สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ต้นตอเพิ่มเงิน นักการเมือง ค่าครองชีพพุ่ง-เศรษฐกิจทรุด

จากประชาชาติธุรกิจ

ไอเดียขอเพิ่มเงินค่าตอบแทนตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ของคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มี "สมพงษ์ สระกวี" เป็นหัวขบวน มีทั้งเสียงหนุน-เสียงค้าน

เหตุผลการขึ้นเงินค่าตอบแทนให้แก่นักการเมือง "ตกผลึก" มาจากการเทียบเคียงกับโครงสร้างเงินเดือนของผู้บริหารองค์การมหาชน ที่มีอัตราเงินเดือน-ไม่รวมเบี้ยประชุมและผลตอบแทนอื่น เฉลี่ย 1-3 แสนบาท รวมถึงกติการัฐธรรมนูญฉบับใหม่กลั่นกรองคนการเมืองที่จะเข้ามาอยู่ในอำนาจ-ผลประโยชน์ละเอียดยิบ จนอาจทำให้ขาดแรงจูงใจการเข้ามาทำงานการเมือง

ทว่าเมื่อ "คนต้นเรื่อง" ประเมินต้นทุนทางสังคมของนักการเมืองแล้วว่า ข้อเสนอดังกล่าวอาจถูก "ตีตก" เนื่องจากพฤติกรรมของนักการเมืองที่ผ่านมา เช่น ไม่เข้าประชุมสภา-หนีกระทู้ถามสด หรือแม้กระทั่งการวิวาทะทางการเมืองในสภา จนถึงขั้นปาแฟ้ม-เขวี้ยงเก้าอี้ มิหนำซ้ำยังเป็นยุคที่นักการเมืองถูกมองเป็นจำเลย-ต้นเหตุวิกฤตการเมือง จนทหารต้องเข็นรถถังออกจากกรม กอง รัฐประหาร ล้มกระดานการเมือง จนศรัทธาในตัวคนการเมืองดำดิ่ง

"เราห่วงเช่นกันว่าข้อเสนอนี้จะถูกต่อต้านจากสังคม ดังนั้นในการประชุมอนุ กมธ.จึงมีข้อเสนอว่า ควรให้ข้อเสนอเรื่องการเพิ่มค่าตอบแทนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีผลบังคับใช้หลังจากนี้ 5 ปี เพื่อไม่ให้ถูกกล่าวหาว่าเสนอเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง" หัวขบวนอนุ กมธ.การเมือง-คนต้นเรื่องจึงต้องตั้งการ์ดสูงรับก้อนอิฐ

สำหรับอัตราเงินเดือน-เงินประจำตำแหน่งของข้าราชการการเมืองที่ได้รับในขณะนี้ ตามพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) การปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2554 ประกาศเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2554

กำหนดให้นายกรัฐมนตรีได้รับเงินเดือน 75,590 บาท รองนายกรัฐมนตรี 74,420 บาท รัฐมนตรีว่าการกระทรวง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการทบวง 73,240 บาท รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการทบวง 72,060 บาท

ขณะที่อัตราเงินประจำตำแหน่ง ประกาศโดยกระทรวงการคลัง กำหนดให้นายกรัฐมนตรี ได้รับเงินประจำตำแหน่งต่อเดือน 50,000 บาท รองนายกรัฐมนตรี 45,500 บาท รัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 42,500 บาท รัฐมนตรีช่วยว่าการ 41,500 บาท

ด้านอัตราเงินเดือน-ผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของ ส.ส. และ ส.ว. นับตั้งแต่การจำแนกเงินประจำตำแหน่ง-เงินเพิ่ม ออกเป็น 5 บัญชี เมื่อปี 2535 จนถึงปัจจุบันมีการแก้ไขมาแล้วถึง 8 ครั้ง ปัจจุบันเป็นการแก้ไขเป็นครั้งที่ 9

โดย พ.ร.ฎ.เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ส.ส. ส.ว. และ กมธ. พ.ศ. 2555 กำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้รับเงินประจำตำแหน่งต่อเดือน 75,590 บาท เงินเพิ่มต่อเดือน 50,000 บาท ประธานวุฒิสภา เงินประจำตำแหน่ง 74,420 บาท เงินเพิ่ม 45,500 บาท

รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เงินประจำตำแหน่ง 73,240 บาท เงินเพิ่ม 42,500 บาท รองประธานวุฒิสภา เงินประจำตำแหน่ง 73,240 บาท เงินเพิ่ม 42,500 บาท ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เงินประจำตำแหน่ง 73,240 บาท เงินเพิ่ม 42,500 บาท ส.ส. เงินประจำตำแหน่ง 71,230 บาท เงินเพิ่ม 42,330 บาท และ ส.ว. เงินประจำตำแหน่ง 71,230 บาท เงินเพิ่ม 42,330 บาท

ถึงแม้ว่าเงินประจำตำแหน่ง-ผลประโยชน์อื่นของ "ผู้ทรงเกียรติ" จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากพ.ร.ฎ.เงินประจำตำแหน่ง ฯ ปี 2535 จนถึงฉบับปัจจุบัน ทว่าในยุคมรสุมเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี 40 รัฐบาลชวน หลีกภัย ได้ออกพ.ร.ฎ.เงินประจำตำแหน่ง ฯ ฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2540 ให้เงินประจำตำแหน่งและผลประโยชน์ตอบแทนอื่น "ลดลง" ร้อยละสิบ จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2541

ขณะที่สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ เคยออก พ.ร.ฎ.เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของ ส.ว. ส.ส. และ กมธ. (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2547 ให้สมาชิกรัฐสภาเพิ่มเบี้ยประชุม กมธ. และอนุ กมธ.เป็น 1 พันบาทต่อครั้งเพียงครั้งเดียว ยกเว้นมีการประชุม กมธ.คณะอื่นในวันเดียวกัน ให้ได้รับเบี้ยประชุมในวันนั้นไม่เกิน 2 ครั้ง ขณะที่การประชุมคณะอนุ กมธ.ให้ได้รับค่าตอบแทนเป็นเบี้ยประชุมครั้งละ 500 บาท

พ.ร.ฎ.เงินประจำตำแหน่ง-ผลประโยชน์ตอบแทนคนการเมือง ทั้ง 9 ฉบับระบุหมายเหตุข้างท้ายเสมอว่า "เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ คือ เนื่องจากบัญชีอัตราเงินเดือนของข้าราชการในปัจจุบันได้บังคับใช้มาเป็นเวลานาน ไม่เหมาะสมกับภาวะทางเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นมาก สมควรปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

โดยปรับเพิ่มในอัตราร้อยละห้าเท่ากันทุกอัตราสำหรับข้าราชการทุกประเภท และโดยที่มาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. 2538 บัญญัติให้การปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรปรับเพิ่มเป็นร้อยละเท่ากันทุกอัตราสำหรับข้าราชการทุกประเภทและไม่เกินร้อยละสิบของอัตราที่ใช้บังคับอยู่...จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.ฎ.นี้"

การป้องกันคำครหา โดยการขึ้นเงินเดือนมีผลบังคับใช้ในอีก 5 ปีข้างหน้า จึงแตกต่างจากเหตุผลในการเพิ่มเงินเดือน-เงินประจำตำแหน่งทั้ง 9 ฉบับที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ต้นตอเพิ่มเงิน  นักการเมือง ค่าครองชีพพุ่ง เศรษฐกิจทรุด

view