สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พระราชสมัญญานาม พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

จากประชาชาติธุรกิจ

2 พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์จักรีที่ได้รับการเทิดพระเกียรติพระราชสมัญญานามว่า "มหาราช" หรือในภาษาอังกฤษที่ใช้คำว่า The Great ตั้งแต่ดำรงพระชนม์อยู่ คือ "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" ที่ทรงได้รับพระราชสมัญญาว่า "พระปิยมหาราช" เป็นการแสดงถึงความพร้อมใจของชนในชาติทุกฝ่ายร่วมใจกันเทิดพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า "สมเด็จพระภัทรมหาราช" หมายความว่า "พระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐยิ่ง"

เมื่อ พ.ศ. 2539 เป็นวาระที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น ที่คนไทยทั้งชาติมีต่อพระองค์ ด้วยพระบรมเดชานุภาพ ในทุก ๆ ด้านของพระองค์ ที่ดลบันดาลให้ประเทศไทยพ้นวิกฤตการณ์ในบางช่วงบางขณะ ทรงขจัดทุกข์ยากเดือดร้อนให้แก่คนไทยในถิ่นทุรกันดาร ได้พระราชทานพระราชดำรัสในการพัฒนามากมาย อีกทั้งยังทรงแก้ไขปัญหาและสงเคราะห์ช่วยเหลือประชาชน ทรงดูแลเยี่ยมเยียนประชาชนอย่างใกล้ชิด

คนไทยทั้งชาติจึงลงนามร่วมกันขอถวายพระราชสมัญญานามให้ทรงเป็น"มหาราช" ในโอกาสที่เสด็จขึ้นครองราชย์ 50 ปี ดังมีหลักฐานการลงนามของคนไทยทั้งชาติเก็บรักษาไว้ ณ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ การน้อมเกล้าฯถวายพระราชสมัญญา "มหาราช" แด่พระองค์ จำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายให้ครบถ้วนและถูกต้อง ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันกำลังดำเนินการให้ครบถ้วนและถูกต้อง ที่รัฐบาลจะร่วมกับพี่น้องประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า น้อมเกล้าฯถวายพระเกียรติ "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช" ทรงเป็น "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช" และ "พระภูมิพลมหาราช"

ภาพที่ประชาชนเห็นกันจนชินตาในโอกาสที่เสด็จฯไปยังถิ่นทุรกันดารนั้น มีองค์กรระดับโลกที่เห็นความสำคัญด้วยเช่นกัน แสดงถึงพระเกียรติคุณของพระองค์ได้แผ่ไพศาล จนหน่วยงานต่าง ๆ ขององค์การสหประชาชาติได้ทูลเกล้าฯถวายเหรียญและรางวัลมากมาย ดังนี้

2 ธันวาคม 2534 นาย Federico Mayor ผู้อำนวยการใหญ่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ทูลเกล้าฯถวาย Philae Medal

4 พฤศจิกายน 2535 Dr.Mostafa Kamal Tolba ผู้อำนวยการใหญ่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ทูลเกล้าฯถวาย UNEP Gold Medal of Distinction

24 พฤศจิกายน 2535 Dr.Hiroshi Nakajima ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ทูลเกล้าฯถวาย Health-for-All

30 ตุลาคม 2536 นาย Richard G. Grimchaw หัวหน้าสาขาเกษตรฝ่ายวิชาการภูมิภาคเอเชีย ธนาคารโลก ทูลเกล้าฯถวาย For Technical and Development Accomplishment in the Promotion of the Vetier Technology Internationally

12 ธันวาคม 2537 นาย Giorgio Giacomeli ผู้อำนวยการใหญ่โครงการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ ทูลเกล้าฯถวาย Award of Apprectation in Reccognition of Outstanding Contributions in the Field of International Drug Control

6 ธันวาคม 2538 นาย Jacques Diouf ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ทูลเกล้าฯถวาย Agricola

8 ธันวาคม 2542 องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (The Food and Agriculture Organization : FAO) ทูลเกล้าฯถวายเหรียญเทเลฟูด (Telefood Medal) เหรียญแรกของโลก

26 พฤษภาคม 2549 สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme : UNDP) โดยนาย Kofi Annan เลขาธิการสหประชาชาติ ทูลเกล้าฯถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (UNDP Human Development Life-time Achievement Award)

นอกจากนี้ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UN) ได้มีการจัดประชุมพิเศษ สมัยสามัญ ครั้งที่ 71 เพื่อสดุดีและถวายพระเกียรติแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 อีกด้วย ซึ่งแพร่ภาพออกไปทั่วโลก เพื่อร่วมแสดงความไว้อาลัยต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

โดยนายปีเตอร์ ธอมป์สัน ประธานสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ได้เริ่มกล่าวสดุดีเป็นคนแรกว่า ตลอดเวลาที่พระองค์ครองราชย์มายาวนานกว่า 70 ปี ทรงได้รับคำชื่นชมจากทั่วโลก พระองค์ทรงเป็นที่รักของประชาชนชาวไทย ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทย พระราชกรณียกิจล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์อย่างสูงของชาวไทย พระองค์ทรงแบ่งปันแนวทางความคิดในการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย ทำให้ประเทศอื่น ๆ ได้นำไปใช้ โดยเฉพาะหลักเศรษฐกิจพอเพียง หลักปรัชญาคำสอน และยังให้สมาชิกในที่ประชุมทุกคนลุกขึ้นยืนสงบนิ่ง เพื่อแสดงความไว้อาลัยต่อการสูญเสียพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของโลก

ด้านนายบัน คีมุน เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ขึ้นกล่าวแสดงความไว้อาลัยต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และแสดงความเสียใจต่อพระบรมวงศานุวงศ์ รัฐบาล และประชาชนชาวไทย พร้อมกล่าวว่า พระองค์ได้รับความเคารพอย่างสูงจากนานาประเทศในทุก ๆ ด้านตลอดระยะเวลาที่พระองค์ครองราชย์ 70 ปี

ดังมีข้อความบันทึกไว้ในหนังสือ "พระราชอำนาจ" เขียนโดย "ประมวล รุจนเสรี" ที่ว่าด้วยเรื่องความเคารพสักการะ คนไทยมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และได้ทรงพระราชสถานะให้ทรงเป็นที่เคารพสักการะเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมมาแต่อดีตกาลนับ 1,000 ปี ด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง คือ

1.ถวายความเคารพสักการะเพราะความจงรักภักดีที่สืบต่อกันมาในสายเลือดแห่งความเป็นคนไทยตั้งแต่เกิดจนตาย

2.มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระราชปณิธานและพระราชกรณียกิจ

3.เคารพสักการะทั้งโดยสายเลือดและเลื่อมใสศรัทธาในพระราชปณิธานพระราชกรณียกิจ และพระมหากรุณาธิคุณต่าง ๆ ประกอบเข้าด้วยกัน

ปัจจุบันคนไทยได้ถวายความเคารพสักการะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ด้วยเหตุผลตามข้อ 3 ที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญประโยชน์อย่างอเนกคุณูปการต่อคนไทย ดังกระแสพระราชดำรัสในการพระราชทานสัมภาษณ์วิทยุ บีบีซี ที่ว่า

"...กรณีของข้าพเจ้า ซึ่งถูกเรียกโดยคนทั่วไปว่าเป็นพระมหากษัตริย์ แต่โดยหน้าที่ที่แท้จริงแล้วดูจะห่างไกลหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ที่เคยรู้จักหรือเข้าใจกันมาแต่ก่อน หน้าที่ของข้าพเจ้าในปัจจุบันนั้นคือ ทำอะไรก็ตามที่เป็นประโยชน์

...เราไม่ทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปภายภาคหน้า แต่ไม่ว่าอย่างไรจะเกิดขึ้นก็ตาม เราจะเลือกทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์..."

ด้วยพระราชสถานะที่ทรงเป็นที่เคารพสักการะของคนไทยทั้งชาติจึงเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจของคนไทย ทรงเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวเป็นศูนย์รวมของความภาคภูมิใจ และความมั่นใจในประเทศชาติ ที่สำคัญที่สุด คือ เป็นศูนย์รวมแห่งความสามัคคี


พระราชสมัญญาอื่น ๆ

- พ.ศ. 2529 คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ได้น้อมเกล้าฯถวายพระราชสมัญญา "อัครศิลปิน" แปลตามศัพท์ว่า "ผู้มีศิลปะอันเลอเลิศ" หรือ "ผู้เป็นใหญ่ในศิลปิน"

- พ.ศ. 2539 มีการถวายพระราชสมัญญาว่า "สมเด็จพระภัทรมหาราช" หมายความว่า "พระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐยิ่ง" และคณะรัฐมนตรี ได้ถวายพระราชสมัญญา "พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ"

- พ.ศ. 2543 คณะรัฐมนตรี ถวายพระราชสมัญญา "พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย" โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2543

- พ.ศ. 2549 สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้ทูลเกล้าฯถวายรางวัล ความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ (The Human Development Lifetime Achievement Award) และต่างกล่าวขานพระนามพระองค์ หรือพระราชสมัญญานามว่า "พระมหากษัตริย์นักพัฒนา"

- พ.ศ. 2552 กระทรวงแรงงาน น้อมเกล้าฯถวายพระราชสมัญญานาม "พระบิดาแห่งการช่างไทย"

- พ.ศ. พ.ศ. 2551 สมาพันธ์นักประดิษฐ์นานาชาติ (ไอเฟีย) และสมาคมส่งเสริมการประดิษฐ์ เกาหลีใต้ (คิปา : KIPA) พร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญานาม "พระบิดาแห่งการประดิษฐ์โลก"

- พ.ศ. 2554 กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ถวายพระราชสมัญญานาม "พระผู้ทรงเป็นครูของแผ่นดิน" ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พระราชสมัญญานาม พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

view