สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ย้อนรำลึก บทพระราชทานสัมภาษณ์ของสมเด็จพระเทพฯเล่าเรื่องตามเสด็จในหลวง (ตอน 2)

จากประชาชาติธุรกิจ

ขอบคุณที่มา
บทพระราชทานสัมภาษณ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
นิตยสารลิปส์ ฉบับครบรอบปีที่ 11
เดือนกรกฎาคม 2553



สวัสดีครับ ท่านผู้ฟังที่เคารพ พบกับเรา "รายการพูดจาประสาช่าง ซึ่งออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.30-11.00 นาฬิกา ณ สถานีวิทยุจุฬาฯ ระบบ F.M.ความถี่ 101.5 MHz อีกครั้งหนึ่ง รายการครั้งนี้เป็นรายการครั้งที่ 18-21 ในชื่อรายการรายการว่า พระภัทรมหาราชกับงานช่าง

เดือนธันวาคมเป็นเดือนที่มีความหมายอย่างยิ่งสำหรับชาวไทยทุกคน ด้วยในวันที่ 5 ธันวาคมเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระภัทรมหาราช อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย ผู้จัดทำรายการ "พูดจาประสาช่าง" รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมอย่างหาที่สุดมิได้ที่พระองค์พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีทรงเล่าถึงพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับงานวิศวกรรมที่ทรงกระทำไว้มากมายเพื่อประเทศชาติและความสุขของประชาชนชาวไทย

ในการนี้รศ.ดร.มนูวีรบุรุษ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.วิชา จิวาลัย หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ขอพระราชทานสัมภาษณ์ ขอเชิญรับฟังได้ ณ บัดนี้

(อ่านตอนที่ 1 : ย้อนรำลึก บทพระราชทานสัมภาษณ์ของสมเด็จพระเทพฯเล่าเรื่องตามเสด็จในหลวง)

ตอนที่ 2

รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ

ขอใต้ฝ่าละอองพระบาท ทรงเล่าถึงวิธีการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกพื้นที่ที่จะพัฒนาพ่ะย่ะค่ะ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

งานหลักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงกระทำอยู่ในเวลานี้คือการพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญเท่าที่จะทำได้การพัฒนานั้นไม่ใช่ว่าท่านจะเข้าไปในหมู่บ้านแล้วก็โปรดเกล้าฯ ว่าควรทำโน่นทำนี่ไปโดยที่ไปเหมือนกับตาบอดนั้นเป็นไปไม่ได้ ท่านจะต้องรู้เสียก่อนว่าพื้นที่นั้นในด้านภูมิศาสตร์เป็นอย่างไร มีปัจจัยในด้านต่าง ๆ อย่างไรบ้าง ความสูง ความต่ำ ท่านต้องรู้ให้ได้หมดทั่วไป รู้สึกว่าท่านจะทรงทราบเรื่องของประเทศไทยทั้งประเทศเป็นอย่างดี การที่ทรงทำได้อย่างนั้นเพราะเสด็จไปด้วยพระองค์เอง การที่เสด็จไปด้วยพระองค์เองนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะฉะนั้นเวลาเสด็จไปที่ไหน จะต้องขับรถด้วยพระองค์เอง หรือว่าที่พอเดินทางไปด้วยพาหนะอื่น เช่น เฮลิคอปเตอร์ ท่านก็ถือโอกาสเป็นการตรวจสอบและแก้ไขแผนที่ไปในตัว ท่านจะกริ้วพวกเราอย่างมากที่พอไป ๆ ก็นอนหลับ ท่านบอกว่าการขึ้นเฮลิคอปเตอร์นั้นถือเป็นสิทธิพิเศษ และใช้เครื่องราชการใช้น้ำมันราชการ ก็ควรจะทำประโยชน์ให้ราชการให้สมบูรณ์ ไม่ใช่ว่าขึ้นไปฟังเสียงบรื๋อ ๆ 2-3 นาทีก็หลับ ปรากฏว่าท่านก็ดูอยู่องค์เดียวคือเทียบแผนที่กับภูมิประเทศ



นอกจากแผนที่แล้วอุปกรณ์สำคัญอีกอย่างที่ทรงใช้คือภาพถ่ายทางอากาศแผนที่กว่าจะพิมพ์ขึ้นได้แต่ละระวางก็กินเวลานาน บางครั้งภูมิประเทศก็เปลี่ยนไปแล้ว เนื่องจากคนย้ายถิ่นที่อยู่บ้าง มีการทำอ่างเก็บน้ำ เหมืองฝายเปลี่ยนทางเดินของน้ำ เปลี่ยนรูปร่างภูมิประเทศไป แผนที่ก็เป็นอย่างเดิม การที่ท่านใช้ภาพถ่ายทางอากาศท่านริเริ่มใช้เมื่อไรก็ไม่ทราบ เท่าที่จำได้เมื่อยังเล็ก ๆ อยู่ เคยทรงเรียกมาใช้เรียงรูปถ่ายของโครงการอะไรอย่างหนึ่งซึ่งจำได้ว่าขณะเรียงไปได้ครึ่งเดียวก็ทูลลาออกไปวิ่งเล่นเลยไม่ได้ความรู้ในด้านนี้ไป

ภาพถ่ายที่ทรงใช้นั้นก็โปรดเกล้าฯให้กรมแผนที่ทหารและกรมลาดตระเวนทางอากาศของทหารอากาศจัดทำเท่าที่จำเป็นแล้วทอดพระเนตรจากภาพถ่ายนั้น โดยที่ไม่ต้องอาศัยการดูภาพคู่อย่างที่พวกเราต้องดูกัน ดูภาพเดี่ยวแล้วก็เอามาลงในแผนที่ได้ แต่บางครั้งท่านก็บ่นเรื่องการใช้ภาพโมเสกว่า มีปรากฏว่าบ้านหลังเดียวต่อไปต่อมากลายเป็นบ้านสองหลังไปได้ สำหรับรูปถ่ายก็ไม่ได้ใช้เฉพาะภาพถ่ายที่ทางราชการทำมา เวลาเสด็จไหนท่านก็ใช้กล้องถ่ายภาพส่วนพระองค์ ซึ่งมีทั้งกล้องปัญญาดีและกล้องปัญญาอ่อนที่ติดพระองค์อยู่ตลอดเวลาถ่ายไว้ อย่างเวลาทำเขื่อนอะไรเสร็จ ท่านก็ถ่ายรูปเขื่อนรวมทั้งมีภาพนายช่างผู้รับผิดชอบโครงการยืนคู่กับเขื่อน ท่านก็บอกว่าเก็บไว้เป็นแค็ตตาล็อก ก็ถ่ายภาพภูมิประเทศต่าง ๆ เวลาขึ้นเครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์ ท่านก็จะถ่ายภาพลงมาแล้ว บางครั้งเอาภาพที่ถ่ายเป็นชุด คือหลาย ๆ ภาพต่อกัน เอาตัดแล้วมาติดสก็อตเทป ติดกาวเข้าด้วยกัน ก็เป็นภาพถ่ายทางอากาศที่พอใช้ได้ทีเดียวในการวางแผนโครงการพัฒนาอย่างคร่าว ๆ พูดถึงเรื่องแผนที่และภาพถ่ายทางอากาศแล้วคงต้องแถมอีกหนึ่งเรื่องคือเรื่องการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมอุตุนิยม



งานนี้เป็นงานที่สนพระทัยอยู่มากเพราะว่าการวางแผนในด้านการเกษตรพักก่อนนี้มานานแล้วก็ทรงช่วยอยู่ในเรื่องการทำฝนเทียมการจะช่วยวางแผนในด้านเกษตรหรือทำฝนเทียมได้ก็ต้องมีความรู้ในเรื่องลมเรื่องฝน เรื่องของอุตุนิยม เท่าที่จำได้ เห็นทุก ๆ วันตั้งแต่เวลาเป็น 10-20 ปีมาแล้วจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ทางกรมอุตุนิยมจะส่งแผนที่พยากรณ์อากาศมาทูลเกล้าฯถวายทุกวัน ในระยะหลังเมื่อมีภาพถ่ายดาวเทียมอุตุนิยมเขาก็ส่งมาถวายเพื่อประกอบพระราชดำริด้วย เมื่อทอดพระเนตรแผนที่พยากรณ์อากาศกับภาพถ่ายดาวเทียมแล้วทุกวันบางทีท่านก็จดหรือพล็อตไว้ว่า พายุชื่อต่าง ๆ ที่เฉียดเข้ามาในเมืองไทยหรือยังไม่ทันมีชื่อ ตอนนี้ถึงไหน จะมีผลอย่างไรก็ไปมีผลต่อการตัดสินใจในเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำและพัฒนาทางด้านการเกษตรด้วย เมื่อปีที่แล้วเกิดปัญหาใหญ่ของชาวกรุงเทพฯ คือเรื่องน้ำท่วม ซึ่งทุกคนคงจะได้ผ่านประสบการณ์นี้มาด้วยกันทั้งนั้น สำหรับงานนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าผู้คนเดือดร้อนกัน จากการที่ทอดพระเนตรแผนที่อยู่เสมอก็คิดว่าท่านอาจมีทางอะไรที่จะช่วยบรรเทาหรือแก้ไขข้อเสียหายในบางส่วนได้เท่าที่เห็นวิธีปฏิบัติงานของท่านตั้งแต่ก่อนน้ำท่วมใหญ่เมื่อปีที่แล้วที่ท่านวางแนวพระราชดำริมาตั้งแต่ตอนน้ำท่วมครั้งก่อนหรือตอนน้ำเอ่อๆปริ่ม จำไม่ได้แล้ว

เริ่มต้นท่านไปค้นแผนที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่สมัยโบราณเอาที่โบราณที่สุดเท่าที่จะโบราณได้ แล้วก็เอามาเรียงต่อกันตั้งแต่สมัยเก่าที่สุดถึงสมัยใหม่มาดูว่าในสมัยเริ่มต้นนั้น มีน้ำที่เข้า-ออกกรุงเทพฯ เท่าไรแล้วก็ภูมิประเทศเป็นอย่างไร การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนเป็นอย่างไร ท่านก็ดูประกอบกับภาพถ่ายทางอากาศตั้งแต่สมัยเก่าที่สุดเท่าที่จะหามาได้ แล้วก็ศึกษาข้อมูลพวกนั้นมาพอจะถึงวิกฤตการณ์น้ำท่วมครั้งสุดท้าย ท่านก็ออกไปเองในหลายท้องที่ แต่ว่าตนเองที่ออกไปไม่ได้ตามเสด็จสักครั้งเลยเล่ารายละเอียดมากนักไม่ได้ มีที่ท่านเสด็จออกไป แล้วตามเสด็จไม่ทันเลยตามไปทีหลังก็หาไม่เจอ เพราะตัวเองไปติดในน้ำจำนวนมหาศาลเลยต้องบ่ายหน้ากลับบ้าน แต่ที่ฟังท่านเล่าท่านไปครั้งใดก็เอาเจ้าหน้าที่หลาย ๆ ฝ่ายไปด้วย ทั้งชลประทาน กทม.และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องท่านก็ดูว่าบริเวณหนึ่ง ๆ ท่านก็เทียบกับเวลาพัฒนาชนบท น้ำต้องดูเป็นลุ่ม ๆ อันนี้ก็ดูเป็นลุ่ม ๆ เหมือนกันว่าเขตนี้น้ำเข้าน้ำออก และธรรมชาติของท้องถิ่นที่นี้เป็นอย่างไร แล้วก็อีกอย่างหนึ่ง ลักษณะของพื้นที่ลักษณะปัญหาต่างกัน

ถ้าเรามองดูอย่างผิวเผินจะเห็นว่าปัญหาเหมือนกัน คือน้ำท่วมเหมือนกัน แต่ท่านก็แยกเป็นพื้นที่ว่าแต่ละท้องที่นั้นจริง ๆ แล้วเมื่อดูลึกซึ้งแล้วต่างกันหมด ท่านก็ดูปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำท่วมทุก ๆ อย่างและในเวลาเดียวกันการสำรวจนั้นท่านใช้คนทุกคนที่ท่านรู้จัก แม้จะเป็นคนธรรมดาไม่ใช่วิศวกรหรือคนที่ปฏิบัติหน้าที่บางอย่างที่ไม่น่าเกี่ยวกับงานวิศวะเลย เช่น ตำรวจ ท่าน ก็ใช้ให้รายงานระดับน้ำให้ไปวัดรายงานมา อย่างเช่นเพื่อนท่านที่อยู่ในที่น้ำท่วม ท่านก็ใช้ให้คนนั้นเป็นคนวัดระดับน้ำเลย บังคับคนนั้นต้องวัดน้ำที่บ้านของตนทุก ๆ วันแล้วมากราบบังคมทูลให้ทรงทราบ หรือบางคนท่านไม่รู้จักท่านก็ตั้งคนที่ท่านรู้จักเป็นศูนย์กลางให้ไปถามเพื่อนของตัวให้รายงานจดระดับน้ำในที่เดียวกันเช้า-เย็นทุกวันเอามาประกอบพระราชดำริด้วยเวลาท่านไปเองก็ไปชี้แจงว่าระบบนี้จะแก้ได้ยังไงอีกท้องที่จะทำยังไงจนกระทั่งทีหลังนี่ท่านรู้จักกรุงเทพฯ ขึ้นอีกมาก และเข้าใจระบบคลองแต่ละสายว่าคลองนี้มีลักษณะน้ำขึ้นลงยังไง อาการของมันเวลามันอาละวาดทำความเดือดร้อนมันทำอย่างไร มีข้อขัดข้องอะไร แม้แต่คลองบางแห่ง บางแห่งไม่เป็นคลอง เป็นที่อาศัยระบายน้ำได้ ก็มีคนเอากล้วยไปปลูกเต็มหมด ท่านก็ไปพูดกับเขาดี ๆ ว่า กล้วยเป็นของใคร คนก็มาบอกเป็นของเขา ท่านก็ถามว่า "หวงไหม" เขาก็กราบบังคมทูลว่า "ก็ไม่หวง" ท่านบอกว่า "ก็ไม่หวง" ก็แปลว่า "หวงนิดหน่อย" แต่ว่าก็คงจะเกรงท่าน ท่านก็บอกว่าท่านไม่อยากรังแกเขาหรอกแต่อันนี้เห็นว่า ถ้าก็ไม่หวงก็อนุญาตเอาออก ก็ค่อย ๆ พูดเจรจาไป

อย่างบางอันท่านก็ให้แนวคิดเจ้าหน้าที่ก็ไปจัดการต่อ ท่านเองหรือคนที่ท่านรู้จัก รู้จักใครที่พอจะทำงานด้านการให้ข้อมูลท่านได้ ท่านก็เอาทั้งนั้น แนวคิดของท่านก็คือรวบรวมข้อมูลทั้งหมดมาทำระบบข้อมูล โดยไม่มองด้านเดียว เช่น มองในด้านวิศวกรรมทางด้านน้ำอย่างเดียว สิ่งที่ทำให้เกิดน้ำท่วมนั้นมีหลาย ๆ ปัจจัย ตั้งแต่อุตุนิยมที่กล่าวมา ระบบน้ำจากทางเหนือของประเทศไทย น้ำจากน้ำทะเล ท่านถามทั้งฝ่ายอุทกศาสตร์ ฝ่ายอุตุนิยม ชลประทาน ฝ่ายการไฟฟ้า เยอะแยะไปหมด แล้วเอามารวมเป็นข้อมูล

(ติดตามต่อตอน 3 )


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ย้อนรำลึก บทพระราชทานสัมภาษณ์ของสมเด็จพระเทพฯเล่าเรื่องตามเสด็จในหลวง (ตอน 2)

view