สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พลิกกฎแก้ ประโยชน์ทับซ้อน มรดกรัฐประหาร คมช.ระทึกถึง คสช.

จากประชาชาติธุรกิจ

วิเคราะห์

กระแส "ผลประโยชน์ทับซ้อน" หรือ "ขัดกันแห่งผลประโยชน์" เป็นปมที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในจังหวะสำคัญ 2 ประการ

ประการแรก เป็นจังหวะที่ "ร่างรัฐธรรมนูญปราบโกง" ของ "มีชัย ฤชุพันธุ์" อยู่ในกระบวนการที่ส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ นำขึ้นทูลเกล้าฯ

ประการสองอยู่ในช่วงที่บริวารแวดล้อมของ "พล.อ.ประยุทธ์" กำลัง "เป็นพิษ" เพราะเจอข้อครหา "ผลประโยชน์ทับซ้อน" ทั้งข่าว "ทริปฮาวาย" ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม นอกจากถูกมองว่าใช้งบฯเช่าเหมาลำการบินไทย 20.9 ล้านบาท แพงเกินจริงโดยเฉพาะค่าอาหารกว่า 6 แสนบาท ยังมีกระแสข่าวว่าคนใกล้ชิดผู้ใหญ่ในรัฐบาลที่มิได้มีตำแหน่งด้านความมั่นคงติดสอยห้อยตามไปด้วย

ลากยาวสาวไปถึงคนใกล้ชิดผู้ใหญ่ในรัฐบาลตั้งบริษัทรับงานจากกองทัพ

มิอาจรวมถึง ปมที่ลูกชายของ "พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา" อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ชื่อ "นายปฐมพล จันทร์โอชา" มีศักดิ์เป็นหลาน พล.อ.ประยุทธ์ เปิดบริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น เป็นคู่สัญญารับเหมาหน่วยงานภาครัฐ 155,603,000 บาท และบริษัทดังกล่าวยังตั้งอยู่ในค่ายทหาร


ขณะที่ "พล.อ.ปรีชา" ลงนามอนุมัติให้นายปฏิพัทธ์ จันทร์โอชา บุตรชาย เข้าเป็นนายทหารปฏิบัติการกิจการพลเรือน สังกัดกองทัพภาคที่ 3 รับเงินเดือน 15,000 บาท และได้รับการแต่งตั้งยศเป็นว่าที่ร้อยตรี ถูกโจมตีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนมาแล้ว

แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะชิ่งหลบกระแสร้อน โดยโยนให้บุคคลที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจง-แก้ต่างกันเอง



ที่มากฎหมาย 3 ชั่วโคตร

แต่ระหว่างที่วาระ "ปราบปรามการคอร์รัปชั่น" ถูกจุดพลุให้เป็นวาระแห่งชาติ มีกฎหมายฉบับหนึ่งกำลังเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในอังคารที่ 18 ตุลาคม ชื่อว่า "ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. ...." หรือ กฎหมาย 3 ชั่วโคตร สามารถเอาผิด-ลงโทษ ตั้งแต่ พ่อ-แม่ ถึงลูก

เป็น "หลักหมุด" ในการป้องกันการทุจริตในอนาคต ซึ่งเป็นกฎหมายที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์พยายามผลักดัน อันมีรากฐานมาตั้งแต่การ "ปฏิวัติ" ครั้งเก่าในยุค พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้า ซึ่งครั้งนั้นถูกกล่าวขานว่าเป็น กฎหมาย 7 ชั่วโคตรรวมเครือญาติ แต่ต้อง "แท้ง" ในชั้น สนช. เนื่องจากไม่ครบองค์ประชุม

เปิดสาระ 5 ข้อ ต้องห้าม

สาระของร่างกฎหมายดังกล่าวที่ถูกนำมา "ปัดฝุ่น" อีกครั้ง โดยมีฐานความผิดการกระทำที่ขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม ตามมาตรา 5 ดังนี้

1.การกำหนดนโยบายหรือให้ความเห็นชอบร่างกฎหมาย ซึ่งเอื้อประโยชน์แก่กิจการที่ตน คู่สมรส บุตร หรือบิดามารดา มีส่วนได้ส่วนเสียเกินกว่าส่วนได้เสียตามปกติที่คนทั่วไปมีอยู่
2.การใช้ข้อมูลภายในของรัฐซึ่งยังเป็นความลับ ซึ่งได้รับทราบจากการปฏิบัติราชการ โดยทุจริต 3.ริเริ่ม หรือเสนอจัดทำ หรืออนุมัติโครงการของรัฐหรือของหน่วยงานรัฐโดยทุจริต เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อตนเองหรือผู้อื่นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

4.ใช้ทรัพย์สินของหน่วยงานที่ตนสังกัดหรือที่ตนปฏิบัติหน้าที่อยู่เพื่อประโยชน์ของตนหรือผู้อื่นเว้นแต่ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมายหรือทรัพย์สินนั้นมีราคาเล็กน้อย

5. การใช้ตำแหน่งหรืออำนาจหน้าที่ที่มีอยู่โดยทุจริต ไปมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจโดยอิสระในการใช้อำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่ดำรงตำแหน่งอื่นไม่ว่าทางตรงทางอ้อมหรือเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐนั้นกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด อาทิ บรรจุ แต่งตั้ง เลื่อนเงินเดือน โอน ย้าย ดำเนินการทางวินัย หรือให้ผู้ใต้บังคับบัญชาพ้นจากตำแหน่งหรือการปฏิบัติหน้าที่-ไม่ฟ้องคดี ไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกา ไม่ดำเนินคดี หรือไม่ดำเนินการอื่นใดเกี่ยวกับคดี หรือให้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง ถอนอุทธรณ์-ฎีกา ไม่ว่าจะเป็นคดีประเภทใด

มาตรา 6 ในกรณีที่บุคคลใดได้รับประโยชน์จากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ คู่สมรส บุตร หรือญาติ ตามมาตรา 5 ให้ถือว่าบุคคลนั้นมีส่วนร่วมในการกระทำผิดและรับโทษเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่รัฐ

ส่วนมาตรา 7 ให้ถือว่าความผิดมาตรา 5 และ 6 ให้ถือว่าเป็นความผิดทางอาญา และเป็นเหตุให้ถูกถอดถอนจากตำแหน่งได้

มรดกกฎหมายจาก รธน.50

นอกจากกฎหมาย 3 ชั่วโคตร ที่จะถูกนำมาใช้ในอนาคตแล้ว ในร่างรัฐธรรมนูญ.ฉบับมีชัย ยังติดตั้ง "กลไกป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน" อยู่ในหมวด "ขัดกันแห่งผลประโยชน์" เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2550 ก็มีหมวด "ขัดกันแห่งผลประโยชน์" เช่นกัน

ซึ่งเจตนารมณ์ของหมวด "ขัดกันแห่งผลประโยชน์" ทั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 และ กรธ.ชุด "มีชัย" มาจากเจตนารมณ์เดียวกันคือ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือการแสวงหาผลประโยชน์มิชอบในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาคู่สมรส บุตร และบุคคล และให้บังคับรวมถึงนายกฯ และ รัฐมนตรีด้วย

"สมัคร" สังเวยเก้าอี้นายกฯ

และ "สมัคร สุนทรเวช" อดีตนายกรัฐมนตรี คือคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ต้องพ้นจากตำหน่งนายกฯ เพราะมีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนหมวดขัดกันแห่งผลประโยชน์

เนื่องจากทำหน้าที่พิธีกรในรายการ "ชิมไปบ่นไป" หลังจากเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว และยังคงได้รับค่าตอบแทนที่มีลักษณะเป็นทรัพย์สินจากบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ เมื่อสิงหาคม 2551

นอกจากนี้ยังมี ส.ส.อีก 6 ราย ที่ต้องหลุดจากเก้าอี้ผู้ทรงเกียรติ จากเหตุ "ถือหุ้นต้องห้าม" ซึ่งบรรจุอยู่ในหมวดขัดกันแห่งผลประโยชน์เช่นกัน ทั้ง 6 ราย ประกอบด้วย นายสมเกียรติ ฉันทวานิช ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร ส.ส.พระนครศรีอยุธยา นางมลิวัลย์ ธัญญสกุลกิจ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อแผ่นดิน นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย ว่าที่ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย และ ม.ร.ว.กิติวัฒนา ไชยันต์ ปกมนตรี ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อแผ่นดิน

เมื่อรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ. 3 ชั่วโคตร ประกาศใช้ คนในเครือข่ายผู้มีอำนาจไม่ว่าปัจจุบัน หรือ อนาคต ที่มีแผลเรื่อง "ผลประโยชน์ทับซ้อน" ต้องร้อน ๆ หนาว ๆ เพราะจะมีคนนำช่องทางนี้มาลองของแน่นอน


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พลิกกฎแก้ ประโยชน์ทับซ้อน มรดกรัฐประหาร คมช. คสช.

view