สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พรเพชร ใต้ร่มทศพิธราชธรรม ความยุติธรรมต้องอยู่เหนือกฎหมาย

จากประชาชาติธุรกิจ

สัมภาษณ์พิเศษ

ในช่วงที่ประชาธิปไตยไทยเดินทางมาถึง 84 ปี หลายครั้งที่สถานการณ์บ้านเมืองเกิดวิกฤตทางตัน

ตันเพราะข้อกฎหมายที่มิได้บัญญัติในรัฐธรรมนูญ หรือเพราะนักการเมืองไม่ลดราวาศอก หากเพราะพระอัจฉริยภาพทางการเมือง และพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทำให้ทางตันกลายเป็นเกิดทางออกได้

ในช่วงชีวิต 68 ปี ของ "พรเพชร วิชิตชลชัย" ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านการเข้าเฝ้าในหลวงมาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่เป็นผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม ขยับมาเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน และเป็นประธาน สนช.

ในฐานะที่ "พรเพชร" เคยอยู่ในกระบวนการตุลาการ และปัจจุบันเป็นประธาน สนช. จึงเล่าถึงแนวทางปฏิบัติของฝ่ายตุลาการและนิติบัญญัติที่นำแนวพระราชดำรัสของในหลวงมาปรับใช้ ผ่านหน้ากระดาษประชาชาติธุรกิจ อันปรากฏในบรรทัดถัดไป

- ในอดีตท่านพรเพชรเคยเป็นผู้พิพากษา ความรู้สึกของคนที่จะตัดสินคดีภายใต้พระปรมาภิไธย ซึ่งถือว่าใช้อำนาจแทนพระองค์ท่านเป็นอย่างไร

ความรู้สึกของผมที่ตั้งใจประกอบวิชาชีพกฎหมายเป็นผู้พิพากษา และนักกฎหมายเมื่อได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งครั้งแรกก็เป็นผู้พิพากษาในศาลชั้นต้น ที่ จ.นครศรีธรรมราช ผมรู้สึกภาคภูมิใจตั้งแต่วันแรกที่สอบได้เป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา เวลาเขียนลงในคำพิพากษาหรือ รายงานกระบวนพิจารณาหรือคำสั่งต่าง ๆ จะมีที่หัวกระดาษประทับว่าในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องตอกย้ำ ยืนยันว่าตอนนี้เราทำทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับงานด้านตุลาการ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจตุลาการผ่านทางศาล

และตอนนั้นเราอายุยังไม่ถึง 30 ปี เรามาทำงานตำแหน่งสำคัญเช่นนี้ ก็แน่นอนว่าปลาบปลื้ม ยินดี รู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ตำแหน่งอันมีเกียรติ ตามมาด้วยภาระอันยิ่งใหญ่ ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องที่สืบเนื่องจากจารีตประเพณีสมัยก่อน ซึ่งมีการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้น เป็นสากลที่ว่าอำนาจนี้เป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์ จึงเป็นประเพณีที่สืบเนื่องจากกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยาจริง ๆ แล้วผู้พิพากษา ตามรัฐธรรมนูญคือ เป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ ซึ่งเป็นอำนาจที่พระองค์ท่านใช้อำนาจผ่านผู้พิพากษาเช่นเรา ดังนั้น ความรับผิดชอบใหญ่หลวงยิ่งนัก



- การเขียนคำวินิจฉัยตัดสินให้ใครต้องรับโทษในพระปรมาภิไธยต้องตระหนักอย่างไร

ต้องคิดอย่างรอบคอบคิดว่าสิ่งนี้จะเป็นประโยชน์กับสังคม ประเทศชาติ อย่าทำอะไรที่ผิดพลาด ให้เดินไปตามหลักกฎหมาย ดีตรงที่หลักกฎหมายของไทยมีความเป็นสากล การที่จะเดินตามหลักกฎหมายจึงเป็นเรื่องไม่ยาก

ภาระอีกหน้าที่หนึ่งไม่ใช่ใช้หลักกฎหมายอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องการวินิจฉัยข้อเท็จจริง หมายถึงการใช้ความคิด ความรู้สึกของเราพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าคนนี้ทำผิดหรือไม่ผิดในทางอาญา และแพ่ง ต้องพิจารณาให้ความเป็นธรรม ซึ่งความเป็นธรรมเป็นหลักของประเทศไทย เช่นที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระปฐมบรมราชโองการว่า เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม

ความเป็นธรรม ถ้าจะพิจารณาแล้วในทางวิชาการตีความว่า พระองค์ท่านคงหมายถึงทศพิธราชธรรม เป็นหลักธรรมการปกครองของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา ดังนั้น ความเป็นธรรม เมื่อไปปรับกับหลักสากลที่เรียกว่า Justice เป็นความยุติธรรม หรือ ธรรมที่ยุติ แต่ในภาษาไทยที่เป็นที่มาแม้ว่าเทียบเคียงได้กับยุติธรรม แต่มันมีความหมายลึกซึ้งกว่า น่าจะบวกโยงเข้าไปถึงกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ความเป็นพุทธศาสนาที่มีผลต่อความเป็นธรรม ผมจึงมองว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงมองความเป็นธรรมอย่างไร

- ในฐานะนักกฎหมายมองพระอัจฉริยภาพด้านกฎหมายของพระองค์ท่านอย่างไร

พระปรีชาสามารถในการที่จะทำให้นักกฎหมายเข้าใจในเรื่องความยุติธรรมท่านได้อธิบายหลายครั้งทั้งในที่ประชุมกฎหมายนานาชาติ ทั้งในพระบรมราโชวาทที่พระราชทานให้กับผู้พิพากษา ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวบทกฎหมายกับความยุติธรรม โดยทรงอธิบายว่าตัวบทกฎหมายที่บัญญัติขึ้น เขียนขึ้นโดยยึดหลักความยุติธรรม ดังนั้น ตัวบทกฎหมายเป็นกลไกที่จะทำให้สังคมเกิดความยุติธรรม

ดังนั้น การที่จะตีความ แปลความ กฎหมายซึ่งเป็นลายลักษณ์อักษรจะต้องคำนึงถึงหลักความยุติธรรม นั่นคือ ต้องตีความกฎหมายเพื่อให้เกิดความยุติธรรม เพราะความยุติธรรมเป็นหลัก ไม่ใช่ตัวหนังสือเป็นหลักถ้าแปลจากพระบรมราโชวาทจะได้ความรู้สึกเช่นนั้น อย่าปล่อยให้ตัวหนังสือนั้นมาบังคับให้หลักความยุติธรรมเฉ หรือ เปลี่ยนสภาพไป

หรืออีกนัยหนึ่งคือ ความยุติธรรมต้องเหนือกว่ากฎหมาย ผู้บัญญัติกฎหมายคือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์นี้ เราจะเขียนกฎหมาย ไม่ได้เขียนในสิ่งที่ขัดกับความยุติธรรม หรือ หลักความเป็นธรรม เพราะกฎหมายที่จะเสนอให้ทรงลงพระปรมาภิไธยและมีการประกาศใช้กับประชาชน ก็จะต้องยึดหลักความเป็นธรรมเป็นหลัก

ส่วนการแปลความหรือตีความกฎหมาย ซึ่งคือฝ่ายตุลาการ และบริหารก็จะต้องน้อมนำพระบรมราโชวาทของพระองค์ท่าน ว่าจะต้องยึดหลักความยุติธรรม ผมในฐานะที่เป็นศาลก็คำนึงถึงสิ่งที่เป็นพระบรมราโชวาท และเมื่อเห็นการโต้เถียงหลักกฎหมายที่บัญญัติไว้ บางครั้งโต้เถียงในลักษณะข้าง ๆ คู ๆ บางครั้งวิจารณ์ว่าเป็นศรีธนญชัยบ้าง ก็น่าจะได้หวนกลับมานึกถึงสิ่งที่เป็นพระบรมราโชวาท และสังคมก็จะไม่ขัดแย้ง สังคมจะเข้าใจตรงกัน

- หลักความเป็นธรรมของพระองค์ท่านเป็นอย่างไร

ความยุติธรรม มนุษย์ที่มีสติปัญญาและเหตุผลย่อมรู้ได้ว่าความยุติธรรมเป็นอย่างไร เรื่องไหนยุติธรรมหรือเปล่า ซึ่งตรงนี้ถือว่าพระบรมราโชวาทที่พูดถึงความยุติธรรมที่มีความสัมพันธ์กับกฎหมาย เป็นปรัชญากฎหมายที่โปรเฟสเซอร์ตะวันตกยังไม่เคยพูดถึงในแง่นี้ เพราะหลักกฎหมายลายลักษณ์อักษรก็มีเช่นเดียวกันในตะวันตก ตีความอย่างไร มีสำนักฎหมายตีความกฎหมายต่างกัน ในสังคมตะวันตก เขามองว่ากฎหมายเป็นหลักกฎธรรมชาติ ดังนั้น สิ่งใดไปฝืนกฎธรรมชาติ สิ่งนั้นจะไปบังคับใช้กฎหมายไม่ได้

แต่พระเจ้าอยู่หัวได้สร้างทฤษฎีนี้ขึ้นมาซึ่งเข้าใจง่าย เพราะความยุติธรรมคนไทยที่ศึกษาหลักธรรมตามหลักของพระพุทธศาสนาจะเข้าใจดีว่าความยุติธรรมคืออะไร ส่วนฝั่งตะวันตกจะเน้นเรื่องความยุติธรรมตามธรรมชาติ

- ที่ผ่านมามีการตีความกฎหมายที่ต่างกันจนทำให้พระองค์ท่านต้องลงมาช่วยผ่อนคลาย เช่น กรณีมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ

เป็นพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่าน จะเห็นว่าเมื่อใดก็ตามที่พระองค์ท่านใช้พระราชอำนาจในการชี้แนะให้เห็น บางครั้งคนก็ไม่เข้าใจ เช่น เมื่อครั้งที่เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา พระองค์ท่านมีการโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกฯ ก็มีคนวิจารณ์เหมือนกันว่า เอ.. ท่านสัญญาเป็นนายกฯ พระราชทานหรือ พระองค์ท่านมีคำอธิบายชัดเจนเมื่อมีคนสงสัยว่า การตั้งอาจารย์สัญญาเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐสภาเป็นผู้เห็นชอบนำเสนอทูลเกล้าฯ เป็นนายกฯ ที่เรียกว่านายกฯ พระราชทานนั้นไม่ใช่ นี่คือพระอัจฉริยภาพของพระองค์

มาตรา 7 ก็เช่นกัน พระองค์ท่านทรงบอกว่าไม่ใช่ว่าพระมหากษัตริย์จะเข้ามาทำอย่างนู้นอย่างนี้ได้ มันมีกลไกของมัน ไม่ใช่มีอะไรก็บอกขอพระราชทานมาตรา 7 นี่เป็นตัวอย่างของการใช้กฎหมายบนหลักที่พระองค์ท่านได้มีพระบรมราโชวาทไว้ และสิ่งต่าง ๆ แต่ละครั้งก็นำมาซึ่งสงบสุขแน่นอน สะท้อนให้เห็นถึงการใช้กฎหมาย การแปลความกฎหมายที่ยุติธรรม

- ในวิกฤตทางเลือกตั้ง 2 เม.ย. 2549 ถ้าไม่มีพระบรมราโชวาทให้ศาลหาทางออก สถานการณ์นั้นจะเป็นอย่างไร

เมื่อประชาชนถกเถียงกันในแง่การตีความกฎหมายที่ไม่อาจตกลงกันได้และกฎหมายไม่ได้หาทางออกว่าจะให้ผู้ใดชี้ขาดตอนนี้รัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติหาทางออกไว้แล้วเมื่อเกิดปัญหาศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย แต่ขณะนั้นถือว่าเป็นพระบารมีของพระองค์ท่านอย่างมากที่ออกมาชี้แนะข้อกฎหมายที่ถูกต้อง คือการเลือกตั้งหมายถึงการเลือกตั้งที่เป็นปกติที่สมบูรณ์ มีการแข่งขันกันระหว่างพรรคการเมือง เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาธิปไตย ไม่ใช่ว่ามีสมัครอยู่คนเดียวในเขตเลือกตั้ง พระองค์ท่านก็ทรงชี้แนะว่าทำให้ถูกต้อง ส่วนถ้าไม่มีพระบรมราโชวาทแล้วจะเกิดอะไรขึ้น...อย่าไปคิดเลย สิ่งที่พระองค์ท่านทำเป็นสิ่งที่ประเสริฐสุด



- เหตุใดนักการเมืองจึงมองว่าที่ 3 ศาลออกมาแก้ทางตัน เป็นตุลาการภิวัฒน์

ไม่ใช่ตุลาการภิวัฒน์ เป็นหน้าที่ของตุลาการที่จะต้องตีความกฎหมาย ถ้าเป็นตุลาการภิวัตน์ก็จะต้องพัฒนาระบบของตนขึ้นมา...ซึ่งไม่ใช่ เป็นการตีความบนพื้นฐานที่ถูกต้องยุติธรรม

- พระบรมราโชวาทให้ผู้พิพากษาต้องเป็นธรรมทั้งในและนอกศาล การปฏิบัติตัวของผู้พิพากษาต้องทำอย่างไร

ต้องทำให้คนเชื่อถือ ไว้ใจ การดำรงตนของผู้พิพากษาจึงถูกบังคับด้วยจารีตประเพณีของผู้พิพากษา แต่ก่อนผู้พิพากษามีน้อย เมื่อเข้ามาแล้วความภูมิใจจะบังคับตัวเอง แน่นอนคงบังคับไม่ได้ทุกคน บางคนต้องมีส่วนที่อาจจะหันเหไปบ้างต้องถูกลงโทษโดยระบบ

สิ่งที่บังคับสมัยก่อนมันไม่ใช่วินัย วินัยมีคือวินัยข้าราชการ แต่บอกกับผู้พิพากษาเองว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ไม่ต้องเขียนให้ยุบยับวางรายละเอียดปลีกย่อยไม่ต้อง ไม่จำเป็น ผู้พิพากษารู้ว่าสิ่งใดทำได้หรือทำไม่ได้

ยกตัวอย่างบางครั้งคนทั่วไปอาจรู้สึกว่าไม่เป็นไร เช่น มีการประมูลทรัพย์จากการขายทอดตลาด เราเป็นผู้พิพากษาบอกว่าอยากได้ที่ดินแปลงนี้ หรือรถยนต์คันนี้ แล้วส่งคนไปประมูล เราบอกว่าฉันไม่ได้ใช้อำนาจอะไรเลย แต่ผู้พิพากษารู้ว่าสิ่งนี้ไม่ถูกต้อง อธิบายไม่ได้หรอกว่าไม่ถูกต้องอย่างไร แต่ผมก็ไม่อยากไปพูดพาดพิงถึงใครจะเห็นว่านักการเมืองบางคนบอกว่า ลูก เมีย ฉันเข้าไปประมูลโดยถูกต้อง แข่งขันราคากัน แต่ทำไมคนที่เป็นผู้พิพากษาไม่ทำ แน่นอนบ้านเมืองเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จึงต้องมีจริยธรรมเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อดูแลผู้พิพากษาให้อยู่ในจริยธรรมที่ดีงาม

ในสภาพความเป็นจริงผมทราบดีว่าพระเจ้าอยู่หัวเห็นเรื่องนี้เป็นสำคัญ ทรงตักเตือน จะดูแลเป็นพิเศษ ดังนั้น ผู้พิพากษาย่อมรู้ดีว่านอกจากสังคมแล้ว เราก็ถูกเฝ้ามองโดยเบื้องสูง วิชาชีพผู้พิพากษาจะมั่นคงเป็นที่ยอมรับ เป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนในเรื่องคดีความหรือไม่ก็อยู่ที่การประพฤติปฏิบัติของผู้พิพากษา

-ทำไมพระองค์ท่านถึงเฝ้ามองการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาโดยเฉพาะเรื่องการวางตัว

เป็นเหตุผลทางธรรมเนียมประเพณีตั้งแต่กรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจตุลาการด้วยตนเอง หรือทรงใช้ข้าราชบริพารในราชสำนักของพระองค์ท่านดูแลเรื่องเหล่านี้ให้เกิดความเป็นธรรมแก่ราษฎร ดังนั้น ความรู้สึกนี้มันไม่ได้เปลี่ยนไป แม้ว่าจะเปลี่ยนระบบการปกครองเมื่อปี 2475

- การน้อมนำพระบรมราโชวาทของพระองค์ท่านมาปรับใช้ระหว่างทำหน้าที่ผู้พิพากษากับประธาน สนช.แตกต่างกันหรือไม่

การเป็น สนช.แตกต่างจากศาล เพราะ สนช.มีบทบาทในเรื่องบัญญัติกฎหมาย และบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติ หลักที่สำคัญที่สุดคือหลักเพื่อประโยชน์ของประชาชน ซึ่งตรงกับหลักของการปกครองของพระมหากษัตริย์ ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงปกครองประชาชนด้วยความเป็นธรรม

สิ่งที่เราจะอ้างหรือพูดถึงมาก ๆ คือประโยชน์ของประชาชน เพราะกฎหมายบางครั้งจะเจอปัญหาเฉพาะในบางฉบับหรือบางเรื่องเท่านั้นที่จะขัดกับหลักธรรมชาติหรือหลักยุติธรรมไหมแต่ส่วนใหญ่จะมีปัญหาว่ากฎหมายนี้ทำเพื่อประชาชนหรือไม่ จะต่างไปอีกมิติ แน่นอน...ต้องยึดหลักความเป็นธรรมอยู่แล้ว แต่เพื่อประโยชน์ของประชาชนมีทางเลือกทางกฎหมาย เวลาจะตัดสินใจมี 2 อย่าง ในการบังคับใช้กฎหมายจะใช้เกณฑ์อะไร กำหนดโทษอย่างไร เป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างไร ซึ่งในด้านนิติบัญญัติต้องคำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก ซึ่งเป็นการรับสนองพระบรมราโชวาทของพระองค์ท่าน เพราะพระองค์ต้องการให้ประชาชนมีความสุข



- คิดว่าการออกกฎหมายใน สนช. จะสามารถคลี่คลายความขัดแย้งต่าง ๆ ตามพระราชประสงค์ของพระองค์ท่านที่ต้องการให้คนไทยรักและสามัคคีกันหรือไม่

ความขัดแย้งมีรากเหง้ามานานผมไม่มั่นใจเท่าไหร่นัก ความขัดแย้งทางการเมืองสมัยก่อน ตอนที่ผมยังเด็ก ๆ คือการเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนพรรค คนไปนิยมพรรคนู้นพรรคนี้ พรรคที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลก็พยายามหาเสียงต่อไป แต่ตอนหลังผมมองว่าการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับธุรกิจมากเกินควร เป็นตัวเร่งของความขัดแย้ง ซึ่งความขัดแย้งบานปลายขึ้นมากได้

กฎหมายไม่อาจจะไปทำอะไรได้ถึงแม้จะพยายาม ต้องมีหลายอย่างประกอบกัน ทั้ง3 อำนาจต้องเข้าใจตรงกัน อำนาจบริหารก็คือการบังคับใช้ กฎหมายอย่างเป็นธรรม ช่วยลดความขัดแย้ง อำนาจตุลาการปลายสุด แต่ในที่สุดคนก็หวังว่าอำนาจตุลาการจะให้ความเป็นธรรมตามกฎหมายได้ ส่วนรัฐสภา คือฝ่ายนิติบัญญัติ เพิ่งมีปัญหาก่อนวิกฤต 2557 ที่รัฐสภามีการดำเนินการสุดโต่งมากในการออกกฎหมายเรื่องใดเรื่องหนึ่ง นี่คือบทเรียนว่าจะไปออกกฎหมายกันตีสี่ ตีห้า เพื่อเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นวิธีการที่ประชาชนไม่ยอมรับ พูดอย่างนี้ไม่ได้ซ้ำเติม แต่ประวัติศาสตร์เป็นบทเรียนว่าจะทำอย่างนั้นไม่ได้

สภาไม่ควรจะทำอย่างนั้น การใช้อำนาจทุกอย่างมีลิมิตมีขอบเขต จะใช้อำนาจโดยจำกัด ต้องใช้อำนาจโดยเป็นธรรม

- พระราชดำรัสครั้งไหนที่ท่านพรเพชรนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต

ปฐมบรมราชโองการที่ว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม เพราะถ้าเราดูตอนนี้ก็รู้สึกธรรมดา แต่ถ้าคนยุคนั้นยุคที่เปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขใหม่ๆ และพระองค์ท่านเพิ่งพระชนมพรรษา 20 เศษ ๆ แล้วตรัสว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ดังนั้นต้องน้อมนำตรงนี้มา ต้องชื่นชมสิ่งเหล่านี้ ต้องดำเนินรอยตามพระองค์ท่าน

เมื่อใดก็ตามที่จะใช้อำนาจ แม้พระองค์ท่านมีอำนาจสูงสุด แต่ก็ทรงใช้อำนาจโดยธรรม ดังนั้น แม้ผู้ที่มีอำนาจต่ำลงมา ไม่ว่ารัฐบาล ผู้พิพากษา นิติบัญญัติ ต้องจำใส่เกล้าฯ ประโยคประวัติศาสตร์คงไม่ลืมเลือนไป โดยเฉพาะความทรงจำของคนรุ่นผม ตลอดชีวิตเกิดมาอยู่ใต้พระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์พระองค์นี้มาค่อนชีวิตแล้ว


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พรเพชร ใต้ร่มทศพิธราชธรรม ความยุติธรรมต้องอยู่เหนือกฎหมาย

view