สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2016

จากประชาชาติธุรกิจ

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2559 คณะกรรมการพิจารณาผู้สมควรได้รับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ได้มีมติมอบรางวัลอันทรงเกียรติแด่ศาสตราจารย์ 2 ท่าน คือ ดร.โอลิเวอร์ ฮาร์ต Oliver Hart แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา และ ดร.เบนจต์ โฮล์มสตรอม Bengt Holmstrom แห่งสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา สำหรับผลงานที่เรียกว่า "ทฤษฎีการทำสัญญา" หรือ "Contract Theory"

ดร.โอลิเวอร์ ฮาร์ต เกิดที่กรุงลอนดอน ในปี 1948 เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมแล้วได้เข้าเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ แล้วหันมาเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จบแล้วต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน สหรัฐอเมริกา ขณะนี้สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา

ดร.เบนจต์ โฮล์มสตรอม เกิดที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ยังคงถือสัญชาติฟินแลนด์อยู่ ดร.โฮล์มสตรอมจบปริญญาตรีทางคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์และสถิติ จากมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ เมื่อปี 1972 และมาจบปริญญาโททาง Operation Re-search และปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ปัจจุบันสอนอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา


ดร.โอลิเวอร์ ฮาร์ต, ดร.เบนจต์ โฮล์มสตรอม

ในโลกปัจจุบัน มนุษย์เราดำรงชีวิตอยู่ด้วยการมีความสัมพันธ์กันมากมายหลายเรื่อง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ธุรกิจ การศึกษา การรักษาพยาบาล การทำงาน ฯลฯ การติดต่อสัมพันธ์กันดังกล่าวเป็นการผูกพันกันด้วยสัญญาชนิดต่าง ๆ ทั้งนั้น ไม่ว่าจะทำเป็นหนังสือ หรือด้วยวาจา หรือโดยปริยาย ทั้งที่มีรูปแบบและไม่มีรูปแบบตามกฎหมาย

ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จุลภาคเริ่มต้นเมื่อ 300 ปีก่อน เริ่มจากการอธิบายพฤติกรรมของผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียว และเวลา ณ จุดเดียว หรือระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง เช่น วันหนึ่ง เมืองหนึ่ง ไตรมาสหนึ่ง หรือปีหนึ่ง ระยะเวลาเดียวและจบลงด้วยดุลยภาพที่จุดเดียว ต่อมาก็มีการพยายามขยายทฤษฎีพื้นฐานเช่นว่าออกไปให้ใกล้เคียงกับโลกความเป็นจริงมากขึ้น โดยการสร้างทฤษฎีพฤติกรรมของผู้ผลิตทั้งตลาด ซึ่งมีผู้ผลิตหลายราย มีสินค้าหลายชนิด มีความเชื่อมโยงระหว่างพฤติกรรมในเวลานี้ หรือระยะเวลานี้ หรือหลายระยะเวลาในอนาคต และมีจุดดุลยภาพหลายจุด หรือ "Multiple Equilibria" แทนที่จะเป็น "Single Equilibria"

วิธีวิเคราะห์เช่นนี้ ทำให้เกิดวิชาเศรษฐศาสตร์สวัสดิการ หรือ "Welfare Economics" ที่นักปราชญ์ทางเศรษฐศาสตร์พยายามจะหานโยบาย หรือเงื่อนไขที่กลไก

ตลาดจะนำพาไปสู่ประสิทธิภาพและอรรถประโยชน์สูงสุด หรือความพอใจของคนในสังคมสูงสุด ไม่เกิดการสูญเปล่า เช่น ตลาดผูกขาดหรือตลาดกึ่งผูกขาด จุดที่การผลิตอะไร ผลิตเท่าใด จึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุดของระบบเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์สวัสดิการ เรียกจุดนั้นว่า "Pareto Optimality"

ทฤษฎีที่หาจุดที่ว่า เป็นจุดของการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับทรัพยากรต่าง ๆ เช่น แรงงาน ทุน และทรัพยากรอื่น ๆ ที่มีอยู่อย่างจำกัด และเป็นจุดที่ผู้บริโภคหรือผู้คนในสังคมพอใจมากที่สุด ไม่ได้ให้คำตอบที่แน่ชัดว่าควรจะเป็นจุดใด นักเศรษฐศาสตร์จึงเรียกตลาดเช่นว่านี้เป็นตลาดที่ไม่สมบูรณ์ หรือ Incomplete Markets ความไม่สมบูรณ์ของตลาดอาจจะเป็นเพราะปัจจัยหลายอย่าง เช่น การมีข้อมูลข่าวสารของตลาดไม่เท่ากัน ในเวลาเดียวกัน ที่เรียกว่า "Asymmetric Information" คนที่มีข้อมูลมากกว่า เร็วกว่า ก็จะได้เปรียบผู้อื่น

ปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่นำไปสู่การทำสัญญาก็เพื่อต้องการให้คู่สัญญาประพฤติปฏิบัติ ตามที่ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกันไว้ เพื่อป้องกันการประพฤติปฏิบัติที่ไม่รับผิดชอบบ้าง หรือหากมีทางเป็นไปได้ หลาย ๆ ทางที่คู่สัญญาจะเลือกปฏิบัติ แต่คู่สัญญาอยากให้ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นต้น ตัวอย่าง เช่น ในกรณีการประกันความเสียหายจากอุบัติเหตุ ผู้รับประกันจะไม่รับประกันเต็มจำนวนที่เสียหาย เพื่อป้องกันมิให้ผู้เอาประกันไม่ระมัดระวัง ไม่รับผิดชอบ หรือแม้แต่แกล้งทำให้เกิดอุบัติเหตุ เพื่อเอาประโยชน์จากการประกัน การสร้างกฎระเบียบของตลาด เช่น ตลาดหลักทรัพย์นั้นผู้ที่เข้ามาซื้อขายจะต้องปฏิบัติก็เท่ากับเป็นการยอมรับสัญญาระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องโดยปริยาย

ในกรณีโรงงาน นายจ้างจะมีความเสี่ยงมากกว่าลูกจ้าง ดังนั้น ถ้าหากนำลูกจ้างให้เข้ามามีส่วนร่วมที่จะมีผลประโยชน์ด้วยจากการมีประสิทธิภาพของการผลิต เช่น การให้โบนัสเป็นหุ้น ถ้าหุ้นราคาดีขึ้น ลูกจ้างก็ได้ประโยชน์ด้วย ถ้าหุ้นตกเพราะผลประกอบการของบริษัทเลวลง ลูกจ้างก็เสียหายด้วย เพราะหุ้นที่ได้มาเป็นโบนัสแทนเงินมีราคาถูกลง ก็จะทำให้ลูกจ้างมีกำลังใจ ในการปฏิบัติงานดีขึ้น

ในกรณีที่นายจ้างมีสัญญากับลูกจ้างต่อกันว่าจะทำให้บริษัทสามารถประหยัดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในสำนักงานได้ ส่วนที่ประหยัดได้จะแบ่งให้กับลูกจ้างในส่วนที่เกี่ยวข้องครึ่งหนึ่งของส่วนที่ประหยัดได้ ของแต่ละเดือนหรือแต่ละปี ลูกจ้างก็จะช่วยกันระมัดระวัง ช่วยกันประหยัด ดีกว่านายจ้างสั่งให้ทุกคนระมัดระวัง หรือประหยัดอย่างเดียว

หรือการออกแบบสัญญาระหว่างเจ้าของกิจการ ซึ่งเรียกว่า Principal กับผู้บริหาร ซึ่งเรียกว่า Agent บริษัท องค์กร สถาบัน หรือหน่วยงานต่าง ๆ จะมีผู้ถือหุ้น ผู้ให้ทุนหรือรัฐบาลเป็น Principal และทำสัญญากับผู้จัดการ หรือผู้บริหารขององค์กร สถาบัน หรือหน่วยงานต่าง ๆ ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ผู้บริหารที่เป็นคู่สัญญาทำงานดีขึ้น ทำงานไปตามจุดมุ่งหมายหรือเป้าหมายของเจ้าของ หรือ Principal ขององค์กรดีขึ้น

รูปแบบของสัญญาดังกล่าวมีหลายรูปแบบ เช่น ทำสัญญาจ่ายค่าตอบแทนตามผลงาน หรือ "Pay for Performance" ของลูกจ้าง แทนที่จะจ่ายเป็นอัตราตายตัว หรือการให้ความดีความชอบในการเลื่อนเงินเดือน เลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง ตามผลงานในกรณีที่ตลาดขาดแคลนแรงงาน มีการแย่งแรงงานกัน โฮล์มสตรอมสร้างผลงานที่แสดงให้เห็นว่า ความมั่นคงของงาน หรือความมั่นใจของลูกจ้างว่าจะไม่ถูกปลด อาจจะมีความสำคัญกว่าค่าจ้าง แต่ความมั่นคงในการจ้างงานมีผลต่อประสิทธิภาพและความยินดีที่จะอยู่กับนายจ้าง ซึ่งอาจจะอธิบายได้ว่า ผู้คนยังยินดีเข้าทำงานราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ แม้ว่าจะได้ค่าตอบแทนรวมทั้งผลประโยชน์อย่างอื่นน้อยกว่าเอกชน แต่ก็เป็นงานที่มีความมั่นคง ไม่มีความเสี่ยงที่จะตกงาน หรือมีความเสี่ยงน้อยกว่า ไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจไทยทั่วไปจะไม่ดีก็ตาม

ถ้าเป็นงานที่ต้องอาศัยการทำงานเป็นทีม หรือ Team Work การให้ความดีความชอบกับผู้ทำงานดีเด่น 5 เปอร์เซ็นต์แรก อาจจะไม่ได้ผลทำให้เกิดการทำงานเป็นทีม แต่ถ้ามีการทำสัญญาการทำงานของลูกจ้างที่มีผลงานรั้งท้าย 5 เปอร์เซ็นต์ จะไม่ได้ขึ้นเงินเดือน สัญญาการจ้างงานดังกล่าวอาจจะทำให้การทำงานเป็นทีมดีขึ้น ลูกจ้างจะไม่พยายามทำเอาดีคนเดียว แต่จะทำงานเป็นทีมมากขึ้น เพราะทำงานดีคนเดียวไม่มีประโยชน์อะไร แต่จะไม่เป็นแกะดำอยู่ในกลุ่มรั้งท้าย 5 หรือ 10 เปอร์เซ็นต์ เพราะจะไม่ได้ขึ้นเงินเดือนหรือไม่ได้โบนัส สัญญาในรูปแบบอย่างนี้ บางทีก็จัดเข้าในกลุ่ม Complete Contracts

การจัดทำสัญญาในกิจการบางอย่าง อาจจะลงไปในรายละเอียดล่วงหน้าไม่ได้ ปัญหาก็คือทั้ง 2 ฝ่ายจะร่างสัญญาอย่างไร เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพที่สุด ทั้ง 2 ท่านที่ได้รับรางวัลเสนอว่า อาจจะทำสัญญาว่า ผู้บริหารทำอะไรได้บ้าง เมื่อไหร่ เมื่อทำงานไปแล้วหากมีปัญหา ใครมีอำนาจตัดสินใจ การทำสัญญาไว้ล่วงหน้ากำหนดผู้มีอำนาจตัดสินใจ ในเรื่องใด เรื่องไหนสำคัญ หรือเมื่อไร ก็จะทำให้การทำงานดีขึ้น เรียกว่า "Incomplete Contracts"

การจ้างเขียนหนังสือ การจ้างทำภาพยนตร์ ใครควรเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ใครควรเป็นผู้มีสิทธิ์จำหน่ายหรือเผยแพร่ ใครควรเป็นเจ้าของนิมิตสิทธิ์ การคุ้มครองควรมีอายุเท่าใด มาตรการคุ้มครองควรเป็นอย่างไร สัญญาควรจะเป็นอย่างไรจึงจะเป็นผลดีกับทั้งสองฝ่ายมากที่สุด

การทำสัญญาในทางการเงิน สำหรับสินค้าทางการเงินในรูปต่าง ๆ ก็มีความสำคัญ เพราะจะมีผลต่อต้นทุนทางการเงิน เป็นความเสี่ยงทางการเงินและความมั่นคงทางการเงิน ของบริษัทผู้ใช้เงินและสถาบันการเงินผู้ให้กู้เงิน

การแปรรูปรัฐวิสาหกิจแบบเต็มรูปหรือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจบางส่วน หรือแปรรูปหน่วยงานของรัฐสำหรับบริการของรัฐหลายอย่าง เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล แม้แต่เรือนจำ รัฐทำเองหรือทำสัญญาให้เอกชนรับไปทำ อย่างไหนจะดีกว่ากัน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ในโลกสมัยใหม่ เราจึงต้องเกี่ยวข้องอยู่กับกิจการที่จะต้องมีการทำสัญญา หรือต้องเกี่ยวข้องกับคุณภาพของบริการ รวมทั้งกฎเกณฑ์ ธรรมาภิบาล ที่ต่างฝ่ายต่างมีสิทธิที่จะเรียกร้องและมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามพันธสัญญาเสมอ รูปแบบของสัญญาจึงมีส่วนเสริมสร้างงาน เสริมสร้างประสิทธิภาพและสวัสดิการของสังคมเป็นอย่างมาก ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลที่ทั้ง 2 ท่านได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ

ขอโทษที่เขียนให้อ่านง่ายกว่านี้ไม่ได้


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : รางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2016

view