สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความพยายามครั้งใหม่ จีน แก้หนี้ปลดล็อก บริษัทผีดิบ

จากประชาชาติธุรกิจ

ความพยายามครั้งล่าสุดเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินปริมาณมหาศาลในจีน มีขึ้นเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เมื่อสภาแห่งรัฐ หรือสภารัฐมนตรีของจีน ออก "แนวทาง" ที่ถือเป็น "ยุทธศาสตร์ใหม่" แก้ปัญหาหนี้ที่พอกพูนมากขึ้น ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง นั่นคือการเปิดโอกาสให้บริษัทธุรกิจที่มีหนี้สินสามารถนำ "หุ้น" ของบริษัทไปแลกเปลี่ยนมูลหนี้กับธนาคารต่าง ๆ ได้

แผนการดังกล่าว จะเปิดโอกาสให้บริษัทธุรกิจสามารถ "ปรับโครงสร้างหนี้" ให้กลับมาอยู่ในสภาวะที่สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ ในเวลาเดียวกันก็ทำให้จีนสามารถหลีกเลี่ยงการเกิด "ซอมบี้ คอมปะนี" บริษัทผีดิบที่โตก็ไม่โต ตายก็ไม่ตาย เพราะได้รับการพยุงสถานะแบบแกน ๆ จากสถาบันการเงินของรัฐ ได้เช่นเดียวกัน



แนวทางแก้ปัญหาหนี้สินใหม่ดังกล่าวมีคนมองทั้งทางบวกและทางลบ บรรดาผู้มองในแง่ดีชี้ว่า จีนเคยทำลักษณะคล้ายคลึงกันนี้มาแล้ว และเคย "ได้ผล" มาแล้วเมื่อกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ส่วนคนที่มองโลกในแง่ร้ายก็ยังคงยืนกรานว่า คนที่เห็นว่าแนวทางนี้จะประสบผลสำเร็จนั้น ลืมข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่ว่า การที่แนวทางเดียวกันนี้เคยได้ผลมา ไม่ใช่เป็นเครื่องการันตีว่าจะประสบผลสำเร็จโดยอัตโนมัติในครั้งนี้

ความสำเร็จของแนวทางแก้ปัญหาหนี้ทำนองนี้เกิดขึ้นในตอนปลายทศวรรษ1990ตอนที่จีนติดโรคระบาดจากวิกฤต "ต้มยำกุ้ง" ไปรุนแรงไม่น้อย ตอนนั้นทางการจีนจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์เสี่ยงขึ้นมาเพื่อจัดการปัญหา บริษัทอย่าง "ไชน่า ซินดา แอสเซท แมเนจเมนท์" และ "ไชน่า หัวหรง แอสเซท แมเนจเมนท์" เกิดขึ้นเพื่อการนี้ นำทุนที่ได้จากทางการไประดมซื้อสินทรัพย์เสี่ยงจำนวนหนึ่งมาถือครองไว้ในระยะยาวนานระยะหนึ่งโดยเรียกผลตอบแทนจำกัดช่วยขจัดหนี้เสียออกจากบริษัทและในเวลาเดียวกันก็ช่วยให้ธนาคารสามารถปล่อยกู้ได้อีกครั้ง

แต่แนวทางที่ทางการจีน "แนะ" ให้ทำในครั้งนี้แตกต่างออกไป ตอนนั้นรัฐบาลใช้เงินงบประมาณในการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์เสี่ยง โดยให้ "ธนาคารประชาชนแห่งจีน" หรือ "ธนาคารกลาง" ทำหน้าที่อัดฉีดเม็ดเงินให้กับธนาคารที่มีปัญหาใช้ในการเพิ่มทุนเพิ่มสภาพคล่อง แต่ครั้งนี้รัฐบาลไม่จัดตั้งกองทุนบริหารสินทรัพย์เสี่ยงแต่ "คาดหวัง" ว่าสถาบันการเงินที่มีอยู่จะดำเนินการตามคำแนะนำเปิดให้มีการแลกหนี้กับหุ้นดังกล่าว

สถาบันการเงินต่างๆในเวลานี้ ไม่มีแรงจูงใจอื่นใดที่จะทำตามคำแนะนำของทางการ นอกเหนือจากแรงจูงใจทางการเมืองเท่านั้นเอง

ความต่างถัดมา คือ "ปริมาณของหนี้ในเวลานั้นกับหนี้สินในจีนเวลานี้แตกต่างกันอยู่อย่างใหญ่หลวง" ปี 1998-2004 ทางการจีนใช้เงินงบประมาณเคลียร์ปัญหาหนี้สินราว 200,000 ล้านดอลลาร์ แต่ "เอสแอนด์พี" บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลกประเมินว่า เวลานี้ธนาคารต่าง ๆ ในจีนอาจต้องใช้เงินทุนสูงถึง 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อจัดการเคลียร์ปัญหาหนี้ที่เป็นดินพอกหางหมูอยู่ในเวลานี้

ความแตกต่างสุดท้ายที่ดูเหมือนจะสำคัญที่สุดเพราะทำให้"ดูเหมือนว่า" มาตรการที่ใช้ครั้งก่อนหน้านี้ประสบความสำเร็จ นั่นคือข้อเท็จจริงที่ว่า ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 เรื่อยไปจนถึงต้นทศวรรษ 2000 หนี้สินในจีนถีบตัวสูงขึ้นเร็วมากก็จริง แต่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในช่วงเวลาเดียวกันนั้นขยายตัวเร็วกว่าการขยายตัวของหนี้ ด้วยแรงผลักดันของค่าเงินที่ถูกกดไว้ต่ำกว่าความเป็นจริงนั่นเอง

ระหว่างปี 1999-2008 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีนขยายตัวเฉลี่ย 15% ต่อปี ขณะที่มวลหนี้รวมทั้งหมดขยายตัวที่เฉลี่ย 14% เท่านั้นเอง

แต่นับตั้งแต่กันยายน 2011 จีดีพีของจีนขยายตัวในอัตราเฉลี่ย 8.6% ต่อปี ขณะที่ปริมาณหนี้รวมเพิ่มอัตรา 14.5% ต่อปี

หมายความว่าในเวลานี้ การขยายตัวของหนี้ในจีนเร็วกว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศถึงเกือบ 2 เท่าตัว ขณะที่สภาวะแวดล้อมการค้าระหว่าง ประเทศก็ไม่เอื้ออำนวยให้กับจีน เหมือนกับเมื่อกว่าทศวรรษก่อนหน้านี้อีกด้วย

เหล่านี้คือเหตุผลที่ทำให้หลายคนมองว่า แม้แต่แนวทางใหม่ในครั้งนี้ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้ของจีนได้

ปัญหาหนี้ของจีนใหญ่โตเกินกว่าที่จะหาทางออก"ราคาถูก"หรือ "ง่าย ๆ" ได้แล้วในเวลานี้


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ความพยายามครั้งใหม่ จีน แก้หนี้ปลดล็อก บริษัทผีดิบ

view