สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เรื่องพลังงานพึ่งพาตนเอง ใครไม่ทำก็ไม่เป็นไร พระองค์ท่านจะทำเอง พระราชดำรัสตรึงใจนักวิชาการ ม.อ.ผู้ถวายงาน ไบโอดีเซล

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
“เรื่องพลังงานพึ่งพาตนเอง ใครไม่ทำก็ไม่เป็นไร พระองค์ท่านจะทำเอง” พระราชดำรัสตรึงใจนักวิชาการ ม.อ.ผู้ถวายงาน “ไบโอดีเซล”สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเยี่ยมชมและติดตามโครงการพระราชดำริไบโอดีเซลที่ ม.อ.หาดใหญ่ ครั้งแรก เมื่อวันที่ 16 ม.ค.2549

      “MGR Online ภาคใต้” ได้มีโอกาสเปิดใจ “รศ.ดร.ชาคริต ทองอุไร” ผู้อำนวยการสถานวิจัยและพัฒนาพลังงานทดแทนจากน้ำมันปาล์มและพืชน้ำมัน (PSU Biodiesel) และหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) หนึ่งในนักวิชาการภาคใต้ที่ได้รับใช้ใกล้ชิดในหลวงรัฐกาลที่ 9 เกี่ยวกับโครงการพระราชดำริการผลิตไบโอดีเซล เพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทน
        
       เขาเริ่มต้นชีวิตนักวิชาการในรั้ว ม.อ.หาดใหญ่ ตั้งแต่ปี 2518 บอกเล่าให้ฟังว่า เดิมมีจุดมุ่งหมายในทำงานเพียงแค่ตั้งใจเป็นคนดี และทำประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยบ้าง แต่เมื่อได้รับมอบหมายให้ดูแลสถาบันอันเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ทรงมีพระราชดำริ ม.อ.จัดตั้งขึ้น กลับพลิกผันชีวิตให้ต้องทุ่มเทเพื่อถวายงานรับใช้อย่างเอาชีวิตเข้าแลก และถึงวันนี้ก็ยังรู้สึกว่า ตนยังเหนื่อยน้อยกว่าพระองค์ท่านเยอะมาก
        
       ผลจากการทำหน้าที่ที่ผ่านมา ส่งผลให้ รศ.ดร.ชาคริต ทองอุไร ได้รับประกาศเกียรติคุณเป็น “คนดีสังคมไทย” ประจำปี 2553 สาขาวิจัยและพัฒนาพลังงาน โดยรางวัลนี้ได้พิจารณาบุคคลที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ชีวิตครอบครัว และสร้างผลประโยชน์ตอบแทนคืนแก่สังคมในรูปแบบต่างๆ นับว่าเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคม และถือว่านี่คือการเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของในหลวง รัชกาลที่ 9 ตามปณิธานที่วางไว้นั่นเอง

“เรื่องพลังงานพึ่งพาตนเอง ใครไม่ทำก็ไม่เป็นไร พระองค์ท่านจะทำเอง” พระราชดำรัสตรึงใจนักวิชาการ ม.อ.ผู้ถวายงาน “ไบโอดีเซล”

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเยี่ยมชมและติดตามโครงการพระราชดำริไบโอดีเซลที่ ม.อ.หาดใหญ่ ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 15 ม.ค.2557

     MGR Online ภาคใต้” : อยากให้อาจารย์เล่าเรื่องในหลวงรัชกาลที่ 9 กับโครงการพระราชดำริเกี่ยวกับไบโอดีเซล
        
       “รศ.ดร.ชาคริต ทองอุไร” : ประมาณเดือนสิงหาคม 2543 ในหลวงได้มีพระราชทานรับสั่งผ่านมายังผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จ.นราธิวาส พระองค์ท่านถามมาว่า น้ำมันปาล์มสามารถนำมาผลิตเป็นไบโอดีเซลได้หรือไม่ และก็ไอเสียนี้จะมีสารก่อมะเร็งหรือไม่ ซึ่งทางศูนย์พิกุลทองก็ได้ถามมาที่ ม.อ.
        
       โดยปกติที่ ม.อ.คนที่ทำงานถวายในหลวงมายาวนานก็คือ รศ.ดร.สรรชัย กิตติพงษ์ เป็นคนที่ถวายงานเกี่ยวกับเรื่องปาล์มน้ำมันมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 2518 ที่ได้ไปเข้าเฝ้าฯ ที่นิคมสร้างตนเอง จ.สตูลปี แล้วปี 2519 และปี 2528 ที่ตึกวิศวกรรมศาสตร์ และที่ อ.อ่าวลึก จ.กระบี่
        
       ความสัมพันธ์ระหว่างในหลวงกับ ม.อ.ก็มีความสัมพันธ์มายาวนานตั้งแต่ 2518 เพราะฉะนั้นเวลามีปัญหาใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเกี่ยวกับเรื่องน้ำมันปาล์ม พระองค์ก็จะมีพระกระแสรับสั่งถามมาที่ ม.อ. ดังนั้น คณะผู้วิจัยที่มี อ.สรรชัย เป็นหัวหน้า ท่านก็จะปรึกษากับผม และกราบบังคมทูลกลับไปว่า ทำได้ และไม่มีไอเสีย
        
       ในปี 2543 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระองค์ท่านเสด็จมาติดตามงาน ทาง ม.อ.ก็ได้สาธิตโดยการเอาน้ำมันปาล์ม รวมทั้งไบโอดีเซลไปทดสอบกับเครื่องยนต์ทางการเกษตร นำเสนอให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สามารถทำได้
        
       ระยะหลังต่อมา เราก็ได้ทำวิจัยอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่ง ม.อ.ได้ทำโรงงานผลิตไบโอดีเซลขนาด 1,000 ลิตรขึ้นมา ซึ่งทดลองผลิตได้ 1,000 ผลิตถือว่าใหญ่พอสมควรในปี 2545 มีขนาดกำลังการผลิตค่อนข้างจะเยอะมาก เราก็ขายให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ต่อมา 2548 ในหลวงก็มีพระกระแสรับสั่งให้ไปสร้างโรงงานผลิตไบโอดีเซลที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ รวมทั้งทำการศึกษาครบวงจรของเรื่องปาล์มน้ำมัน
        
       ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงทราบว่า ปาล์มปลูกได้ดีในพื้นที่ภาคใต้ และในพื้นที่ภาคใต้ที่เหมาะสมต่อการปลูกปาล์มน้ำมันมันก็มีจำกัด ถ้าหากว่าจะนำไปปลูกในพื้นที่อื่นของประเทศไทย พระองค์ก็อยากจะรู้ว่าจะปลูกได้หรือเปล่า หมายความว่า มีพันธุ์ปาล์มสามารถทนแล้งได้ไหม ถ้าไม่มีฝนตกมากพอจะปลูกได้ไหม หรือมีพันธุ์พิเศษไหมที่สามารถปลูกในพื้นที่ที่ฝนตกไม่ชุกได้หรือไม่ ซึ่งแม้ฝนไม่ชุก แต่มีน้ำ เช่น เอาน้ำบาดาล หรือน้ำในอ่างเก็บน้ำมารดต้นปาล์ม ทำแบบนี้จะได้ผลดีเท่ากับปลูกในพื้นที่ที่มีฝนตกชุกไหม
        
       ก็เลยเกิดโครงการศึกษาที่ อ.หัวหิน เพราะว่า อ.หัวหิน อยู่ติดกับ จ.ประจวบฯ ซึ่งเลยเส้นที่ฝนจะตกชุก ฝนจะตกมากโดยทั่วไปก็อยู่ในภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย หรือตั้งแต่ จ.ชุมพร ลงมา พอเลยชุมพรขึ้นไปตอนบนฝนก็จะตกน้อยแล้ว แต่แนวคิดนี้ของพระองค์ก็หมายความว่า ถึงฝนตกน้อย แต่ถ้าไม่ขาดน้ำจะปลูกได้ไหม ฉะนั้นสถานที่ศึกษา หรือปลูกปาล์มตรงนี้ก็จะอยู่ที่ อ.หัวหิน
        
       จริงๆ แล้วรอยต่อระหว่าง อ.หัวหิน กับ จ.เพชรบุรี ซึ่งตรงนั้นมีอ่างเก็บน้ำอยู่ ก็ไปปลูกปาล์มอยู่ที่นั่นประมาณ 300 กว่าต้น รวม 10 กว่าไร่ และยังปลูกสบู่ดำอีกด้วย โดยมีแนวคิดว่าสามารถที่จะเอาน้ำจากอ่างเก็บน้ำตรงพื้นที่นั้นมารดน้ำต้นไม้ได้ เมื่อมีผลผลิตปาล์มก็ไปตั้งโรงงานหีบสกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็ก แล้วก็ทำเป็นไบโอดีเซลต่อเนื่องไปเลย โรงงานแห่งนี้สำเร็จในปี 2549 และโรงงานแห่งนี้ก็ดำเนินงานมาจนถึงทุกวันนี้ และมีการขยายงาน มีการผสมผสาน เช่น การเลี้ยงแพะ และเรื่องต่างๆ ตามมาอีก

“เรื่องพลังงานพึ่งพาตนเอง ใครไม่ทำก็ไม่เป็นไร พระองค์ท่านจะทำเอง” พระราชดำรัสตรึงใจนักวิชาการ ม.อ.ผู้ถวายงาน “ไบโอดีเซล”

รศ.ดร.ชาคริต ทองอุไร

      อันนี้ก็จะเป็นงานหลักๆ ของไบโอดีเซลที่ทาง ม.อ.ได้วิจัยพัฒนาแทนพระองค์ท่านว่า พระองค์ท่านทรงอยากจะทราบ ทรงอยากจะรู้อะไร เราก็จะทำ สมเด็จพระเทพฯ ก็เสด็จมาเปิดโรงงานประมาณปี 2559 และพระองค์ท่านช่วยเติมไบโอดีเซลให้รถยนต์ และรถสองแถวด้วย
        
       ช่วงนั้นมีอยู่ช่วงหนึ่งที่รถยนต์ และรถสองแถวมาเติมไบโอดีเซลที่ ม.อ.เรามาก เพราะช่วงนั้นมีการขึ้นราคาน้ำมันดีเซลจากลิตรละต่ำกว่า 10 บาท ราคาวิ่งไปถึง 20 กว่าบาท สำหรับการเพิ่มราคาจาก 10 บาท เป็น 20 กว่าบาท มันกระทบต่อต้นทุนของรถยนต์ขนส่งเป็นอย่างมาก ซึ่งเขาบอกว่าถ้าไม่ขึ้นราคาก็ให้การบริการไม่ได้ เฉพาะนั้นรถยนต์รถสองแถวก็จะมาเข้าคิวเติมน้ำมันที่ ม.อ.เยอะเลย
        
       อย่างที่บอกให้ทราบว่า เราผลิตได้วันละประมาณ 1,000 ลิตร สำหรับ 1,000 ลิตรนี่จริงๆ แล้วเติมได้ไม่กี่ครั้ง และมีหัวจ่ายไม่มากเลย อย่างถ้ารถยนต์คันหนึ่งเติม 50 ลิตร เราก็เติมให้ได้แค่ 20 คัน เพราะฉะนั้นรถยนต์ที่เข้ามาเติมน้ำมันที่ ม.อ.นี่ก็เยอะกว่า 20 คัน บางทีก็ต้องแบ่งปันกันไป
        
       ต่อมา เราก็ทำวิจัยมาเรื่อยๆ และเปิดโรงงานอีกรอบหนึ่ง โรงงานอยู่ตรงข้ามทางที่เดินทะลุมา ตรงนั้นเป็นโรงงานผลิตไบโอดีเซลแบบต่อเนื่อง ซึ่งสมเด็จพระเทพฯ ก็ทรงเสด็จมาเปิดอีกรอบ รูปที่พระองค์ใส่เสื้อเขียวจะเป็นครั้งที่ 2 รูปที่พระองค์ใส่สีเหลืองจะเป็นครั้งแรกที่เปิดเมื่อปี 2558 
        
       เพราะฉะนั้นทาง ม.อ.ก็ไปช่วยงานอยู่ที่ อ.หัวหิน เกี่ยวกับไบโอดีเซล และไปช่วยงานในด้านมูลนิธิชัยพัฒนาอีกหลายแห่ง เช่น ไปช่วยที่ จ.เชียงราย จ.พังงา จ.สตูล ที่เกาะบูโหลน เรื่องพลังงานแสงแดดต่างๆ เป็นโครงการที่ช่วยให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีการเลี้ยงแพะ นำแพะพันธุ์ที่พระองค์นำเข้ามามีพระราชกระแสรับสั่งให้พัฒนา
        
       ถ้าในภาพรวมของ ม.อ.ที่ดำเนินการเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริก็มีหลายโครงการมาก เช่น มีการติดตามการปลูกข้าวที่ จ.กระบี่ ซึ่ง จ.กระบี่ ควรมีการปลูกข้าวบ้าง เพื่อที่จะพึ่งพาตนเองได้ ถึงแม้ว่าชาวกระบี่จะบอกว่าปลูกปาล์มดีกว่า และเอาเงินไปซื้อข้าวอาจจะถูกกว่า แต่พระองค์บอกว่าแล้วในยามขาดแคลนล่ะ ในยามขาดแคลนจะทำอย่างไร เช่น น้ำท่วมจะมีข้าวกินไหม นี่ก็คือแนวคิดของความพึ่งพาตนเอง
        
       พระองค์จะใส่แนวคิดไปว่า แนวคิดเพิ่งพาตนเองควรมีอยู่ในทุกสังคม จะทำอะไรก็ตาม เพื่อความมั่งคั่ง อันนี้จะเป็นแนวพระราชดำริที่ให้พึ่งพาตนเอง ตามที่มีพระราชดำริอะไรก็แล้วแต่ส่งมา จะผ่านมูลนิธิชัยพัฒนา หรือจะผ่านศูนย์การศึกษาพิกุลทอง อะไรก็แล้วแต่ส่งมาที่ ม.อ.ทางเราก็จะตอบสนอง จะรับพระราชกระแสและนำมาทำวิจัย อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ ม.อ.เราทำมาตลอด

“เรื่องพลังงานพึ่งพาตนเอง ใครไม่ทำก็ไม่เป็นไร พระองค์ท่านจะทำเอง” พระราชดำรัสตรึงใจนักวิชาการ ม.อ.ผู้ถวายงาน “ไบโอดีเซล”

โรงงานาสาธิตการผลิตไบโอดีเซล (เอทิลเอสเตอร์) ด้วยกระบวนการแบบต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

       : อาจารย์มีความรู้สึกอย่างไรที่ได้มีส่วนร่วมดูแลโครงการไบโอดีเซลตามกระแสรับสั่งของพระองค์ท่าน
        
       ภูมิใจมากครับ ถ้าถามความรู้สึก ถ้าให้พูดตรงไปตรงมา มีความภาคภูมิใจ รู้สึกว่าการที่ได้ทำงานที่จะตอบสนองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือสมเด็จพระเทพฯ เป็นสิ่งที่หาที่สุดมิได้ ในชีวิตคนทั่วไปมีน้อยคนที่จะได้ทำงานตรงนี้ และได้เข้าเฝ้าฯ ได้ทำงาน และเราก็มีความสุขที่สามารถทำงานได้สำเร็จ และงานที่เราทำสำเร็จก็นำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม
        
       เช่น ถ้าหากเราจะพูดเท้าความไป พลังทดแทนเรื่องน้ำมันคือ ไบโอดีเซลนี่อยู่ในแนวคิดของในหลวงมานานมาก จะเห็นว่าบางครั้งในช่วงปีใหม่ หรือก่อนปีใหม่ ในวันที่ 5 ธันวาคมนั้น ก็จะมีพระกระแสรับสั่งอยู่ตลอดเวลาว่า พระองค์ท่านจะพัฒนาเรื่องพลังงานของประเทศไทยให้พึ่งพาตนเองได้ พระองค์ท่านยังตรัสว่า ใครไม่ทำก็ไม่เป็นไร พระองค์ท่านจะทำเอง 
        
       พระองค์ท่านเคยมีแนวคิดตอนที่ไปทรงงานยังจังหวัดต่างๆ ที่ทุรกันดาร ถนนไปไม่ได้ พระองค์ท่านตรัสว่า ไม่เป็นไร พระองค์ท่านจะไป ถึงแม้จะยากลำบากแค่ไหน จะเห็นว่าหลายๆ ภาพพระองค์ไปรถยนต์ที่แม้กระทั่งข้ามลำธาร จะเห็นว่าหลายๆ สถานที่พระองค์ท่านเสด็จฯ ไม่ได้เป็นสถานที่สะดวกสบาย เพราะฉะนั้นมุมมองของพระองค์ท่านก็ถ่ายทอดมายังพวกเรา เพราะฉะนั้น งานที่พระองค์ท่านมีพระราชกระแสรับสั่งให้ช่วยทำหน่อย เรายินดีจะทำอยู่แล้ว เพราะเราคิดว่าเราเหนื่อยน้อยกว่าพระองค์ท่านเยอะมาก 
        
       ล่าสุดนี้เพิ่งอ่านเฟซบุ๊กของ ดร.สุเมธ (ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา) ท่านก็ไปเข้าเฝ้าฯ ในหลวง แต่ก็พบว่าในหลวงยังทรงงานอยู่ ท่าน ดร.สุเมธ จะไปขอเกษียณตัวเองก็ไม่กล้า อายุ 72 ดร.สุเมธ ก็บอกว่า ทำงานถวายรับใช้ไปอีกสัก 12 ปี ว่าจะไปกราบบังคมทูลเกษียณตัวเอง ในรูปล่าสุดพระองค์ท่านก็วางพระหัตถ์บนที่บ่าบอกให้ ดร.สุเมธ ทำงานต่อ แล้วก็ช่วยพระองค์ท่านต่อไปอีก ดร.สุเมธ ก็รับด้วยเกล้าฯ แล้วก็ทำงานต่อไปอีก
        
       อันนี้ก็คือสิ่งที่ ดร.สุเมธ ซาบซึ้งว่า พระบาทสมเด็จพรเจ้าอยู่หัวทรงทำงานตลอดเวลา ขนาดพระองค์ท่านมีพระชนมายุ 80 กว่าพรรษาแล้ว ก็ยังคิดถึงเรื่องงานตลอดเวลา แม้กระทั่ง  ดร.สุเมธ จะขอหยุด พระองค์ท่านก็ยังบอกว่า ให้ช่วยงานเราต่อไปนะ
        
       นี่คือสิ่งที่เราต้องตระหนักว่า พระองค์ท่านทรงคิดถึงแต่เรื่องานที่จะช่วยเหลือประชาชนตลอดเวลา ไม่เคยคิดถึงเรื่องที่จะเกษียณอายุของพระองค์ท่านเลย คิดแต่ว่าจะทำยังไงให้ประชาชนคนไทยมีแต่ความสุข มีกิน มีใช้ สิ่งเหล่านี้ถ้าเราสัมผัสลึกๆ แล้วจะพบว่า ราชวงศ์ทำงานหนักมาก 
        
       ผมเคยเข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพฯ มามากกว่า 10 ครั้ง คุยกับพวกนายทหารที่ถวายความปลอดภัยและติดตามเสด็จ ทุกคนต่างบอกว่า สมเด็จพระเทพฯ ทรงงานหนักมาก ตั้งแต่เช้ายันเย็น เรียกว่าทุ่ม สองทุ่ม พระองค์ก็ยังทรงงาน กำหนดการก็จะเริ่มตั้งแต่เช้า 8 โมงเช้า ไปทางรถยนต์บ้าง ทางเฮลิคอปเตอร์บ้าง โดยทั่วไปแล้วสมเด็จพระเทพฯ ก็จะมีเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งอยู่แล้ว
        
       ซึ่งนายทหารที่ดูแลการเดินทางบอกว่า การเดินทางน่าหวาดเสียวมาก เพราะว่าเฮลิคอปเตอร์ที่ใช้เสด็จฯ ใช้งานตลอดทั้งปี ก็มีความเป็นห่วง แต่ก็ดูแลกันตลอด แต่ยังไงก็ตามจะต้องมีเฮลิคอปเตอร์ติดตาม ถึงแม้ว่าจะเสด็จฯ เดินทางด้วยรถยนต์ ก็ต้องมีเฮลิคอปเตอร์สแตนด์บายรอไว้ มีอะไรก็สามารถเดินทางได้เลย
        
       นี่คือสิ่งที่ผู้ที่ติดตามรับใช้เขาจะมีความรู้สึกว่า พระองค์ท่านจะทรงงานไม่มีวันหยุด แล้วพวกเรา ซึ่งเป็นประชาชนในประเทศยังมีความสะดวกสบาย เพราะฉะนั้นเวลามีพระกระแสรับสั่งให้เราทำงาน เราก็เลยทำเต็มที่ แต่ก็ยังรู้สึกว่ายังน้อยมาก

“เรื่องพลังงานพึ่งพาตนเอง ใครไม่ทำก็ไม่เป็นไร พระองค์ท่านจะทำเอง” พระราชดำรัสตรึงใจนักวิชาการ ม.อ.ผู้ถวายงาน “ไบโอดีเซล”

       : อาจารย์คิดว่าจะนำพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้ในการพัฒนาโครงการนี้ หรือว่าการดำเนินชีวิตยังไงต่อไปหรือไม่
        
       ผมนี่ก็ใช้อยู่ในชีวิตประจำตลอด ประการแรก มุ่งมั่นในการทำงาน ประการต่อมา ประหยัด พอเพียง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรจะเอามาใช้ในชีวิตประจำวัน เรามีพลังงานจำกัด เราไม่ได้ผลิตพลังงาน อย่างน้อยเราควรประหยัดพลังงาน อย่าใช้พลังงานฟุ่มเฟือย ไฟปิดได้ปิด ซึ่งผมก็จะพบว่าประชาชนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยสนใจเรื่องนี้สักเท่าไหร่ เพราะคิดว่าเป็นของส่วนสาธารณะ ตัวเองไม่ได้จ่ายเงิน ผมเดินเข้าห้องน้ำไปปิดไฟ ปิดพัดลม จนผมจะเป็นภารโรงอยู่แล้ว ซึ่งไม่รู้จะอธิบายยังไงกับจิตสำนึก
        
       อย่างที่เราทราบดีว่า ในหลวงประหยัดมาก ใช้รองพระบาท หรือรองเท้าชนิดซ่อมแล้วซ่อมอีก เราเองบางทีเปลี่ยนเครื่องแต่งกายบ่อยกว่า ซึ่งตรงนี้เราควรคิดว่าน่าจะพอเพียง ควรสร้างภูมิคุ้มกัน หมายความว่า พยายามสร้างความมั่นคงให้แก่ชีวิต ด้วยการยกตัวอย่างเช่น ต้องมีความสามารถหลายๆ อย่าง ไม่ใช่ว่างานนี้งานหนักไม่อยากทำ อยากเขียนหนังสืออย่างเดียว แบกหามได้ไหม ซึ่งก็ควรจะได้ ผมเองก็ทำงานเป็นโอเปอเรเตอร์อยู่ที่นี่หลายวัน คือเวลามันเดินเครื่องไม้เครื่องมือด้วยตัวเอง ไม่ใช่ยืนชี้สั่งๆ อย่างเดียว เพราะนี่คือประสบการณ์จริง การเรียนรู้ที่ลึกซึ้ง คือการที่เข้าถึง ได้เห็นความเป็นจริงว่า ในเชิงปฏิบัติเป็นอย่างไร ไม่ใช่แค่ทฤษฎีอย่างเดียว
        
       รวมทั้งเรื่องของพระองค์ท่านทรงเน้นในเรื่องของการเอาไปปฏิบัติได้จริง เช่น โครงการฝนหลวงก็ทำแบบใช้คำสามัญก็ต้องว่า กัดไม่ปล่อย แต่โครงการนี้กว่าจะสำเร็จได้ก็ล้มเหลวไปหลายครั้ง แต่ด้วยความที่ล้มเหลวแล้วลุกขึ้นทำใหม่ เข้าใจ เรียนรู้ใหม่ ศึกษาใหม่ และในที่สุดก็สำเร็จ 
        
       และนี่คือการดำเนินชีวิตที่ผมคิดว่า ถ้าพวกเราสามารถใช้แนวทางในการดำเนินชีวิตแบบนี้ได้ มีการเกื้อกูลกัน ช่วยเหลือกัน เห็นใจกัน ก็จะทำให้สังคมไทยมีชีวิตที่น่าอยู่ขึ้น ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน 
        
       มีคลิปอันหนึ่งที่เพิ่งดูเมื่อเช้า เป็นคลิปที่พระองค์ท่านตอบคำถามนักข่าวต่างประเทศ นักข่าวพยายามถามพระองค์ท่านเหมือนกับว่า ภูมิใจที่ปราบคอมมิวนิสต์ได้ พระองค์ท่านตรัสตอบไปว่า ไม่ใช่ประเด็นเรื่องการปราบได้ พระองค์ท่านต่อสู้กับความยากจน ต่อสู้กับการทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดี
        
       เป็นคำตอบที่ลึกซึ้งมาก ไม่ได้หลงกลไปกับผลของการแพ้-ชนะ ไม่ว่าจะมีความคิดแตกต่างอะไรกันก็ตาม ถ้าเราศึกษาดีๆ แล้ว นับว่าเป็นประโยชน์ที่สามารถเอามาใช้ในชีวิตประจำวันได้


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พลังงานพึ่งพาตนเอง ใครไม่ทำก็ไม่เป็นไร พระองค์ท่านจะทำเอง พระราชดำรัสตรึงใจ นักวิชาการ ม.อ. ผู้ถวายงาน ไบโอดีเซล

view