สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เตือน สาววัยทอง ระวังกระดูกพรุน แพทย์ชี้ช่วง5ปีแรกเสี่ยงที่สุด

จากประชาชาติธุรกิจ

แพทย์เผยสัญญาณเตือนสตรีเข้าข่าย "วัยหมดประจำเดือน" อายุ 65 ปีขึ้นไป เสี่ยงสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็วช่วง 5 ปีแรก ระวัง "สะโพก สันหลัง ข้อมือ" หักง่าย แนะรับแสงแดดอ่อนๆ เสริมวิตามิน

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า วิวัฒนาการทางการแพทย์ปัจจุบันส่งผลให้ประชาชนมีอายุยืนยาวขึ้น แต่กลุ่มคนเหล่านี้มักประสบปัญหาด้านความเสื่อมถอยของร่างกายตามมา โดยเฉพาะกระดูกที่เป็นโครงสร้างยึดเกาะกล้ามเนื้อ ช่วยให้ร่างกายคงรูปร่างได้ตามปกติ หากเนื้อกระดูกมีความหนาแน่นลดลงจากการสูญเสียมวลกระดูกจะส่งผลให้เกิดภาวะกระดูกพรุนได้ ซึ่งอันตรายของภาวะกระดูกพรุน จะต้องระวังการแตกหักของกระดูกบริเวณสะโพก ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดเรื้อรังและรุนแรงถึงขั้นพิการ โดยเฉพาะสตรีที่หมดวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งมีการเสื่อมสภาพการทำงานของรังไข่ เกิดการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน เลือดประจำเดือนจะขาดหายไป ภาวะนี้เรียก Menopause หรือวัยงาม ทำให้อวัยวะและระบบต่างๆ ของร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยอาการที่พบบ่อยของหญิงวัยงาม ได้แก่ ผมแห้ง หลุดร่วงง่าย ผิวบาง เครียดง่าย หงุดหงิด ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ประจำเดือนผิดปกติจนขาดหายไปในที่สุด เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนทั้งสิ้น

นพ.ธีรพลกล่าวอีกว่า ภาวะกระดูกพรุนมักเกิดกับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะสตรีอายุ 65 ปีขึ้นไป ส่วนผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจะสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็วใน 5 ปีแรก ทำให้กระดูกหักได้ง่าย โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสันหลัง สะโพก และข้อมือ ทำให้เกิดปัญหาการเดินและการเคลื่อนไหวร่างกาย อาการของภาวะกระดูกพรุนที่พบคือปวดหลัง ตำแหน่งที่ปวดไม่ชัดเจน และอาจปวดร้าวไปข้างใดข้างหนึ่ง กระดูกหลังยุบตัว หลังค่อม ความสูงลดลง หากพบความผิดปกติดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์ทันที เมื่อได้รับการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยแล้วแพทย์จะมีแนวทางรักษาที่เหมาะสม ทั้งนี้ ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจมีส่วนประกอบของสารสเตียรอยด์ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนมากขึ้น

"สำหรับทางเลือกในการดูแลภาวะกระดูกพรุนโดยไม่ต้องใช้ยาคือรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ มีแคลเซียมสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากนม กุ้งแห้ง ปลาตัวเล็กที่กินได้ทั้งกระดูก ถั่วต่างๆ เต้าหู้ งาดำ ผักใบเขียว เช่น ผักโขม ผักคะน้า ใบชะพลู ใบยอ เป็นต้น นอกจากนี้ ควรออกกำลังกายที่มีการลงน้ำหนัก เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะๆ ในช่วงเช้า เพราะร่างกายจะได้รับแสงแดดอ่อน สังเคราะห์วิตามินดี ทำให้มวลกระดูกแข็งแรงขึ้น งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่" นพ.ธีรพลกล่าว

นสพ.มติชนรายวัน


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เตือน สาววัยทอง ระวังกระดูกพรุน แพทย์ชี้ ช่วง5ปีแรก เสี่ยงที่สุด

view