สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ธนบัตรที่ระลึกในรัชกาลที่ 9 ความหมายที่มากกว่า เงินตรา

จากประชาชาติธุรกิจ

"ธนบัตร" หรือที่เรียกกันติดปากว่า "แบงก์" ในทุกวันนี้ มีวิวัฒนาการคำเรียกหลายคำตามยุคสมัย ไม่ว่าจะเรียกว่า "หมาย", "ใบพระราชทานเงินตรา", "อัฐกระดาษ", "บัตรธนาคาร", "ตั๋วเงินกระดาษ" หรือ "เงินกระดาษหลวง" และกระแสความต้องการแลกซื้อธนบัตรที่ระลึกของประชาชนในระยะนี้ ทำให้เรื่องราวของ "ธนบัตรในรัชกาลที่ 9" มีความหมายมากกว่า "เงินตรา" ที่ใช้สำหรับชำระค่าสินค้าและบริการในชีวิตประจำวัน

จ่ายแลกธนบัตรเพิ่ม 1.8 ล้านใบ

กระแสความต้องการเก็บธนบัตรที่ระลึกที่มีอยู่ไม่ขาดสาย ส่งผลให้ ธปท.นำธนบัตรที่ระลึกและบัตรธนาคารที่มีอยู่แล้วในคลังของ ธปท. ออกมาให้จ่ายแลกเพิ่มเติมอีก 2 แบบ แบบละ 9 แสนฉบับ รวมเป็น 1.8 ล้านฉบับ ได้แก่ บัตรธนาคาร เนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 บริบูรณ์ 5 ธันวาคม 2530 ชนิดราคา 60 บาท (บัตรธนาคารรุ่น 60 ปี) จ่ายแลก 60 บาท และธนบัตรที่ระลึกเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี ธนบัตรไทย (ปี 2545) ชนิดราคา 100 บาท (ธนบัตรที่ระลึก 100 ปี ธนบัตรไทย) จ่ายแลก 100 บาท




โดยรอบนี้ ธนาคารต่าง ๆ จะเปิดให้ประชาชนจ่ายแลกพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย.และทุกธนาคารที่ได้รับจัดสรรจาก ธปท. ยังพร้อมใจกันกำหนดกติกาการจ่ายแลกให้ประชาชน "1 คนต่อ 1 ใบ"รวมถึงให้ "1 คนต่อ 1 แบบ" เท่านั้น

"บัตรธนาคารที่ระลึก" ชุดแรก

บัตรธนาคารเนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเจริญพระชนมพรรษา60พรรษาบริบูรณ์5 ธันวาคม 2530 ชนิดราคา 60 บาท นับเป็น "บัตรธนาคารที่ระลึก" ชุดแรกและชุดเดียวที่ ธปท.จัดพิมพ์ขึ้น

ส่วน "ธนบัตรที่ระลึก 100 ปี ธนบัตรไทย" มีลักษณะพิเศษ คือเนื้อกระดาษขาว มีลายน้ำรูปไอราพต มองเห็นได้ทั้ง 2 ด้านเมื่อยกธนบัตรขึ้นส่องดูกับแสงสว่าง ในเนื้อกระดาษโรยเส้นใยเรืองแสง ซึ่งมองไม่เห็นด้วยแสงธรรมชาติ แต่จะเรืองแสงเป็นสีน้ำเงิน สีแดง และสีเหลือง ภายใต้รังสีเหนือม่วง และในเนื้อกระดาษยังฝังเส้นใยใสสีโลหะ (เทา) ซ่อนไว้ตามด้านกว้างของธนบัตร ภายในเส้นใยใสสีโลหะ (เทา) มีแถวเลขและอักษรไทยคำว่า "๑๐๐ ปี ธนบัตรไทย" ขนาดเล็กเรียงเป็นระยะ อ่านได้ทั้ง 2 ด้านเมื่อยกธนบัตรขึ้นส่องแสง

เช็กสต๊อกแบงก์ 500,000 บาท


"นายวรพร ตั้งสง่าศักดิ์ศรี" ผู้ช่วยผู้ว่าการสายออกบัตรธนาคาร ธปท. เปิดเผยว่า ธนบัตรไทยเกิดขึ้นในปี 2445 อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ธนบัตรไทย ที่จัดพิมพ์ออกมามีธนบัตรหมุนเวียน 16 แบบ ธนบัตรที่ระลึก 17 แบบ และบัตรธนาคารที่ระลึก 1 แบบ สำหรับธนบัตรหมุนเวียนที่เชิญพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีขึ้นครั้งแรกในแบบที่ 9 พิมพ์ที่บริษัท โทมัส เดอ ลา รู จำกัด เริ่มทยอยออกใช้เมื่อปี 2491

โดยบัตรธนาคารเนื่องในพระชนมพรรษา 60 ปี พิมพ์เมื่อปี 2530 จำนวน 9,999,999 ฉบับ เป็นการจัดพิมพ์เพื่อเป็นที่ระลึกครั้งแรก ส่วนธนบัตรที่ระลึก 100 ปี ธนบัตรไทย พิมพ์เมื่อปี 2545 จำนวน 15 ล้านฉบับ

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังมีธนบัตรที่ระลึกเนื่องในอภิลักขิตสมัยมหามงคลวันราชาภิเษกสมรสและวันบรมราชาภิเษกครบ 50 ปี ชนิดราคา 500,000 บาท จ่ายแลกราคา 1 ล้านบาท ที่จัดพิมพ์เมื่อปี 2543 จำนวน 1,998 ฉบับ ยังพอมีคงเหลือในคลังของ ธปท. สำหรับผู้สนใจจ่ายแลกสามารถติดต่อสอบถามกับ ธปท.ได้โดยตรง

ไขปมโซเชียลแชร์ "แบงก์ใหม่"

ส่วนกระแสในโซเชียลมีเดียที่เผยแพร่ภาพธนบัตรชนิดราคา 100 บาท มีพระฉายาสาทิสลักษณ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระฉายาสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยระบุว่าเป็นแบงก์แบบใหม่นั้น

"นายวรพร" ชี้แจงว่า ธนบัตรทั้ง 2 แบบ เป็นธนบัตรที่ระลึกที่ ธปท.ได้ประกาศออกใช้ไปแล้ว โดยเป็นธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเจริญพระชนมายุ 5 รอบ 28 กรกฎาคม 2555 ออกใช้เมื่อ 27 ก.ค. 2555 จัดพิมพ์ 10 ล้านฉบับ และอีกแบบเป็นธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ออกใช้เมื่อ 2 เมษายน 2558 จัดพิมพ์ 20 ล้านฉบับ

ส่วนประชาชนที่สนใจเรื่องธนบัตรสามารถเข้าชมธนบัตรไทยฉบับจริงได้ที่ "พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย" วังบางขุนพรหม ถ.สามเสน ได้ทุกวันเสาร์ เวลา 08.30-16.30 น. ถึงสิ้นปีนี้


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ธนบัตรที่ระลึก รัชกาลที่ 9 ความหมายที่มากกว่า เงินตรา

view