สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ ธรรมเนียมปฏิบัติ 3 รัชกาล

จากประชาชาติธุรกิจ

ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญการปกครองรวมแล้ว 19 ฉบับ โดย 2 ฉบับประกาศใช้ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ฉบับ 10 ธันวาคม 2475

1 ฉบับ ประกาศในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ 2489

และรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ในแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีทั้งสิ้น 16 ฉบับ

เมื่อรัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ มีความสำคัญต่อการเมืองการปกครอง และสิทธิต่าง ๆ ของราษฎร จึงต้องมีพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 ธันวาคม 2475 เป็นต้นมา

ขั้นตอนพระราชทานรัฐธรรมนูญ

สำหรับพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ได้ถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ทั้งนี้ หมายกำหนดการพระราชพิธีดังกล่าวปรากฏในราชกิจจานุเบกษา ความว่า "เวลา ๑๔ นาฬิกา ๔๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกพระที่นั่งอนันตสมาคมประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์บนพระราชบัลลังก์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตรในพระวิสูตรมหาดเล็กรัวกรับชาวม่านไขพระวิสูตร กรมวังชูพุ่มดอกไม้ทองให้สัญญา ชาวประโคม กระทั่งแตรมะโหระทึกทหารกองเกียรติยศถวายเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี"

"พระบรมวงศานุวงศ์ คณะทูตและข้าราชการเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทตามตำแหน่ง เมื่อสุดเสียงประโคมแล้ว มหาอำมาตย์โท พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานคณะกรรมการราษฎรพร้อมด้วย กรรมการราษฎรและเสนาบดี เชิญฉะบับรัฐธรรมนูญน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธย และพระราชทานพนักงานประทับพระราชลัญฉกรแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศดำเนิรกระแสพระบรมราชโองการพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งอาณาจักรสยามจบแล้ว"

ทหารบกทหารเรือ

ยิงปืนใหญ่21 นัด


"มหาอำมาตย์โท พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานคณะกรรมการราษฎร เชิญฉะบับรัฐธรรมนูญนั้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ถึงอุตตมมงคลฤกษ์ ระวางเวลา ๑๔ นาฬิกา ๕๓ นาที ถึงเวลา ๑๕ นาฬิกา ๕ นาที เสวกโทพระยาโหราธิบดีลั่นฆ้องชัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานฉะบับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามแด่มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาพิชัยญาติ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะได้เข้าไปรับพระราชทานพร้อมด้วยรองประธาน และเลขาธิการแห่งสภานั้น ชาวพนักงานประโคมสังข์แตรดุริยางค์ กองทหารถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ยิงปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร ทมหาปรายยุค ๑๐ นัดตามกำลังวัน และทหารบกทหารเรือจะได้ยิงปืนใหญ่ฝ่ายละ ๒๑ นัดถัดไปนั้น วัดต่าง ๆ ทุกวันทั่วพระราชอาณาจักรจะได้ย่ำระฆังและกลองเป็นเวลา ๑๐ นาที"



เจ้าพระยาพิชัยญาติ

ประธานสภาฯเชิญรัฐธรรมนูญ


"เมื่อมหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาพิชัยญาติประธานสภาผู้แทนราษฎรรับพระราชทานฉะบับรัฐธรรมนูญแล้วจะได้มอบให้ นายพลเรือตรีพระศรยุทธเสนี รองประธานสภาผู้แทนราษฎรเชิญไปประดิษฐานไว้บนพานทอง ๒ ชั้น เหนือตั่งทอง หน้ามหาสมาคม มหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาพิชัยญาติ ประธานสภาผู้แทนราษฎรกราบบังคมทูลสนองพระมหากรุณาคุณซึ่งได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามแล้ว มหาดเล็กรัวกรับชาวม่านปิดพระวิสูตร ชาวพนักงานประโคมกระทั่งแตรมะโหระทึก ทหารกองเกียรติยศถวายเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ขณะนี้มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาพิชัยญาติ ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะได้เชิญฉะบับรัฐธรรมนูญไปยืนที่ลานพระที่นั่งอนันตสมาคมทิศใต้พร้อมด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกสีหบัญชรทักษิณทิศพระที่นั่งอนันตสมาคมชาวพนักงานกระทั่งแตรประโคมมะโหระทึกกองทหารถวายเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ครั้นสุดเสียงประโคมแล้ว โปรดเกล้าฯให้อาลักษณ์อ่านประกาศดำเนิรกระแสพระบรมราชโองการ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามจบแล้ว ประธานสภาผู้แทนราษฎรชูพานฉะบับรัฐธรรมนูญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับคืนเข้าในพระที่นั่ง ชาวประโคมกระทั่งแตรมะโหระทึก ของทหารถวายเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นเสร็จการ"

พระราชพิธีลงพระปรมาภิไธย

ประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี2495


ขณะที่พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีด้วยกัน 2 ครั้ง

ครั้งแรก วันที่ 8 มีนาคม 2495 พระราชพิธีลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2495 โดยหมายกำหนดการในราชกิจจานุเบกษา ใจความว่า

"เวลา ๑๑ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดำเนินโดยรถยนตร์พระที่นั่งจากสวนจิตรลดา ไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม ประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์บนพระราชบัลลังก์ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร แวดล้อมด้วยเครื่องประกอบพระบรมขัตติยราชอิสริยยศในพระวิสูตร มหาดเล็กรัวกรับ ชาวม่านไขพระวิสูตร ชาวพนักงานกระทั่งแตมะโหระทึก กองเกียรติยศพร้อมด้วยทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ ลูกเสือและนักเรียน ถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี พระบรมวงศานุวงศ์ คณะรัฐมนตรี คณะทูต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และข้าราชการ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทตามตำแหน่ง"

"เมื่อสุดเสียงประโคมแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศกระแสพระราชปรารภประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช ๒๔๙๕ จบแล้ว นายกรัฐมนตรี เชิญฉบับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช ๒๔๙๕ น้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย และพระราชทานนายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เจ้าพนักงานประทับพระราชลัญฉกรแล้ว นายกรัฐมนตรี เชิญฉบับรัฐธรรมนูญน้อมเกล้าฯถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช ๒๔๙๕ แต่ประธานสภาผู้แทนราษฎร (พล.อ.พระประจนปัจจนึก) ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์แตร และดุริยางค์กองเกียรติยศถวายเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงชาติ ทหารบก ทหารเรือ จะได้ยิงปืนใหญ่ฝ่ายละ ๒๑ นัด และพระสงฆ์อารามต่าง ๆ จะได้ย่ำระฆังและกลอง"

"เมื่อประธานสภาผู้แทนราษฎร รับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช ๒๔๙๕ แล้ว จะได้มอบให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเชิญไปประดิษฐานไว้บนพานทอง ๒ ชั้น เหนือตั่งทองหน้ามหาสมาคม แล้วประธานสภาผู้แทนราษฎรกราบบังคมทูลสนองพระมหากรุณาธิคุณซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช ๒๔๙๕ จบแล้ว มหาดเล็กรัวกรับ พนักงานปิดพระวิสูตร ชาวพนักงานกระทั่งแตรมะโหระทึก ทหารกองเกียรติยศถวายเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับ"

พระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2511

แต่ภายหลังจากการรัฐประหารปี 2500 ประเทศไทยว่างเว้นการมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรมา 11 ปี กระทั่งรัฐธรรมนูญฉบับถาวรร่างเสร็จในปี 2511 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงมีพระราชประสงค์ให้จัดพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2511 วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน ดังมีข้อความว่า

"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนตร์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม ประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนหาสน์บนพระราชบัลลังก์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร แวดล้อมด้วยเครื่องประกอบพระบรมขัตติยราชอิสริยยศ ในพระวิสูตร"

"เวลา ๑๐ นาฬิกา ๒๙ นาที มหาดเล็กรัวกรับ ชาวม่านไขพระวิสูตร ชาวพนักงานกระทั่งแตรมะโหระทึก ทหารกองเกียรติยศถวายเคารพแตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี พระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี คณะรัฐมนตรี คณะทูต สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และข้าราชการเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทตามตำแหน่ง"

"เมื่อสุดเสียงประโคมแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศกระแสพระราชปรารภประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจบแล้ว ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญมอบฉบับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ให้ราชเลขาธิการเชิญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย และพระราชทานรัฐธรรมนูญซึ่งได้ลงพระปรมาภิไธยแล้วนั้น แก่ราชเลขาธิการ เพื่อนำไปให้ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เจ้าพนักงานอาลักษณ์ประทับพระราชลัญจกรแล้ว มอบราชเลขาธิการทูลเกล้าฯถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๑๑ แก่ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัยสังข์ แตร ดุริยางค์ แตรวงบรรเลงเพลงมหาฤกษ์มหาชัย ทหารบก ทหารเรือ จะได้ยิงปืนใหญ่ฝ่ายละ ๒๑ นัด เครื่องบินโปรยข้าวตอก ดอกไม้ และวัดต่าง ๆ ทุกวัดทั่วราชอาณาจักร จะได้ย่ำระฆังและกลอง"

"เมื่อประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญรับพระราชทานรัฐธรรมนูญแล้วจะได้มอบให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเชิญไปประดิษฐานไว้บนพานทอง๒ชั้นเหนือตั่งทองหน้ามหาสมาคม แล้วประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญกราบบังคมทูลสนองพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ทรงลงพระปรมาภิไธย และพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจบแล้ว มหาดเล็กรัวกรับ ชาวม่านปิดพระวิสูตร ชาวพนักงานกระทั่งแตรมะโหระทึก ทหารกองเกียรติยศถวายเคารพแตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินลงจากพระที่นั่งอนันตสมาคม ประทับรถยนตร์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินกลับ"

รัฐธรรมนูญ 12 ฉบับ

ที่ไม่จัดพระราชพิธีพระราชทาน


อย่างไรก็ตาม พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ หรือ พระราชพิธีลงพระปรมาภิไธยรัฐธรรมนูญ ไม่จำเป็นต้องมีทุกครั้ง ขึ้นอยู่กับพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยรัฐธรรมนูญที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระราชทานแต่ไม่ได้มีการจัดพระราชพิธีมีทั้งสิ้น12ฉบับ ประกอบด้วย

ธรรมนูญการปกครอง 2502 ธรรมนูญการปกครอง 2515 รัฐธรรมนูญ 2517 รัฐธรรมนูญ 2519 ธรรมนูญการปกครอง 2520 รัฐธรรมนูญ 2521 ธรรมนูญการปกครอง 2534 รัฐธรรมนูญ 2534 รัฐธรรมนูญ 2540 รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 รัฐธรรมนูญ 2550 และรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557

"มีชัย ฤชุพันธุ์" ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) อธิบายว่า พระราชพิธีดังกล่าวมีก็ได้ไม่มีก็ได้สุดแต่พระองค์จะทรงมีพระราชประสงค์อย่างไร หากมีพระราชพิธีก็จะมีหมายกำหนดการของพระเจ้าอยู่หัวประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นประจำ แต่ถ้าไม่มีพระราชพิธีก็จะเป็นหมายกำหนดการภายในพระราชวัง

ขณะที่ "วิษณุ เครืองาม" รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าฝ่ายกฎหมายรัฐบาล กล่าวว่า เราไม่มีมานานแล้วเพราะลำบาก เป็นเรื่องพระราชภาระและยุ่งยากในการจัด ครั้งสุดท้าย พ.ศ. 2511 หลังจากนั้นก็ไม่ทำแล้ว เพราะพระองค์ต้องปีนขึ้นไปที่ประทับจะยุ่งยาก ภายหลังมีการลงพระปรมาภิไธยที่พระตำหนักสวนจิตรลดา แต่ยังตั้งเครื่องราชูปโภคให้เห็นเป็นเกียรติยศ เพราะเวลาถ่ายรูปออกมาก็จะเห็นคอนโทรล กาน้ำ ที่เรียกว่า เครื่องเบญจราชูปโภค เพื่อให้พระราชพิธีดูขลัง

ตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นอกจากมีการเสด็จมาเฉพาะงานพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ ยังทรงรัฐพิธีเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรด้วยพระองค์เองถึง 33 ครั้ง


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ ธรรมเนียมปฏิบัติ 3 รัชกาล

view