สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พระราชดำรัส รัชกาลที่ 9 แนะรัฐสภาไทยสามัคคี-ปรองดอง

จากประชาชาติธุรกิจ

นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475

การหารือข้อราชการ-การออกกฎหมายย้ายไปอยู่ในรัฐสภา มีสภาผู้แทนราษฎรมาจากตัวแทนประชาชนทำหน้าที่ออกกฎหมาย

นอกจากนี้รัฐสภากลายเป็นเวทีแห่งการถกเถียงหาทางออกในบ้านเมือง

ที่มารัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา

จากวันนั้นถึงวันนี้ทุก ๆ ครั้งหลังการเลือกตั้ง หรือทุกครั้งหลังจากมีการรัฐประหาร ก็จะมีพิธีการหนึ่งที่เป็น "รัฐพิธี" คือ รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา หรือรัฐพิธีเปิดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ทั้งนี้ รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา หมายความถึง สภาผู้แทนราษฎร สภาผู้แทน สภาร่างรัฐธรรมนูญ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติกล่าวคือ รัฐเป็นฝ่ายดำเนินการโดยมีพระมหากษัตริย์หรือพระรัชทายาทหรือผู้แทนพระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานเพื่อเป็นการพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ผู้แทนของปวงชนชาวไทยเข้าเฝ้าฯอย่างเป็นทางการก่อนปฏิบัติหน้าที่

ถือเป็นราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา โดยพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานให้แก่สมาชิกรัฐสภาถือเป็นสิ่งสำคัญที่สมาชิกรัฐสภาต้องยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาชนและประเทศชาติอย่างสูงสุด



ในอดีตรัฐพิธีเปิดประชุมสภาเริ่มมีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่10ธันวาคม 2476 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาถือเป็นพิธีการที่สำคัญของรัฐสภาซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหลายฉบับในอดีตได้บัญญัติเกี่ยวกับรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาไว้คล้ายคลึงกันในเรื่ององค์ประธานผู้กระทำพิธีเปิดประชุมแต่สาระในการประกอบรัฐพิธีมีความแตกต่างกัน

เช่นไม่ได้บัญญัติว่าให้กระทำรัฐพิธีในการเปิดประชุมสมัยใด ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะอาศัยธรรมเนียมปฏิบัติโดยกระทำรัฐพิธีเปิดประชุมทุกครั้งที่เป็นการประชุมสมัยสามัญ อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 เป็นต้นมา ได้มีการบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าให้กระทำรัฐพิธีเปิดประชุมสมัยสามัญประจำปีครั้งแรกภายหลังจากที่ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในปัจจุบัน

ทรงเป็นประธานพิธี 33ครั้ง

รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาของประเทศไทยได้กระทำขึ้นรวมทั้งสิ้น 59 ครั้ง แต่หากนับเฉพาะในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้น โดยพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในพิธีด้วยพระองค์เอง จำนวน 33 ครั้ง โดยผู้แทนพระองค์ จำนวน 6 ครั้ง และผู้สำเร็จราชการ 6 ครั้ง

มีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คือ

1. โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทรงประกอบรัฐพิธีเปิดประชุม เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2490

2. โดยคณะอภิรัฐมนตรี ในฐานะคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2490

3. โดยคณะอภิรัฐมนตรี ในฐานะคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2491

4. โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ประธานคณะอภิรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2492

5. โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทรงประกอบรัฐพิธีเปิดประชุม เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2493

6. โดยพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2494

และให้ผู้แทนพระองค์มาประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมแทน 6 ครั้ง

1.โดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2495

2.โดยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นผู้แทนพระองค์ ทรงประกอบรัฐพิธีเปิดประชุม เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2518

3. โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นผู้แทนพระองค์ ทรงประกอบรัฐพิธีเปิดประชุม เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2549

4. โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นผู้แทนพระองค์ ทรงประกอบรัฐพิธีเปิดประชุม เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2551

5. โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นผู้แทนพระองค์ ทรงประกอบรัฐพิธีเปิดประชุม เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2554

และ 6. โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นผู้แทนพระองค์ ทรงประกอบรัฐพิธีเปิดประชุม เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2557 (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ)

และพระราชดำรัสของในหลวง ที่ทรงตรัสไว้ในรัฐพิธีเปิดประชุมสภาแต่ละครั้ง สะท้อนถึงบรรยากาศของประเทศในห้วงเวลานั้นเช่นกัน



ให้พระราชดำรัสแก่รัฐสภา

ดังที่ทรงมีพระราชดำรัสในพิธีเปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมวิสามัญณ พระที่นั่งอนันตสมาคม วันพฤหัสบดีที่ 1 มิถุนายน 2493 ห้วงที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงไม่นาน

"...สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนฯ ข้าพเจ้ามีความยินดีมากที่ได้มาประกอบพิธีเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญในวันนี้ นับแต่ข้าพเจ้าได้กลับมาสู่ประเทศไทยในคราวนี้ ข้าพเจ้าได้รับการต้อนรับจากท่านทั้งหลาย และจากประชาชนเป็นอย่างดียิ่ง ข้าพเจ้าขอแสดงความขอบใจไว้ ณ ที่นี้ด้วย"

"ท่านทั้งหลายคงจะตระหนักใจอยู่ว่า เหตุการณ์ของโลกกำลังอยู่ในระยะอันจะผันแปรไปสู่ทางร้ายหรือทางดีก็หามีผู้ใดอาจพยากรณ์ได้ไม่ เท่าที่ปรากฏอยู่ในเวลานี้มีการขัดแย้งกันในทางลัทธิการเมือง แม้ใกล้ประเทศเรานี้เองก็มีถึงกับประหัตประหารกันด้วยอาวุธ ด้วยมีความเห็นที่แตกแยกกัน สถานการณ์เช่นนี้ย่อมจะก่อให้เกิดความวิตกอยู่บ้างว่าจะเป็นการกระทบกระเทือนถึงประเทศไทยเพียงใด แต่ข้าพเจ้ามีความพอใจที่เห็นประเทศชาติของเรายังสามารถรักษาความสงบสุขไว้ได้ดี การเศรษฐกิจได้ฟื้นฟูจนเกือบเข้าสู่ปกติ มีการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างประเทศไทยเกือบเท่าระดับเดิม เป็นต้น"

"สำหรับการเงิน เรามีรายได้พอที่จะใช้จ่ายในการสาธารณประโยชน์ การฟื้นฟูเศรษฐกิจและบูรณะบ้านเมืองในสาขาสำคัญต่าง ๆ ได้ และถ้าภาวะของบ้านเมืองดำเนินเช่นนี้ต่อไปแล้ว ในอนาคตก็มีความมั่นใจว่า จะนำความสุขมาสู่อาณาประชาราษฎรได้ตามสมควร ตลอดจนประเทศของเราจะมีเสถียรภาพมั่นคง ส่วนการครองชีพของประชาชนนั้น มีเครื่องอุปโภคบริโภคทุกอย่างตามที่ต้องการ ถ้าเปรียบกับประเทศอื่นแล้วเราอยู่ในภาวะดีกว่าหลายประเทศ ยังคงเหลืออยู่แต่การยกมาตรฐานการครองชีพให้สูงขึ้นต่อไป"

"โดยที่สุขภาพของข้าพเจ้าในเวลานี้ยังไม่สมบูรณ์ และยังต้องรับการรักษาพยาบาลจากนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอยู่ข้าพเจ้าจึงมีความจำเป็นต้องเดินทางกลับไปยังประเทศสวิส ในสองสามวันข้างหน้านี้ และจะได้กลับมาในเวลาอันสมควร ข้าพเจ้าเชื่อว่า ท่านทั้งหลายจะได้มีความตั้งใจในการสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่บ้านเมืองและประชาราษฎร โดยตั้งมั่นในสามัคคีธรรมและพร้อมใจกันร่วมมือในการดำเนินการของรัฐสภาให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติอันเป็นที่รักของเราให้วัฒนาถาวรสืบไป"

"บัดนี้ถึงเวลาอันเป็นอุดมฤกษ์แล้วข้าพเจ้าขอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และข้าพเจ้าขออวยพรให้ท่านทั้งหลายจงประสบแต่ความสุขความเจริญโดยทั่วกัน"

ให้สภาเป็นรากฐานประชาธิปไตย

ในทำนองเดียวกันหลังประเทศไทยผ่านพ้นมหาวิปโยค14 ตุลา 2516 พระองค์ตรัสในพิธีเปิดประชุมรัฐสภา สมัยประชุมวิสามัญ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม วันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม 2516 ความว่า


"....ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอันมาก ที่ได้ทำพิธีเปิดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติในโอกาสนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนี้ ถึงแม้ว่าโดยนิตินัยจะเป็นสภาแต่งตั้ง แต่ก็ได้แต่งตั้งจากบุคคลที่สมัชชาแห่งชาติได้คัดเลือกแล้ว ว่าเป็นผู้ที่สมควรจะเป็นสมาชิกได้ ข้าพเจ้ามีความพอใจมากที่ได้เห็นว่า ผลแห่งการคัดเลือกนั้น ได้ทำให้สภามีสมาชิกที่มาจากคนหลายกลุ่มหลายอาชีพ ซึ่งตามปกติอยู่ห่างไกลกัน แต่ได้มาร่วมประชุมกันในสภานิติบัญญัตินี้ เพื่อแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน แล้วร่วมกันตัดสินใจในทางที่จะเป็นประโยชน์ของบ้านเมืองที่รักของเราต่อไป ตามเจตนารมณ์แห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย ข้าพเจ้ามีความหวังว่าท่านทั้งหลายจะได้ร่วมกันรักษาเจตนารมณ์นี้ไว้ให้เป็นรากฐานต่อการปกครอง ซึ่งประชาชนของข้าพเจ้าจะได้นำมามีส่วนมีเสียงโดยสมบูรณ์ในเวลาข้างหน้า"

"ภารกิจที่ท่านทั้งหลายจะต้องรับต่อไปนั้นนับว่าเป็นภารกิจอันหนักเพราะนอกจากจะต้องพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญต่าง ๆ ที่รัฐบาลจะได้เสนอขึ้นมาในยามที่ประเทศต้องตกอยู่ในภาวะแห่งความผันผวนในทางเศรษฐกิจและในทางการเมืองนี้แล้วท่านทั้งหลายยังต้องเป็นผู้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรอันจักเป็นหลักในการปกครองประเทศด้วยความเป็นธรรมด้วยสันติสุข และด้วยความก้าวหน้าต่อไป"

"ข้าพเจ้ามั่นใจว่า เมื่อได้ตระหนักในภารกิจอันหนักของท่านนี้แล้ว ท่านก็คงจะได้ปฏิบัติหน้าที่ทั้งหมดด้วยความสุจริตเที่ยงธรรม และด้วยความรอบคอบสุขุม ให้กิจการงานทุกอย่างสัมฤทธิผลอันสมบูรณ์ เพื่อความมั่นคงของบ้านเมือง และเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนทั้งปวง"



แนะทำหน้าที่ด้วยความสามัคคี

ขณะที่พิธีเปิดประชุมรัฐสภา ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2539 หลังการเลือกตั้งทั่วไป

"...บัดนี้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เสร็จสิ้นลง และมีการเรียกประชุมรัฐสภาตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแล้ว ข้าพเจ้าของเปิดประชุมรัฐสภา เพื่อให้ทำหน้าที่นิติบัญญัติตั้งแต่วาระนี้เป็นต้นไป"

"สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคือผู้ได้รับมอบหมายจากประชาชนให้มาปรึกษาหารือกันเพื่อให้การปกครองดำเนินไปตามวิถีทางแห่งระบอบประชาธิปไตยและให้บังเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชาติบ้านเมืองต่อแต่นี้ไป จึงเป็นภาระและความรับผิดชอบโดยตรงของท่านทั้งหลายที่จะต้องร่วมแรง ร่วมใจ ร่วมสามัคคีกัน ปฏิบัติหน้าที่โดยเต็มกำลัง สติปัญญาความสามารถ ให้งานของชาติดำเนินลุล่วงไปโดยถูกต้องและรวดเร็ว ดังนั้น การปรึกษาตกลงหรือการอภิปรายในปัญหาใด ๆ ที่จะมีขึ้นในสภาแห่งนี้จึงควรจะได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง และด้วยความปรารถนาที่จะให้งานทุกอย่างสัมฤทธิผลที่ดีที่สุด"

นอกจากนี้ พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสแก่ฝ่ายนิติบัญญัติอีกหลายครั้ง 24 มิถุนายน 2495 "วันนี้เป็นอภิลักขิตมงคลกาลของประชาชนชาวไทยที่สภาผู้แทนราษฎรได้กำหนดเปิดสมัยประชุมสามัญ พุทธศักราช 2495 อีกสมัยหนึ่ง ซึ่งท่านทั้งหลายจะได้มาร่วมปรึกษาหารือช่วยกันดำเนินงานของชาติอีกวาระหนึ่ง ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีเป็นอันมากที่ได้ประกอบพิธีเปิดสมัยประชุมในโอกาสนี้"

14 มีนาคม 2500 "อาณาประชาราษฎรจะได้รับความผาสุกเพียงไรหรือไม่ ย่อมอาศัยการที่ท่านทั้งหลายจะสมัครสมานสามัคคีกัน ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต หวังประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง"

24 มิถุนายน 2500 "ปีนี้เป็นปีที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาครบ 2500 ปี รัฐบาลของข้าพเจ้าได้จัดงานฉลอง 25 ปี พุทธศตวรรษขึ้นทั่วราชอาณาจักร บรรดามิตรประเทศพุทธศาสนิกก็ได้ส่งผู้แทนมาร่วมด้วย งานได้สำเร็จลงด้วยดี และเรียบร้อย แสดงประจักษ์ชัดถึงสามัคคีธรรมและความเจริญงอกงามแผ่ไพศาล ของพระพุทธศาสนา เป็นที่น่ายินดีและอนุโมทนา"

26 ธันวาคม 2500 "ตามวิถีทางแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ย่อมถือว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีความสำคัญอันดับแรก ของระบอบการปกครองในรูปนี้ คือเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศเข้ามาดำเนินการปกครองโดยใช้อำนาจในทางนิติบัญญัติ เพื่อพิจารณาออกกฎหมายต่าง ๆ ให้รัฐบาลถือเป็นหลักในการบริหารราชการแผ่นดิน"

8 พฤษภาคม 2522 "เป็นภาระและความรับผิดชอบโดยตรงของท่านทั้งหลาย ทั้งสมาชิกวุฒิสภาทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องเที่ยงตรงและสมบูรณ์บริบูรณ์ เพื่อให้บังเกิดแต่เฉพาะสิ่งที่เป็นคุณเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองและประชาชน"

21 กันยายน 2535 "ขออวยพรให้การดำเนินงานของรัฐสภาเป็นไปโดยเรียบร้อย สัมฤทธิผลเป็นความผาสุกสวัสดิ์ และความวัฒนาถาวรแห่งราชอาณาจักรและประชาชาติไทย ขอให้ทุกคนที่ประชุมร่วมกันอยู่ ณ ที่นี้ประสบแต่ความสุขความเจริญทุกเมื่อทั่วหน้ากัน"

10 กรกฎาคม 2538 "สมาชิกรัฐสภาคือผู้ได้รับมอบหมายจากประชาชนให้มาปรึกษาหารือกันบริหารประเทศให้การปกครองดำเนินไปตามวิถีทางแห่งระบอบประชาธิปไตยและให้บังเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชาติบ้านเมือง"

4มีนาคม 2548 "..เรื่องราวและปัญหาใด ๆ ที่เข้ามาสู่สภาแห่งนี้ จึงควรจะได้พิจารณาปรึกษาตกลงกันด้วยเหตุด้วยผล ด้วยความสามัคคีปรองดองและด้วยความสุจริตบริสุทธิ์ใจ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นเป้าหมายสูงสุด..."

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นที่มีต่อสถาบันนิติบัญญัติไทย


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พระราชดำรัส รัชกาลที่ 9 แนะรัฐสภาไทย สามัคคี ปรองดอง

view