สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รัชกาลที่ 9 กษัตริย์ผู้ทรงธรรม กฎหมายมิได้มีไว้บังคับประชาชน

จากประชาชาติธุรกิจ

ตลอดเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองราชย์ 7 ทศวรรษ พระองค์ทรงใช้หลักทศพิธราชธรรม คือ "ธรรมของราชา" ปกครอง ให้พสกนิกรอยู่ดีกินดีเสมอมา

ไม่ว่าสถานการณ์ของบ้านเมืองและของโลก ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง จะหมุนผ่านไปกี่ยุคสมัย แต่พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในโอกาสต่าง ๆ รวมถึง

พระราชดำรัสและพระราชดำริ ยังปรับใช้ได้กับทุกสถานการณ์ ดังเช่น พระบรมราโชวาทที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรม พระราชทานแก่ศาล ตำรวจ และทหาร ในช่วงเวลาต่าง ๆ ที่ทรงครองราชย์ ที่ยังนำมาปรับใช้กับทุก สถานการณ์ได้ในปัจจุบัน

พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ตำรวจ-ทหาร

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานกระบี่แก่นักเรียนนายร้อยตำรวจ ในวันที่ 6 เมษายน 2507 ตอนหนึ่งว่า "การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในบ้านเมือง อันเป็นหน้าที่โดยตรงของตำรวจนั้น นอกจากจะเป็นการบำบัดความเดือดร้อน และอำนวยความผาสุกให้แก่ประชาชนแล้ว ยังเป็นการป้องกันบ้านเมืองให้พ้นจากภัยรุกราน ซึ่งกำลังคุกคามอยู่ทั่วไปในขณะนี้ด้วย หน้าที่ของตำรวจจึงเป็นหน้าที่สำคัญ ที่ต้องรับผิดชอบต่อส่วนรวมอย่างมาก และเป็นภารกิจอันหนัก ที่ต้องใช้ความสามารถทั้งทางสติปัญญาและทางการปฏิบัติ ประกอบกับความเที่ยงตรง ตามหลักแห่งกฎหมายและหลักศีลธรรมด้วย จึงจะปฏิบัติให้ได้ผลสมบูรณ์ได้"

หลายปีต่อมาหลังจากเกิดวิกฤตการเมืองในวันที่ 14 ตุลา 2516 ที่พระองค์ทรงใช้พระบารมีในการแก้วิกฤตครั้งนั้น ต่อมาพระองค์ทรงมีพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานกระบี่แก่นักเรียนนายร้อยตำรวจ 1 เมษายน 2519 ตอนหนึ่งว่า "บ้านเมืองของเราเวลานี้ เห็นกันว่ามีความยุ่งยากทางเศรษฐกิจและทางสังคมอยู่ไม่น้อย

สภาพเช่นนี้ทำให้เกิดภาวะหนัก และยากลำบากในการรักษาสวัสดิภาพและความปลอดภัยแก่ประชาชน ตลอดถึงประเทศชาติ สาเหตุของความยุ่งยากนั้นเนื่องมาจากปัญหาสับสนซับซ้อน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ซึ่งกำลังเกิดขึ้นทั่วไปในโลก แล้วเรารับเอาอิทธิพลแห่งปัญหานั้น ๆ เข้ามา จึงพลอยกระทบกระเทือนเดือดร้อนไปด้วย แต่ถ้าหากเรารู้เท่าทันถึงสาเหตุว่ามาทางใด อย่างไร ก็จะทำให้หาทางหลบหลีกแก้ไขได้ ให้บรรเทาเบาบางไปได้ตามวิธีของเรา"

ทรงให้ตำรวจ-ทหาร ร่วมกันขจัดภัยยาเสพติด

กระทั่งสถานการณ์ภัยการเมืองนอกประเทศไทยคลี่คลายลง โลกกลับมาเป็นปกติหลังจากสิ้นสุดสงครามเย็น จนแทบจะไม่มีภัยรุกรานอีก แต่สิ่งที่เป็นภัยรุกรานใหม่คือภัยของ "ยาเสพติด" พระองค์จึงมีพระบรมราโชวาทในพิธีประดับยศทหารและนายตำรวจชั้นนายพล 11 พฤศจิกายน 2545 ตอนหนึ่งว่า "ในสมัยนี้ความปลอดภัยในการรุกรานนั้นดูจะมีน้อยลง ไม่รุนแรงเท่าเมื่อระยะหลายสิบปีมา แต่ว่าภัยอันตรายที่มีจากความไม่เรียบร้อย หลายอย่างก็เกิดขึ้น มากขึ้น ถ้าจะพิจารณาดูข้อสำคัญอย่างหนึ่ง คือ เรื่องของความไม่เรียบร้อยจากยาเสพติดที่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ซึ่งทำให้มีผลร้ายหลายด้านในสังคมไทย ฉะนั้น ถ้าท่านพยายามที่จะรับผิดชอบก็จะสามารถที่จะขจัดภัยของยาเสพติดได้ ด้วยความร่วมมือกันปราบให้อยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมาก แต่ว่าไม่สุดวิสัยที่จะผ่านพ้นไปได้"

ศาลต้องผดุงความยุติธรรม

อีกด้านหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมที่อยู่ปลายทาง คือ "ศาล" ในช่วงเวลา 7 ทศวรรษ ทรงมีพระราชดำรัสแก่ศาลยุติธรรม ตุลาการศาลทหาร รวมถึงบุคคลแวดวงนิติศาสตร์หลายวาระ โดยพระองค์ทรงย้ำเตือนเสมอว่า การตัดสินของศาลนั้นจะใช้หลักนิติศาสตร์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องใช้ศาสตร์ความรู้ด้านอื่นประกอบ เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรม

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา 24 กุมภาพันธ์ 2512 ตอนหนึ่งว่า "ในฐานะที่เป็นพลเมืองคนหนึ่ง ขอให้ร่วมกันผดุงความยุติธรรมในแผ่นดิน เพื่อช่วยให้บ้านเมืองมีขื่อมีแปอันมั่นคง ในฐานะที่เป็นนักกฎหมาย ขอให้ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจอันเที่ยงแท้ถูกต้องในทางกฎหมาย ในฐานะที่เป็นผู้มีส่วนในการรักษาอำนาจตุลาการ ขอให้ทำตนเป็นผู้ช่วยเหลือและที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง พร้อมทั้งความคิดพิจารณาที่รอบคอบมาใช้ในการปฏิบัติงานทุก ๆ อย่าง เพื่องานของท่านจักได้บังเกิดผล เป็นคุณแก่ราชการ แก่ประเทศชาติและประชาชนเต็มบริบูรณ์"

คนไทยยังรู้กฎหมายน้อย เพราะราชการเข้าไม่ถึง

พระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงานวันนิติศาสตร์ จุฬาฯ 13 มีนาคม 2512 ตอนหนึ่งว่า "ในเมืองไทยนี้มีความรู้ในด้านกฎหมายของประชาชนทั่วไปยังมีน้อยเกินไป หลักของต่างประเทศที่ว่าประชาชนทุกคนย่อมทราบกฎหมายนั้น เรารับมาเป็นหลักปฏิบัติในการปกครองของบ้านเมือง แต่ถ้าจะถือหลักนี้โดยอาศัยความรู้ของประชาชนก็เป็นไปไม่ได้"

"กฎหมายกับความเป็นอยู่ที่เป็นจริงอาจขัดกัน และในกฎหมาย ก็มีช่องโหว่มิใช่น้อย เพราะเราปรับปรุงกฎหมายและการปกครองโดยอาศัยหลักการของต่างประเทศโดยมิได้คำนึงถึงความเป็นอยู่ของประชาชนว่าในที่ใดเป็นอย่างไร ร้ายกว่านั้นก็ไม่ได้คำนึงถึงว่าการปกครองของทางราชการ บางทีไปไม่ถึงประชาชนด้วยซ้ำ จึงทำให้ประชาชนต้องตั้งกฎหมายของตนเองซึ่งไม่ได้หมายความว่าเลว เป็นแต่มีบางสิ่งบางอย่างขัดกับกฎหมายของทางบ้านเมือง"

"เช่น อย่างทางแถวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เมื่อปีสองปีมานี้ มีเจ้าหน้าที่เข้าไปในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านเป็นผู้ที่อพยพย้ายมาจากจังหวัดนครศรีธรรมราช มาตั้งหมู่บ้านใกล้ขอบป่าสงวนฯ คือเรียกว่าล้ำเข้าไปในป่าสงวนฯบ้าง คนเหล่านั้นเข้ามาทำมาหากินและอยู่กันด้วยความเรียบร้อย หมายความว่า ได้มีการปกครองหมู่บ้านของตนเอง ไม่มีโจรไม่มีผู้ร้าย มีการทำมาหากินที่เรียบร้อย ขาดแต่อย่างเดียวคือนายอำเภอหรือเจ้าหน้าที่ก็จะเป็นประชาธิปไตย ซึ่งแท้จริงเขาเป็นประชาธิปไตยยิ่งกว่าที่จะเอานายอำเภอมาปกครองเขาเสียอีก แต่ว่าเมื่อขาดนายอำเภอหรือเจ้าหน้าที่เขาก็เลยไม่เป็นประชาธิปไตย และปรากฏว่าเขากลายเป็นผู้ร้ายจวน ๆ จะเป็นผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์"

"เราไม่ได้ปรารถนาเลยที่จะให้มีผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในประเทศ แต่เราก็สร้างขึ้นมาเอง โดยไปชี้หน้าชาวบ้านที่เขาปกครองตัวเองดีแล้ว เรียบร้อยแล้ว เป็นประชาธิปไตยอย่างดีอย่างชอบแล้วว่าบุกรุกเข้ามาอยู่ในป่าสงวนฯ และขับไล่ให้เขาย้ายออกไป คนเหล่านั้นเขาทำการงานเข้มแข็ง ทำงานดีตลอดเวลาหลายปีมาแล้วจากนครศรีธรรมราช ไม่เคยทำลายป่า แต่บังเอิญกฎหมายบอกว่าป่าสงวนฯนั้นใครบุกรุกไม่ได้ เขาจึงเดือดร้อน ป่าสงวนฯนั้นเราขีดเส้นบนแผนที่ เจ้าหน้าที่จะไปถึงได้หรือไม่ได้ก็ช่าง และส่วนมากก็ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ไป"

ศาลต้องทำให้บ้านเมืองอยู่กันด้วยความอะลุ่มอล่วย

"ดังนั้น ราษฎรจะทราบได้อย่างไรว่าที่ที่เขาเข้ามาอาศัยอยู่เป็นป่าสงวนฯ และเมื่อเราถือว่าเขาเป็นชาวบ้านก็ไปกดหัวเขาว่าเขาต้องทราบกฎหมาย แต่กฎหมายอย่างนี้ก็เป็นแค่เพียงขีดเส้นทับเขาไม่ใช่กฎหมายแท้ ที่เป็นกฎหมายก็เพราะพระราชบัญญัติป่าสงวนฯเป็นกฎหมาย ซึ่งจะให้เขาทราบเองเป็นไปไม่ได้ เพราะทางฝ่ายปกครองไม่ได้นำเอากฎหมายนั้นไปแจ้งแก่เขา สมัยโบราณจะให้ทราบเรื่องอันใดเขาต้องตีกลอง มาสมัยนี้ผู้ใหญ่ลีก็ยังตีกลอง แต่ว่านี่ไม่มีผู้ใหญ่ลีจะตีกลอง ประกาศด้วยปากหน่อยเดียว ก็เหมือนยังไม่มีกฎหมาย จึงไม่ใช่ที่จะไปว่าเขาว่าไม่ทราบกฎหมาย ประชาชนย่อมทราบ แต่ว่าการปกครองไม่ดี ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่กฎหมาย เพราะต่างคนต่างมีผิดมีถูกด้วยกันอยู่ ทีนี้เมื่อขัดกันก็เกิดความเดือดร้อนทั้ง 2 ฝ่าย จึงเป็นหน้าที่ของผู้รู้กฎหมายที่จะต้องไปทำความเข้าใจ คือ ไม่ใช่ไปกดขี่ให้ใช้กฎหมายโดยเข้มงวด แต่ไปทำให้ต่างฝ่ายเข้าใจว่าเราอยู่ร่วมประเทศเดียวกัน ต้องอยู่ด้วยกันด้วยความอะลุ่มอล่วย ไม่ใช่กดขี่ซึ่งกันและกัน"

"นักกฎหมายทั้งหลายรวมทั้งนักกฎหมายในอนาคตด้วย จะต้องทราบว่ากฎหมายนั้นมีไว้สำหรับให้มีช่องโหว่ในทางปฏิบัติ ไม่ใช่ว่าจะทำได้อย่างตรงไปตรงมาตามตัวบท จำต้องใช้ความพินิจพิจารณาอยู่เสมอ จึงต้องมีศาลไว้ถึง 3 ศาล ตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ไปจนถึงศาลฎีกา และแม้ถึงศาลฎีกาแล้วก็ยังถวายฎีกาได้อีก ถ้ากฎหมายร้อยเปอร์เซ็นต์ ปฏิบัติได้เหมือนกดปุ่มเครื่องจักร เราก็ไม่ต้องมีศาลฎีกา ไม่ต้องถวายฎีกา เพราะว่าทุกสิ่งเรียบร้อยและยุติธรรม"

กฎหมายไม่ได้มีไว้บังคับประชาชน

พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่คณะกรรมการจัดงาน "วันรพี" 23 มิถุนายน 2516 ตอนหนึ่งว่า "กฎหมายมีไว้สำหรับให้มีความสงบสุขในบ้านเมือง มิใช่ว่ากฎหมายมีไว้สำหรับบังคับประชาชน ถ้ามุ่งหมายที่จะบังคับประชาชนก็กลายเป็นเผด็จการ กลายเป็นสิ่งที่บุคคลหมู่น้อยจะต้องบังคับบุคคลหมู่มาก ในทางตรงข้าม กฎหมายมีไว้สำหรับให้บุคคลส่วนมากมีเสรี และอยู่ได้ด้วยความสงบ บางทีเราตั้งกฎหมายขึ้นมาก็ด้วยวิชาที่ได้มาจากต่างประเทศ เพราะว่าวิชากฎหมายนี้เป็นวิชาที่กว้างขวาง จึงต้องมีหลักอะไรอย่างหนึ่ง"

ตุลาการจะทำให้ประเทศมั่นคง

พระราชทานเนื่องในโอกาสที่ผู้พิพากษาประจำกระทรวง เฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ 9 เมษายน 2519 ตอนหนึ่งว่า "ฝ่ายตุลาการนี้เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการปกครองประเทศชาติ ในระบอบประชาธิปไตย หรือจะในระบอบใดที่เห็นความสำคัญของความผาสุกของประชาชน ฉะนั้น ท่านทั้งหลายมีหน้าที่สำคัญ ได้ตั้งจิตอธิษฐานอย่างแรงกล้าที่จะปฏิบัติอย่างเข้มงวด อย่างยุติธรรม และอย่างสุจริตนั้น ก็เป็นสิ่งที่น่าปลื้มใจ และเชื่อว่าประเทศชาติจะอยู่ได้ต่อไปอย่างแน่นอนและมั่นคง"

รัฐธรรมนูญต้องเป็นหลักให้ประเทศ

พระราชทานพระราชดำรัสแก่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 11 มิถุนายน 2551 "รัฐธรรมนูญเป็นหลักของการปกครองในประเทศ ซึ่งถ้ามีหลักในการปกครอง และมีบุคคลที่ตั้งใจที่จะปฏิบัติตามหลักนี้ ก็เชื่อว่าประเทศก็จะดำเนินงานไปได้ดี ก็ขอให้ท่านได้พยายามที่จะปฏิบัติตามที่ได้ปฏิญาณไว้ เพื่อความเจริญของประเทศ เชื่อว่าท่านก็คงจะทำตามที่ต้องการ ตามที่ได้ปฏิญาณ ประเทศก็จะไม่มีความเดือดร้อน ก็ขอให้ทุกท่านได้ปฏิบัติตามที่ได้ปฏิญาณ"


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : รัชกาลที่ 9 กษัตริย์ผู้ทรงธรรม กฎหมายมิได้มีไว้บังคับประชาชน

view