระดมช่างฝีมือชั้นยอดของประเทศมาทำ แต่สมเด็จพระราชินีทรงอยากให้ใช้ช่างฝีมือจากศิลปาชีพ เพื่อให้โอกาสเขาได้พัฒนาฝีมือและนำไปประกอบวิชาชีพได้

โดยมี อาจารย์สุดสาคร ชายเสม เป็นผู้ออกแบบและควบคุมดูแลมาตั้งแต่ปีแรก ปีนี้ใช้ช่างฝีมือจากศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด อำเภอบางปะอิน

อาจารย์สุดสาครบอกว่าไฮไลต์ของโขนพระราชทาน ตอนพิเภกสวามิภักดิ์ คือ เรือสำเภา มหาปราสาทกรุงลงกา ซึ่งมีฉากหมุนปราสาท และอีกหนึ่งไฮไลต์คือท้องพระโรงใน ซึ่งอ้างอิงมาจากพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อจะให้เห็นความอลังการโอ่อ่าของท้องพระโรงไทย

"การทำฉากของเราทุกฉาก ไม่ได้คิดว่าจะทำแค่ให้เสร็จ ๆ ไป เพื่อรับตังค์ เราทำแบบประณีตใส่ใจรายละเอียดจริง ๆ เคยมีฝรั่งมาดูแล้วเขาตกใจว่ายังมีการทำงานแบบนี้กันอยู่อีกเหรอ และเรายังคิดไปถึงเรื่องการอนุรักษ์ การสร้างคน ในงานฉากหนึ่งชิ้นเราต้องรู้ว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง ประกอบด้วยช่างกี่แขนงที่เราต้องรับผิดชอบ ต้องฝึกเขา"

"โขนประกอบด้วยวิจิตรศิลป์ 5 แขนง ได้แก่ จิตรกรรม, ประติมากรรม, สถาปัตยกรรม, วิชวลอาร์ต ทัศนศิลป์, มโนศิลป์ คือ คีตศิลป์ นาฏศิลป์ ดุริยางค์ ในส่วนการทำฉากก็ต้องใช้ความรู้ช่างสถาปัตยกรรม แลนด์สเคป เพ้นติ้ง ครบวิจิตรศิลป์ทั้ง 5 แขนง มันเป็นวิชาเฉพาะ ต้องเป็น Thai study เป็นเทรดดิชันแนล ต้องเรียน

การทำงานฉากโขนมันหนักอยู่ที่ช่างเขียน ถ้าฝึกช่างเขียนได้แล้ว เราจะสามารถไปคุมงานอื่นได้ ช่างเขียนชั้นเยี่ยมต้องมีความรู้เรื่องประติมากรรม และความรู้เรื่องไดเมนชั่น มิติ จะรู้แค่ด้านหน้าไม่ได้ ต้องดูด้านข้าง ด้านหลัง จะทำปราสาทองค์หนึ่งต้องรู้ว่าด้านไหนเป็นยังไง และต้องรู้ลึกไปถึงโครงสร้างของมัน เพื่อจะสร้างขึ้นมาให้ได้ เมื่อสร้างขึ้นมาแล้วเอาไปไว้ในโรงละคร เฉพาะกิจจะย่นย่อยังไง ใช้วัสดุอะไรทดแทน จะทำงานกับเทคนิคอย่างไร มีรอก มีลิฟต์กี่ตัว แต่ละตัวขนาดเท่าไหร่ จะออกแบบฉากเกินขนาดไปไม่ได้ ต้องรู้ จะทำยังไงให้เปลี่ยนขึ้น-ลงได้สมูทในเวลาแค่ไม่กี่วินาที มันละเอียด ต้องทำงานประสานกันจริงจัง"



ช่างฝีมือจากศิลปาชีพที่มาทำฉากและอุปกรณ์ประกอบฉากโขนนั้น ได้รับการสอนงานช่างฝีมือขั้นพื้นฐานมาแล้ว โดย อาจารย์สมหมาย ทับทอง ที่ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด

"แต่งานโขนต้องละเอียดกว่าที่เขาเรียนมา เราต้องตรวจงานให้ละเอียด ถ้าไม่ดีก็ให้แก้ใหม่ เราต้องยอมเหนื่อย อย่างกลางคืนถึงเวลาจะนอนแล้ว ถ้าเด็กมาส่งงานแล้วยังไม่ผ่าน เราก็ต้องบอกต้องสอนให้เขาแก้ ไม่งั้นงานมันออกไปไม่ดี" อาจารย์สุดสาครบอก

ถึงแม้ไม่ได้เรียนทางศิลปะมาโดยตรง แต่อาจารย์สุดสาครบอกว่าตรงนี้ไม่ได้เป็นข้อเสียเปรียบคนที่เรียนมา แต่ยังเป็นข้อดีด้วยซ้ำ

"เด็กที่มาทำงานช่างฝีมือตรงนี้ไม่ได้เรียนทางด้านศิลปะมาโดยตรง แต่ฝึกไม่ยาก เพราะเด็กจะไม่ต้องคิดเรื่องอื่นเหมือนเด็กที่เรียนในระบบ เขาเรียนรู้ด้วยการกระทำ ในขณะที่เด็กที่เรียนในระบบเขาต้องเรียนวิชาอื่น ๆ อีกร้อยแปดประการ ทำให้จิตไม่นิ่ง เพราะต้องทำงานวิชาอื่น ๆ อีก ไม่มีใจที่จะมาโฟกัสกับเรื่องศิลปกรรม วันนี้เราได้รับประโยชน์จากเด็กที่สมเด็จฯ ไปชวนมาจาก อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เด็กที่มาจากอมก๋อยเป็นเด็กละเอียดอ่อน มีสุนทรียะ ทำงานได้ดีเยี่ยม"

เรื่องการผลิตช่างฝีมือนั้น 10 ปีที่ผ่านมาของโขนพระราชทานนั้นถือว่าประสบความสำเร็จ เป็นการอนุรักษ์สืบทอดงานช่างของไทย มีช่างฝีมือรุ่นใหม่เกิดขึ้นมา และช่างฝีมือเหล่านั้นสามารถนำองค์ความรู้ไปต่อยอดประกอบอาชีพได้ แต่ที่ อ.สุดสาครบอกว่าน่าเป็นห่วงคือ ยังผลิตอาร์ตไดเร็กเตอร์ไม่ได้

"เรายังไม่สามารถผลิตอาร์ตไดเร็กเตอร์ได้ ผลิตได้แค่ช่างฝีมือที่มาเป็นลูกมือ แต่ยังสร้างมันสมองที่จะมาครีเอตไม่ได้ เพราะคนที่จะมาครีเอตได้ต้องรู้เยอะ ต้องรู้ทุกแขนง แม้กระทั่งการรำ เพลง ต้องรู้ว่าเล่นกี่นาที เพลงเป็นยังไง อารมณ์เพลงเป็นยังไง ต้องอ่านวรรณกรรมเป็น ต้องรู้ว่าแต่ละตอนให้ความรู้สึกยังไง ต้องจำธีมได้ ต้องทำคอนเซ็ปต์ของแต่ละตอนได้ถึงจะไปคุมพวกนาฏศิลป์ได้ ไม่งั้นเขาจะไม่เชื่อเรา ปัญหาคือเด็กที่เรียนในสถาบันที่เราให้มาเป็นหัวหน้าฝ่ายต่าง ๆ เขาไม่เอาอย่างเรา เขาไม่ทุ่มเท จึงยังไม่มีคนขึ้นมาแทนได้ เราอยากให้คนข้างนอกเข้ามาทำ เราไม่ได้ผูกขาด

วันนี้โขนสมเด็จพระนางเจ้าฯ มีกระบวนการทางศิลปกรรมครบ สมเด็จฯทรงมีพระปัญญาเป็นเลิศมีพระวิสัยทัศน์ไกลมาก โขนพระราชทานต้องอยู่ต่อไป อยากให้มีการเอาโขนมาโปรโมตออกสื่อบ้าง เด็กรุ่นใหม่จะได้สนใจ เด็กชอบหนุมานมากนะ แต่ตอนนี้มันไม่มีให้เขาดู สำหรับคนที่ดูโขนอยู่ทุกวันนี้ ดูไปเถอะ วันหนึ่งจะไม่ได้ดูแล้ว พอมันหมดไปแล้วก็ต้องยอมรับ" อาจารย์สุดสาครกล่าว



ทอผ้า-ปักเครื่องโขน ฟื้นภูมิปัญญาไทย

เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก็เป็นอีกองค์ประกอบสำคัญในการแสดงโขน เมื่อมีการแสดงโขนพระราชทาน สิ่งที่ตามมาคือมีการพลิกฟื้นการทอผ้ายกแบบแบบโบราณที่เคยสูญไปแล้ว เป็นการสืบทอดมรดกองค์ความรู้การทอผ้ายกให้อยู่คู่กับสังคมไทยต่อไป เช่นกันกับการปักเครื่องโขนที่มีสมาชิกศิลปาชีพเข้ามาสืบทอดอีกมากมาย



อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับการแสดงโขนฯ ให้ข้อมูลว่า ผ้าที่ใช้เป็นเครื่องแต่งกายโขนหลัก ๆ คือ ผ้ายกทอง เป็นผ้าไหมที่ทอด้วยเทคนิคการยกลวดลายให้ปรากฏเด่นชัดขึ้น มีชื่อเสียงมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาในฐานะที่เป็นผ้าราชสำนัก ทอด้วยเส้นไหมเนื้อละเอียด แทรกลวดลายด้วยไหมเงิน ไหมทองที่บางเบา และทออย่างประณีต โครงสร้างของการวางลวดลายอันประกอบด้วยท้องผ้าและกรวยเชิงมีลักษณะแบบราชสำนักที่ใช้สำหรับเจ้านายชั้นสูงในอดีตเป็นทั้งผ้านุ่งโจงและนุ่งจีบ

"โขนพระราชทานนำมาซึ่งการฟื้นฟูการผลิตผ้ายกเมืองนครมรดกวัฒนธรรมผ้าทอไทยที่ครั้งหนึ่งเหลือเป็นเพียงโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์ เริ่มต้นการผลิตโดยช่างทอของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ที่เนินธัมมัง และศูนย์ศิลปาชีพบ้านตรอกแค จังหวัดนครศรีธรรมราช จนปัจจุบันนี้ได้มีการพัฒนาฝีมือสมาชิกของศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง จ.อ่างทอง เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่ง หลังจากทอผ้ายกทองเสร็จแล้ว จะนำมาปักลวดลายต่างกันไป เพื่อใช้สำหรับส่วนต่าง ๆ ของชุดนักแสดง อาทิ ลายราชวัตรดอกลอย และลายแย่งพุ่มข้าวบิณฑ์หน้าขบดอกใน ใช้สำหรับตัวละครเสนายักษ์ และตัวละครเอก ลายราชวัตรย่อมุมไม้สิบสอง สำหรับตัวละครพิเภก และ ขนทักษิณาวัตร สำหรับตัวละครหนุมาน

ขั้นตอนการปักเครื่องโขนนั้นใช้ดิ้นและเลื่อม โดยเริ่มจากร่างแบบลายลงบนกระดาษไข แล้วนำไปทำบล็อกซิลก์สกรีน หลังจากสกรีนลายลงบนผ้าด้วยกาวกระถินผสมดินสอพองแล้วจะขึงสะดึงด้วยผ้าขาวให้ตึง แล้วนำผ้าที่จะใช้มาปักเย็บตรึงให้เรียบ และเริ่มดำเนินการปักตามลาย โดยเริ่มจากการปักขอบลายด้วยดิ้นข้อก่อน เสร็จแล้วจึงปักด้านในของลายด้วยดิ้นโปร่งให้เต็มลาย"

หัวโขน คืนชีพกระดาษข่อย

จากงานทำฉากและอุปกรณ์ประกอบฉาก แตกยอดต่อไปถึงการรื้อฟื้นการผลิตกระดาษข่อยเพื่อใช้ในการทำหัวโขน หลังจากที่เจ้าสุดท้ายที่ผลิตกระดาษข่อยในเมืองไทยได้เลิกผลิตไปกว่า 20 ปีแล้ว

สืบเนื่องจากอาจารย์สุดสาคร คิดว่าการจ้างคนอื่นทำหัวโขนทำให้มาตรฐานตกลงไป เพราะช่างฝีมือรุ่นเก่า ๆ ล้มหายตายจากไป คนรุ่นใหม่ไม่ได้พิถีพิถันเท่าเดิม ความงามไม่เท่าเดิม รวมทั้งวัสดุที่ใช้ไม่คงทน

"ผมเป็นคณะกรรมการตรวจรับงาน คิดว่าเราอยู่ในฐานะนี้ เราไม่อยากเห็นโขนดร็อปลง มันต้องดีขึ้น ไม่ใช่ลดความนิยมเรื่อย ๆ เพื่อความมั่นคงของโขนราชินี ต้องมีการทำหัวโขนของตัวเอง จึงคิดว่าควรรื้อฟื้นการทำหัวโขนจากกระดาษข่อยขึ้นมาตามอย่างที่ใช้กันดั้งเดิมตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เราจึงเสนอให้ทำหัวโขนจากกระดาษข่อย เพราะกระดาษข่อยมีคุณสมบัติทนทาน ปลวกมอดไม่กิน และน้ำหนักเบา จึงมีการพลิกฟื้นการทำกระดาษข่อยขึ้นมาเมื่อต้นปี เพิ่งทำปีนี้เป็นปีแรก แต่ยังไม่ทันใช้ในการแสดงโขนปีนี้

เซ็นเตอร์การทำกระดาษข่อยและหัวโขนอยู่ที่ศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทองจังหวัดอ่างทองพอจะเริ่มทำก็มีการสำรวจต้นข่อยในเขตจังหวัดอยุธยาสุพรรณฯ สิงห์บุรี อ่างทอง ได้มาเพียงพอต่อการผลิตหัวโขนในปีนี้ แต่คิดต่อไปว่าถ้ามีคนต้องการใช้กระดาษข่อยมากขึ้นนอกเหนือจากที่ใช้ในการทำหัวโขน เราจะผลิตมากขึ้น ก็ต้องปลูกต้นข่อยเอง"

อาจารย์สุดสาครย้ำถึงแนวคิดในการสืบสานงานศิลป์ของแผ่นดินว่า "ถ้าเราทำงานของเราได้ครบอย่างที่วางไว้ มันก็จะยั่งยืน เราต้องวางตัวคนรุ่นต่อไปที่จะมารับผิดชอบต่อจากเรา เราจึงเปิดการเรียนการสอนทำหัวโขน"

โขนพระราชทานเปิดแสดงเป็นเวลา 1 เดือนเท่านั้น แต่ทีมงานและผู้เกี่ยวข้องระดมแรงกายแรงใจทำงานกันตลอดปี ไม่มีหยุด ตอนนี้ทุกคนกำลังทำงานของตัวเองอย่างขะมักเขม้น เพื่อให้การแสดงออกมาประทับใจผู้ชม ให้มีคนรุ่นใหม่สนใจอยากชมและอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโขนเพิ่มมากขึ้น


สำหรับปีนี้ โขนพระราชทานตอน "พิเภกสวามิภักดิ์" กำหนดจัดแสดงระหว่างวันที่ 5 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2559 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ผู้สนใจสามารถซื้อบัตรได้ที่ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ ทุกสาขา โทร.0-2262-3456 หรือ www.thaiticketmajor.com บัตรราคา 620/ 820/ 1,020/ 1,520 และ 1,820 บาท ส่วนรอบนักเรียน นักศึกษา บัตรราคา 120 บาท ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.khonperformance.com


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ฅนโขน โขนพระราชทาน สืบสานมรดกไทย

view