สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พระบรมโกศ พระราชยาน พระราชรถ

จากประชาชาติธุรกิจ

พระบรมโกศ

พระบรมโกศเป็นหนึ่งในเครื่องเกียรติยศตามฐานันดรศักดิ์สำหรับงานพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ธรรมเนียมการใช้โกศตามลำดับอิสริยยศพระบรมศพของพระเจ้าแผ่นดินนั้นใช้พระบรมโกศกลม ยอดเหมบุษบกพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ มีเทพนมพรหมพักตร์ พระโกศจำหลักลายกุดั่น กาบพรหมศร กลีบบุษบง ทำด้วยทองคำลงยาราชาวดีประดับเนาวรัตน์ ในปัจจุบันเรียกพระบรมโกศของพระเจ้าแผ่นดินว่า พระโกศทองใหญ่ ตามธรรมเนียมที่เรียกสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ร.1)

การสร้างพระโกศจะสร้างเมื่อจำเป็นเท่านั้น ไม่ใช่ภารกิจในทุกรัชกาล นับตั้งแต่เริ่มสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์มีการสร้างพระโกศทองใหญ่ 3 ครั้ง คือในสมัยรัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 9 พระโกศแต่ละองค์ที่สร้างเรียกตามรัชสมัยว่า พระโกศทองใหญ่รัชกาลที่ 1 พระโกศทองใหญ่รัชกาลที่ 5 และพระโกศทองใหญ่รัชกาลที่ 9


ริ้วขบวนแห่พระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ


สำหรับพระบรมโกศที่ทรงพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชในขณะนี้คือพระโกศทองใหญ่รัชกาลที่5

พระบรมโกศของพระมหากษัตริย์นั้นจะประดับตกแต่งอย่างครบถ้วนประกอบด้วยพุ่มเฟื่อง ดอกไม้ไหว ดอกไม้เอว เต็มตามพระบรมราชอิสริยยศ การตกแต่งพระบรมโกศมีการลดหลั่นหลายชั้น ชั้นบนสุดมีพุ่มดอกไม้เพชรบนยอดพระบรมโกศ ถัดลงมาเรียกว่าชั้นกระจัง ฝาพระบรมโกศประดับดอกไม้เพชรที่เรียกว่าดอกไม้ไหว โดยรอบปากพระบรมโกศห้อยเฟื่องเพชร มีพู่เงินห้อยทุกมุมทั้ง 8 มุม ถัดลงมาที่เอวพระบรมโกศประดับดอกไม้เพชรที่เรียกว่าดอกไม้เอว โครงสร้างภายในของพระบรมโกศเป็นไม้หุ้มทองคำ ประดับรัตนชาติสีขาว

พระบรมโกศประดิษฐานบนพระแท่นสุวรรณเบญจปฎล ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร และพระแท่นสุวรรณเบญจปฎลประดิษฐานอยู่บนพระแท่นทองทรายอีกชั้นหนึ่ง บริเวณแวดล้อมพระแท่นสุวรรณเบญจปฎลซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมโกศนั้น ตั้งเครื่องสูงสำหรับพระบรมราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์


ริ้วขบวนแห่พระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

โดยรอบพระบรมโกศมีฉัตรรายล้อมอยู่ โดยเป็นการประดับลำดับชั้นรอบมุมพระแท่นสุวรรณเบญจปฎลด้วยสุวรรณฉัตร และสุวรรณฉัตรคันดาน พระแท่นสุวรรณเบญจปฎลตกแต่งด้วยพุ่มแก้ว พุ่มตาดทอง เทียนไฟฟ้า และแจกันปักดอกไม้โลหะสีทอง ส่วนบริเวณโดยรอบพระที่นั่งทองทรายแวดล้อมด้วยพระอภิรุมชุมสายหักทองขวาง เครื่องสูงที่เรียกว่า หักทองขวาง หมายถึงการปักเส้นทองไปตามขวางตามลวดลายบนผืนผ้า ประกอบด้วย ฉัตรชุมสาย 2 ชั้น ฉัตร 5 ชั้น ฉัตร 7 ชั้น และบังแทรก

บริเวณด้านหน้าพระบรมโกศประดิษฐานม้าหมู่ 2 หมู่ หมู่แรกทอดเครื่องราชอิสริยาภรณ์และพระคทา ม้าหมู่ที่ 2 ทอดเครื่องราชเบญจราชกกุธภัณฑ์ ประกอบด้วย 1.พระมหาพิชัยมงกุฎ 2.พระแสงขรรค์ชัยศรี 3.ธารพระกรชัยพฤกษ์ 4.พัดวาลวิชนี และพระแส้จามรี 5.ฉลองพระบาทเชิงงอน


พระที่นั่งราเชนทรยาน

พระราชยาน

พระราชยาน หมายถึง ยานพาหนะที่ใช้ในกระบวนแห่เชิญพระบรมศพไปยังพระเมรุมาศเพื่อประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศ ซึ่งออกแบบก่อสร้างขึ้นสำหรับการพระราชพิธีนี้โดยเฉพาะ ณ ปริมณฑลพิธีท้องสนามหลวง เป็นเครื่องประกอบอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ อันแตกต่างจากสามัญชนทั่วไป

ในสมัยรัตนโกสินทร์มีการสร้างราชยานหลายองค์ เข้าใจว่าสร้างตามแบบแผนราชประเพณีอยุธยา แต่ได้ดัดแปลงและปรับปรุงให้เหมาะสมกับกาลสมัยและสภาพการใช้สอย คือยังคงมีลักษณะอยู่ในเครื่องยานคานหาม 4 ประเภท ได้แก่ 1.ยานมาศ 2.เสลี่ยง 3.วอ 4.คานหาม รวมพระราชยานที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ที่ยังคงอยู่ในปัจจุบัน 30 องค์

ในสมัยกรุงศรีอยุธยากำหนดศักดิ์และการใช้งานพระราชยานไว้ในกฎมณเฑียรบาลตามพระราชอิสริยยศว่า พระราเชนทรยาน คือพระราชยานสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน

ส่วนศักดิ์และการใช้งานพระราชยานในสมัยรัตนโกสินทร์แบ่งตามพระราชอิสริยยศหรือลำดับชั้นของเจ้านายและบุคคลที่ได้รับพระราชทานในส่วนของพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชยานหลายองค์เรียงลำดับศักดิ์ดังนี้พระที่นั่งราเชนทรยาน พระราชยานพุดตาน (ต่าง ๆ) พระราชยาน (ต่าง ๆ) พระยานมาศ พระเสลี่ยง และพระวอ



พระมหาพิชัยราชรถ

พระราชรถ หมายถึง พาหนะแห่งองค์พระราชา ใช้เป็นราชยานของพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางชั้นสูง มักใช้ในการเดินทางไกลพอสมควร ในสมัยอยุธยาพบว่ามีการใช้ราชรถในการอื่น ๆ ด้วย อาทิ ใช้ในการอัญเชิญพระราชสาสน์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการใช้ในพระราชพิธีอินทราภิเศก

ราชรถสำหรับงานพระเมรุมาศมีขนาดต่างกันตามฐานะ ในงานพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์ พระเมหสี และเจ้าฟ้าจะใช้ราชรถขนาดใหญ่ตระการตา

ในพิธีพระบรมศพพระมหากษัตริย์ที่ถือปฏิบัติมาตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์กำหนดให้พระมหาพิชัยราชรถเป็นราชรถเฉพาะอัญเชิญพระบรมศพ


มีบันทึกในพระราชพงศาวดารว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช(ร.1) ทรงให้สร้างพระมหาพิชัยราชรถตามแบบพระราชประเพณีกรุงศรีอยุธยา คือมีขนาดสูง 1,120 เซนติเมตร (11.20 เมตร) ยาว 1,530 เซนติเมตร (15.30 เมตร) เพื่อใช้ในการพระบรมศพสมเด็จพระปฐมบรมราชชนก ใน พ.ศ. 2338 ต่อมาสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดีสิ้นพระชนม์ ก็โปรดให้อัญเชิญพระโกศทรงบนพระมหาพิชัยราชรถออกพระเมรุอีกครั้งหนึ่ง นับจากนั้นพระมหาพิชัยราชรถก็ถูกกำหนดให้เป็นราชรถเฉพาะอัญเชิญพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินตลอดมา



นอกจากพระมหาพิชัยราชรถแล้วยังมีราชรถที่สำคัญคือเวชยันตราชรถเป็นราชรถอีกองค์หนึ่งที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่1ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่ออัญเชิญพระบรมศพ สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ในงานพระเมรุคู่กับสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี ซึ่งทรงใช้พระมหาพิชัยราชรถ จากนั้นเวชยันตราชรถก็ถูกใช้เป็นราชรถรองในงานพระเมรุพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลต่อมาจนถึงงานพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(ร.5)

หลังจากงานพระเมรุมาศพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่5พระมหาพิชัยราชรถชำรุดในงานพระเมรุพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.6) และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (ร.8) จึงใช้เวชยันตราชรถเป็นรถทรงพระบรมศพ โดยไม่มีราชรถรองในริ้วขบวน และในการพระเมรุพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.7) ก็ใช้เวชยันตราชรถเป็นรถอัญเชิญพระบรมศพเช่นกัน

ทั้งนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2530 กรมศิลปากรได้บูรณะซ่อมแซมเสริมความมั่นคงแก่พระมหาพิชัยราชรถได้สำเร็จ และอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ ดังนั้นพระมหาพิชัยราชรถจึงถูกนำมาใช้อีกครั้งในพิธีพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พ.ศ. 2539) พิธีพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (พ.ศ. 2551) และพิธีพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ (พ.ศ. 2555)

ในการพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นอีกครั้งที่พระมหาพิชัยราชรถ ราชรถที่มีศักดิ์สูงสุดจะถูกนำออกมาใช้ตามโบราณราชประเพณีที่สืบต่อมาตั้งแต่รัชสมัยพระปฐมบรมราชจักรีวงศ์


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พระบรมโกศ พระราชยาน พระราชรถ

view