สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พระอัจฉริยภาพด้านไอซีที ในความทรงจำผู้ถวายงาน

พระอัจฉริยภาพด้านไอซีที ในความทรงจำผู้ถวายงาน (1)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

พระอัจฉริยภาพด้านไอซีทีในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่ประชาชนชาวไทยตลอดรัชสมัย ทั้งด้านการสื่อสารทางวิทยุ การพัฒนาสายอากาศ การจัดระบบสื่อสาร การบริหารคลื่นความถี่วิทยุ งานด้านอุตุนิยมวิทยา และเทคโนโลยีสารสนเทศ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่มีการนำมาใช้ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชนคนไทยตลอด 70 ปี

"ประชาชาติธุรกิจ" หยิบยกบางส่วนจากหนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้านการสื่อสาร โดยคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พุทธศักราช 2539 ดังนี้



สนพระทัยในงานช่าง

ความสนพระทัยด้านการสื่อสารเริ่มมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ในบทพระราชทานสัมภาษณ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรายการ "พูดจาประสาช่าง" ตอนที่ 18-21 ออกอากาศทางสถานีวิทยุจุฬาฯในปี 2530 ทูลกระหม่อมทรงเล่าถึงพระบิดาว่า

"...เท่าที่สังเกตมาตั้งแต่ยังจำความได้ ก็เห็นท่านทำงานช่างอยู่หลายอย่าง ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อตอนเด็ก ๆ ท่านมีความสนพระทัยในงานช่างมาก แล้วตอนท่านเล็ก ๆ สมเด็จย่าเลี้ยงท่านอย่างค่อนข้างจะเข้มงวด คือ แม้แต่ของเล่นก็ไม่ได้มีของเล่นมากมายสำเร็จรูปอย่างฟุ่มเฟือยเหมือนอย่างเด็ก ๆ สมัยนี้ แม้แต่เงินทองที่สมเด็จย่าให้เป็นค่าขนมแต่ละครั้งก็ให้อย่างจำกัด จะซื้อ จะหา อยากได้อะไรแต่ละอย่างต้องคิดว่าจะเอาอะไรก่อน อะไรหลัง อะไรคุ้มดีไหม อย่างเช่น ท่านอยากได้วิทยุมาฟัง ท่านก็ต้องเข้าหุ้นกับทูลกระหม่อมลุงซื้อชิ้นส่วนของวิทยุทีละชิ้น ๆ

มาประกอบเองเป็นวิทยุ ซึ่งต้องฟังกันสองคนที่เข้าหุ้นกัน..."

"ศาสตราจารย์ ดร.มงคล เดชนครินทร์" แห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง "ในหลวงกับงานช่าง" ว่า พระองค์ทรงซื้ออุปกรณ์เครื่องรับวิทยุสมัยนั้น คือ ผลึกแร่ ลวดหนวดแมว คอยล์ คอนเดนเซอร์ และหูฟัง ซึ่งมีวางขายเลหลังราคาถูกในเมืองโลซานน์ แล้วทรงประกอบเป็นเครื่องรับวิทยุชนิดใช้แร่ เมื่อได้ทรงต่อเครื่องรับวิทยุนี้เข้ากับสายอากาศยาว ๆ ก็ปรากฏว่าทรงสามารถรับฟังสถานีวิทยุกระจายเสียงในยุโรปได้หลายแห่ง และพอพระทัยเครื่องรับวิทยุมาก เพราะใช้อุปกรณ์ที่เป็นเพียงของราคาถูก แต่ทำงานได้ดี

ต่อเมื่อกิจการวิทยุได้เจริญก้าวหน้าขึ้น และได้มีการนำหลอดวิทยุมาใช้ในเครื่องรับวิทยุ เครื่องส่งวิทยุ รวมทั้งเครื่องขยายเสียงแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงทดลองอุปกรณ์แบบใหม่นี้เช่นกัน

เคยทรงต่อสายส่งสัญญาญเสียงเส้นยาวจากเครื่องรับวิทยุในห้องที่ประทับของพระองค์ท่านไปยังลำโพงในห้องที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ปรากฏว่าได้ผลดีเป็นที่พอพระทัยของทั้งสองพระองค์

นักทดลอง-Line of Sight

"ถาวร เยาวขันธ์" ผู้ถวายงานด้านดนตรีในฐานะมือกลอง วงดนตรี อ.ส.มาตั้งแต่ พ.ศ. 2501 และเคยรับราชการในกรมไปรษณีย์โทรเลข และการสื่อสารแห่งประเทศไทย เขียนความประทับใจไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยในงานด้านสื่อสารโทรคมนาคมมาก เมื่อพระองค์มีความสนพระทัยในสิ่งใด จะทรงมุ่งมั่นทดลองและทำด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเครื่องรับ-ส่งวิทยุ สายอากาศ เมื่อหน่วยงานต่าง ๆ เช่น องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย การสื่อสารแห่งประเทศไทย กรมไปรษณีย์โทรเลข หน่วยงานสื่อสารของทหาร ตำรวจ นำเครื่องไปถวายก็เป็นเครื่องที่สายระโยงระยางเต็มไปหมด ซึ่งพระองค์ทรงโปรดที่จะต่อด้วยพระองค์เองทั้งหมด เพราะจะได้ทรงทราบว่าปุ่มใดทำงานอย่างไร มีรายละเอียดอย่างไร ในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้พระองค์จะทรงศึกษาจากตำราของต่างประเทศอย่างลึกซึ้ง

เรื่องที่ประสบด้วยตนเองที่อยากกล่าวถึงคือ เมื่อครั้งยังรับราชการอยู่ที่กรมไปรษณีย์โทรเลข และมี คุณอนันต์ ชาญประไพ ดำรงตำแหน่งรองอธิบดี เป็นช่วงที่กรมไปรษณีย์โทรเลขเปิดให้บริการวิทยุติดตามตัวเป็นระยะแรก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้า รองอธิบดีอนันต์ และเจ้าหน้าที่เทคนิคเข้าเฝ้าฯ ทรงมีรับสั่งสอบถามเกี่ยวกับบริการวิทยุติดตามตัว ซึ่งกรมไปรษณีย์โทรเลขถวายให้พระองค์ทรงใช้งาน 10 เครื่อง และเกิดมีการรบกวน พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสซักถามถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดการรบกวนความถี่ที่ใช้ ลักษณะของสายอากาศ การใช้คริสตัล ตลอดจนการคำนวณทางเทคนิคต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดการรบกวน

พระองค์ทรงรับสั่งถึงวิธีการต่าง ๆ ดังกล่าวให้ฟังอย่างละเอียด เพราะแม้แต่เจ้าหน้าที่ทางเทคนิคเองก็ยากคิดตามให้ทัน และในที่สุดพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชทานคริสตัลที่ใช้ในความถี่ของพระองค์ให้แก่กรมไปรษณีย์โทรเลขมาใช้งานในช่วงนั้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ต่อกรมไปรษณีย์โทรเลข

อีกสิ่งที่ประทับใจมาก คือ ทรงเป็นนักทดลองให้เห็นทุกอย่างจริงด้วยพระองค์เอง อาทิ ในการทดลองใช้เครื่องรับ-ส่งวิทยุเพื่อติดต่อระหว่างจุดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบ VHF หรือ UHF พระองค์จะไม่เพียงแต่มีพระราชดำรัสเท่านั้น แต่จะทรงทดลองให้เห็นว่าสามารถติดต่อได้จริง

เหตุการณ์ที่ประสบด้วยตนเอง คือ การทดลองติดต่อเครื่องรับ-ส่งวิทยุระหว่างอำเภอลี้กับเชียงใหม่ ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯแปรพระราชฐานไปประทับที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ด้วยเครื่องรับ-ส่งที่มีกำลังส่ง 1 วัตต์ หรือไม่ถึง 1 วัตต์ด้วยซ้ำ ผลปรากฏว่าสามารถรับ-ส่งได้ดี แต่พระเจ้าอยู่หัว ไม่ตรัสว่าเป็นเพราะอะไร

"...สิ่งที่รู้สึกประทับใจมาก คือ ในวันก่อนที่จะนัดหมายทำการทดลอง ทรงมีรับสั่งให้เข้าเฝ้าฯ แล้วพระองค์ทรงประทับนั่งคุกเข่ากับพื้น ทรงกางแผนที่ขนาดใหญ่ออก ชี้ให้ดูจุดที่ตั้งของพระตำหนักภูพิงคฯ ได้ทรงลากเส้นไปที่ลี้ และทรงรับสั่งว่า ตรงนี้แหละที่เป็น Line of Sight ที่เป็นไปได้เพราะไม่มีภูเขาบังเลย ลากเส้นได้เป็นเส้นตรงที่ไม่มีอะไรบัง เพราะพระตำหนักภูพิงคฯอยู่บนเขาสูง ดังนั้น ไม่ว่าจะรับ-ส่งด้วยเครื่องขนาดกำลัง 1 มิลลิวัตต์ 10 มิลลิวัตต์ หรือ 1 วัตต์ การรับ-ส่งของคลื่นต้องใช้ Line of Sight ในทางเทคนิคซึ่งเป็นเรื่องที่พระองค์ทรงศึกษามาก่อน แสดงให้เห็นว่าเมื่อไรก็ตามที่พระองค์ท่านจะทรงทำอะไรสักอย่าง พระองค์จะทรงศึกษาอย่างลึกซึ้งในทุกด้าน"

VR009 หาทิศวิทยุ แก้คลื่นกวน

"พลตำรวจตรีสุชาติ เผือกสกนธ์" อดีตอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข ผู้ถวายงานด้านการสื่อสารตั้งแต่ปี 2511 ตั้งแต่เริ่มทรงศึกษาเกี่ยวกับวิทยุสื่อสาร และทรงรับสัญญาณเรียกขาน "VR009" จนกระทั่งถึงวันนี้ต้องยืนยันว่า "...พระมหากษัตริย์ไทยนั้นมิได้ทรงเป็นนักวิทยุสมัครเล่น แต่ทรงเป็นนักวิทยุมืออาชีพที่จะทรงใช้ประโยชน์ในการติดต่อสื่อสารทางวิทยุ เพื่อบรรเทาทุกข์ภัยพิบัติความเดือดร้อน และเพื่อสร้างความร่มเย็นเป็นสุขให้พสกนิกรของพระองค์ท่าน"

เหตุการณ์หนึ่งในความทรงจำในการถวายงานให้พระองค์ท่าน คือเย็นวันหนึ่งได้ปรากฏว่าข่ายการสื่อสารของกรมตำรวจที่รู้จักกันทั่วไปในวงการ คือ ข่ายวิทยุ "ปทุมวัน" ถูกสถานีวิทยุแห่งหนึ่งส่งคลื่นเข้ามารบกวนมีความแรงมาก จนไม่สามารถติดต่อกับสถานีวิทยุลูกข่ายทั้งที่เป็นสถานีประจำที่ และเคลื่อนที่ได้เป็นเวลานานและต่อเนื่อง การสื่อสารในข่ายนั้นต้องหยุดชะงักโดยสิ้นเชิง สร้างความโกลาหลให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องอย่างยิ่ง เมื่อความทราบถึงพระกรรณ การปฏิบัติการตรวจสอบและหาทิศวิทยุแบบลูกทุ่งจึงเริ่มขึ้นเมื่อเวลาใกล้ค่ำ

"...จากการตรวจสอบหาทิศวิทยุของสถานีประจำที่ทั้งสองสถานี ซึ่งต้องใช้เวลานานพอสมควร ได้พบจุดพิกัดโดยประมาณว่าสถานีที่ส่งคลื่นวิทยุมารบกวนข่ายตำรวจ "ปทุมวัน" อยู่ในทิศทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงเทพฯ สัญญาณที่วัดได้มีความแรงสูง จึงคาดคะเนว่าจุดที่ตั้งน่าจะไม่ไกลมาก เมื่อได้พิจารณาในแผนที่ตรงจุดตัดระหว่างเส้นทิศทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงวัดจากพระตำหนักจิตรลดาฯกับเส้นทางที่ผมวัดจากบ้านพักในกองการสื่อสารกรมตำรวจ บางเขน คาดว่าจะอยู่แถวอำเภอบางพลี สมุทรปราการนี้เอง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงรับสั่งให้ผมนำสถานีตรวจสอบฯเคลื่อนที่ออกปฏิบัติการมุ่งหน้าไปสู่ทิศทางดังกล่าว ผมจึงขับรถยนต์ประจำตำแหน่งออกไปเอง

โดยนำเครื่องอุปกรณ์ที่จำเป็นติดไปด้วย ขณะเดินทางรู้สึกกระหยิ่มและมั่นใจว่าภารกิจนี้จะประสบความสำเร็จโดยง่าย และผมได้มีการตรวจสอบพิกัดกับพระองค์ท่านเป็นระยะ ๆ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเดินทางมาตามเส้นทางได้ถูกต้อง...เมื่อถึงจุดที่เหมาะสมได้มีพระราชกระแสให้ผมตรวจสอบความแรงของสัญญาณและใช้สายอากาศหาทิศที่นำติดตัวไปด้วย...

เป็นที่น่าแปลกใจว่าความแรงของสัญญาณวิทยุที่วัดได้ ณ จุดที่ทำการตรวจสอบกลับมิได้สูงสุดตามที่คาด เครื่องอุปกรณ์หาทิศยังคงแสดงจุดและทิศทางชี้ไปตามเส้นทางกรุงเทพฯ-ชลบุรี แต่ในขณะนั้นเวลาล่วงเลยไปจนใกล้รุ่งแล้ว พระองค์ท่านจึงรับสั่งให้ระงับการค้นหาไว้ชั่วคราว โดยได้รับสั่งว่า หากจะ ว.4 (ปฏิบัติการ) ให้ได้ผลจำเป็นต้องเปิดสถานีประจำที่ที่บางเขน (ที่บ้านพักของผม) ทำงานร่วมอีกสถานีหนึ่ง จุดตัดของ 3 สถานีที่ปฏิบัติการร่วมกันจึงจะแน่นอนยิ่งขึ้น"

แผนปฏิบัติการจึงเปลี่ยนใหม่ตามแนวกระแสพระราชดำริในวันรุ่งขึ้น จนกระทั่งสามารถค้นหาสถานีวิทยุที่ส่งคลื่นรบกวนได้ โดยเป็นของส่วนราชการแห่งหนึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาสูงก่อนเข้าตัวเมืองชลบุรี ซึ่งเป็นการรบกวนโดยไม่ตั้งใจเนื่องจากความเสื่อมของอุปกรณ์ นับแต่นั้นมาสถานีตรวจสอบเฝ้าฟังและหาทิศทางวิทยุทั้งประจำที่และเคลื่อนที่ก็ได้ทยอยตั้งขึ้น ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค นับเป็นส่วนหนึ่งจากพระราชอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

คำแนะนำแก้ปัญหา Fading

"ปลื้มใจ สินอากร" อดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์ ผู้มีโอกาสถวายงานในช่วงปี 2512-2534 กล่าวถึงพระอัจฉริยะเกี่ยวกับงานด้านโทรศัพท์ตอนหนึ่งว่า ในภาคเหนือตลอดจนภาคกลางในช่วงปลายฤดูหนาว เวลาเช้าตรู่ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น อากาศช่วงนั้นมักจะมีหมอกและหมอกนี้จะค่อย ๆ เคลื่อนจากภาคเหนือลงมาถึงภาคกลาง ปกคลุมถึงกรุงเทพฯ แต่หมอกจะมีเฉพาะช่วงเช้า หนาบ้างบางบ้างทุกปี

บางปีจะมีหมอกปกคลุมมากจนทำให้เครื่องบินที่สนามบินดอนเมืองต้องเลื่อนเวลาขึ้น-ลง หมอกนี้มีผลทำให้สัญญาณคลื่นวิทยุ Microwave ไม่สามารถจะรับ-ส่งได้หรือมีการจางหาย (Fading)

"...ในฤดูหนาวนั้น มักเป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จฯเยี่ยมเยียนประชาชนในภาคเหนือ เพราะเป็นช่วงที่ประชาชนได้รับความลำบากจากอากาศหนาวเย็น เช่นเดียวกันที่จะเสด็จฯภาคใต้ในฤดูฝน ซึ่งประชาชนได้รับความลำบากจากฝนตก สำหรับฤดูหนาวที่มีอากาศหนาวเย็นและมีหมอกทำให้การติดต่อสื่อสารทาง Microwave ขัดข้อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระมหากรุณาธิคุณและทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้คุณสวาท ศรีขำ และข้าพเจ้าตรวจสอบและถวายรายงาน และรับพระราชทานวินิจฉัยว่า น่าจะเกิดจากการปรากฏการณ์แปรปรวนในชั้นบรรยากาศที่คลื่นวิทยุต้องส่งผ่านในเวลาต่าง ๆ กันในฤดูหนาวของทุกปี ทำให้การหักเหของคลื่นวิทยุผิดไปจากปกติ..."

พระองค์ได้ทรงแนะนำให้แก้ไขโดยการตั้งจานสายอากาศรับ-ส่งสัญญาณ Microwave เพิ่มขึ้นอีก เพื่อจะได้ดักสัญญาณที่หักเหเปลี่ยนทิศทางนั้นไป จากพระราชกระแสรับสั่งนี้ ทางองค์การโทรศัพท์ฯได้รับใส่เกล้าฯ และได้มีการปรับปรุงเพิ่มจานสายอากาศรับ-ส่งสัญญาณ ซึ่งเรียกว่า Space Diversity หลังจากนั้น การเกิด Fading ในช่วงฤดูหนาวและในช่วงที่มีหมอกมาก ๆ ก็หมดไป ทำให้คุณภาพของการให้บริการโทรศัพท์ดีขึ้นมาก


พระอัจฉริยภาพด้านไอซีที ในความทรงจำผู้ถวายงาน (จบ)

จากประชาชาติธุรกิจ

พระอัจฉริยภาพด้านไอซีทีในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นที่ประจักษ์ชัดตลอดรัชสมัยผ่านพระราชกรณียกิจบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชนไทยตลอด 70 ปีแห่งรัชสมัย

"ประชาชาติธุรกิจ" หยิบยกบางส่วนจากหนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้านการสื่อสาร โดยคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๓๙ มานำเสนอเป็นตอนที่ 2 ต่อเนื่องจากฉบับก่อนนี้



สายอากาศสุธี 1-4

"รศ.ดร.สุธี อักษรกิตติ์" อดีตคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กล่าวถึงช่วงเวลาที่เป็นผู้รับสนองพระราชดำริในโครงการระบบสื่อสารสายอากาศและอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ปี 2513

"...ประมาณปี 2512 ช่วงสงครามเวียดนาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปรารภในเรื่องวิทยุสื่อสารที่ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาว่า เป็นชนิดที่มีวัตต์ต่ำสามารถติดต่อสื่อสารในป่าได้เพียง 1 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งยุคนั้นคนแทบจะไม่ให้ความสนใจเรื่องนี้เลย แต่พระองค์ทรงมีพระราชปรารภและทรงทำการทดลองในเรื่องดังกล่าวหลายต่อหลายครั้งด้วยกัน ในครั้งแรกที่ผมทำงานตามพระราชดำริ ไม่ทราบว่าเป็นงานของพระองค์ จนกระทั่งมีคนมาบอกให้เข้าวังไปด้วยกัน และให้นำระบบสายอากาศชนิดใหม่ไปติดตั้ง ก็ไม่ได้คิดว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จมา แต่ว่าแปลกใจว่าทำไมอยู่ดี ๆ เจ้าหน้าที่ที่กำลังติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ อยู่บนดาดฟ้าของพระตำหนักจึงปีนลงมา ทั้ง ๆ ที่งานยังไม่เสร็จ

แท้ที่จริงพระองค์ท่านเสด็จมายืนอยู่ข้างหลัง ผมเหลียวหลังไปมองนิดหนึ่ง ครั้นพอเห็นพระองค์ท่านก็ตกใจ เป็นอาการวูบ ๆ ขึ้นมาทันที นึกอยู่ในใจว่าใช่แล้ว ใช่แน่ ๆ เพราะคิดว่าเหมือนในรูป ผมก็รีบทำความเคารพแล้วก็ทำอะไรไม่ถูก สิ่งที่ผมจำได้ คือ เราต้องอยู่ต่ำกว่าจึงรีบคุกเข่าให้ต่ำลงมาเป็นเหมือนชันเข่า เพราะว่าตอนนั้นพระองค์ท่านประทับยืนอยู่ ถ้านั่งพับเพียบเลยก็อาจต่ำเกินไป เพราะผมต้องพูดอธิบายด้วย ปรากฏว่าพระองค์ท่านก็คุกเข่าลงไปด้วย ผมก็เลยนั่งพับเพียบให้ต่ำลงไปอีก พระองค์ท่านก็ประทับพับเพียบเหมือนกัน เลยกลายเป็นว่าวันนั้นนั่งพับเพียบสนทนากัน 2-3 ชั่วโมง บนดาดฟ้าพระตำหนักในเวลาช่วงบ่ายที่แดดร้อนเปรี้ยง...

...พระองค์ท่านทรงถามว่า ใครเป็นผู้ทำงานชิ้นนี้ขึ้นมา ผมกราบบังคมทูลว่า ผมทำ พระองค์ท่านตรัสว่า "ฉันไม่รับ" ตอนนั้นเหมือนช็อก เหมือนคนสอบตกแล้วเสียใจทำนองนั้น ทำอะไรไม่ถูก ไม่รู้ว่าเวลาผ่านไปนานเท่าไร พระองค์ท่านก็ประทับเฉยไม่ได้ตรัสอะไร จนในที่สุดผมพยายามรวบรวมความกล้าทูลถามพระราชประสงค์ที่ต้องการ ก็จดมาเป็นข้อ ๆ จำได้ว่าประมาณ 21 ข้อที่เป็นประเด็นสำคัญ ทำให้ทราบว่าพระองค์ท่านทรงทดลองค้นคว้ามาอย่างจริงจัง เพราะบางประเด็นไม่ได้มีอยู่ในตำราเลย แต่ได้มาจากการทดลอง ค้นคว้าขึ้นเอง

ที่สำคัญคือบทเรียนจากวันนั้น ทำให้ผมทราบว่างานที่ผมทำผมคิดว่าทำดีที่สุด คือได้มาตรฐานสากลของโลก เช่น ยอมให้เกิดการสูญเสียของพลังงานที่ออกจากเครื่องส่งป้อนเข้าสายป่านในการสะท้อนกลับของสัญญาณ สมมุติว่ามาตรฐานจะยอมรับได้ที่ 20% แต่ของพระองค์ท่าน คือ 1% ซึ่งยากมากแต่ก็ท้าทายดี ผมมาทราบภายหลังว่าสายอากาศชุดแรกนี้พระองค์ท่านให้ทำขึ้นเพื่อต้องการหาทิศทางให้ทราบแน่ชัด ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในทางทหารและพลเรือน"

เมื่อออกแบบพร้อมทั้งสร้างและทดสอบคุณสมบัติทางเทคนิคแล้วจึงได้พระราชทานแบบสายอากาศรุ่นสุธี1ถึงสุธี 4 ให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจนำแบบไปสร้างใช้งาน เนื่องจากช่วงเวลานั้นผู้ใช้ส่วนใหญ่ยังต้องซื้อสายอากาศวิทยุจากต่างประเทศ ซึ่งนอกจากราคาแพงแล้วยังต้องใช้เวลารอผลิตนานอีกด้วย

"นางเมขลาพาไปเขาพระสุเมรุ"

"สมิทธ ธรรมสโรช"อดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาเล่าถึงความสนพระทัยในงานอุตุนิยมวิทยาว่า เท่าที่จำความได้พระองค์ท่านสนใจตั้งแต่เกือบจะเริ่มก่อตั้งกรมอุตุนิยมวิทยาด้วยซ้ำ สมัยอธิบดีคนที่ 2 คือ พลเรือโทสนิท เวสารัชนันท์ (ดำรงตำแหน่ง 19 พ.ย. 2505-30 ก.ย. 2513) ก็ทรงสนพระทัยมาโดยตลอด แม้กระทั่งเมื่อท่านอธิบดีเกษียณอายุราชการไปแล้ว ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ไปช่วยงานส่วนพระองค์ในพระราชวัง เพื่อจัดเตรียมแผนที่ลักษณะอากาศร่วมกับกิจการฝนหลวง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงใช้ข้อมูลอุตุนิยมวิทยาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทรงศึกษาวิเคราะห์ วิจัยและพยากรณ์ลักษณะอากาศด้วยพระองค์เอง ทรงให้คำเตือนภัยแก่มูลนิธิซึ่งอยู่ในสังกัดของสำนักพระราชวัง เช่น มูลนิธิราชประชาสมาสัย ทำให้หน่วยบรรเทาทุกข์ของพระองค์เข้าไปถึงประชาชนได้รับอันตรายก่อนที่หน่วยงานอื่นของรัฐบาลจะไปถึง

"แม้บางครั้งที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์ไว้ว่าจะมีพายุลูกใดพัดผ่านประเทศไทยบ้างแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพยากรณ์ว่า พายุดังกล่าวจะไม่พัดผ่านไทยแน่นอน ผลก็ปรากฏว่าพายุนั้นไม่ได้ผ่านเข้ามาจริง ๆ ตัวอย่างที่เห็นชัด คือ การเกิดพายุ Angela ในปี 2538 ซึ่งกรมอุตุฯได้รับข้อมูลชัดเจนว่า พายุนี้จะเข้าไทยแน่นอน แม้แต่ศูนย์อุตุนิยมวิทยาของต่างประเทศก็ระบุว่า จะเข้าไทย แต่พระองค์ท่านทรงยืนยันว่า ไม่เข้าประเทศไทยแน่นอน

ก็ปรากฏว่าเป็นไปตามที่ทรงพยากรณ์ไว้จริง ๆ พระองค์ทรงมีรับสั่งในโอกาสที่ได้เข้าเฝ้าฯภายหลังว่า ที่ทรงพยากรณ์ไว้นั้นเป็นวิทยาศาสตร์มิใช่โหราศาสตร์ และทรงมีพระราชดำรัสในทางขำขันเพื่อไม่ให้เราเสียใจว่า ไม่เป็นไร ลูกนี้ไม่เข้า ฉันให้นางเมขลาพาไปที่เขาพระสุเมรุแล้ว"

ผู้นำด้านไอที

"ดร.บวร ปภัสราทร" คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้กล่าวถึงโอกาสที่ได้รับหน้าที่เป็นผู้ดูแลโครงการด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ของสถาบัน เมื่อครั้งที่พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรนิทรรศการทางเทคโนโลยีของ มจธ. เมื่อ 24 ต.ค. 2534

"...บังเอิญว่า มจธ.เลือกใช้คอมพิวเตอร์ชนิดที่ต่างไปจากหน่วยงานอื่นในสมัยนั้น คือ มีการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ (Unix Workstation) รูปทรงคล้ายคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล แต่ทำงานด้วยความเร็วสูงและปริมาณข้อมูลมากกว่ามากมาย และต้องใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์เป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำงาน สมัยนั้นแม้แต่ในกลุ่มนักวิชาการกันเองยังอธิบายให้เข้าใจความสามารถและความแตกต่างให้แจ่มแจ้งชัดเจนได้ยากลำบาก

...ในระหว่างซักซ้อมเตรียมการสาธิตโครงการNetworkConferenceก่อนการเสด็จพระราชดำเนิน ทีมวิจัยโครงการต่างรู้สึกวิตกกังวลอย่างยิ่งในการอธิบายหลักการทำงานของระบบให้เข้าใจได้ง่าย ๆ เพราะคำอธิบายเต็มไปด้วยศัพท์เทคนิคด้านการสื่อสารข้อมูล ระบบปฏิบัติการ และวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ทำให้ผู้บริหารสถาบันหลายท่านถึงกับส่ายหน้าในความยุ่งยาก และเกือบทั้งหมดเชื่อว่าจะเป็นโครงการที่น่าเบื่อที่สุดในบรรดาที่จะถวายให้ได้ทอดพระเนตร จึงจัดเวลาส่วนนี้ไว้สั้นเพียงไม่เกิน 3 นาที"

ในการเสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการของพระองค์ท่านครั้งนั้น นักวิจัยในโครงการต่าง ๆ ของสถาบันซาบซึ้งในพระอัจฉริยภาพและพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงพระราชทานคำแนะนำและคำวิจารณ์ที่เป็นประโยชน์ยิ่งต่อการวิจัยและพัฒนาทำให้ช่วงเวลาทอดพระเนตรแต่ละโครงการยืดออกจาก3-10นาที เป็น 10-30 นาที

"...ครั้นเมื่อถึงห้องติดตั้งระบบ Network Conference พระองค์ทรงเริ่มต้นจากพระราชปุจฉาง่าย ๆ ที่ผมสามารถถวายคำตอบได้โดยไม่อึดอัดใจ จากนั้นก็ทรงรับสั่งสอบถามหลักการที่ยุ่งยากมากขึ้นตามลำดับ ในครั้งใดที่คำอธิบายที่ผมถวายมีคำศัพท์เทคนิคที่ผู้คนทั่วไปเข้าใจได้ยาก ก็ทรงพระราชทานคำแนะนำวิธีการอธิบายโดยใช้ภาษาง่าย ๆ เสริมให้เกือบทุกครั้ง..."


ทั้งยังทรงพระราชทานคำแนะนำว่า คอมพิวเตอร์ต่อไปจะเป็นเครื่องสื่อสารชนิดหนึ่งในชีวิตประจำวัน โดยคอมพิวเตอร์จะทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ก็เมื่อสามารถส่งภาพเคลื่อนไหวที่เหมือนภาพจริงได้ ควบคู่ไปกับการรับ-ส่งสัญญาณเสียงในเวลาเดียวกัน และต้องมีขีดความสามารถในการลำเลียงข้อมูลระหว่างคอมพิวเตอร์ได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ อย่างทั่วถึง

"...ทุกท่านที่รู้จัก Information Superhighway คงจะทราบว่าคำแนะนำที่ทรงพระราชทานในครั้งนั้น คือแนวคิดพื้นฐานของ Information Superhighway ซึ่ง ณ ขณะนั้นไม่มีใครคิดว่าเราจะสามารถชมภาพยนตร์ และสนทนากันผ่านคอมพิวเตอร์ได้ ขณะนั้นไม่มีใครคิดว่าเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจะขยายตัวทั้งด้านความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูล และพื้นที่ครอบคลุมอย่างกว้างขวางเช่นปัจจุบัน ทั้งยังทรงรับสั่งชี้แนะแนวทางการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถของโครงการในการบีบอัดข้อมูลให้เล็กลงเพื่อจะได้รับ-ส่งภาพเคลื่อนไหวได้เหมือนจริง

...และทรงพระราชทานแนวทางเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลดขนาดของฮาร์ดแวร์ลงมาบรรจุในไมโครชิปเพื่อให้อุปกรณ์ต่างๆมีขนาดเล็กลงสะดวกต่อการใช้งานในลักษณะเคลื่อนที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในการประดิษฐ์คอมพิวเตอร์ปัจจุบัน หลักการสำคัญที่เป็นตัวชี้อนาคตที่พระราชทานในวันนั้น เป็นที่น่ามหัศจรรย์อย่างยิ่งที่เกิดขึ้นในเวลาเสด็จทอดพระเนตรโครงการนี้เพียง 15 นาที ทั้ง ๆ ที่หลายโอกาสในเกือบ 5 ปีถัดมายังต้องใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมงในการนำเสนอแนวคิดเรื่อง Information Superhighway..."


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พระอัจฉริยภาพด้านไอซีที ในความทรงจำ ผู้ถวายงาน

view