สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เดิมพัน ฮาร์ด เบร็กซิต กับวิกฤตค่าเงินปอนด์

จากประชาชาติธุรกิจ

เปิดฉากเดือนตุลาคมมาเพียงสัปดาห์เดียวค่าเงินปอนด์เมื่อเทียบกับดอลลาร์ก็ทำสถิติดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2009 ตลอดทั้งสัปดาห์เงินปอนด์อ่อนค่าลงราว 4.1 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งการทำสถิติต่ำสุดในรอบ 31 ปีเอาไว้ระหว่างการซื้อขายในเอเชียที่ 1.1841 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ในช่วงเวลาซื้อขายเพียง 2 นาทีที่เรียกกันว่า "แฟลช แครช" เมื่อ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา

ผู้สันทัดกรณีพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือ "ปฏิกิริยา" ของตลาดที่มีต่อ "เบร็กซิต" ทั้ง ๆ ที่ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเบร็กซิตยังไม่ชัดเจนนัก แต่ผู้ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ของทางการอังกฤษแสดงความคิดเห็นออกมาให้ชวนคิดได้ว่า "เบร็กซิต" ไม่เพียงเป็นความเป็นจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วเท่านั้น ยังมีแนวโน้มที่เป็นการ "หย่าขาด" จากสหภาพยุโรปแบบ "เด็ดขาด" และ "เฉียบพลัน" อย่างที่เรียกกันว่า "ฮาร์ด เบร็กซิต" ไม่ใช่ชนิดนุ่มนวล ค่อยเป็นค่อยไป และยังคงรักษาความเชื่อมโยงระหว่างกันในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าเสรีและการจัดการด้านการเงิน อย่างที่หลายฝ่ายคาดกันว่าจะเป็นกันก่อนหน้านี้

แต่หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีพรรคอนุรักษนิยมเมื่อ 5 ตุลาคม เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีพูดออกมาชัดเจนว่า รัฐบาลอังกฤษมีความคิดโน้มเอียงไปในทาง "ฮาร์ด" เบร็กซิตมากกว่า



คนสนิทของ "เดวิด ดาวิส" รัฐมนตรีกิจการเบร็กซิต ก็เพิ่มน้ำหนักให้กับแนวทางดังกล่าวด้วยการเปิดเผยถึงเค้าโครงของสิ่งที่รัฐบาลอังกฤษยึดถือว่าเป็น "เรื่องต้องห้าม" ในการเจรจาเพื่อออกจากการเป็นสมาชิกภาพสหภาพยุโรป (อียู) ในอนาคต ซึ่งประกอบด้วย การจ่ายเงินเข้าสมทบในงบประมาณของอียู, ขอบเขตอำนาจศาลยุติธรรมแห่งอียู, การเคลื่อนย้ายแรงงานโดยเสรี และอะไรก็ตามที่เป็นการแทรกแซงกระบวนการนิติบัญญัติของอังกฤษ

คำตอบที่ได้จากผู้นำอียู โดยเฉพาะฝรั่งเศสและเยอรมนี เป็นไปตามที่คาดกันไว้ นั่นคือ จุดยืนที่ไม่ยอมรับเรื่องต่าง ๆ ข้างต้นนี้ของอังกฤษนั้น เป็นจุดยืนที่อียู "ยอมรับไม่ได้" เหมือนกัน ตามมาตรฐานของอียู เรื่องของการเคลื่อนย้ายผู้คน, สินค้า, บริการ และทุนนั้นไม่สามารถแยกออกจากกันได้ จะเลือกรับอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่ยอมรับอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้

"ฟรองซัวส์ โอลลองด์" ประธานาธิบดีฝรั่งเศสบอกไว้ชัดเจนอย่างยิ่งว่า อังกฤษ "อยากได้" อันหนึ่งอันใดก็จำเป็นต้อง "จ่ายค่าตอบแทน" เหมือน ๆ กับชาติอื่น ๆ ส่วน แองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีตรงไปตรงมามากกว่านั้น ด้วยการแสดงความคิดเห็นต่อ "เรื่องต้องห้าม" ทั้งหลายว่า การเจรจาเบร็กซิตใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นนั้น "ไม่มีอันไหนง่าย" เด็ดขาด สะท้อนให้เห็นว่า อังกฤษอาจไม่ได้รับ "สถานะพิเศษ" ในการเจรจาอย่างที่เคยมีบางคนคาดหมายกันไว้ก่อนหน้านี้อีกด้วย

หัวใจของความขัดแย้งทางความคิดเกี่ยวกับเบร็กซิตที่เริ่มแสดงออกตั้งแต่ยังไม่ออกสตาร์ตนั้นอยู่ที่"การเคลื่อนย้ายแรงงานโดยเสรี"ที่ ไซมอน ทิลฟอร์ด ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์เพื่อการปฏิรูปยุโรป (ซีอีอาร์) เชื่อว่า เทเรซา เมย์ กำลังใช้เป็นเดิมพัน เพราะเชื่อว่าเรื่องนี้จะได้รับการสนับสนุนภายในพรรคและในประเทศมากกว่าเรื่องอื่น ๆ ในขณะที่คาดหมายว่า รัฐบาลสามารถรับมือกับภาวะเศรษฐกิจได้ง่าย ๆ โดยอาศัยนโยบายการคลัง เร่งรัดการจัดทำความตกลงการค้าใหม่ ๆ ได้เร็ว และเชื่อว่าบรรดาธนาคารทั้งหลายจะไม่เผ่นหนีจากลอนดอน

"เทเรซา เมย์"
กำลังเดิมพันครั้งใหญ่ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ชาวอังกฤษที่ลงมติออกจากอียู ต้องการ "ฮาร์ด เบร็กซิต" และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ว่ากันไว้ว่าจะมากมายมหาศาลนั้นเป็นการพูด "เกินจริง" กันไปทั้งนั้น

แต่นักลงทุนในตลาดเงินไม่ได้คิดอย่างนั้น และความเคลื่อนไหวเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่า ตลาดคาดว่า การเจรจาเบร็กซิตจะไม่ราบรื่นอย่างที่คิดและจะกระทบต่อเศรษฐกิจของอังกฤษอย่างรุนแรงและยาวนาน

"เดวิดบลูม"
นักวิเคราะห์ของเอชเอสบีซีชี้ว่า ค่าเงินปอนด์คือฝ่ายค้านต่อนโยบายเบร็กซิตของรัฐบาลอังกฤษในตอนนี้ และปอนด์ไม่เพียงอ่อนค่าลงชั่วเวลาสั้น ๆ แต่จะอ่อนค่าลงต่อเนื่อง เมื่อนักลงทุนมองไม่เห็นความเย้ายวน น่าลงทุนของอังกฤษอีกต่อไป บริษัทธุรกิจภายในอังกฤษจะเจออุปสรรคการค้าหนักหนาสาหัสกว่าเดิมมาก ขณะที่การขาดแคลนแรงงานฝีมือจากต่างประเทศก็ยิ่งทำให้ปัญหาของกิจการธุรกิจในอังกฤษซับซ้อนมากยิ่งขึ้น บลูมสรุปเอาไว้ว่า ถ้ารัฐบาลยังคงเดินหน้า "ฮาร์ด เบร็กซิต" ต่อไป สถิติต่ำสุดใหม่ของค่าเงินปอนด์ก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก

บลูมคาดว่าสิ้นปี 2017 ค่าเงินปอนด์จะอยู่ที่ 1.10 ดอลลาร์เท่านั้น


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เดิมพัน ฮาร์ด เบร็กซิต วิกฤตค่าเงินปอนด์

view