สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การสื่อสารในทางการแพทย์ อีกหนึ่งพระมหากรุณาธิคุณ

จากประชาชาติธุรกิจ

"ประชาชาติธุรกิจ" ได้นำเสนอความสนพระราชหฤทัยด้านวิทยุสื่อสารของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาต่อเนื่อง "วงการแพทย์" เป็นอีกหนึ่งสาขาที่ได้รับพระเมตตาช่วยพัฒนาศักยภาพของระบบเครือข่ายวิทยุด้วยเช่นกัน

พลโทนายแพทย์เชิดชัยเจียมไชยศรี หนึ่งในแพทย์ผู้เคยถวายงาน และอดีตรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เล่าถึงพระราชกรณียกิจด้านการสื่อสารในทางการแพทย์ ไว้ในหนังสือ "พระราชอัจฉริยภาพ" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้านการสื่อสาร จัดทำโดยคณะกรรมการจัดงานวันสื่อสารแห่งชาติ 2530 โดยระบุว่า การสื่อสารทางวิทยุได้เข้ามามีบทบาทในทางการแพทย์ตั้งแต่ปี 2512

โดยมูลนิธิแพทย์อาสาในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) เริ่มนำเครื่องรับ-ส่งวิทยุคมนาคมมาสนับสนุนช่วยเหลือในการรักษาพยาบาลประชาชนผู้เจ็บป่วยในท้องถิ่นห่างไกลโดยเฉพาะในเรื่องการปรึกษาขอคำแนะนำในการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในพื้นที่อื่น

โดยในระยะแรก"พอ.สว." ได้นำระบบวิทยุย่านความถี่สูงที่เรียกว่า HF Single Sideband (HF/SSB) มาใช้


เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบจึงได้พระราชทานคำแนะนำแก่ผู้เกี่ยวข้องว่า การใช้วิทยุระบบ HF/SSB นี้จะไม่ได้ผลเท่าที่ควร เนื่องจากสัญญาณวิทยุที่รับฟังได้ไม่ชัดเจน มีระดับเสียงรบกวนสูงมากอยู่ตลอดเวลาก่อให้เกิดความรำคาญ

แพทย์ผู้รักษาต้องมีสมาธิดีจริง ๆ ข้อความในการขอรับคำแนะนำในการรักษามีโอกาสผิดเพี้ยนอาจเกิดผลเสียหายได้ง่ายจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานความถี่วิทยุส่วนพระองค์ในย่านความถี่สูงมากหรือ VHF ให้แก่ พอ.สว. จำนวน 1 ความถี่ เพื่อใช้ปฏิบัติภารกิจตั้งแต่นั้นมา

แต่ด้วยข้อจำกัดของคลื่น VHF ที่ไม่สามารถสื่อสารระยะไกล ๆ ได้ จึงทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ "พอ.สว." นำเอาระบบถ่ายทอดวิทยุผ่านวงจรโทรคมนาคมขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยในขณะนั้น ซึ่งเป็นระบบเดียวกับที่ พลตำรวจตรีสุชาติ เผือกสกนธ์ หัวหน้ากองการสื่อสาร กรมตำรวจขณะนั้นได้ออกแบบถวายเพื่อทรงใช้งานในโอกาสเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับแรมในส่วนภูมิภาคมาใช้ในภารกิจของ พอ.สว.ได้ ทำให้กิจการสื่อสารทางการแพทย์ของ พอ.สว. วิวัฒนาการเรื่อยมา

ขณะที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เป็นหน่วยงานแพทย์ที่ตระหนักดีถึงความจำเป็นและความสำคัญของระบบสื่อสารวิทยุ ในปี 2526 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้พระราชทานรถพยาบาลให้ใช้ในราชการ มีเครื่องรับ-ส่งติดครบถ้วน และด้วยความร่วมมือจากกรมไปรษณีย์โทรเลข โรงพยาบาลจึงได้รับอนุญาตให้จัดตั้งระบบการสื่อสารทางวิทยุคลื่น VHF ขึ้น

ในช่วงแรกตั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานคำแนะนำทางเทคนิคให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง

โดยเฉพาะเรื่องระบบสายอากาศ วิธีป้องกันขจัดการรบกวนจากสถานีวิทยุอื่น การทดสอบประสิทธิภาพการทานของศูนย์ควบคุมข่ายของ รพ. วิธีปฏิบัติและวินัยในการควบคุมข่าย มาโดยตลอด ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์จะมีความรู้เรื่องนี้ไม่ดีพอ และขาดประสบการณ์ ก็จะพระราชทานคำแนะนำจนเป็นที่กระจ่าง ทั้งยังพระราชทานเครื่องรับ-ส่งวิทยุที่มีประสิทธิภาพสูงให้ศูนย์ควบคุมข่าย โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าไว้ใช้งานอีก 2 เครื่อง

"...มีอยู่ครั้งหนึ่งในยามใกล้รุ่ง (ประมาณ 2-3 นาฬิกา) นายแพทย์โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ท่านหนึ่ง ประสงค์จะติดต่อทางวิทยุเพื่อภารกิจแพทย์ฉุกเฉิน แต่เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ควบคุมข่ายไม่สามารถติดต่อรับสัญญาณได้ พระองค์ได้ทรงรับเป็นพระราชภาระติดต่อประสานงานให้แพทย์ผู้นั้นจนเรียบร้อย..."

ผลที่ตามมาคือช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างมหาศาลไม่สามารถเทียบกับเมื่อครั้งยังไม่มีข่ายวิทยุนี้ได้เลย

และในบางครั้งที่มีผู้ป่วยหนักต้องใช้รถพยาบาลจำนวนมากไปลำเลียงให้เร็วที่สุด จำเป็นต้องมีรถตำรวจนำ มีบ่อยครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงช่วยสั่งการโดยใช้ระบบการสื่อสารไปยังข่ายราชการอื่นเพื่อให้ความสะดวกพร้อมทั้งทรงติดตามสถานการณ์จนผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าจนได้รับการรักษาเป็นที่ปลอดภัยอีกด้วย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง

และในโอกาสวันสำคัญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิเคยทรงลืมที่จะแผ่เมตตามายังเจ้าหน้าที่ทุก ๆ คน ในเครือข่ายวิทยุ ด้วยพระราชดำรัสอวยพรปีใหม่ที่ยังความปลาบปลื้มมายังลูกข่ายทุกคน


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การสื่อสารในทางการแพทย์ พระมหากรุณาธิคุณ

view