สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

3 นโยบายเศรษฐกิจของ คลินตัน-ทรัมป์

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์นอกรอบ โดย ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

ณ วันที่ 26 ตุลาคม 2559 Simulation จากเว็บไซต์ Fivethirtyeight ทำนายว่า ฮิลลารี คลินตัน มีโอกาสเอาชนะ โดนัลด์ ทรัมป์ ถึง 84% แต่ด้วยความผ่าเหล่าของนโยบายที่ทรัมป์เคยเสนอต่อประชาชน และด้วยกิริยาท่าทาง แนวคิด และคำพูดทั้งในและนอกการดีเบตของเขา ทำให้ "ความเป็นไปได้" ที่ทรัมป์จะชนะการเลือกตั้ง ยังเป็นเรื่องที่หลายคนต้องกังวลไปอีกหนึ่งสัปดาห์ ก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559

แม้ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา นโยบายการเงิน จะเป็นเหมือนพระเอกคนเดียวในการช่วยผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ นักเศรษฐศาสตร์หลากค่าย (และจากธนาคารกลางเอง) มองว่า นโยบายการคลัง (Fiscal Policy) ที่สั่งตรงจากทำเนียบขาวจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในการกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจสหรัฐ ทิศทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกนี้ จะสามารถส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปสู่เศรษฐกิจในประเทศอื่น ๆ อย่างแน่นอนในช่วง 10 ปีข้างหน้า 

บทความนี้คัด 3 นโยบายเศรษฐกิจของผู้สมัครทั้งสอง เพื่อสรุปและวิเคราะห์อย่างสั้น ๆ ว่า เราควรจะคาดหวังว่าสหรัฐจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเขาอย่างไร ในอีก 10 ปีข้างหน้า


คลินตัน 1
กฎหมายภาษีใหม่แบบ "โรบินฮู้ด"


การปฏิรูปนโยบายภาษีเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของคลินตัน โดยมี 2 ใจความหลัก คือ 1.จะมีการขึ้นภาษีของบุคคลที่มีรายได้สูงจากหลายช่องทาง เช่น ภาษีบุฟเฟต์ ที่หากใครมีรายได้ทั้งปีรวมแล้วสูงกว่า 1 ล้านดอลลาร์ จะต้องเสียภาษีอย่างต่ำไม่น้อยกว่า 30% ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ไปจนถึงการเก็บ "ภาษีคนมหารวย" แยกเพิ่มเป็นแบบ "a la carte" อีก 4% สำหรับคนที่มีรายได้เกิน 5 ล้านดอลลาร์ต่อปี

2.จะมีการปิดช่องโหว่ภาษีมากมาย เพื่อแก้พฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ของเหล่าบริษัทที่เคยเลี่ยงภาษีได้อย่างถูกกฎหมายมาก่อน ให้กลับมาเสียภาษีเพิ่มให้กับสหรัฐ ถือเป็นการบังคับให้ภาคเอกชนจ่ายภาษีอย่างยุติธรรมขึ้น 

หากทำทั้งหมดนี้ได้จริง Moody"s Analytics คำนวณแล้วว่า รัฐบาลสหรัฐจะมีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้นทั้งหมดราว 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ภายใน 10 ปี และที่สำคัญคือเกือบทั้งหมดนี้จะถูกไฟแนนซ์

โดยกลุ่มครัวเรือนที่ร่ำรวยที่สุด 5% ของครัวเรือนทั้งหมดเท่านั้น ชนชั้นกลางและล่างแทบจะไม่รู้สึกถึงระบบภาษีใหม่ที่คลินตันนำเสนอ

คลินตัน 2
ใช้จ่ายเพื่อส่วนรวมปั้น ศก.อนาคต


คลินตันไม่ได้มุ่งเน้นว่าจะนำเงินภาษีใหม่ที่ได้มาลดการขาดดุลการคลัง (Fiscal Deficit) แต่หวังจะนำเงินภาษีที่เพิ่มขึ้นมาใหม่นี้ไปลงทุนในการพัฒนาเศรษฐกิจในมิติหลัก ๆ ต่อไปนี้

1.จะนำเงินกว่า 7 แสนล้านดอลลาร์ ไปลงทุนการพัฒนาการศึกษาขั้นปฐมวัยและชั้นก่อนวัยเรียน โดยเฉพาะในรูปแบบของทุนการศึกษาสำหรับเด็กอายุ 4 ขวบทั้งสหรัฐ และกองทุนช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินให้กับนักศึกษาระดับอุดมศึกษา

2.ลงทุนราว 3 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อปรับปรุงและสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ๆ เช่น ถนนหนทางและการคมนาคมในประเทศ ซึ่งชาวอเมริกันทราบดีว่าถึงเวลารื้อของเก่าแล้ว เพราะคุณภาพสู้เมืองใหม่ ๆ ในเอเชียไม่ได้แล้ว 

3.อีก 3 แสนล้านดอลลาร์นำไปสนับสนุน Paid Family Leave นั่นแปลว่าชาวอเมริกันจะสามารถลางานไปเลี้ยงบุตร และยังได้ค่าตอบแทนอย่างน้อย 2 ใน 3 ของเงินเดือนปกติ โดยคาดว่านโยบายนี้จะสามารถลดต้นทุนของการทำงานและเพิ่มอัตราส่วนการเข้าร่วมแรงงานได้

คลินตัน 3
อ้าแขนรับแรงงานต่างแดน

คลินตันสัญญาว่าจะผลักดันกฎหมายปฏิรูปการตรวจคนเข้าเมืองอย่างเต็มที่ โดยมีข้อเสนอมากมายเพื่อดึงดูดให้แรงงานที่มีทักษะสูงและเป็นที่ต้องการ (จบปริญญาโทสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม หรือคณิตศาสตร์ หรือจบปริญญาเอกสาขาใดก็ได้) เข้ามาทำงานในสหรัฐมากขึ้น และเป็นระยะเวลาได้นานขึ้น บวกกับมีข้อเสนอให้เพิ่มจำนวนบุคคลที่สามารถขอ "กรีนการ์ด" ต่อปีได้มากขึ้นอีกด้วย 

ที่น่าสนใจที่สุดเห็นจะเป็นการนำระบบเก็บแต้ม (โครงการศึกษาดี พูดอังกฤษได้ดี ได้แต้มมากกว่า) เข้ามาใช้พิจารณาด้วยว่าใครสมควรได้รับสัญชาติอเมริกัน 

นอกจากนี้ คลินตันยังเคยเสนอนโยบาย โอบรับแรงงานไร้ทักษะเพิ่มขึ้นด้วย (แม้จะถูกคัดค้านอย่างรุนแรง) ว่าจะพยายามทำให้แรงงานนอกระบบ ที่ปกติก็ทำงานอยู่ในสหรัฐสามารถเคลียร์ตัวเองเพื่อบรรจุเป็นสัญชาติอเมริกันได้อย่างถูกกฎหมาย

ทั้งหมดนี้จะทำให้สหรัฐมีจำนวนประชากรมากขึ้นทั้งในระยะสั้นและยาว จะมีแรงงานทั้งที่มีทักษะและไร้ทักษะจำนวนมากขึ้น อุปสงค์ก็จะมากขึ้นตามธรรมชาติ อีกทั้งดึงดูดให้แรงงานมีทักษะเข้ามาได้ง่ายเป็นพิเศษก็จะมาเพิ่มผลิตภาพของเศรษฐกิจสหรัฐได้ในระยะยาว

ทรัมป์ 1
ปฏิรูปนโยบายภาษีเพื่อคนรวย


ในขณะที่คลินตันต้องการขึ้นภาษีเพื่อเพิ่มกำลังทุนในการลงทุนโปรเจ็กต์ใหม่ ๆ ของรัฐบาล

จากการแถลงนโยบายภาษีเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2559 ทรัมป์ต้องการ "หั่น" ภาษีเงินได้ให้กับชาวอเมริกันทุกชนชั้น และลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลง ซึ่งสถาบันวิจัยเชิงนโยบาย Tax Foundation คำนวณว่า หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง รายได้ของชาวอเมริกันที่ยากจนที่สุด 80% จะเพิ่มขึ้นราว 0.8-1.9% 

ในขณะที่กลุ่มคนมหารวยท็อป 1% จะได้รับเงินหลังภาษี เพิ่มขึ้นราว 10-16% 

ปัญหาอยู่ที่ว่าหากไม่มีเงินภาษีที่เคยเข้าไปหล่อเลี้ยงโครงการที่มีความจำเป็นต่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในระยะยาว เช่น การศึกษาหรือโครงสร้างพื้นฐาน ผลผลิตของเศรษฐกิจสหรัฐจะลดลงอย่างแน่นอน 

แต่หากทรัมป์ไม่ยอมลดรายจ่ายเหล่านี้ ทั้ง ๆ ที่ก็ต้องลดภาษี (ด้วยความกังวลว่าจะกระทบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ) จะมีโอกาสที่ภาวะการขาดดุลการคลังของสหรัฐ จะทะยานทะลุเมฆขึ้นไปอีกที่ระดับ 4 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งอาจสร้างความผันผวนในตลาดบอนด์ และเราอาจได้เห็นอัตราดอกเบี้ยที่เด้งสูงขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงต่อเจ้าหนี้

นั่นก็คือจากการลดภาษีครั้งนี้ ทรัมป์จะต้องเลือกระหว่างการขยายตัวที่ติดขัดไปหลายปี เพราะรายจ่ายรายการสำคัญลดลง หรือเลือกภาวะความตื่นตระหนกในตลาดบอนด์ที่ยังไม่มีใครทราบว่าจะกลายพันธุ์ไปเป็นอะไรต่อ

ทรัมป์ 2
ปิดรับแรงงานต่างถิ่น

ในขณะที่คลินตันต้องการดึงดูดแรงงานต่างถิ่นเข้ามาเสริมทัพเศรษฐกิจ ทรัมป์ต้องการปิดกั้นและลดจำนวนแรงงานต่างถิ่น ผ่านทางสองช่องทางหลัก

คือ 1.มาตรการ "ไม้แข็ง" ตรวจจับแรงงานผิดกฎหมายเพื่อส่งกลับประเทศ

2.ทำให้ภาคเอกชนจ้างแรงงานต่างถิ่นถูกกฎหมาย (เช่น ผู้ถือวีซ่า H-1B) ได้ลำบากขึ้น โดยการเพิ่มความยากในการพิสูจน์ให้ได้ว่าบริษัทอเมริกันหาชาวอเมริกันมาทำงานนี้ไม่ได้จริง ๆ ก่อนเปิดตำแหน่งให้แรงงานต่างถิ่น

สถาบันวิจัยเชิงนโยบาย American Action Forum คำนวณไว้ว่า นโยบายแบบนี้มีค่าใช้จ่ายสูงมากในการไล่จับและขับไล่แรงงานนอกระบบกว่า 10 ล้านคน ยิ่งไปกว่านั้นสหรัฐจะสูญเสียแรงงานไปในจำนวนมาก ซึ่งสถาบันวิจัยนี้คาดว่าในระยะ 20 ปี จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐสูญเสียแรงงานไปราว 11 ล้านคน และลดจีดีพีลงไปกว่า 5.7%

ทรัมป์ 3
เปิดสงครามการค้าจีน-เม็กซิโก

ในมิติของการค้าระหว่างประเทศค่อนข้างมีความชัดเจนว่า ทรัมป์ต่อต้านการเจรจา NAFTA และ TPP มากกว่าคลินตัน (แม้ว่าเธอกล่าวอยู่เสมอว่า เธอไม่เห็นด้วยกับ TPP ในลักษณะที่เป็นอยู่ขณะนี้) 

และต้องการปกป้องแรงงานอเมริกัน ด้วยการสั่งสอนประเทศจีน หรือประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ที่เคยดำเนินนโยบายการค้าแบบตุกติก

"การสั่งสอน" นั้น มีตั้งแต่การเจรจา NAFTA ใหม่ เพื่อขึ้นภาษีนำเข้ากับประเทศเม็กซิโกไปที่ 35% กดดันประเทศจีนไม่ให้ทำให้ "เงินหยวน" อ่อนค่าเกินจริง เพิ่มกำลังพลทหารในน่านน้ำทะเลจีนใต้ และขึ้นภาษีนำเข้าจากประเทศจีนไปที่ 45%

จริงอยู่ที่งานวิจัยล่าสุดพบว่า การค้ากับประเทศจีนเคยทำให้แรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตตกงานไปกว่า 1 ล้านคน ภายในแค่ระหว่าง ค.ศ. 2000 กับ ค.ศ. 2007 

แต่สิ่งที่ทรัมป์คิดจะทำนั้น ผ่าเหล่า เกินไป และจะย้อนศรมาทำลายเศรษฐกิจสหรัฐ ด้วยเหตุผลต่อไปนี้

1.เมื่อทรัมป์เริ่มเปิดสงครามการค้า ประเทศจีนกับเม็กซิโกจะโต้กลับด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐเหมือนกัน บริษัทอเมริกันทั้งหลายที่ทำการค้ากับสองประเทศนี้จะถูกกระทบเพราะขาด Access ต่อตลาดส่งออกสำคัญ อาจถึงขั้นต้องโละแรงงานชาวอเมริกันที่ทรัมป์ต้องการจะช่วย เศรษฐกิจคู่ค้าของสหรัฐเองก็ถูกกระทบ จึงไม่แปลกที่เงินเปโซเม็กซิกันและแคนาดาดอลลาร์ถึงอ่อนไหวต่อทุกความเคลื่อนไหว ที่สะท้อนถึงโอกาสที่ทรัมป์จะเอาชนะคลินตันได้ 

2.เศรษฐกิจภาคอื่น ๆ ที่ไม่ได้ส่งออกเลยสักนิดก็ยังสามารถถูกกระทบอีกต่อหนึ่งได้ด้วย เพราะการนำเข้าวัตถุดิบจะมีราคาสูงขึ้น อีกทั้งแรงงานในภาคส่งออก จะเริ่มไม่มีรายได้ไปอุดหนุนธุรกิจอื่น ๆ ในประเทศ อุปสงค์จะแผ่วลงในหลาย ๆ ส่วนของเศรษฐกิจสหรัฐ

Peterson Institute for International Economics พบว่า การใส่นโยบายการค้าของทรัมป์เข้าไปในโมเดลเศรษฐกิจจำลอง ทำให้อัตราว่างงานพุ่งขึ้นถึงเกือบ 9% และเศรษฐกิจของสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย โตแค่ -0.1% ภายในแค่ 3 ปี หลังการเลือกตั้ง


โดยสรุป นโยบายเศรษฐกิจของคลินตันและทรัมป์ แตกต่างกันมากถึงขั้นที่ยากจะเชื่อว่าผู้สมัครสองคนนี้กำลังหาเสียงในประเทศเดียวกัน 

ทรัมป์มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐด้วยนโยบายที่พูดง่าย ถูกต้องในบางมิติ แต่สมการเศรษฐกิจไม่บาลานซ์และเป็นนโยบายที่ทำแล้วมีโอกาสบานปลายไปทั่วทุกมุมโลก 

โดยรวมแล้วทุกฝ่ายฟันธงว่า เศรษฐกิจสหรัฐดิ่งลงเหวแน่นอน

ส่วนคลินตัน มุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจในระยะกลางถึงยาว และต้องการลดความเหลื่อมล้ำไปด้วยในขณะเดียวกัน โดยพลังของการขับเคลื่อนของนโยบายการคลังเกือบทั้งหมด จะมาจากการ "ปล้นคนรวยเพื่อใช้จ่ายให้กับคนส่วนมาก" ซึ่งผลโดยรวมของนโยบายหลัก ๆ คือจะทำให้คนส่วนมากมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีทักษะเพิ่มขึ้น บ้านเมืองมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้น อีกทั้งยังจะมี "แรงงานหน้าใหม่" เข้ามาสมทบอีกด้วย 

กลุ่มคนรวยแม้จะมีรายได้ลดลง แต่ผลกระทบต่อการบริโภคโดยรวมไม่น่าเป็นห่วงนัก หากนโยบายที่สัญญาไว้ทำได้อย่างมีคุณภาพจริง มีการคาดไว้ว่านโยบายของคลินตันจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเติบโตได้ในอัตราที่เร็วขึ้นและแข็งแกร่งขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัยในช่วง 10 ปีข้างหน้า

แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้แปลว่าสองผู้สมัครจะสามารถเนรมิตนโยบายของตนออกมาเป็นความจริงได้ โดยไม่ต้องฟันฝ่าอุปสรรคในสภาคองเกรสเลย 

เครื่องยนต์เศรษฐกิจชิ้นสำคัญที่สุดของคลินตัน คือ การปฏิรูประบบภาษี ซึ่งขัดกับอุดมการณ์ของพรรครีพับลิกันที่คุมสภาอยู่ 

หากทำไม่ได้ ก็แปลว่าจะไม่มีเงินทุนพอที่จะดำเนินนโยบายทั้งหมด และถึงแม้ว่าทั้งหมดนี้จะผ่านสภาได้ ก็ยังมีความไม่แน่นอนด้วยว่าครัวเรือน ท็อป 5% และผู้มีอิทธิพล จะยอมแบกภาระประเทศให้คลินตันจริง โดยไม่หาช่องทางขัดขวาง โยกย้ายเงิน เลิกลงทุนในสหรัฐ หรือย้ายถิ่นฐานไปเสียก่อน 

ส่วนทรัมป์เองก็ไม่ใช่ว่าจะได้อย่างใจในทุกเรื่อง เนื่องจากแคมเปญของทรัมป์ครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดรอยร้าวและศัตรูภายในพรรครีพับลิกันเช่นกัน เว้นแต่ในเรื่องของการค้าระหว่างประเทศ 

ซึ่งนักกฎหมายและนักรัฐศาสตร์มองว่า ประธานาธิบดีสามารถใช้อำนาจโดยไม่ถูกขัดขวางจากสภาคองเกรสได้มากกว่าเรื่องอื่น ๆ ฉะนั้น หากรูปการณ์ในวันนี้ ประกอบกับอคติของชาวอเมริกันต่อการค้าเสรียังคงเป็นแบบนี้ต่อไป 

สิ่งเดียวที่ไม่ว่าใครขึ้นมาเป็นผู้นำสหรัฐ คือ สหรัฐอเมริกา หลังวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 จะเป็นสหรัฐที่จะไม่สามารถดำเนินนโยบายการค้าแบบ Outward-looking (มองไปยังโลกภายนอก) ได้อย่างสะดวกเท่าในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาอีกต่อไป


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : 3 นโยบายเศรษฐกิจ คลินตัน-ทรัมป์

view