จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ Inside-Out Story โดย ปัญญ์ชลี พิมลวงศ์
ตลอดระยะเวลาการครองราชย์ 70 ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางในการดำเนินชีวิตให้แก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด ซึ่งหนึ่งในพระราชดำรัสที่ประชาชนน้อมนำมาปฏิบัติ คือ "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง"
จากอดีตถึงปัจจุบันมีหลายเวทีด้านซีเอสอาร์ มีการกล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่างปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ในที่นี้ผู้เขียนขอเรียบเรียงบางช่วงบางตอนจากหนังสือ CSR ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งถอดความจาก CSR Forum : CSR ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ CSR Club สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยจัดขึ้นเมื่อปี 2554 โดย "จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา" ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พูดถึงซีเอสอาร์ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างน่าสนใจ
"จิรายุ" บอกว่าเมื่อปี 2542 มีความตั้งใจที่จะเผยแพร่การนำหลักปรัชญาฯไปใช้กับ 8 กลุ่มเป้าหมาย หนึ่งในนั้นคือกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ เพราะเห็นว่ากลุ่มนี้ประสบปัญหามากที่สุดกลุ่มหนึ่งเมื่อตอนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ทั้งนั้น ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสามารถเพิ่มคุณค่าของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก และการบริหารธุรกิจกระแสหลักได้ด้วยการเน้นให้ความสำคัญกับความรู้ การใช้ความรู้ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวังและมีเหตุผล
กระบวนการทำธุรกิจต้องคำนึงถึงอัตภาพ ความสอดคล้องกับสถานการณ์ของสังคม ประเทศ และตลาดโลก โดยไม่ขยายตัวเร็วเกินกำลังของตัวเอง แต่ก็ไม่น้อยจนต่ำกว่าศักยภาพที่มี นั่นคือความพอประมาณในการทำธุรกิจ ขณะเดียวกัน ประเด็นที่ธุรกิจขนาดใหญ่ต้องให้ความสำคัญคือระบบบริหารความเสี่ยง (Risk Management) เพราะสถานการณ์ต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา องค์กรจึงต้องไม่ประมาท ต้องตั้งสติ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และสร้างระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี เพื่อเตรียมความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่มาอย่างรวดเร็ว
"การเตรียมพร้อมรับจะต้องใช้ข้อมูล และความรู้ทางวิชาการอย่างเป็นเหตุเป็นผล เพื่อให้มีทางเลือกในการตัดสินใจ และการปฏิบัติที่เหมาะสมกับสถานการณ์ และสำคัญมากที่สุดคือต้องอยู่บนพื้นฐานคุณธรรม ใช้สติปัญญา ไม่ตัดสินใจหรือกระทำการใด ๆ ที่ออกนอกเส้นทางของความถูกต้อง"
ทั้งนั้น การทำธุรกิจตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในทุกขั้นตอนต้องอยู่บนหลักของความซื่อสัตย์สุจริต รวมถึงคุณธรรมอื่น ๆ ซึ่งต้องเสริมสร้างให้เกิดขึ้นในบุคลากรทุกระดับของบริษัท ส่งเสริม และพัฒนาคนในบริษัทให้เห็นคุณค่าของความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน ความเพียร ความช่วยเหลือ มีน้ำใจ การใช้ปัญญาในการทำงาน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะทำให้สามารถดำเนินธุรกิจไปได้มั่นคงและยั่งยืน
"เป้าหมายของการดำเนินธุรกิจ ปรัชญาฯเน้นความสมดุล กล่าวคือ เป็นการสร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายทางธุรกิจ หรือ เป้าหมายด้านรายได้ หรือเป้าหมายด้านการเงิน ให้มีความสมดุลกับการจัดการด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมด้วย เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ขัดแย้งกัน โดยบริษัทสามารถอยู่ร่วมกับสังคม และพึ่งพาอาศัยกันได้ เพราะถ้าสังคมอยู่ไม่ได้ ธุรกิจก็อยู่ลำบาก"
"จิรายุ" กล่าวอีกว่า ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในเรื่องของคุณธรรมคือการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปัน เพื่อสร้างความสมดุลในสังคม และสมดุลทางเศรษฐกิจ โดยการแบ่งปันเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในสังคมปัจจุบัน ซึ่งผู้ที่มีมากกว่าเมื่อมีเกินพอแล้ว ก็ควรแบ่งปันให้ผู้ที่ขาดแคลน โดยไม่จำกัดว่าจะต้องแบ่งปันเฉพาะข้าวของเงินทองเท่านั้น การแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ และความคิดดี ๆ ต่าง ๆ ล้วนเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน
จากตัวอย่างของการนำปรัชญาฯไปประยุกต์ใช้กับวงการธุรกิจข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงหลักการที่สอดคล้องกันระหว่างปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับซีเอสอาร์ ซึ่งหากจะกล่าวว่าผู้ที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงในการประกอบธุรกิจ เหมือนได้ใช้แนวทางซีเอสอาร์ไปในตัวคงไม่ผิดนัก ด้วยเพราะ 3 ห่วง 2 เงื่อนไขตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับ Triple Bottom Line (People-Planet-Profit) อันเป็นกรอบแนวคิดซีเอสอาร์ ต่างมีเป้าหมายปลายเดียวกันคือ มุ่งหวังให้เกิดความยั่งยืน
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน