สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การถดถอยของการค้าโลกสำคัญไฉน

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ มายาการเงิน โดย สันติธาร เสถียรไทย santitan.sathirathai@gmail.com

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสบินไปคุยกับนักวิเคราะห์ นักลงทุน และผู้กำหนดนโยบายในรัฐบาลของเกาหลีใต้เป็นครั้งแรก หลังจากรับบทบาทใหม่มาดูทีมเศรษฐกิจเอเชีย วันที่ผมไปบังเอิญตรงกับวันที่บริษัทเดินเรือที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกของเกาหลีใต้ชื่อ Hanjin ประกาศล้มละลาย จนทำให้เรือเกือบร้อยลำถูกปล่อยเกาะไม่สามารถเข้าจอดเทียบส่งสินค้าได้ เพราะท่าเรือต่าง ๆ ทั่วโลกปฏิเสธการเทียบท่า ลูกเรือติดบนเรือเริ่มกลัวว่าอาหารกับน้ำจะมีไม่เพียงพอก่อนจะได้เข้าฝั่ง

แต่สิ่งที่ผมห่วงยิ่งกว่าไม่ใช่เรื่องผลกระทบจากวิกฤตของบริษัทนี้แต่เป็นเรื่องปัญหาของHanjinนั้นส่วนหนึ่งสะท้อนถึง"ภาวะถดถอย" ของการค้าระหว่างประเทศ ที่ทำให้ทุกหน่วยเศรษฐกิจและเซ็กเตอร์ที่พึ่งพาการค้าโลกนั้นต้องเจอพายุซัดกระหน่ำมาตลอดช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา



โดยอัตราส่วนการค้าโลกต่อ GDP โลกนั้นลดลงมาอย่างต่อเนื่องในยุค 1980-2000 การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่อัตรา 1% จะเกิดการค้าระหว่างประเทศกว่า 2% คือเป็นสองเท่ากว่า ๆ แต่ในยุคปัจจุบันตัวเลขนี้เหลือเพียงแค่ไม่ถึง 1.5 เท่า

แปลว่าเศรษฐกิจโลกซึ่งที่ผ่านมาโตช้าอยู่แล้ว ยังมีการพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศน้อยลงอย่างชัดเจน ที่สำคัญคือแนวโน้มเช่นนี้อาจอยู่กับเราไปอีกสักพัก


แกนเครื่องยนต์เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไป

ที่เป็นเช่นนี้เหตุผลแรกคือการที่เครื่องยนต์ขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนไปโดยเฉพาะในเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่เช่นสหรัฐอเมริกากับจีนทั้งคู่กำลังประสบภาวะการลงทุนทรุดตัวอย่างหนัก และต่างหันมาพึ่งพาการบริโภคเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนการเจริญเติบโตมากขึ้น ซึ่งโดยมากการลงทุนจะมีสัดส่วนการนำเข้าสินค้ามากกว่าการบริโภค โดยเฉพาะสินค้าที่ผลิตในเอเชีย เช่น เครื่องจักร คอมพิวเตอร์ เป็นต้น ในขณะที่การบริโภคหลายประเภทเป็นภาคบริการที่อาจจะสร้างการจ้างงาน แต่ไม่ได้ซื้อของจากประเทศอื่นมากเท่ากับการลงทุน

ในกรณีการลงทุนทรุดตัวที่เกิดในสหรัฐอเมริกาสาเหตุหนึ่งมาจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำทำให้การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมหนักที่เกี่ยวข้องกับภาคพลังงานติดหล่มกันหมดแม้ว่าส่วนนี้อาจจะค่อยๆปรับตัวดีขึ้นในอนาคตแต่ความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลกที่ยังมีสูงก็อาจทำให้ภาคธุรกิจอื่น ๆ ไม่กล้าลงทุนอย่างเต็มที่ หากมีเงินเหลือก็มักเอามาซื้อหุ้นคืนเพิ่มมูลค่าหุ้นหรือควบรวมบริษัท มากกว่าจะเป็นการลงทุนขยายกิจการ

ส่วนในกรณีของจีนนั้น การลงทุนที่ตกต่ำ ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายรัฐบาลที่ต้องการจะปรับสมดุลไปสู่การพึ่งพาการบริโภคมากขึ้นอย่างที่ทุกคนทราบกัน แต่ในขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนเองก็มีนโยบายอื่นที่ถูกเรียกรวม ๆ ว่า Supply side economic policy หรือ นโยบายจัดการด้านอุปทาน ที่ต้องการจะควบคุมการขยายตัวของสินเชื่อ ลดกำลังผลิตส่วนเกินในภาคอุตสาหกรรมหนัก และจำกัดฟองสบู่ในหัวเมืองใหญ่ ซึ่งนโยบายทั้งหมดล้วนมีผลกดดันการลงทุนให้ชะลอตัวลง

โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งดิ่งลงจนติดลบแม้ในยามที่ภาครัฐมีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุนภาครัฐ แต่ก็ดูเสมือนว่าการกระตุ้นนี้ไม่ได้มีผลดึงดูดภาคเอกชนเท่าแต่ก่อน แม้ภาคบริโภคบางส่วนจะโตได้ดี เช่น การดูภาพยนตร์ การซื้อของหรือเล่นเกมออนไลน์ และการท่องเที่ยว แต่ส่วนใหญ่กิจกรรมพวกนี้ยังไม่สร้างรายได้ให้กับประเทศต่าง ๆ ในเอเชียขึ้นมาทดแทนการนำเข้าสินค้าเพื่อการลงทุนของจีนในสมัยเศรษฐกิจที่เคยร้อนแรงได้

เทคโนโลยีกับนโยบายอุตสาหกรรมของจีน

เหตุผลที่สองคือเทคโนโลยีในสหรัฐอเมริกา การปฏิวัติพลังงานจาก Shale ทำให้มีการนำเข้าพลังงานน้อยลง และเปลี่ยนอเมริกาเป็นผู้มีกำลังผลิตพลังงานที่สำคัญของโลก เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI และ 3D printing สามารถทำให้ห่วงโซ่การผลิตสั้นลง ทำให้โรงงานหลายประเภทกลับไปอยู่ใกล้ตลาดที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงมากกว่าไปอยู่ในเขตเศรษฐกิจที่มีค่าแรงต่ำแต่กระแสนี้ในปัจจุบันแม้จะมีหลายกรณีที่โรงงานย้ายกลับไป(Reshoring)ทั้งในสหรัฐอเมริกาและเยอรมนีแต่ก็ยังไม่มากพอที่จะอธิบายตัวเลขการค้าระหว่างประเทศที่ตกต่ำได้

สิ่งที่น่าจับตามองมากกว่าคือการขยับตัวด้านอุตสาหกรรมของจีน ซึ่งเป็นจุดที่นักลงทุนกับนักเศรษฐศาสตร์ที่เกาหลีใต้กำลังเป็นห่วงอย่างแท้จริง เนื่องจากจีนมีการปรับตัวไต่บันไดสร้างมูลค่าเพิ่มทางด้านอุตสาหกรรมที่สูงขึ้นมาตลอดในช่วงสิบปีที่ผ่านมาจนจีนไม่ได้กลายเป็นโรงงานประกอบชิ้นส่วนอุตสาหกรรมอีกต่อไปแต่สามารถผลิตชิ้นส่วนต่างๆได้ด้วยตัวเองจนทำให้สัดส่วนสินค้านำเข้าสำหรับการผลิตเพื่อส่งออกลดลงมาจนเหลือประมาณ20% จากเดิมที่นำเข้า 30-40% เมื่อสิบปีก่อน

และในบางอุตสาหกรรม เช่น สมาร์ทโฟน จีนยังมีแบรนด์ของตัวเอง เช่น Xiaomi ที่แข่งกับยักษ์ใหญ่อย่างซัมซุงได้อีกด้วย สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นกับตาตัวเอง คือการที่ซัมซุงกลัวจีนจะมาขโมยเทคโนโลยีจนทำให้ระบบรักษาความปลอดภัยคนเข้า-ออกตึกสำนักงานใหญ่ซัมซุงเข้มงวดมากเพราะแม้ว่าทีมผมจะทำเรื่องมาแล้วสุดท้ายทีมผมก็ไม่สามารถประชุมในตึกสำนักงานใหญ่ได้ต้องไปหาสถานที่ข้างนอกจัดประชุมแทน

ทั้งหมดนี้อาจจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเพราะรัฐบาลจีนมีแผนMadein China 2025 ซึ่งคงเพิ่มสมรรถภาพทางเทคโนโลยีขึ้นไปได้อีก โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หุ่นยนต์ รถยนต์พลังงานใหม่ ต่อเรือแบบไฮเทค และอุตสาหกรรมวัตถุดิบใหม่ เป็นต้น ห่วงโซ่การผลิตจึงอาจปรับตัวสั้นลงอีก เพราะหลายขั้นตอนที่เคยต้องทำข้างนอกสามารถมาทำในจีนได้ การค้าระหว่างประเทศหลายส่วนเลยอาจกลายมาเป็นการค้าภายในประเทศจีนแทน

เหตุผลที่สาม คือกระแสต้านโลกาภิวัตน์ หลังจากประชามติให้อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit เกิดขึ้น มีกราฟหนึ่งที่ถูกส่งเวียนกันในหมู่นักลงทุนและนักวิเคราะห์ไปทั่ว ที่ถูกเรียกง่าย ๆ ว่า "กราฟรูปช้าง" (The elephant chart) ซึ่งมาจากงานของ Branko Milanovich นักเศรษฐศาสตร์ที่ธนาคารโลก (World Bank) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของโลก กราฟนี้ชี้ให้เห็นว่าคนที่มีรายได้ในระดับต่าง ๆ กันในโลกจากอันดับ 1 ถึง 100 มีการเปลี่ยนแปลงทางรายได้อย่างไรบ้างในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา เมื่อปรับอัตราเงินเฟ้อแล้ว

ผลสรุปก็คือ กลุ่มคนที่รวยที่สุดมีรายได้เพิ่มขึ้นมหาศาล ส่วนกลุ่มรายได้ปานกลางถึงต่ำก็มีรายได้โตขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนใหญ่คือครัวเรือนในเอเชีย โดยเฉพาะจีนที่ได้รับอานิสงส์จากการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด


แต่กลุ่มคนที่ถูกทิ้งอยู่ข้างหลัง คือ กลุ่มรายได้ปานกลางถึงสูงในโลก ซึ่งคือพวกคนชั้นกลางในเขตเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วอย่างอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ในเวอร์ชั่นต้นฉบับ กราฟนี้บอกว่ารายได้ของคนพวกนี้ติดลบด้วยซ้ำ


แต่พอมีการศึกษาเพิ่มเติมปรับตัวเลขต่าง ๆ (เช่น การเติบโตของประชากรแต่ละประเทศที่ต่างกัน) ผลลัพธ์ไม่ได้ออกมา "ทะลุซอย" ขนาดนั้น แต่ทว่า ภาพใหญ่ก็ยังคงเหมือนเดิม คือ คนชั้นกลางในเขตเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วเป็นผู้เสียเปรียบเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ

กราฟนี้จึงถูกนำมาโยงกับเรื่องโลกาภิวัตน์ว่าทำให้คนรวยขึ้น คนรายได้น้อยบางกลุ่มในเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนาได้ประโยชน์จากการค้าโลกและการย้ายโรงงานการผลิตไปสู่เศรษฐกิจที่มีค่าแรงต่ำเช่นจีนโดยคนที่ออกจากงานเก่าเพราะโรงงานปิดไปอาจไม่สามารถหางานใหม่ได้ง่ายอย่างที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเคยคิดไว้และทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุที่ทำให้กระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ถึงได้มาแรงและสร้างความกังวลกันจนการประชุมG20 ที่ผ่านมาต้องหยิบยกประเด็นนี้มาเป็นหัวข้อหลัก

ในความเป็นจริงความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความมั่งคั่งในประเทศตะวันตกจะมีสาเหตุมาจากกระแสโลกาภิวัตน์โดยเฉพาะในเรื่องการค้าการลงทุนแค่ไหนผมเองยังไม่แน่ใจนักแต่ที่ทราบคือคนจำนวนไม่น้อยในประเทศเหล่านี้มีความเชื่อเช่นนี้และสำหรับนักการเมืองการโทษคนงานประเทศอื่นว่ามาแย่งงานทำนั้นง่ายกว่าอธิบายว่าเทคโนโลยีทำให้รูปแบบของการจ้างงานเปลี่ยนไปอย่างไรเครื่องจักรกับหุ่นยนต์มาแทนคนได้อย่างไรโลกาภิวัตน์ทางด้านการค้าโลกจึงคงยังเป็น"แพะ"ต่อไปในอนาคต

ดังนั้นเมื่อมองจากมุมนี้ไม่ว่าใครจะมาเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ก็คงจะเป็นเรื่องยากที่จะหวังให้อเมริกาผลักดันการเปิดเสรีทางการค้าดังแต่ก่อน และกระแสลัทธิคุ้มครองการค้า หรือ Protectionism นี้ก็มีสิทธิที่จะรุนแรงขึ้น

เรื่องของความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความมั่งคั่งในประเทศตะวันตกจะมีสาเหตุมาจากกระแสโลกาภิวัตน์โดยเฉพาะในเรื่องการค้าการลงทุนแค่ไหนผมเองยังไม่แน่ใจนักแต่ที่ทราบคือคนจำนวนไม่น้อยในประเทศเหล่านี้มีความเชื่อเช่นนี้ และสำหรับนักการเมือง การโทษคนงานประเทศอื่นว่ามาแย่งงานทำนั้น ง่ายกว่าอธิบายว่าเทคโนโลยีทำให้รูปแบบของการจ้างงานเปลี่ยนไปอย่างไร เครื่องจักรกับหุ่นยนต์มาแทนคนได้อย่างไร โลกาภิวัตน์ทางด้านการค้าโลกจึงเป็น "แพะ" ดังนั้น เมื่อมองจากมุมนี้ คงจะเป็นเรื่องยากที่จะหวังให้อเมริกาผลักดันการเปิดเสรีทางการค้าดังแต่ก่อน และกระแสลัทธิคุ้มครองการค้า หรือ //Protectionism// นี้ ก็มีสิทธิที่จะรุนแรงขึ้น

การค้ารูปแบบใหม่ ก็อาจถูกกระทบจากกระแส Protectionism ซึ่งกระแสนี้อันตราย ไม่ใช่เพียงเพราะมันจะส่งผลกระทบต่อการค้าสินค้าระหว่างประเทศแบบดั้งเดิมเท่านั้น แต่มันอาจมีผลไปจำกัดการเจริญเติบโตของการค้ารูปแบบใหม่ ๆ ซึ่งที่ผ่านมายังเติบโตได้ดีและเป็นความหวังใหม่ของการค้าโลกด้วย เช่น การค้าในภาคบริการ และการผงาดขึ้นของ"บริษัทข้ามชาติขนาดจิ๋ว" (ปรมาจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ที่ทำอยู่ที่ google เรียกธุรกิจเหล่านี้ว่า "micro multinationals")

กระแส Protectionism อาจทำให้เขตเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วจำกัดการให้วีซ่าคนงานต่างประเทศ แม้ว่าในประเทศเหล่านั้นจะมีการขาดแคลนคนงานก็ตาม การ outsource ธุรกิจต่าง ๆ เช่น IT service หรือการถ่ายสำเนาทางการแพทย์ (medical transcription) ไปอินเดียหรือฟิลิปปินส์ ก็อาจจะถูกเพ่งเล็งมากขึ้น

ในขณะเดียวกัน micro multinationals ที่เกิดขึ้นมาได้จากการที่บริษัทเล็ก ๆ สามารถหาช่องทางขยายธุรกิจไปต่างประเทศได้  ผ่านตลาดออนไลน์แพลทฟอร์มอย่าง E Bay Amazon หรือ Taobao ของ Alibaba และระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ บริษัทพวกนี้มักจะอ่อนไหวต่อการกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่าง ๆ ที่เพิ่มต้นทุนในการค้ายิ่งกว่าบริษัทใหญ่ ๆ หลายเท่านัก

นัยยะและผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจ

ผมเห็นว่าบทสรุปสำหรับเศรษฐกิจมหภาคเบื้องต้นมีสามข้อใหญ่ๆ  หนึ่ง-คือเศรษฐกิจและภาคธุรกิจที่พึ่งพาการค้าโลกจะต้องมีการปรับตัวอีกมากในกระแสเศรษฐกิจโลกที่ไม่เอื้ออำนวยเพราะการค้าโลกคงจะไม่ฟื้นตัวหายไข้ในเร็วๆนี้ในเอเชียฮ่องกงและสิงคโปร์ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศมากที่สุดจะเผชิญโจทย์ยากที่สุด

สอง-คือภาวะการแข่งขันในเรื่องการส่งออกจะทวีความรุนแรงและเข้มข้นขึ้นเมื่อประเทศต่างๆพยายามแย่งส่วนแบ่งตลาดในโลกแต่ละประเทศจะมีนโยบาย "Made in..." อย่างที่จีน อินเดีย และอินโดนีเซียกำลังทำ เพื่อสร้างฐานการส่งออกที่เข้มแข็งและมีความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้นในอนาคต โดยเวทีการแข่งขันนี้ในอนาคตหน้าตาอาจจะเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงก็เป็นไปได้ เพราะในโลกที่เทคโนโลยีใหม่ๆอย่าง 3D printing กับ Advanced Robotics อาจทำให้ปัจจัยด้านต้นทุนแรงงานและโครงสร้างพื้นฐานบางประเภทสำคัญน้อยลง เศรษฐกิจที่มีตลาดในประเทศขนาดใหญ่เช่นจีนกับอินเดียอาจได้เปรียบในการดึงดูดการลงทุนเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในขณะที่ประเทศอื่นๆอาจต้องหาจุดยืนใหม่ในโลกที่เปลี่ยนไป

สาม-เพราะการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นจึงทำให้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนมีความสำคัญขึ้นหลายประเทศจะยิ่งอ่อนไหวต่อการที่ค่าเงินของตนแข็งค่าขึ้นและจะต้องหยิบเครื่องมือสารพัดแบบมาใช้เพื่อป้องกันไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนปรับตัวสูงขึ้นเร็วเกินไปโดยเฉพาะในยามที่จีนกำลังค่อยๆลดค่าเงินหยวนอยู่

ในบทความหน้ามาคุยกันต่อว่าในบริบทเช่นนี้เศรษฐกิจไหนจะอยู่รอดใครจะอยู่ ใครจะไป และอะไรคือโอกาสสำหรับนักลงทุน


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การถดถอย การค้าโลก สำคัญไฉน

view