สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เศรษฐกิจพอเพียง จาก ปรัชญา สร้าง ธุรกิจชุมชน

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

“การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมีพอกินพอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นอันพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย จะเกิดความไม่สมดุล ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด”
 
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เรื่องแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงในปี 2517 หรือเมื่อ 50 ปีก่อน ได้รับการพัฒนากลายเป็นปรัชญาสำคัญของประเทศ ภายใต้แนวคิด “3 ห่วง 2 เงื่อนไข”  คือ “พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน” บนเงื่อนไข “ความรู้” และ “คุณธรรม”
 
แม้ในช่วงแรกๆ หลายภาคส่วนยังไม่เข้าใจและเข้าถึง “แก่น” แต่การที่ประเทศไทยสามารถผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจหลายครั้งด้วยแนวคิดดังกล่าว ย่อมถือเป็นข้อพิสูจน์ที่ดีที่สุด ส่งผลให้หลายๆ ธุรกิจน้อมนำแนวคิดปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” สร้างรากฐานการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจไม่แสวงหากำไรจนเกินควร คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างประหยัด มีคุณภาพ และมีส่วนร่วมในการสร้างการเติบโตของประเทศชาติ เพราะเมื่อเศรษฐกิจประเทศมั่นคง ประชาชนเข้มแข็ง จะส่งผลถึง “กำไร” ขององค์กรธุรกิจด้วย
 
ดังทรงมีพระราชดำรัสถึงเรื่อง “ขาดทุน คือ กำไร  Our Loss is Our Gain”  ว่า การเสีย คือ การได้ ประเทศจะก้าวหน้า และการที่คนจะอยู่ดีมีสุขนั้น นับเป็นมูลค่าเงินไม่ได้
 
หลายโครงการภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงจึงเกิดขึ้นมากมาย อย่างเช่นโครงการปั๊มสหกรณ์ หรือ “ปั๊มชุมชน” ของบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และถือว่า ปั๊มสหกรณ์เป็นผลโดยตรงจากปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่ต้องการสร้างโอกาสให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้และเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้แข็งแรง 
 
โครงการปั๊มสหกรณ์บางจากเริ่มต้นจากโครงการ “น้ำมันแลกข้าว” เมื่อปี 2533 เวลานั้นสหกรณ์การเกษตรศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงคุณภาพช่วยเหลือเกษตรกรและกลุ่มสมาชิก ขณะที่ “บางจากปิโตรเลียม” อยากได้ข้าวสาร เพื่อบริจาคให้โรงเรียนรอบๆ โรงกลั่นและจำหน่ายให้พนักงานในราคาถูก ที่สุดเกิดโมเดลธุรกิจใหม่ “ปั๊มชุมชน” แห่งแรกในประเทศไทย 
 
จากปั๊มสหกรณ์การเกษตรศรีประจันต์  “บางจาก” เดินหน้าส่งเสริมให้เกษตรกรรวมตัวเป็นเจ้าของปั๊มน้ำมัน เพื่อให้มีโอกาสใช้น้ำมันคุณภาพดี ราคายุติธรรม และได้รับการปันผลคืนตามระบบสหกรณ์ โดยต่างฝ่ายต่างพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจ จากปั๊มขนาดเล็กหัวจ่ายเดียว ขายเฉพาะน้ำมันไบโอดีเซล พัฒนาเป็นปั๊มมาตรฐานให้บริการที่หลากหลาย ทั้งน้ำมันไบโอดีเซลและแก๊สโซฮอล์ มีร้านสะดวกซื้อ ร้านกาแฟ บางแห่งมีรถขนส่งน้ำมัน สามารถดำเนินธุรกิจเหมือนผู้ประกอบการปั๊มน้ำมันรายใหญ่ในเมือง 
 
ขณะเดียวกัน ต่อยอดสู่ธุรกิจชุมชนอื่นๆ คัดสรรผลิตภัณฑ์ชุมชนมามอบเป็นของสมนาคุณให้ผู้ใช้น้ำมันที่สถานีบริการน้ำมันบางจาก เช่น ไข่ไก่ กล้วยตาก สับปะรดกวน ทอฟฟี่มะขาม ลูกหยี ส่งเสริมธุรกิจชุมชนอีกส่วนหนึ่ง เพราะไม่ต้องผ่านคนกลางหรือโมเดิร์นเทรด เพื่อลดต้นทุนค่าคนกลาง กำไรจะเข้าสู่ชุมชนเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าถูกลง และกำลังขยายแนวคิดการผลิตสินค้าที่ไม่ใช้สารเคมี ปลอดสารพิษ หรือ “ออร์แกนิค” ซึ่งเป็นผลผลิตโดยตรงจากชุมชนเกษตรกรรมในพื้นที่นั้นๆ
 
ปัจจุบันเครือข่ายปั๊มชุมชนบางจากมีประมาณ 500 กว่าแห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ สร้างประโยชน์แก่สมาชิกเกษตรกรมากกว่า 1 ล้านครัวเรือน หรือราว 4 ล้านคน และกลายเป็นยุทธศาสตร์การขยายธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเป็นเครือข่ายปั๊มสหกรณ์ที่แข็งแกร่ง 
 
ล่าสุด บริษัทกำลังต่อยอดโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ซึ่งกระทรวงพลังงานมีนโยบายสนับสนุนอย่างเข้มข้นและบางจากฯ ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญ มีโครงการโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ โดยหารือกับปั๊มสหกรณ์บางจาก 100 แห่ง และลงนามข้อตกลง (เอ็มโอยู) เพื่อดึงสหกรณ์ที่มีศักยภาพดำเนินธุรกิจโซลาร์เซลล์  
 
ตามแผนตั้งเป้าสร้างโครงการโซลาร์เซลล์ ขนาด 1-2 เมกะวัตต์ต่อ 1 สหกรณ์ ในพื้นที่ของสหกรณ์ ส่วนบางจากสนับสนุนด้านอุปกรณ์ ค่าก่อสร้างแผงโซลาร์ และแบ่งรายได้กัน
 
ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมองปั๊มสหกรณ์เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise ซึ่งบางจากเข้าไปช่วยสร้างความเข้มแข็ง เพิ่มรายได้จากสินค้าเกษตร น้ำมัน โซลาร์ ไบโอแมส เมื่อสหกรณ์เข้มแข็งจะมีสมาชิกเพิ่มขึ้น สามารถจ่ายปันผลทุกปี มีภาคีเครือข่ายครูอาจารย์ฐานกว้างขึ้น เข้มแข็งขึ้น สามารถพัฒนานิเวศวิทยาในชุมชน อยู่ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
 
ทั้งหมด คือสิ่งที่รัฐบาลพยายามสร้างระบบให้ประชาชนอาศัยอยู่ในท้องถิ่น เพื่อไม่ให้ทุกคนต้องเข้ามาส่วนกลางและให้รัฐบาลดูแลทุกอย่าง รถติด สร้างทางด่วน สร้างระบบขนส่ง สร้างไฟฟ้า เสียงบประมาณมูลค่ามหาศาล
 
ความสำเร็จของ “ปั๊มสหกรณ์” ตลอดเวลากว่า 26 ปี ยังส่งผลให้ “บางจากฯ” วางแผนสร้างบริษัท Social Enterprise ของตัวเอง โดยตั้งเป็นบริษัทลูก มีโครงสร้างหลักๆ คือ ไม่จ่ายปันผลและนำรายได้ทั้งหมดมาพัฒนาสิ่งแวดล้อมและชุมชน รายได้จะมาจากการทำธุรกิจ เช่น ผลิตเมล็ดกาแฟออร์แกนิค อะราบิก้า จำหน่ายในร้านกาแฟอินทนิล หรืออินทนิลการ์เด้น ผลิตผักออร์แกนิค มาจำหน่ายในร้านเลมอนกรีนคิทเช่น
 
ชัยวัฒน์ย้ำว่า บางจากฯ ถือเป็นบริษัทน้ำมันเจ้าแรกและเจ้าเดียวที่สร้างเครือข่ายธุรกิจปั๊มสหกรณ์ แม้มียอดขายไม่สูงมาก เพราะเป็นปั๊มชุมชนและต้องการมีส่วนพัฒนาสังคม ซึ่งผู้บริหาร พนักงานและผู้ถือหุ้นต่างรับทราบแนวคิดมาตลอด หรือการยืนยันเจตนารมณ์การเป็นผู้นำธุรกิจพลังงานทดแทน อย่างเอทานอล ไบโอดีเซล แม้มูลค่าราคาน้อยกว่ากลุ่มน้ำมันเบนซินหรือดีเซล แต่สร้างความยั่งยืนทางธุรกิจ 
 

ที่สำคัญสูงสุด การน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจส่งผลดีรอบด้าน ไม่ใช่ประโยชน์แค่ตัวธุรกิจของบริษัท แต่ยังประโยชน์แก่เกษตรกร ชุมชน สังคม และประเทศชาติด้วย


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญา ธุรกิจชุมชน

view