สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พาไปรู้จักการประโคมย่ำยาม-การมหรสพ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในงานพระบรมศพ

จากประชาชาติธุรกิจ

ในหนังสือธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย โดยศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ (สนพ.มติชน) ได้เล่าถึงดนตรีและการมหรสพเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในงานพระบรมศพ พระศพ เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติและเป็นการส่งเจ้านายเสด็จสู่สรวงสวรรค์ อีกทั้งเป็นการแสดงพระกรุณาธิคุณต่อเหล่าราษฎรในการเป็นเครื่องปลอบประโลมให้คลายความทุกข์โศก ด้วยความรื่นเริงจากมหรสพนานาชนิดตามความนิยมแต่ละช่วงเวลา
วงดนตรีที่ใช้ในงานศพเรียกวงปี่พาทย์นางหงส์ เป็นวงที่บรรเลงในงานศพของสามัญชน ต่อมานำมาบรรเลงในงานสวดอภิธรรมศพของเจ้านาย ในขั้นตอนถวายเพลิงพระบรมศพและพระศพ
วงปี่พาทย์นางหงส์ เกิดจากการนำ วงปี่พาทย์ไทย ประกอบด้วย ปี่ใน ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ตะโพน กลองทัด ฉิ่ง ประสมกับ วงบัวลอย ซึ่งใช้ในงานเผาศพของสามัญชน ประกอบด้วยเครื่องดนตรี คือ ปี่ชวา 1 เลา กลองมลายู 2 ใบ และเหม่ง สำหรับวงบัวลอย มาจากวงกลองสี่ปี่หนึ่ง ซึ่งใช้เฉพาะงานพระบรมศพ พระศพ ของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ 
สำหรับเครื่องดนตรีที่ใช้ในวงปี่พาทย์นางหงส์ประกอบด้วย ปี่ชวา ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ตะโพน กลองทัด ฉิ่ง สาเหตุที่เรียกว่า วงปี่พาทย์นางหงส์ เกิดจากการบรรเลงเพลงที่เริ่มต้นด้วยเพลงนางหงส์ (เพลงพราหมณ์เก็บหัวแหวน) จึงเรียกชื่อวงและชื่อเพลงชุดนี้ว่า วงปี่พาทย์นางหงส์และเพลงชุดนางหงส์
ภาพประกอบ - พนักงานประโคมที่ทิม ในงานพระเมรุมาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (ภาพจากจดหมายเหตุงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กรมศิลปากร 2541)
การประโคมย่ำยาม เป็นเครื่องประกอบอิสริยยศอย่างหนึ่งในงานพระบรมศพ พระศพเจ้านายชั้นสูง และยังแฝงคติความเชื่อทางพุทธและพรามณ์ในทางพุทธศาสนาหมายถึง การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ส่วนของพราหมณ์เชื่อว่าพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์เป็นสมมุติเทพจากสรวงสวรรค์ลงมาจุติ เพราะฉะนั้นเวลาสิ้นพระชนม์ก็จะมีการประโคมย่ำยามเป็นการส่งเสด็จคืนสู่เขาพระสุเมรุบนสวรรค์ โดยจะประโคมหลังสวดอภิธรรมจบ และในสมัยก่อนจะมีนางร้องไห้ควบคู่ไปด้วย ซึ่งการประโคมนี้จะกระทำทุก 3 ชั่วโมง เริ่มจาก 6 นาฬิกา 9 นาฬิกา 12 นาฬิกา เรื่อยไปจนครบ 24 นาฬิกา
ธรรมเนียมการประโคมย่ำยามมีหลักเกณฑ์แน่นอนมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ปรากฎในคำให้การขุนหลวงหาวัด ให้รายละเอียดการใช้กลองชนะตีประโคมพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์เจ้า หม่อมเจ้า ราชนิกุล ข้าราชการ เชื้อพระวงศ์ เป็นจังหวะเดียวกันคือ ติงเปิงครุบ ติงเปิงเปิงครุบ ติงเปิงเปิงเปิงครุบ ถ้าศพพระสังฆราช เจ้าพระยาเสนาบดี ข้าราชการที่ไม่ใช่ราชสกุล ต้องตีอีก จังหวะหนึ่ง คือ ติงเปิงครุบครุบครุบ ติงเปิงเปิงครุบครุบ ติงเปิงเปิงเปิงครุบครุบครุบ 
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์การประโคมย่ำยามตามแบบเดิมจะใช้วงเครื่องสูงของสำนักพระราชวังประกอบด้วย ปี่ไฉน กลองชนะ สังข์ และแตรงอน การประโคมจังหวะของวงเครื่องสูงจะแตกต่างกันในแต่ละขั้นตอนของงานพิธีพระบรมศพ พระศพ อย่างการเคลื่อนพระศพไปยังสถานที่ต่างๆ เช่น อัญเชิญ ไปพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท หรืออัญเชิญพระเมรุ ก็จะเป่าปี่ไฉน พร้อมกับตีกลองชนะหลายใบ เรียกว่า 3 ไม้หนี 4 ไม้ไล่ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เปิงพรวด ซึ่งจะมีกลอง 1 ใบ ตีนำก่อนช้า 3 ครั้ง ต่อจากนั้นที่เหลือจึงตีขึ้นพร้อมกัน ค่อนข้างเร็ว 4 ครั้ง ถ้าเป็นการตีประโคมย่ำยาม กลองตัวนำจะตีเป็นเสียง จั๋งเปิง ประมาณ 5 ครั้ง ส่วนลูกตามก็จะตีทั้งหมด 1 ครั้ง ซึ่งสามารถเลียนเป็นเสียงได้ว่า จั๋งเปิง จั๋งเปิง เปิ้ง ผลุ (เสียง ผลุ คือ เสียงลูกที่ตีตามทั้งหมด)
ภายหลังมีการเพิ่มวงปี่พาทย์นางหงส์ของสำนักการสังคีตกรมศิลปากร ร่วมประโคมด้วยตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยประโคมในงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นงานแรก ซึ่งมีการประโคมย่ำยามเรียงตามลำดับ คือ วงแตรสังข์ วงปี่ไฉน วงปี่พาทย์นางหงส์
การมหรสพในการถวายพระเพลิงพระบรมศพและพระศพ ทางสังคมมิได้ถือว่าเป็นงานเศร้าโศก เพราะคำว่าสวรรคต แจ้งชัดว่า เสด็จสู่สวรรค์ การถวายเพลิงเป็นทั้งพิธีและการขอขมาศพ หรือแสดงความเคารพเป็นครั้งสุดท้าย จึงมีมหรศพดุจงานมงคล และเป็นงานกึ่งอาลัยระลึก รวมทั้งเป็นการปลงว่าสังขารย่อมเปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับเมื่อฝูงชนมารวมกันมากๆ เมื่อได้เดินทางมาไกลและยาวนาน ย่อมต้องดึงดูดให้เกิดความสนใจ เป็นการพักผ่อนหาความสุขทางใจจากการดูมหรสพ ซึ่งแม้ว่าพระผู้สวรรคตไปแล้ว พระบารมียังคงให้ความสุขแก่ปวงชนได้

สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พาไปรู้จัก การประโคมย่ำยาม การมหรสพ สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ งานพระบรมศพ

view